หน้าที่ผู้นำ
หน้าที่ทั่วไปของผู้นำในค่าย
ผู้นำควรที่จะรู้ถึงหน้าที่ของตนภายในค่าย หน้าที่นี้นอกเหนือจากหน้าที่การสอนในห้องแล้ว ยังมีหน้าที่อื่นๆ ที่สำคัญและจำเป็นในการใช้ชีวิตอยู่ในค่าย ๆ นี้ หน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้ได้แก่
- หน้าที่ต่อจุดประสงค์ของค่าย และเรื่องเกี่ยวกับค่าย
ผู้นำที่ดีต้องเข้าใจในจุดประสงค์ของค่ายให้ถ่องแท้ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องในการร่วมงานกับทีมงาน และในการทำกิจกรรมต่างๆ
ในฐานะที่ท่านจะต้องเป็นดุจพ่อแม่ของเด็ก ท่านจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องของเด็กๆ และเก็บงาน ด้วยการสังเกตสมาชิกต่างๆ เป็นต้นในระยะ 2 - 3 วันแรก ต้องคอยดูความว้าเหว่ ความคิดถึงบ้านการปรับตัว ความไม่สะดวกสบาย ตลอดจนความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของชาวค่าย
- หน้าที่ต่อตัวท่านเอง
ตัวท่านเองต้องเป็นรูปแบบให้กับเด็กๆ ดังนั้นความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ท่านได้รับมอบหมาย ต้องอย่าให้ด่างพร้อย ความเป็นเสมอต้นเสมอปลาย อารมณ์มั่นคง ไม่ตื่นตกใจ ตรงต่อเวลา อย่าให้เด็กมาคอยท่าน แต่ท่านควรมาคอยเด็กในทุกๆกิจกรรม
- หน้าที่ปลุกเด็กตื่นนอน
ท่านต้องคอยระวังเด็กที่ชอบตื่นก่อน แล้วทำเสียงรบกวนผู้อื่น ควรสอนมารยาท และความเกรงใจให้แก่เด็กๆ เมื่อให้สัญญาณตื่นควรให้เด็กสวดบทภาวนาเช้าสั้นๆ อาจจะเป็นบทข้าแต่พระบิดา หรือวันทามารีอา 1 บท แล้วจึงไปทำธุระส่วนตัว
ผู้นำควรสอนเด็กให้รู้จักล้างหน้าแปรงฟัน ช่วยเด็กที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้
ผู้นำควรใช้เวลาตรวจสุขภาพของเด็ก ตั้งแต่ผม ฟัน ร่างกาย เล็บ และสอนให้เก็บที่นอน ให้เรียบร้อย ในการปลุกเด็ก อาจจะใช้เสียงเพลงแทนกริ่งก็ได้
- หน้าที่ในการภาวนาเช้า และการหัดสวดภาวนา
ในกรณีที่แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่ม ผู้นำจะต้องเตรียมตัวนำการสวดภาวนาเช้าสำหรับเด็กๆ จุดประสงค์ของการสวดภาวนาเช้าก็คือ การขอบคุณพระเจ้าสำหรับการพักผ่อนในคืนที่ผ่านมา ขอบคุณสำหรับชีวิตใหม่ และขอพรสำหรับวันใหม่
การสวดสำหรับเด็กๆ นั้น ควรมีรูปพระเป็นสัญลักษณ์อยู่ต่อหน้า เพื่อให้เด็กมีสมาธิมากยิ่งขึ้น
สำหรับเด็กๆ ที่ยังสวดบทภาวนาแบบเป็นทางการไม่ได้ ผู้นำอาจใช้เวลาเช้านี้ให้เด็กๆ ได้ท่องจำบทภาวนา แล้วมีการเอาการเป็นบทๆไป ไม่ควรใช้การบังคับ แต่ใช้การจูงใจให้เด็กได้ท่องบทสวดให้ได้มากที่สุด
สำหรับเด็กที่โตแล้ว อาจจะได้การสวดภาวนาเช้ากับธรรมชาติ ให้ฝึกการนั่งแบบสมาธิ หรือสวดภาวนาตามคำแนะนำที่อยู่ในสารคำสอน ฉบับเดือนมีนาคม ฉลอง 25 ปี ค่าย หน้า 46-47-48
- หน้าที่ระหว่างอาหาร
ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างดีในเรื่องมารยาท และควรตักเตือนเด็กๆให้รับประทานอาหารด้วยความรัก ความเสียสละ จงเพาะนิสัยที่ดีให้กับพวกเขา การสวดภาวนาก่อนและหลังอาหาร เป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้นำควรสอนเด็กๆให้รู้บทสวดหรือร้องบทเพลงสั้นๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักขอบพระคุณพระเจ้า และใช้พระพรที่พระเจ้าประทานมาให้อย่างรู้คุณค่า
ในระหว่างการรับประทานอาหาร ผู้นำควรเดินดูความเรียบร้อย และควรตรวจดูว่า เด็กคนไหนทานได้หรือไม่ได้อย่างไร มีใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่ เพื่อจะได้ช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
- หน้าที่ต่อเพื่อนร่วมงาน
ผู้นำควรสังเกตดูความต้องการของผู้อื่น เพื่อให้ความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- หน้าที่ในการทำความสะอาดบ้าน
ผู้นำควรอยู่กับเด็กๆ เมื่อมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการทำความสะอาดบ้าน ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะสม สอน-สาธิตการทำความสะอาด และการจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆให้เข้าที่ ต้องจูงใจให้ชาวค่ายเกิดความภูมิใจในความสะอาดเรียบร้อยของที่พักและบริเวณค่ายของตน
- หน้าที่ในระหว่างชั่วโมงพัก
ความรับผิดชอบในระหว่างการหยุดพักจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถ ความอดทนและความรัก ที่มีต่อเด็กๆ
ท่านอาจจะใช้เวลาพักสนุกอยู่กับเด็กๆ ทำให้เด็กมีความสุข มิใช่ความรำคาญ
- หน้าที่ต่ออุปกรณ์ของค่าย
ท่านจะต้องระมัดระวังรักษาอุปกรณ์ต่างๆให้อยู่ในระเบียบ สะอาด และมีการใช้อย่างปลอดภัย อย่าให้มีการทิ้งขว้าง
สิ่งที่ซ่อมแซมได้ควรนำมาซ่อม และสอนเด็กๆ ให้รู้จักรับผิดชอบและรู้จักประหยัด
- หน้าที่ต่อเสื้อผ้า
ท่านต้องตรวจดูการแต่งกายของเด็กๆ สอนให้รู้จักการใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม สอนให้รู้จักการ ผ้าด้วยตัวเอง
- หน้าที่ด้านความประพฤติ
ท่านต้องรายงานเหตุการณ์ที่รุนแรงหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อผู้อำนวยการทราบทุกครั้งไป
- หน้าที่ต่อผู้ปกครอง
เมื่อมีผู้ปกครองหรือแขกไปเยี่ยมค่าย ท่านต้องแนะนำตัวเอง หรือสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง อย่าปล่อยให้แขกต้องรอนาน
- หน้าที่เมื่อเด็กเข้าวัดร่วมมิสซา
ผู้นำควรอยู่กับเด็กในความรับผิดชอบของตนเอง กระตุ้นให้เขาสวดหรือขับร้อง ตักเตือน ท่าทางที่ไม่เหมาะสม ขณะร่วมพิธี แต่ควรทำแบบระมัดระวัง อย่าให้กลายเป็นจุดเด่นของพิธีไป
- หน้าที่ขณะเล่นเกม-กีฬา
การละเล่นทำให้เรารู้ว่าเด็กได้ดี ผู้นำที่ดีควรรู้จักใช้เวลานี้ในการสร้างความคันเคยกับเด็ก และชักชวนเด็กมาร่วมเล่น เพื่อให้คลายความคิดถึงบ้าน
- หน้าที่ที่จะให้อิสระแก่ชาวค่าย
