ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

เดือนมีนาคม 2021  บทเรียนที่ 3 พระคุณการุณย์ปีนักบุญโยเซฟ
เดือนมีนาคม 2021

บทเรียนที่ 3 พระคุณการุณย์ปีนักบุญโยเซฟ
จุดมุ่งหมาย
เพื่อให้ผู้เรียนบอกถึงคุณค่าของพระคุณการุณย์ที่พระศาสนจักรมอบให้และสามารถรับพระคุณการุณย์ในปีนักบุญโยเซฟได้อย่างถูกต้อง

กิจกรรม ผู้สอนเล่าเรื่อง เด็กชายขโมยที่สำนึกผิด” ให้ผู้เรียนฟัง

             เช้าวันหนึ่ง มารดาของเด็กชายคนหนึ่งได้รับโทรศัพท์จากเจ้าของร้านขายของเล่นแจ้งว่า ลูกชายของเธอได้มาขโมยของเล่นจากในร้านของเขา เมื่อได้ยินเช่นนั้น เธอจึงรีบไปที่ร้านขายของเล่นแห่งนั้น เมื่อไปถึง  เธอก็เห็นว่าลูกชายของเธอสำนึกผิดและกำลังขอโทษเจ้าของร้านด้วยความจริงใจ เขาต้องการจ่ายเงินคืนให้กับเจ้าของร้าน แต่เขามีเงินไม่พอที่จะจ่ายค่าของเล่นชิ้นนั้น เธอรู้สึกสงสารและมองลูกชายด้วยความเมตตา และแน่นอนว่าเธอต้องช่วยให้ลูกชายได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อชดเชยความผิดที่เขาได้ทำ

            เมื่อลูกชายเห็นมารดามาถึง จึงหันมาหาเธอเพื่อขอความช่วยเหลือ เพราะเขารู้ว่ามารดาของเขามีเงินพอที่จะจ่ายคืนให้กับเจ้าของร้านได้อย่างแน่นอน  มารดาจึงพูดกับลูกชายว่า ถ้าลูกสำนึกผิดในสิ่งที่ลูกได้ทำและปรารถนาจะชดใช้ในความผิดพลาดของลูก  แม่จะช่วยจ่ายค่าของเล่นทั้งหมดที่ลูกต้องจ่ายให้กับเจ้าของร้าน แต่ลูกต้องไปสารภาพบาปกับพระสงฆ์ สวดภาวนาพร้อมกับแม่ก่อนนอนทุกคืนตลอดหนึ่งเดือนนี้ และไปเยี่ยมผู้ป่วยและคนชรากับแม่ในวันอาทิตย์นี้ด้วย” ลูกชายก็รับปากว่าจะทำตามที่มารดาเขาบอกทุกประการ มารดาจึงได้ทำตามที่ได้บอกกับลูก เธอได้พูดคุยกับเจ้าของร้านและจ่ายเงินค่าของเล่นที่ลูกชายของเธอได้หยิบไป เมื่อกลับถึงบ้านลูกชายของเธอก็ได้ทำตามที่ได้รับปากกับเธอไว้ทุกประการเช่นกัน

วิเคราะห์

  1. เด็กชายคนนั้นได้ทำอะไรและเขารู้สึกอย่างไร ? (เขาได้ขโมยของเล่นจากร้านขายของเล่น – รู้สึกสำนึกเสียใจที่ได้ทำผิด ขอโทษเจ้าของร้านและพยายามจะจ่ายเงินให้ครบตามจำนวน)
  2. เมื่อมารดาของเด็กชายคนนั้นไปถึงร้าน เธอได้เห็นอะไรและรู้สึกอย่างไร ? (เธอได้เห็นว่าลูกชายของเธอกำลังขอโทษเจ้าของร้านอย่างสำนึกผิด เธอรู้สึกสงสารลูกชายของเธอ)
  3. มารดาบอกว่าจะช่วยลูกชาย โดยมีเงื่อนไขว่าลูกชายของเธอต้องทำสิ่งใด ? (สำนึกผิดในสิ่งที่ได้ทำและปรารถนาจะชดใช้ในความผิดพลาด โดยไปสารภาพบาปกับพระสงฆ์ สวดภาวนาพร้อมกับแม่ก่อนนอนทุกคืนในเดือนนี้ และไปเยี่ยมผู้ป่วยและคนชรากับแม่ในวันอาทิตย์)
  4. หากมารดาของเด็กชายคนนั้น ไม่ช่วย ลูกชายของเธอจะเป็นอย่างไร ? (ต้องรับโทษตามกฎหมาย)
  5. เมื่อได้ฟังเรื่องนี้แล้วผู้เรียนได้ข้อคิดอะไร ? (เมื่อเราทำผิดพลาด เราต้องยอมรับ ขอโทษและชดเชยความผิดที่เราได้กระทำ)
  6. เรื่องราวของเด็กชายคนนี้ตรงกับคำสอนของพระศาสนจักรเรื่องอะไร ? (พระคุณการุณย์/การอภัยบาป)

