คุณค่าพระวรสารฯ บทเรียนที่ 16
มีความยุติธรรมในใจไม่เอารัดเอาเปรียบกัน
จุดประสงค์
เมื่อจบบทเรียนแล้ว ผู้เรียนสามารถ
1. รู้และบอกได้ถึงความหมายของความยุติธรรมตามคำสอนของพระศาสนจักรได้
2. ตระหนักถึงผลดีของความยุติธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม
3. รักษาความยุติธรรมและเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น
กิจกรรม ความยุติธรรม
ให้ผู้เรียนชมคลิปเรื่อง สองพี่น้อง
เป็นเรื่องราวของพี่น้องที่มักทะเลาะแย่งของกันเป็นประจำ พี่น้องแย่งกันดื่มน้ำอัดลมที่แบ่งเทใส่แก้ว 2 ใบ ต่างคนก็อยากได้แก้วใหญ่ ซึ่งตอนพี่เป็นคนแบ่งน้ำน้องไม่พอใจ หาว่าพี่ได้มากกว่า พ่อจึงตัดสินอย่างมีเทคนิคโดยให้น้องเป็นคนแบ่งน้ำใส่แก้ว แล้วถามว่าเห็นว่าเท่ากันหรือยัง พอน้องบอกว่าเท่ากันแล้ว ทั้งที่ดูอย่างไรก็ไม่เท่ากัน พ่อให้พี่เป็นคนเลือกแก้วก่อน ปรากฏว่าพี่เลือกใบที่มีน้ำอัดลมมากกว่าทำให้น้องไม่พอใจ หรือเรื่องการแย่งกันเล่นลูกบอลพลาสติก จนพ่อต้องยุติความขัดแย้งด้วยการผ่าลูกบอลเป็น 2 ส่วนเท่ากัน พี่กับน้องได้ลูกบอลกันคนละครึ่งลูกแต่ท้ายสุดลูกบอลก็เล่นไม่ได้ พี่น้องจึงสมานฉันท์นำบอลมาประกบกันจึงเล่นได้ เป็นเรื่องที่สะท้อนว่า การเอาชนะกันต่างฝ่ายจะไม่ได้อะไรเลย
วิเคราะห์ ผู้สอนสนทนากับผู้เรียน
1. ผู้เรียนเห็นอะไรจากคลิปวิดีโอบ้าง (เรื่องราวเป็นอย่างไร)
2. ผู้เรียนมีความรู้สึกอย่างไร
3. ผู้เรียนประทับใจ ชอบและไม่ชอบตอนใด
4. ผู้เรียนได้รับข้อคิดอะไรบ้าง
สรุป ความยุติธรรม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดังนั้น ความยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการ คนเราชอบมองความยุติธรรมในมุมของตนเอง ซึ่งบางครั้งก็เกิดความเอนเอียง ทำให้ขาดสภาพของความดี ความถูกต้องและขาดความเป็นธรรมให้กับผู้อื่นและตนเองด้วย
คำสอน
1. ความอยุติธรรมและความเห็นแก่ตัว เป็นปัญหาพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากในสังคมและนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมและครอบครัว ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการยกประเด็นนี้มาพูดคุยกันมากขึ้น เกิดปรากฏการณ์ ‘ทวงคืน’ ความยุติธรรมในหลายเรื่อง เช่น คอลเซนเตอร์หลอกลวง นายจ้างเอาเปรียบค่าแรงลูกจ้าง พ่อค้าคนกลางตั้งราคาสินค้าที่สูงเกินไปสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่รับสินค้าไปขายต่อ การที่คนรวย คนมีเงินมีสิทธิ์มีเสียงมากกว่าคนจน เป็นต้น
2. ความยุติธรรม หมายถึง ความเที่ยงธรรม ความชอบด้วยเหตุผล และเป็นเจตจำนงอันแน่วแน่ตลอดกาลที่จะให้ทุกคนตามสิทธิที่เขาควรจะได้รับ
