ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

เดือนเมษายน 2021  บทเรียนที่ 4 นักบุญโยเซฟ คู่อุปถัมภ์ของพระนางมารีย์เดือนเมษายน 2021

บทเรียนที่ 4 นักบุญโยเซฟ คู่อุปถัมภ์ของพระนางมารีย์
จุดมุ่งหมาย
เพื่อให้ผู้เรียนบอกถึงบทบาทของนักบุญโยเซฟคู่อุปถัมภ์พระนางมารีย์และพร้อมจะตอบรับ เหมือนกับพระนางมารีย์ในการปฏิบัติตามแผนการของพระเจ้า

กิจกรรม บัตรคำ 1. คู่สร้างคู่สม   2. คู่ทุกข์คู่ยาก   3. คู่อุปถัมภ์     4. คู่เวร คู่กรรม

    1. ถามผู้เรียนว่า “หากจะให้คำนิยามลักษณ์ของคู่ครองที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน เราคิดถึงคู่ครองแบบใดบ้าง (คู่สร้างคู่สม/คู่ทุกข์คู่ยาก/คู่อุปถัมภ์/คู่เวรคู่กรรม )
    2. ให้ผู้เรียนหาความหมายจากคำนิยามลักษณะของคู่ครองใน 4 รูปแบบนี้ (อาจให้ผู้เรียนหาคนละ1 คำโดยจับบัตรคำ และเข้ากลุ่มช่วยกันทำก็ได้)
    3. ให้แต่ละคนหรือกลุ่มนำเสนอคำนิยามของคู่ครองที่ได้รับ
    4. ผู้สอนช่วยเสริมคำนิยามของคู่ครองที่ผู้เรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอ

          "คู่สร้างคู่สม" - คู่ครองที่เป็นคู่เหมาะสมกัน แต่คำว่าเหมาะสมกันนั้น อาจจะทั้งทางด้านฐานะ การงาน หรือทางจิตใจ เช่น เป็นคนดี มีคุณธรรม เหมาะสมกัน มีบุคลิก นิสัยใจคอคล้ายกัน ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
         "คู่อุปถัมภ์" - คู่ครองที่ส่งเสริมความดีแก่กันและกัน ต่างดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อยู่ด้วยกันแล้วชีวิตมีแต่เจริญก้าวหน้าขึ้น อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
         "คู่ทุกข์ คู่ยาก" - คู่ครองที่ต้องพบเจอกับความทุกข์ ความยากลำบาก อุปสรรคอยู่เสมอ แต่ก็ไม่ทอดทิ้งกัน อาศัยความมานะอดทนเพื่อผ่านความทุกข์ยากลำบากนั้นไปด้วยกัน
         "คู่เวร คู่กรรม" - คู่ครองที่ต่างคนต่างสร้างปัญหา ความทุกข์ให้แก่กัน แต่ไม่ว่าจะมีเกิดอะไร ทะเลาะกันรุนแรงแค่ไหนแต่ก็เลิกกันไม่ได้

5. ให้ผู้เรียนลองวิเคราะห์ว่านักบุญโยเซฟ และพระนางมารีย์ เป็นคู่ชีวิตที่มีภาพลักษณ์แบบใดมากที่สุด (ให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น)

6. เฉลยคำตอบว่า นักบุญโยเซฟ และพระนางมารีย์ เป็นคู่ชีวิตที่มีภาพลักษณ์แบบคู่อุปถัมภ์ อย่างชัดเจน นักบุญโยเซฟเป็นผู้ที่คอยปกป้อง ช่วยเหลือ ดูแล พระนางมารีย์อย่างดีที่สุด

         สรุป   การแต่งงาน คือกาอยู่ร่วมกันของชายและหญิง ซึ่งจะต้องมีความรัก, การให้ความเคารพกัน การดูแลเอาใจใส่ ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะต้องร่วมกันดูแลครอบครัวและบุตรกรณีที่พระเจ้าประทานบุตรแก่พวกเขา คำสัญญาการแต่งงานของคริสตชน สามีและภรรยาเต็มใจที่จะอยู่ร่วมกันตลอดชีวิต ในหนังสือปฐมกาล พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริง 2 ประการเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการแต่งงานกับประชากรชาวยิว ประการแรก การแต่งงานคือการมีส่วนร่วมในงานสร้างสรรค์ของพระเจ้า ในการนำชีวิตใหม่มาสู่โลกมนุษย์ ประการที่สอง การแต่งงานมุ่งที่จะปรับปรุง, ยกย่อง, และเพิ่มพูนความรักระหว่างภรรยาและสามีให้มากขึ้น (เทียบ CCC 1601-1608)