         สรุป   เมื่อใดก็ตามที่ลูกทำผิด   ผู้ที่เป็นพ่อ-แม่ จะเป็นคนแรก ๆ ที่พร้อมจะช่วยเหลือ และให้อภัยลูกได้เสมอ  เพื่อเปิดโอกาสในการสำนึก กลับตัว กลับใจ เริ่มต้นใหม่ เช่นเดียวกัน “พระศาสนจักร” ซึ่งได้รับเรียกว่าเป็น “มารดา” ของเรา มีอำนาจจัดการและแจกจ่ายการชดเชยบาปที่พระคริสตเจ้าและบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้สะสมไว้ ซึ่งเป็น ขุมทรัพย์ของพระศาสนจักร และได้มอบขุมทรัพย์นี้ให้กับคริสตชนทุกคน สามารถช่วยลดโทษของบาปสำหรับวิญญาณของตนและสามารถช่วยวิญญาณในไฟชำระได้ ซึ่งเราเรียกว่า พระคุณการุณย์

 

คำสอน

          1.ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปได้รับเรียกให้มาอยู่รวมกันเป็นพระศาสนจักร อยู่ในความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นสายสัมพันธ์ของความรักและการแลกเปลี่ยนพระพรต่าง ๆ แก่กัน ซึ่งเราเรียกความดีงามด้านจิตใจในความสัมพันธ์นี้ว่า ขุมทรัพย์ของพระศาสนจักร ขุมทรัพย์นี้ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นวัตถุ แต่เป็นคุณค่าไร้ขอบเขตและไม่หมดสิ้นของการชดเชยบาปของพระคริสตเจ้าเพื่อมนุษย์ ขุมทรัพย์นี้ยังรวมไปถึงการอธิษฐานภาวนาและกิจการที่ดีของพระนางมารีย์และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายด้วย ซึ่งมีคุณค่ายิ่งเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า อาศัยพระหรรษทาน เหล่านี้บรรดานักบุญได้ปฏิบัติพันธกิจที่ได้รับมาจากพระเจ้าเพื่อความรอดพ้นของตนและความรอดพ้นของเพื่อนพี่น้องที่รวมอยู่ในเอกภาพของพระกายทิพย์อีกด้วย” (เทียบ CCC 1474-1477)

         2.เมื่อเราทำบาป จะมีผลของบาปตามมาด้วยสองประการ บาปหนัก จะทำให้เราสูญเสียความสัมพันธ์กับพระเจ้าและสูญเสียชีวิตนิรันดร ส่วน บาปเบา ก็ต้องรับการชำระในชีวิตนี้หรือหลังจากความตาย เพื่อเป็นการชดเชยบาปหรือความผิดที่ได้ทำไป ศีลอภัยบาปช่วยให้เราพ้นโทษนิรันดร แต่โทษชั่วคราวของบาปยังคงอยู่ คริสตชนที่สำนึกว่าตนเป็นคนบาปจึง “ทำพลีกรรม” เป็นการยอมรับ “โทษ” เพื่อชดเชยบาปของตน หากเขาชดเชยบาปได้หมดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเขาตายไป เขาก็จะได้รางวัลในสวรรค์ทันที แต่ถ้าหากยังชดเชยไม่หมดก็จะต้องไปชดเชยในไฟชำระ ซึ่งตามปกติ พระสงฆ์จะกำหนด “กิจใช้โทษบาป” อันเนื่องมาจากบาป แต่ว่าในปัจจุบันพระสงฆ์ไม่ได้กำหนด “โทษ” ที่คู่ควรกับบาป เพราะเห็นว่าผู้ที่มาสารภาพบาปควรมีความสำนึกและพยายามทำพลีกรรมตามความสมัครใจเพื่อชดเชยบาป (เทียบ CCC 1472-1473)    