การเสริมสร้างจิตใจและอุปนิสัยของชาวค่ายนั้น ขึ้นอยู่กับการให้อิสระภาพเป็นส่วนใหญ่ ควรปล่อยให้เด็กๆได้มีเวลาทำอะไรตามใจปรารถนา ให้มีความคิดริเริ่มที่จะทำอะไรโดยใช้ความคิด การตัดสินใจด้วยตัวเขาเอง
- หน้าที่เวลาเข้านอน
ก่อนนอน ควรมีการให้ข้อคิดเตือนใจที่ดี อย่าให้เด็กเกิดความเครียดก่อนเข้านอน
- หน้าที่ในการรักษาความปลอดภัย
ความปลอดภัยทั้งด้านร่างกาย และจิตใจภายในค่ายควรจัดระบบการรักษาความปลอดภัย ไม่ควรให้คนแปลกหน้าเข้ามายามค่ำคืน ไม่ควรให้เด็กๆอยู่ในที่ลับหูลับตา
ความปลอดภัยเกี่ยวกับทรัพย์สิน อย่าให้เด็กๆ เก็บของมีค่าไว้กับตนเอง ควรฝากไว้ที่เหรัญญิกของค่าย
หน้าที่ของผู้นำในการนำกลุ่ม
1.ช่วยกลุ่มในการรวมตัวกัน
หน้าที่แรก ช่วยกลุ่มในการรวมตัวกัน
- เข้าใจว่าทำไมสมาชิกจึงเข้าร่วมในกลุ่มและพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตลอดไป คนโดยทั่วไปเข้าร่วมกลุ่มเพื่อสนองตอบความต้องการส่วนบุคคล ตัวอย่าง เช่น ความต้องการเป็นส่วนของกลุ่ม, ต้องการคบหาสมาคมกับเพื่อน หรือต้องการที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่งกับคนอื่น หรือบางทีก็เข้าร่วมกลุ่มเพราะความมุ่งหมายบางอย่าง, เข้าร่วมในกิจกรรมของกลุ่ม, เข้าร่วมกับเพื่อน หรือไม่ก็เพราะว่ามีคนคาดหวังไว้ว่าคนเองจะเข้าร่วมด้วย ถ้ากลุ่มไม่สามารถสนองตอบความต้องการได้ดังหวัง ก็มักจะเลิกมาเข้าร่วมในกลุ่ม ความเข้าใจในเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ผู้นำกลุ่มสามารถช่วยเหลือสมาชิกในการสนองตอบ ความต้องการของแต่ละบุคคลได้ อันจะทำให้กลุ่มกลายเป็นกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จ
- เข้าใจถึงแรงผลักที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของสมาชิกกลุ่มและชีวิตของกลุ่มเอง ในช่วงการเกิดกลุ่มใหม่ ๆ กระบวนการในการเข้ามาร่วมกลุ่มของสมาชิกมักจะเป็นที่คาดหวังไว้ และเป็นสถานะทางจิตวิทยาของแต่ละบุคคล กลุ่มเอง ในช่วงเริ่มต้นชีวิตก็จะผ่านเข้าไปในกระบวนการที่คาดหวังไว้เช่นกัน ความรู้เรื่องของแรงผลักดันนี้จะทำให้ผู้นำกลุ่มสามารถเข้าใจพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละคน อันจะทำให้ยุทธวิธีในการยกระดับการเจริญเติบโตของกลุ่มมีแนวโน้มดีขึ้น
- ทักษะในการช่วยเหลือกลุ่มในการตั้งเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดถึงกิจกรรมของกลุ่มเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากและเป็นงานที่ยากเอาการ คนยอมให้กลุ่มเป็นเจ้าของเพราะมีเหตุผล องค์การต่าง ๆ ให้ความอุ้มชูกลุ่มก็มีเป้าประสงค์ เจ้าหน้าที่, ผู้บริหาร, ผู้นำกลุ่มและสมาชิก ต่างก็มีความมุ่งหวังของตนเอง ถ้าหากว่าการตั้งเป้าหมายของกลุ่มกระทำโดยพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้อย่างถ่องแท้ ในความต้องการ, เป้าหมาย และการคาดหวัง เป้าหมายส่วนบุคคลได้รับการตอบสนองในเป้าหมายของกลุ่ม, เป้าหมายของกลุ่มสัมพันธ์กันกับเป้าหมายขององค์กร, ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกลุ่มและผู้บังคับบัญชาเข้าใจกัน, การรับผิดชอบร่วมกันได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย กลุ่มก็จะพัฒนาไปในทางที่มีวุฒิภาวะขึ้น