คำสอน

(คำสอนข้อ 1 – 2 สามารถดูวิดีทัศน์ เรื่องน่าทึ่งของนักบุญโยเซฟ ช่างไม้ (พากย์ไทย 5.26 นาที)



          1. เพื่อให้เข้าใจชีวิตของนักบุญโยเซฟในฐานะที่เป็นภัสดาของพระนางมารีย์ เราควรเข้าใจพิธีแต่งงานในสมัยพันธสัญญาใหม่ การแต่งงานแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ การหมั้น ช่วงการเตรียม และงานฉลองแต่งงาน การหมั้น เจ้าสาวอายุประมาณ 13 ปี จะหมั้นกับเจ้าบ่าวที่มีอายุประมาณ 17 -20 ปี และจะเข้าพิธีแต่งงานตามกฎหมายหลังจากหมั้นแล้ว หลังจากการหมั้นทั้งสองจะให้คำมั่นสัญญาต่อกัน แต่จะยังไม่เข้าร่วมหอ หรือครองชีวิตร่วมกัน ต่อมาคือช่วงเวลาของการเตรียม เจ้าบ่าวจะเรียนรู้การค้าขาย ในกรณีของโยเซฟ เนื่องจากท่านเป็นช่างไม้ ท่านจึงสร้างบ้านเตรียมให้เจ้าสาวในอนาคต สมาชิกในครอบครัวของท่านก็จะเตรียมงานแต่งงานด้วย ซึ่งต้องเตรียมทุกอย่างด้วยมือ เช่น เชือกขาวสำหรับผู้ที่มาร่วมในพิธี เตรียมอาหาร และเรื่องอื่น ๆ ซึ่งกว่าจะเตรียมพร้อมบางรายอาจต้องใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าจะมีพิธีแต่งงาน เมื่อถึงวันแต่งงานขบวนเจ้าบ่าวจะแห่ไปที่บ้านเจ้าสาว มือถือคบไฟ หรือตะเกียงน้ำมัน แล้วไปพาเจ้าสาวกลับบ้าน และจึงครองชีวิตร่วมกัน การฉลองงานแต่งงานจะยิ่งใหญ่มากและมีเวลานานถึง 7 วัน การใช้เวลาเตรียมงานจึงใช้เวลาเป็นปี

          2. เมื่อถึงกำหนดเวลา พระนางมารีย์ก็หมั้นกับโยเซฟ แต่ก่อนที่ท่านทั้งสองจะครองชีวิตร่วมกัน ปรากฏว่าพระนางมารีย์ตั้งครรภ์แล้วเดชะพระจิตเจ้า (มธ 1:18) ตามกฎของโมเสส ถ้าชายพบว่าเจ้าสาวตั้งครรภ์ก่อนงานฉลองแต่งงานจะมี 2 ทางเลือก คือ 1. ฟ้องหย่าอย่างเปิดเผย จึงมีศาลไต่สวนคดี หากพบว่าทำผิด เธอจะถูกหินทุ่มจนเสียชีวิต หรือ 2. เจ้าบ่าวจะถอนหมั้นอย่างเงียบ ๆ คือ ไม่ฟ้องเอาความผิดเธอ เพียงแต่ยกเลิกงานแต่งงาน ซึ่งในกรณีนี้ชีวิตทั้งแม่และเด็ก จะได้รับความคุ้มครอง ทั้งสองทางเลือกมีกฎหมายคุ้มครอง โยเซฟคู่หมั้นของพระนางเป็นผู้ชอบธรรมไม่ต้องการฟ้องหย่าพระนางอย่างเปิดเผย “คิดจะถอนหมั้นอย่างเงียบๆ” เพื่อว่าพระนางมารีย์จะได้ไม่ต้องอับอายขายหน้าต่อสาธารณชนและตามธรรมบัญญัติโดยไม่ทำให้พระนางมารีย์ได้รับอันตราย ขณะที่โยเซฟกำลังคิดถึงเรื่องนี้อยู่ ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ก็มาเข้าฝัน กล่าวว่า “โยเซฟ โอรสกษัตริย์ดาวิด อย่ากลัวที่จะรับมารีย์มาเป็นภรรยาของท่านเลย เพราะเด็กที่ปฏิสนธิ์ในครรภ์ของนางนั้นมาจากพระจิตเจ้า นางจะให้กำเนิดบุตรชาย ท่านจงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู เรื่องนี้มีความสำคัญต่อโยเซฟมาก เพราะชาวบ้านทราบว่ามารีย์ตั้งครรภ์ก่อนพิธีแต่งงาน การยอมรับมารีย์มาเป็นภรรยา อาจหมายความว่า โยเซฟมีความสัมพันธ์กับเธอก่อนการแต่งงาน หรือ โยเซฟยอมรับลูกนอกกฎหมาย เมื่อโยเซฟตื่นขึ้น เขาก็ทำตามที่ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งไว้ คือรับภรรยามาอยู่ด้วย