        3.พระศาสนจักรมีสิทธิ์ประกาศพระคุณการุณย์ ซึ่งอาศัยอำนาจผูกและแก้ที่พระเยซูคริสตเจ้าประทานให้ไว้ (CCC 1444, มธ. 16:19) เพื่อยกโทษชั่วคราวสำหรับบาปที่ได้รับอภัยความผิดแล้ว และมีไว้สำหรับคริสตชนผู้มีความเชื่อที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ (เทียบ CCC 1471) และพระศาสนจักรยังปรารถนาจะช่วยคริสตชนให้ได้ปฏิบัติกิจศรัทธา การกลับใจ ใช้โทษบาป ด้วยความรักอีกด้วย รวมถึงบรรดาผู้ล่วงหลับที่ยังกำลังรับการชำระอยู่ ก็อยู่ในความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ วิธีการหนึ่งที่เราสามารถจะช่วยเหลือเขาได้คือ โดยรับพระคุณการุณย์สำหรับเขา เพื่อให้เขาได้รับการปลดปล่อยจากโทษชั่วคราวที่เขาต้องรับเพราะบาปที่เขาได้ทำไว้ (CCC 1478-1479) 

        4.พระคุณการุณย์มีอยู่ 2 แบบ 1. พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ (Plenary Indulgence) หมายถึง การอภัยโทษบาปอย่างหมดสิ้น ผู้ที่ได้รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์จะพ้น “โทษ” ที่ต้องรับทั้งหมด 2. พระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์ (Partial Indulgence) หมายถึง การอภัยโทษให้บางส่วน (เทียบ CCC 1471)ดังนั้น เพื่อจะรับพระคุณการุณย์ คริสตชนจะต้องเตรียมตัวอย่างเหมาะสม และจะต้องทำตามเงื่อนไขเฉพาะที่ระบุไว้ให้สำเร็จ ถึงจะได้รับพระคุณโดยการช่วยเหลือของพระศาสนจักร

        5.ในโอกาสปีนักบุญโยเซฟ พระศาสนจักรได้ออกกฤษฎีกาเพื่อมอบพระคุณการุณย์ให้ตลอดปีนักบุญโยเซฟ ซึ่งเราสามารถรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ได้ตามเงื่อนไขปกติ คือ 1.มีความตั้งใจที่จะรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์และเป็นทุกข์ถึงบาปจากใจจริง 2. รับศีลอภัยบาป รับศีลมหาสนิท และภาวนาตามพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา 3. ทํากิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่พระศาสนจักนกำหนด ซึ่งในปีนักบุญโยเซฟ พระศาสนจักรได้กำหนดกิจการดังนี้

การรับพระคุณการุณย์ในปีนักบุญโยเซฟ          5.1 รําพึงบทภาวนา “ข้าแต่พระบิดา” เป็นเวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง หรือเข้าเงียบหรือฟื้นฟูจิตใจอย่างน้อย 1 วัน โดยมีบทเทศน์ บทรําพึงที่เกี่ยวกับชีวิตของนักบุญโยเซฟ

          5.2 ทำกิจเมตตาฝ่ายกายและฝ่ายจิต

          5.3 สวดสายประคําพร้อมกันภายในครอบครัวหรือระหว่างคู่หมั้นที่จะแต่งงาน

          5.4 มอบกิจการงานของตนไว้ในความอุปถัมภ์ของนักบุญโยเซฟ และภาวนาวอนขอเพื่อผู้ที่กำลังหางานทำสามารถมีงานทำ และการงานของทุกคนจะได้รับการยอมรับมากขึ้นว่าเป็นงานที่มีศักดิ์ศรี

          5.5 สวดบทรํ่าวิงวอนนักบุญโยเซฟ หรือบทสรรเสริญนักบุญโยเซฟ หรือบทภาวนาอื่น ๆ ต่อนักบุญโยเซฟ สําหรับพระศาสนจักรซึ่งกําลังถูกเบียดเบียนทั้งจากภายในและภายนอก และเพื่อบรรเทาใจคริสตชนทุกคนที่กําลังถูกเบียดเบียนทุกรูปแบบ

         5.6 สวดบทภาวนาที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง หรือประกอบกิจศรัทธาเทิดเกียรตินักบุญโยเซฟ โดยเฉพาะในวันที่ 19 มีนาคมและวันที่ 1 พฤษภาคม ในวันฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ 19 ของทุกเดือน และทุกวันพุธตามธรรมเนียมละติน ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึงท่านนักบุญโยเซฟ