- ทักษะในการช่วยเหลือกลุ่มให้พัฒนาองค์กรที่เหมาะสมในการดำเนินงานตามเป้าหมาย
องค์การของกลุ่มประกอบด้วย กรรมการที่ได้รับคัดเลือก, โครงสร้างขององค์กร, วิธีการดำเนินงานในการรับสมาชิกใหม่, วันเวลาการประชุม บางทีอาจจะกระทำตามหรือไม่ตามธรรมนูญของกลุ่มโดยทั่วไปก็ได้ เป้าหมายที่ตั้งไว้ทำให้สมาชิกรู้ว่ากลุ่มต้องการจะทำอะไรได้ดีที่สุด ถ้าเป็นองค์กรของกลุ่มที่เล็ก การที่สมาชิกจะต้องเสียเวลามาทำเรื่องที่ง่าย ๆ ให้เป็นยาก เช่น ตั้งองค์กรเสียใหญ่โต มีการประชุมตามแบบแผน ก็อาจจะทำให้เกิดการเสียเวลา เบื่อหน่าย องค์กรที่พยายามสร้างขึ้นที่ไม่สัมพันธ์กับเป้าหมาย ก็อาจทำให้สมาชิกเกิดการคับข้องใจได้ ผู้นำกลุ่มต้องเข้าใจความแตกต่างเช่นนี้เป็นอย่างดี
2.ช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มให้เป็นคนมีประสิทธิภาพขึ้นทั้งส่วนตนและในฐานะสมาชิกของกลุ่ม
หน้าที่ที่สอง ช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มให้เป็นคนมีประสิทธิภาพขึ้นทั้งส่วนตนและในฐานะสมาชิกของกลุ่ม
- มีความรู้เกี่ยวกับความคิดและทักษะของการเป็นผู้นำกลุ่มและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ Concept ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการเป็นผู้นำเน้นมากขึ้นในเรื่อง “ผู้นำทำอะไร” มากกว่า “ผู้นำคืออะไร” อะไรที่ผู้นำทำนั้น สมาชิกคนใด ๆ ในกลุ่มก็สามารถกระทำได้ ขอบข่ายของหน้าที่ของผู้นำครอบคลุมไปถึงการแบ่งปันกันเป็นผู้นำในกลุ่ม การพึ่งพาอาศัยผู้นำกลุ่มมักไม่ค่อยจำเป็นมากไปกว่าการที่สมาชิกทุกคนมีส่วนในการตัดสินใจ เพื่อที่จะดำเนินงานหรือสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าอันเป็นผลเนื่องมาจากความสำเร็จที่ได้ร่วมกันทำให้เกิดขึ้น
- ทักษะในการติดต่อสื่อสาร การพินิจจารณาเรื่องการติดต่อสื่อสารของสมาชิกในกลุ่มอาจทำให้ทราบว่าทำไมกลุ่มถึงได้มีปัญหา คนหนึ่งพูดอย่างหนึ่งแต่ได้ยินไปอีกอย่างหนึ่ง คนส่วนใหญ่มักติดต่อสื่อสารโดยลักษณะท่าทางที่แสดงออก แต่ก็มักจะไม่ใครเคยตระหนักว่าเป็นอย่างนั้น กลุ่มอาจช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงวิธีต่าง ๆ ในการติดต่อสื่อสาร และจะช่วยฝึกฝนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ทักษะในการพัฒนาการเปิดเผยเปิดใจระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ในกลุ่มใหม่ ๆ สมาชิกส่วนมาจะรู้สึกและปิดตนเอง และมักไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะถูกต้องเมื่อมีใครมาพูดทำให้เกิดการเป็นกันเอง จึงจะสามารถทำให้รู้สึกชินบ้าง คนโดยทั่วไปมักจะพบว่าเป็นการยากที่จะพูดเรื่องของตนเองต่อหน้าคนแปลกหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ถือว่าเป็นความลับ แต่ถ้าได้มีการเริ่มต้นแล้ว ความแตกต่างเหล่านี้ก็จะค่อยหายไป มีความมั่นใจและอบอุ่นใจเกิดขึ้น เหล่านี้คือขั้นตอนแรกที่สมาชิกในกลุ่มมักจะทำ
- ทักษะในการช่วยเหลือกลุ่มให้สามารถให้และรักการ Feed-back เมื่อมีสมาชิกคนใดได้รับการบอกกล่าวจากคนอื่นว่าตนเองปฏิบัติตัวอย่างไร, พฤติกรรมของตนเองทำให้คนอื่นรู้สึกอย่างไร เหล่านี้เป็นการรับการ Feed-back จากคนอื่น, การ Feed-back เป็นความจำเป็นในการที่จะทำสมาชิกแต่ละคนปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองและพัฒนาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น การ Feed-back ที่ดีจะต้องได้รับการฝึกฝนในเรื่องการฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ, ความเห็นใจคนอื่น จนเกิดทักษะจนสามารถให้การได้โดยผู้รับไม่มีความรู้สึกว่าถูกตำหนิหรือถูกลงโทษ แต่กลับเข้าใจและเห็นความสำคัญที่จะรับเอา ในทางตรงกันข้ามทักษะในการขอให้คนอื่นให้ Feed-back แก่เราก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
- ทักษะในการแยกแยะรวบรวมจุดประสงค์ของสมาชิก และใช้ความขัดแย้งระหว่างกันให้เป็นประโยชน์ในการสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น คนมีความแตกต่างกันในความคิด ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ และพฤติกรรม ความแตกต่างดังกล่าวมีอิทธิพลต่อความหวังของสมาชิกและผู้นำกลุ่ม เมื่อความแตกต่างกันในทางความคิดมีมากก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ปัญหามักเกิดขึ้นเมื่อพฤติกรรมของสมาชิกหรือผู้นำกลุ่มเปลี่ยนไปจากที่เขาคาดหวังไว้ หากกลุ่มสามารถที่จะแยกแยะสอบถามความคาดหวังของสมาชิกแต่ละคนได้โดยการเปิดตัวเอง และแก้ปัญหาการขัดแย้งด้วยความซื่อตรงได้ กลุ่มก็จะเจริญขึ้น ซึ่งในทางกลับกันก็จะส่งผลให้เกิดประสบการณ์ที่ดีต่อสมาชิก
- ทักษะในการสนองตอบอย่างเหมาะสมต่อพฤติกรรมของสมาชิก พฤติกรรมของคนเราทุกอย่างที่แสดงออกไม่ว่าจะดีหรือเลวมักมีเหตุผลที่น่าศึกษาเสมอ โดยทั่วไปแล้วผู้นำกลุ่มมักจะสามารถเข้าใจและสนอบตอบต่อพฤติกรรมของสมาชิกได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว และหากเกินความสามารถเขาก็ยังสามารถที่จะขอให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษดำเนินการต่อแทนได้