          3. การที่พระเจ้าจึงได้ส่งทูตสวรรค์มาหานักบุญโยเซฟเพื่อมายืนยันเรื่องราวของพระนางมารีย์ เป็นการเปิดโอกาสให้ท่านได้ตัดสินใจที่จะน้อมรับพระประสงค์ของพระเจ้า โยเซฟก็เข้าใจได้ว่านี่คือพระประสงค์ของพระเจ้า และท่านก็น้อมรับพระประสงค์นี้เหมือนกับพระนางมารีย์เคยตอบรับ โดยรับพระนางมารีย์มาอยู่ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อของท่านและท่านได้ตัดสินใจอย่างรอบคอบในการที่จะปกป้องพระนางมารีย์ในฐานะสามีและปกป้องพระบุตรของพระเจ้าด้วย

         4. ในการแต่งงานของนักบุญโยเซฟและพระนางมารีย์ก็มีความสมบูรณ์ เพราะนักบุญโยเซฟก็มีความรักและความปรารถนาดีต่อพระนางมารีย์อยู่แล้ว พระเจ้าทรงเรียกให้ท่านทั้งสองให้มีความรักต่อกัน เป็นความรักในองค์พระจิตเจ้า นักบุญโยเซฟได้มอบตัวของท่านเป็นของขวัญแด่พระนางมารีย์ โดยเป็นคู่ครองและคู่อุปถัมภ์ ท่านทั้งสองเป็นสามีและภรรยากันทางด้านจิตใจ มิใช่ทางเนื้อหนัง ซึ่งเป็นการรวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความซื่อสัตย์ต่อกัน มีบุตรและไม่มีการหย่าร้างต่อกัน (เทียบ RC7,19) ท่านได้ร่วมทุกข์ทั้งสุขกับพระนางมารีย์จนตลอดชีวิตของท่าน (เทียบ RC20)

         5. เราสามารถเข้าใจถึงบทบาทของการเป็นคู่ชีวิต หรือคู่อุปถัมภ์ดูแลกันของท่านนักบุญโยเซฟและพระนางมารีย์ได้จากประสบการณ์ชีวิตของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ท่านทั้งสองต้องออกเดินทางอย่างยากลำบากไปยังเมืองเบธเลเฮม นักบุญโยเซฟคงเป็นต้องค้นหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับพระนางมารีย์ และแน่นอนว่านักบุญโยเซฟต้องเป็นผู้ช่วยเหลือพระนางมารีย์เมื่อพระนางเจ็บครรภ์และคลอดบุตร และในเหตุการณ์ที่นักบุญโยเซฟต้องพาพระนางมารีย์และพระเยซูเจ้าลี้ภัยไปประเทศอียิปต์ ท่านต้องปกป้องพระนางมารีย์พระกุมาร เมื่ออยู่ในอียิปต์ ก็คงต้องเป็นโยเซฟต้องจัดหาที่อยู่อาศัย และจัดหาทุกสิ่ง ทุกอย่างสำหรับพระนางมารีย์และพระกุมารเมื่อท่านทั้งสองกลับมาอยู่ที่เมืองนาซาเร็ธ ก็คงต้องเป็นท่านนักบุญโยเซฟที่ทำงาน เพื่อเลี้ยงดูพระนางมารีย์และพระเยซูเจ้าอย่างเต็มความสามารถ

         6. คู่แต่งงานในพันธสัญญาเดิม คือ อาดัมและเอวา ที่ได้นำความทุกข์มาสู่โลก แต่การแต่งงานของนักบุญโยเซฟและพระนางมารีย์ได้นำความศักดิ์สิทธิ์และความรอดให้หลั่งไหลไปทั่วแผ่นดิน เป็นการชำระล้างและบันดาลความศักดิ์สิทธิ์มาสู่ครอบครัว ดังนั้น ให้เราเลียนแบบครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ คือ มีชีวิตที่ใกล้ชิดพระเจ้า อ่านพระคัมภีร์ สวดภาวนาร่วม และไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ กระทำสิ่งที่พระเจ้าพอพระทัยเสมอ ทำหน้าที่ของเราอย่างดี ชีวิตในครอบครัวของเราก็จะมีความสุข

