ก. การประเมินผลกิจกรรม(การ Feed back)
Feedback เป็นกระบวนการในการให้ข่าวสารแก่บุคคลเพื่อให้เขาสามารถค้นพบสิ่งที่เขาได้กระทำหรือพูดไปต่อบุคคลหรือกลุ่ม
คนโดยทั่วไปมักมีปฏิกิริยาสนองตอบต่อการกระทำหรือคำพูดของคนอื่นและมักสรุปความนึกคิด ประสบการณ์ ทัศนคติ ค่านิยมของตนเองซึ่งอาจะผิดหรือทำให้ความหมายเปลี่ยนไปจากที่ผู้สื่อตั้งใจ เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้สื่อมีความรู้สึกอย่างไรนอกจากเขาจะบอก เราอาจเดาได้ การขอให้เขาบอกจะเป็นทางที่เราสามรถปรับวิธีการสื่อความหมายของเราได้เหมาะสมใกล้เคียงกับที่เขาต้องการ ถ้าไม่มีการ Feedback ความรู้สึกในด้านไม่ดีจะเพิ่มพูนขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น คนใหม่ที่เข้าร่วมกลุ่มอาจพยายามที่จะทำให้กลุ่มยอมรับตนเอง แต่ก็อาจทำให้กลุ่มรู้สึกแอนตี้เพราะไม่ชอบวิธีการที่เขาพยายามจะทำให้กลุ่มยอมรับ ดังนั้นเมื่อกลุ่มไม่ยอมรับเขาก็จะเพิ่มวิธีการมากขึ้น กลุ่มก็ยิ่งไม่ชอบมากขึ้น เหตุการณ์นี้จะดำเนินไปจนถึงขั้นแตกหักได้ เขาอาจจะเลิกไม่เข้ากลุ่ม หรือมีคนในกลุ่มบอกเขาเกี่ยวกับพฤติกรรมนี้
การสื่อความหมายที่เกิดโดยทั่วไป มักจะสื่อไปได้ทั้งที่เราเรียกว่า Verbal คือคำพูดและ Non Verbal โดยลักษณะท่าทาง การ Feedback ควรต้องกระทำทั้งสองอย่าง
1.วิธีการ Feedback
- โดยวิธีดูผลสะท้อนจากบุคคลภายนอกกลุ่ม วิธีการอาจขอให้บุคคลอื่นมาช่วยสังเกตความเป็นไปของกลุ่ม พฤติกรรมของแต่ละบุคคล แล้วสะท้อนให้ทุกคนเห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้น
- โดยวิธีวิเคราะห์ตนเอง อาจใช้เทปหรือวีดีโอ ถ่ายเหตุการณ์ของกลุ่มแล้วนำมาวิเคราะห์
- โดยวิธีการ “Coaching” อาจกำหนดตัวบุคคลที่จะให้สมาชิในกลุ่มสังเกตพฤติกรรมของคนอื่นในกลุ่ม แล้วนำผลที่ได้มาบอกกัน
- การ Feedback เป็นรายตัว เป็นวิธีที่ตรงและได้ผลที่สุด ถ้าหากกระทำด้วยความรักและต้องการที่จะช่วยเหลือคนที่จะ Feedback
2.ประโยชน์ของการ Feedback
- ช่วยเสริมพฤติกรรมที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้น เช่น “เธอช่วยเราได้มากเลยที่บอกเรื่องนี้แก่เรา”
- ช่วยแก้ไข การ Feedback จะช่วยแก้ไขการสื่อความหมายให้ตรงความต้องการและแก้ไขพฤติกรรมได้
- ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ได้ตรงขึ้น เช่น “ตอนแรกเรานึกว่านายไม่ชอบหน้าเรา แต่ที่จริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้นใช่ไหม”
3.ข้อควรคำนึงในการให้ Feedback
- ให้การอธิบาย มากกว่าที่จะใช้การตัดสิน อธิบายว่าผู้ให้การ Feedback เห็นอย่างไร แล้วปล่อยให้ผู้รับการ Feedback เป็นอิสระในการพิจารณาหรือตัดสินใจเอง
- ควรเฉพาะเจาะจง ในเรื่องที่จะ Feedback อย่าพูดรวม เช่น “คุณเป็นเผด็จการทางความคิด” ควรใช้ “ในขณะที่เรากำลังตัดสินเรื่องนี้ คุณไม่ฟังใครเลย ผมมีความรู้สึกว่าคุณพยายามบังคับให้ผมยอมรับเหตุผลของคุณ”
- เหมาะสม คนให้และคนรับมีความต้องการไหม อาจจะล้มเหลวถ้าทั้งสองฝ่ายไม่พร้อม
- คิดว่าจะเป็นประโยชน์ ควร Feedback ในพฤติกรรมที่คาดว่าผู้รับจะสามารถเปลี่ยนได้ การย้ำในสิ่งที่เป็นปมด้อยโดยผู้รับควบคุมไม่ได้ไม่มีประโยชน์อะไร
- ใช้การขอร้อง ขอร้องมากกว่ายัดเยียด วิธีนี้ดีผู้รับควรถามแล้วให้ผู้ให้ตอบ
- ตรงจังหวะ Feedback จะดีที่สุดถ้าทำทันทีหรือใกล้เวลาที่กิจกรรมเกิดที่สุด ผู้รับพร้อมจะฟังหรือได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม
- ชัดเจน ควรเช็คตลอดเวลาว่าการสื่อความหมายถูกต้องหรือไม่ วิธีที่ดีที่สุดคือให้ผู้รับการ Feedback ทวนคำ Feedback ของผู้ให้เพื่อเช็คดูว่าถูกต้องหรือไม่
- ถูกต้อง ผู้รับ Feedback ควรเช็คกับคนอื่น ๆ ในกลุ่มด้วยว่าสิ่งที่มีคน Feedback นั้นคนอื่นหรือกลุ่มมีความเห็นเหมือนกัน
4.จะ Feedback ได้อย่างไร
- ขอให้คนอื่นช่วย Feedback
- เตรียมใจยอมรับ
- ขอให้แยกแยะข้อ Feedback ให้ชัดเจน
- สนองตอบต่อสิ่งที่เราฟังหรือได้ยิน
5.การให้การ Feedback จะดีที่สุดเมื่อ
- สร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจ สัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นและอบอุ่น
- พยายามยอมรับคนอื่นอย่างจริงใจ
- กลุ่มเล็กและพฤติกรรมไม่เข้าใจเพิ่มจะเริ่ม
- มีความรู้สึกไวต่อการรับรู้
- ถูกกาลเทศะ
- เน้นการสร้างประสบการณ์มากกว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
- มีแรงดลใจให้เห็นอกเห็นใจและอยากช่วยเหลือ
- เฉพาะเจาะจงตรงปัญหาและเกิดจากประสบการณ์การอยู่ร่วมกัน
- เป็นเรื่องลับเฉพาะกลุ่ม
- มีการร้องขอและต้องการ
6.การรับการ Feedback จะดีที่สุดเมื่อ
- ผู้รับเปิดใจพร้อมที่จะรับและขอร้อง
- ผู้รับพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง
- จากบุคคลที่ผู้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือ
- ผู้รับมีการปกป้องตนเองน้อยที่สุด
- มีการให้จากสมาชิกส่วนมากของกลุ่ม
- ผู้รับมีความไว้เนื้อเชื่อใจกลุ่ม
- สิ่งที่ให้ไม่ทำลายบุคลิกของผู้รับ
- ผู้รับมีอิสระที่จะไม่เห็นด้วยถ้าเขาต้องการ
- สิ่งที่ให้แสดงออกถึงการอยากช่วยมากกว่าเพื่อข่มขู่และลงโทษ
- มุ่งไปยังพฤติกรรมที่ผู้รับสามารถเปลี่ยนแปลงได้
- อธิบายว่าผู้รับทำอะไรมากกว่าการตัดสินว่าถูกหรือผิด
7.จะทำอย่างไรจึงจะสามารถในการให้และรับ Feedback มากขึ้น
- ควรสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นและลึกซึ้ง
- ควรมีความพอใจในความสัมพันธ์ระหว่างกัน
- เรียนรู้ถึงอิทธิพลที่แต่ละคนมีต่อกัน
- เพิ่มพูนทักษะในการสื่อความหมายที่ถูกต้อง
- ยอมรับตนเอง
- เปิดใจต่อประสบการณ์ใหม่ ๆ
- พยายามเป็นตัวของตัวเอง และยอมรับความแตกต่าง
แบบคำพูดของการ Feedback
- เมื่อคุณ……….(บอกพฤติกรรมที่แสดงออกและต้องการ Feedback)……….เรามีความรู้สึกว่า……….