3. ความยุติธรรมตามคำสอนของพระศาสนจักร เป็นคุณธรรมทางศีลธรรมที่มีเจตนามั่นคงที่จะให้แก่พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ตามสิ่งที่เป็นสิทธิของพระองค์และของเขา ความยุติธรรมต่อพระเจ้าจึงได้ชื่อว่า “คุณธรรมของศาสนา” คุณธรรมต่อมนุษย์ จัดให้เราเคารพสิทธิของแต่ละคน และเพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลและความดีส่วนรวม (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1807)
4. พระเยซูเจ้าเล่าเรื่อง อุปมาเรื่อง "คนงานในสวนองุ่น" (มัทธิว 20:1-16) เพื่อสอนเราในเรื่องของความยุติธรรม อาณาจักรสวรรค์เปรียบเหมือนพ่อบ้านผู้หนึ่ง ซึ่งออกไปตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อจ้างคนงานมาทำงานในสวนองุ่นครั้นได้ตกลงค่าจ้างวันละหนึ่งเหรียญกับคนงานแล้ว ก็ส่งไปทำงานในสวนองุ่น ประมาณสามโมงเช้า พ่อบ้านออกมาก็เห็นคนอื่น ๆ ยืนอยู่ที่ลานสาธารณะโดยไม่ทำงาน จึงพูดกับคนเหล่านี้ว่า “จงไปทำงานในสวนองุ่นของฉันเถิด ฉันจะให้ค่าจ้างตามสมควร” คนเหล่านี้ก็ไป พ่อบ้านออกไปอีกประมาณเที่ยงวันและบ่ายสามโมงกระทำเช่นเดียวกัน ประมาณห้าโมงเย็น พ่อบ้านออกไปอีกพบคนอื่น ๆ ยืนอยู่ จึงถามเขาว่า “ทำไมท่านยืนอยู่ที่นี่ทั้งวันโดยไม่ทำอะไร” เขาตอบว่า “เพราะไม่มีใครมาจ้าง” พ่อบ้านจึงพูดว่า “จงไปทำงานในสวนองุ่นของฉันเถิด” “ครั้นถึงเวลาค่ำ เจ้าของสวนบอกผู้จัดการว่า “ไปเรียกคนงานมา จ่ายค่าจ้างให้เขาโดยเริ่มตั้งแต่คนสุดท้ายจนถึงคนแรก”
เมื่อพวกที่เริ่มงานเวลาห้าโมงเย็นมาถึง เขาได้รับคนละหนึ่งเหรียญ เมื่อคนงานพวกแรกมาถึง เขาคิดว่าตนจะได้รับมากกว่านั้น แต่ก็ได้รับคนละหนึ่งเหรียญเช่นกัน ขณะรับค่าจ้างเขาก็บ่นถึงเจ้าของสวนว่า ‘พวกที่มาสุดท้ายนี้ทำงานเพียงชั่วโมงเดียว ท่านก็ให้ค่าจ้างแก่เขาเท่ากับเรา ซึ่งต้องตรากตรำอยู่กลางแดดตลอดวัน’ เจ้าของสวนจึงพูดกับคนหนึ่งในพวกนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ฉันไม่ได้โกงท่านเลย ท่านไม่ได้ตกลงกับฉันคนละหนึ่งเหรียญหรือจงเอาค่าจ้างของท่านไปเถิด ฉันอยากจะให้คนที่มาสุดท้ายนี้เท่ากับให้ท่าน ฉันไม่มีสิทธิ์ใช้เงินของฉันตามที่ฉันพอใจหรือ ท่านอิจฉาริษยาเพราะฉันใจดีหรือ’ “ดังนี้แหละ คนกลุ่มสุดท้ายจะกลับกลายเป็นคนกลุ่มแรก และคนกลุ่มแรกจะกลับกลายเป็นคนกลุ่มสุดท้าย”
อุปมาเรื่องนี้ แสดงให้เห็นถึงความยุติธรรมของเจ้าของสวนองุ่น ที่ให้โอกาสคนว่างงานได้มาทำงานในสวนองุ่น โดยตกลงให้ค่าจ้างคนละ 1 เหรียญ ซึ่งเป็นค่าจ้างสำหรับเลี้ยงครอบครัวในหนึ่งวัน ซึ่งเจ้าของสวนก็ใจดีมีเมตตารับคนงานเข้ามาทำงานหลายคน เมื่อถึงเวลาจ่ายค่าจ้างได้จ่ายให้คนละ 1 เหรียญเท่ากัน นี่เป็นความยุติธรรมตามที่เจ้าของสวนได้ตกลงกับคนงาน ที่เข้ามาทำงานในสวนองุ่นของเขา รวมถึงคนมาทีหลังแม้ทำงานเพียงชั่วโมงเดียวด้วย