- ทักษะในการพัฒนาบรรยากาศของการเจริญเติบโตให้กับสมาชิกและผู้นำกลุ่ม บรรยากาศของการสนับสนุนและยอมรับจะช่วยส่งให้สมาชิกสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ การตระหนักในตนเอง, ความเข้าใจตนเอง เกิดขึ้นได้ก็โดยมีบรรยากกาศที่เหมาะสม กลุ่มหลายกลุ่มประสบผลสำเร็จโดยวิธีนี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้นำเอง หากผู้นำพยายามสำรวจตนเองอย่างซื่อสัตย์ร่วมกับกลุ่ม เขาแสดงให้เห็นว่าเขามีการยอมรับความสามารถของตนเองในฐานะเป็นคนคนหนึ่ง เพราะเหตุนี้ ก็มีอิสระที่จะหลีกเลี่ยงการป้องกันตนเอง สามารถที่จะปล่อยวาง และสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนเป็นอย่างดี พฤติกรรมที่แสดงออกจึงเต็มไปด้วยความเข้าใจ ยอมรับ ไว้วางใจ และอนาทรต่อคนอื่น เหล่านี้เป็นบรรยากาศที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตขึ้น
3.ช่วยกลุ่มในการพัฒนากิจกรรมกลุ่ม
หน้าที่ที่สาม ช่วยกลุ่มในการพัฒนากิจกรรมกลุ่ม
- มีความรู้เกี่ยวกับชุมชนซึ่งกลุ่มของตนเองเป็นส่วนหนึ่ง รู้ปัญหา ความต้องการ ลักษณะ โครงสร้าง และทรัพยากรของชุมชน ผู้นำควรต้องรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลที่สุดในชีวิตของสมาชิกกลุ่ม สมาชิกกลุ่มใช้เวลาว่างไปทำอะไร ทำงานและเล่นกับใคร
- เข้าใจถึงความต้องการ, ปัญหา, ข้อคำนึก, ความสนใจ, สถานะ, วิถีชีวิต และงานพื้นฐานของสมาชิก ยิ่งผู้นำกลุ่มเข้าใจสมาชิกมากขึ้นเท่าใด หรือทดลองเอาใจสมาชิกมาใส่ใจเราดู ลองรู้สึกเห็นจากจุดของเขา ผู้นำก็จะยิ่งสามารถพัฒนาวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้เขาพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
- ทักษะในการช่วยเหลือกลุ่มให้ได้ทำสิ่งที่เขาต้องการอยากจะทำจริง ๆ มีบ่อย ๆ ที่กลุ่มไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำจริง ๆ บางทีเป้าหมายของสมาชิกไม่สัมพันธ์กันกับแผนงานของกลุ่ม บ่อยทีเดียวที่สมาชิกมักมีความรู้สึกทางด้านลบว่าสิ่งที่ทำเป็นเป้าหมายของผู้นำ ในทุกสถานการณ์ การปรึกษาหารือกันอย่างอิสระและเต็มใจ การช่วยทำให้มองเป็นสิ่งที่จะทำร่วมกันได้และทุกคนยอมรับ
- ช่วยให้กลุ่มสามารถค้นพบและริเริ่มกิจกรรมใหม่ ๆ กิจกรรมกลุ่มบางทีก็ซ้ำกันบ่อย ๆ เก่าแก่ ทั้งเนื้อหาและวิธีการ เมื่อกลุ่มปรึกษาหารือกันในการตั้งเป้าหมายที่ถูกต้องตามความต้องการของทุกคนแล้ว ควรจะมองหาวิธีใหม่ในการทำสิ่งใหม่ ๆ บ้าง กลุ่มส่วนใหญ่มักไม่ชอบทำกิจกรรมเก่า ๆ ซ้ำซากความเต็มใจของสมาชิกที่จะริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ จะทำให้เขาสนใจขึ้น และต้องการการท้าทายในการสร้างประสบการใหม่
- ทักษะในการช่วยเหลือกลุ่มให้มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มหรือชุมชนที่ใหญ่ขึ้น มีไม่กี่กลุ่มที่อยู่โดดเดี่ยวในสังคม กลุ่มก็เหมือนบุคคล เมื่อกลุ่มใดเข้มแข็งและพัฒนาขึ้นก็มักจะมีความปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม หน้าที่ของผู้นำก็ควรจะพยายามที่จะช่วยให้กลุ่มสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ๆ ได้