- อย่าลืม! Feedback ที่ดีควรมีการให้และรับทั้งส่วนดีและส่วนเสีย และโปรดทำด้วยความรักและความจริงใจ และต้องการเห็นเขาดีขึ้น
ข. การประเมินผลรวมของค่าย
ความหมาย : การประเมินผลหมายถึง “การวัดและค้นหาคุณค่าที่ได้จากการฝึกอบรมหรือการเข้าค่าย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรมหรือเข้าค่าย”
ประโยชน์ :
- ทำให้ผู้รับผิดชอบทราบว่าการดำเนินงานฝึกอบรมหรือการจัดค่ายนี้บรรลุผลตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร
- ช่วยให้ทราบถึงอุปสรรคข้อขัดข้องและวัดความสามารถในการฝึกอบรม ซึ่งจะสามารถนำไปช่วยปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงการฝึกอบรมให้ดีขึ้น
กระบวนการการประเมินผล :
- ยึดเอาเป้าหมายและจุดประสงค์ที่ได้ตั้งไว้เป็นหลัก เป็นการตอบคำถามพื้นฐานที่ว่า “การฝึกอบรมหรือการจัดค่ายของเราได้บรรลุผลตามเป้าหมายและจุดประสงค์อย่างดีหรือไม่อย่างไร”
- ถ้าคำตอบออกมาว่า “ไม่” เราต้องยอมรับความล้มเหลวนั้น เมื่อเราได้กระทำอย่างเต็มกำลังแล้ว แต่งานกลับไม่ดำเนินไปตามที่ตั้งใจ ก็ไม่ไปไร เราจะพยายามที่จะไม่ให้มันเกิดความล้มเหลวอีกเป็นครั้งที่สอง การประเมินผลจะช่วยให้เรารู้ว่าอะไรที่ยังบกพร่อง และบกพร่องด้วยเหตุผลอะไร เราจะได้ประสบการณ์อันมีค่า และถือว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์
- ตัวอย่างการประเมิน ผู้สังเกตการอยู่ร่วมในการจัดค่ายแห่งหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วเขาได้สอบถามพูดคุยถึงข้อดีและข้อบกพร่องของการเข้าค่ายกับบางคน และได้ให้ชาวค่ายทุกคนได้กรอกแบบประเมิน แล้วอ่านคำตอบจากใบประเมินเพื่อให้ได้ภาพรวมๆถึงความรู้สึกและผลที่เกิดขึ้นจากการเข้าค่ายครั้งนี้ หลังจากนั้นจึงเรียบเรียงถึงผลสรุปของการประเมินผล และได้ให้ความคิดเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมลงไปถึงจุดดีและจุดอ่อนของการเข้าค่ายในครั้งนี้
- ในการออกแบบใบประเมินผลต้องยึดเอาเป้าหมายและจุดประสงค์ของค่ายเป็นหลัก
ผู้รับผิดบางคนมักจะตั้งคำถามสองประการนี้ คือ ค่ายสนุกไหม กับการเข้าค่ายครั้งนี้มีอะไรที่ท่านชอบและมีอะไรที่ท่านไม่ชอบ คำถามทั้งสองนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเป้าหมายและจุดประสงค์ของค่ายเลย (นอกจากเราจะตั้งจุดประสงค์ไว้ดังนั้น)
เวลา : การประเมินสามารถทำได้ทุกวันหลังที่จบกิจกรรมทุกอย่างแล้ว หรือ ประเมินเมื่อค่ายฯสิ้นสุดแล้ว