         5.7 สําหรับบรรดาคนชรา คนเจ็บป่วย คนใกล้จะตายและทุกคนที่ไม่อาจออกจากบ้านได้เพราะสาเหตุอันสมควร มีจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ และมีความตั้งใจจะปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งสามประการโดยทันทีเมื่อมีโอกาส (คือ รับศีลอภัยบาป รับศีลมหาสนิท และภาวนาตามพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา) ที่บ้านของเขาหรือที่ซึ่งมีอุปสรรครั้งเขาไว้ โดยให้เขาเหล่านั้นสวดบทภาวนาเทิดเกียรตินักบุญโยเซฟ ผู้บรรเทาคนไข้และผู้อุปถัมภ์ให้สิ้นใจอย่างดี โดยถวายความเจ็บปวดหรือความทุกข์ยากของชีวิตด้วยความไว้วางใจแด่พระเจ้า

ข้อควรจำ

  1. “พระคุณการุณย์” คือการยกโทษชั่วคราวสำหรับบาปที่ได้รับอภัยความผิดแล้ว เพื่อจะรับพระคุณการุณย์ คริสตชนจะต้องเตรียมตัวอย่างเหมาะสม และจะต้องทำตามเงื่อนไขเฉพาะที่ระบุไว้ให้สำเร็จ “เราสามารถรับพระคุณการุณย์ได้สำหรับตนเอง หรืออาจอุทิศแก่ผู้ล่วงหลับก็ได้”
  2. พระคุณการุณย์มีอยู่ 2 แบบ คือ
  3. พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ (Plenary Indulgence) หมายถึง การอภัยโทษบาปอย่างหมดสิ้น ผู้ที่ได้รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์จะพ้น “โทษ” ที่ต้องรับทั้งหมด
  4. พระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์ (Partial Indulgence) หมายถึง การอภัยโทษให้บางส่วน (เทียบ CCC 1471)
  5. เราสามารถรับพระคุณการุณย์โอกาสปีนักบุญโยเซฟได้ โดย 1.ต้องมีความตั้งใจที่จะรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์และมีจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ 2.รับศีลอภัยบาป รับศีลมหาสนิท และภาวนาตามพระประสงค์ของพระสันตะปาปา 3.ทํากิจการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พระศาสนจักรกำหนด

กิจกรรม

          ทำใบงาน 1 เพื่อทบทวนกิจการที่ส่งเสริมให้ทำในปีนักบุญโยเซฟเพื่อรับพระคุณการุณย์

 ใบงาน 1 เพื่อทบทวนกิจการที่ส่งเสริมให้ทำในปีนักบุญโยเซฟเพื่อรับพระคุณการุณย์

การบ้าน 

คุณธรรมแห่งความยุติธรรมที่นักบุญโยเซฟปฏิบัติอย่างดีเลิศ ก็คือ การยึดถือกฎของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ คือ กฎแห่งความเมตตากรุณา “เนื่องจากเป็นพระเมตตากรุณาของพระเจ้าเองที่นำไปสู่การปฏิบัติความยุติธรรมแท้จริงอย่างสมบูรณ์”

คำสั่ง ให้ผู้เรียนทำกิจเมตตาตามแบบฉบับของนักบุญโยเซฟ
         ฝ่ายกาย 1 ประการและฝ่ายจิต 1 ประการ
         เพื่อขอรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์และเขียนบันทึกมาส่งครู

 กิจเมตตาธรรมฝ่ายกาย   
กิจเมตตาฝ่ายจิต 

1. ให้อาหารแก่ผู้หิวโหย
2. ให้น้ำแก่ผู้กระหาย

3. ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ไม่มีนุ่งห่ม 
4. ให้ที่พักแก่ผู้ที่ไร้ที่อยู่
5. เยี่ยมผู้ป่วย
6. เยี่ยมผู้ต้องขัง
7. ร่วมงานฝังศพ                

1.ให้คำแนะนำแก่ผู้สงสัย
2. สอนคนที่ไม่รู้

3. ตักเตือนคนบาป
4. บรรเทาใจผู้ทุกข์ยาก
5. ให้อภัยผู้ทำความผิด
6. อดทนต่อความผิดของผู้อื่น
7. ภาวนาสำหรับผู้เป็นและผู้ตาย



 

เนื้อหาและบทเรียน