4.ช่วยเหลือกลุ่มให้เป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
หน้าที่ที่สี่ ช่วยเหลือกลุ่มให้เป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
- มีความรู้ถึงขั้นตอนของการเจริญเติบโตของกลุ่ม กลุ่มไม่ได้เกิดขึ้นมาแล้วก็มีวุฒิภาวะเลย ก็เหมือนบุคคลทั่วไป จะต้องพัฒนาผ่านขั้นตอนต่าง ๆ บางกลุ่มไม่เคยไปถึงไหน เคยเริ่มเช่นไรก็เป็นเช่นนั้น แต่บางกลุ่มก็จะเจริญไปจนถึงขั้นที่สามารถแตกไปตั้งกลุ่มอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นความจำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญมรากที่ผู้นำกลุ่มจะต้องรู้ถึงขั้นของการเจริญเติบโตของกลุ่ม เพื่อจะได้ช่วยกลุ่มให้เจริญไปได้ตามความต้องการ
- ทักษะในการช่วยเหลือกลุ่มในการแยกแยะ พัฒนา และระวังรักษามาตรฐานของกลุ่ม มาตรฐานของกลุ่ม หมายถึง ลักษณะพฤติกรรมของกลุ่มซึ่งกลุ่มได้พัฒนาขึ้นมาเป็นเวลานาน เช่น การฟังโดยความตั้งอกตั้งใจ, การตัดสินใจโดย consensus, แบ่งปันความรับผิดชอบ ช่วยกลุ่มให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ
- ทักษะในการแก้ปัญหา อุปสรรคใด ๆ ทีกลุ่มพานพบจนเป็นปัญหา หากสมาชิกในกลุ่มได้พยายามเข้าใจปัญหา, แยกแยะให้ชัดเจน ก็จะเป็นหนทางนำไปสู่การทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ๆ กลุ่มทุกกลุ่มมีปัญหาซึ่งเป็นสิ่งดีที่เปิดโอกาสให้กลุ่มได้ฝึกหัดแก้ไปขปัญหาได้ดีขึ้น
- มีความเข้าใจถึงผลกระทบของความร่วมมือและการแข่งขันในกลุ่ม การแข่งขันกัน ไม่ว่าจะโดยการจงใจหรือไม่จงใจ ไม่ว่าจะเกิดระหว่างสมาชิกและสมาชิก หรือระหว่างกลุ่มเล็กต่อกลุ่มเล็ก หรือกลุ่มต่อกลุ่มก็ตาม มักทำให้ลดประสิทธิภาพของกลุ่ม ความเข้าใจในเรื่องนี้ของผู้นำจะเป็นทางนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น
- มีความรู้ถึงวิธีการที่จะให้กลุ่มสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของกลุ่ม
- มีความเข้าใจถึงบทบาทของกลุ่มต่อกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สมาชิกกลุ่มหรือชุมชนมักกลัวการเปลี่ยนแปลง สาเหตุอาจเป็นเพราะไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงในตัวของสมาชิกเอง หรืออาจเป็นเพราะกลัวไปว่าเปลี่ยนแปลงแล้วจะทำให้เกิดอะไรขึ้นตามมา แต่ในปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป็นและเราไม่สามารถจเหนีไปจากความเปลี่ยนแปลงได้ กลุ่มที่มีประสิทธิภาพนั้นไม่แต่เพียงสามารถเปลี่ยนแปลงได้เท่านั้น แต่ยังเข้าร่วมกับคนอื่นในการทำการเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จได้
- ทักษะในการให้คำปรึกษาแก่กลุ่มและสมาชิกของกลุ่มได้