5. จากอุปมาเรื่องนี้ พระเยซูเจ้ายังสอนให้เรามีความเมตตาใจดีต่อกัน เห็นอกเห็นใจกันและกันด้วย เพราะหากคนงานที่มาทำงานเพียงชั่วโมงเดียว และได้เงินน้อยกว่า 1 เหรียญเขาคงมีเงินไม่พอที่เลี้ยงครอบครัวของเขาเพราะไม่มีอะไรเลวร้ายเท่าลูกจ้างรายวันไม่มีงานทำ พวกเขารออยู่ที่ลานสาธารณะของหมู่บ้านเพราะไม่มีใครจ้างงานพวกเขา แต่เพราะความใจดีของเจ้าของสวนที่ให้งานแก่พวกเขา ถึงแม้ว่าเขาจะทำงานเพียงชั่วโมงเดียวแต่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะทำงานและได้รับค่าจ้างเพื่อยังชีพจากผลงานของเขา
6. ผู้ที่มีความยุติธรรมในใจ เขาจะไม่คิดถึงเฉพาะสิทธิและสิ่งของของตนเองเท่านั้น แต่ยังคิดถึงสิทธิและความอยู่รอดของผู้อื่นด้วย ข้อดีของความยุติธรรมยังเป็นการให้ความสำคัญกับผู้อื่นและช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งหากคนในสังคมไม่มีความยุติธรรมในใจ ก็จะทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เกิดความไม่เท่าเทียม สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวายและไม่มีความสงบสุข
ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
1. ความยุติธรรม หมายถึง ความเที่ยงธรรม ความชอบด้วยเหตุผล และเป็นเจตจำนงอันแน่วแน่ตลอดกาลที่จะให้ทุกคนตามสิทธิที่เขาควรจะได้รับ
2. ความยุติธรรมตามคำสอนของพระศาสนจักร เป็นคุณธรรมทางทางศาสนา ที่มีเจตนามั่นคงที่จะให้แก่พระเจ้า และเพื่อนมนุษย์ เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน และส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลและความดีส่วนรวม (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1807)
3. อุปมาเรื่องคนงานในสวนองุ่น สอนเราในเรื่องของความยุติธรรมและความเมตตาใจดีที่เราควรมีให้แก่กัน
4. ผู้ที่มีความยุติธรรม เขาจะไม่คิดถึงเฉพาะสิทธิและสิ่งของของตนเองเท่านั้น แต่ยังคิดถึงสิทธิและสิ่งของของผู้อื่นด้วย
5. ข้อดีของความยุติธรรมยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เป็นการให้ความสำคัญกับผู้อื่นเพื่อสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
6. หากคนในสังคมไม่มีความยุติธรรมในใจ ก็จะทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เกิดความไม่เท่าเทียม สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวายและไม่มีความสงบสุข
ข. กิจกรรมสรุปบทเรียน
ให้ผู้เรียนทำโปสเตอร์ ปลุกจิตสำนึกเรื่อง “รักความยุติธรรม ไม่โกง” ติดบอร์ดในโรงเรียนหรือหน้าห้องคำสอน
ค. การบ้าน
ให้ผู้เรียนแต่งบทภาวนาเพื่อผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม
::: Download บทเรียนที่ 16 ::