ก. ข้อควรจำ
         1.พิธีแต่งงานในสมัยพันธสัญญาใหม่ การแต่งงานแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ การหมั้น ช่วงการเตรียม และงานฉลองแต่งงาน
         2.เมื่อถึงกำหนดเวลา พระนางมารีย์ก็หมั้นกับโยเซฟ แต่ก่อนที่ท่านทั้งสองจะครองชีวิตร่วมกัน ปรากฏว่าพระนางมารีย์ตั้งครรภ์แล้วเดชะพระจิตเจ้า (มธ 1:18)
         3.โยเซฟคู่หมั้นของพระนางเป็นผู้ชอบธรรมไม่ต้องการฟ้องหย่าพระนางอย่างเปิดเผย “คิดจะถอนหมั้นอย่างเงียบๆ” เพื่อว่าพระนางมารีย์จะได้ไม่ต้องอับอายขายหน้าต่อสาธารณชนและตามธรรมบัญญัติโดยไม่ทำให้พระนางมารีย์ได้รับอันตราย
         4.นักบุญโยเซฟเป็นคู่ครองและคู่อุปถัมภ์ของพระนางมารีย์ ทางด้านจิตใจ มิใช่ทางเนื้อหนัง ซึ่งเป็นการรวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความซื่อสัตย์ต่อกัน มีบุตรและไม่มีการหย่าร้างต่อกัน (เทียบ RC7,19) ท่านได้ร่วมทุกข์ทั้งสุขกับพระนางมารีย์จนตลอดชีวิตของท่าน (เทียบ RC20)
          5.การแต่งงานของนักบุญโยเซฟและพระนางมารีย์ได้นำความศักดิ์สิทธิ์และความรอดมาได้นำความศักดิ์สิทธิ์และความรอดให้หลั่งไหลไปทั่วแผ่นดิน เป็นการชำระล้างและบันดาลความศักดิ์สิทธิ์มาสู่ทุกครอบครัว

ข. กิจกรรม (ใบงานคำถาม :::: Download ::::)

 ให้ผู้เรียนตอบคำถามต่อไปนี้
         1. บทบาทของนักบุญโยเซฟคู่อุปถัมภ์พระนางมารีย์ ท่านได้ทำสิ่งใดต่อพระนางมารีย์บ้าง (ปกป้องชีวิตและไม่ทำให้พระนางมารีย์ต้องอับอาย – ดูแลเอาใจใส่ – เลี้ยงดูครอบครัวอย่างเต็มความสามารถ)
         2. ก่อนที่ท่านทั้งสองจะครองชีวิตร่วมกัน ปรากฏว่าพระนางมารีย์ตั้งครรภ์โดยพระอานุภาพของใคร (มธ 1:18) (พระจิตเจ้า)
         3. บุตรที่จะเกิดมานั้นจะได้ชื่อว่าอะไร (เยซู)
         4. เมื่อโยเซฟเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้าแล้วท่านทำอย่างไร (ท่านก็น้อมรับพระประสงค์ของพระเจ้าเหมือนกับที่พระนางมารีย์เคยตอบรับ และท่านก็ได้รับพระนางมารีย์มาอยู่ด้วย)
         5. สิ่งที่ฉันประทับใจจากการเรียนเรื่องนี้
         6. ชีวิตของนักบุญโยเซฟและพระนางมารีย์สอนฉันว่าอย่างไร (การยอมรับแผนการของพระเจ้าในชีวิตเรา หรือการยอมรับเรื่องราวในชีวิตด้วยความเชื่อ)
 ใบงาน ตอบคำถาม บทเรียนที่ 4
 บทภาวนาสำหรับพ่อแม่  

การบ้าน
        1. ให้ผู้เรียนทำการ์ด หรือ ส่งข้อความไปหาบิดามารดาของตน โดยเขียนคำอวยพรให้ท่านทั้งสอง และถ่ายภาพ หรือ แคบ(จับภาพ)หน้าจอหลักฐานการส่ง กลับมายังผู้สอน
         2. ภาวนาสำหรับบิดามารดาของตน ในบทภาวนาวอนขอต่อนักบุญโยเซฟ

ข้าแต่นักบุญโยเซฟ โปรดเฝ้าดูแลเรา
เฉพาะอย่างยิ่ง บ้านและครอบครัวของเรา
โปรดช่วยเราให้รักษาสันติสุขและความเบิกบานใจ
ขอท่านช่วยบิดาทั้งหลาย
ให้มีอาหารเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูครอบครัว
โปรดคุ้มครองรักษามารดาทั้งหลาย
เฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ดูแลลูก ๆ อยู่ที่บ้าน
ขอท่านอยู่กับครอบครัวของเราด้วยความรัก
และอวยพรบ้านของเราด้วยเทอญ อาแมน.

 

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์