คุณค่าพระวรสารฯ บทเรียนที่ 9
เป็นคนดีมีใจซื่อตรง
จุดประสงค์
เมื่อจบบทเรียนแล้ว ผู้เรียนสามารถ
1. รู้และบอกได้ถึงคุณลักษณะของผู้มีความซื่อสัตย์และซื่อตรง
2. ให้ความสำคัญกับการพูดความจริงอย่างซื่อสัตย์และซื่อตรง
3. ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความซื่อสัตย์และซื่อตรงทั้งต่อหน้าและลับหลัง
กิจกรรม ชิมขนม
สำรวจความซื่อสัตย์ด้วยเกมชิมขนม เพื่อให้ผู้เรียนรู้ว่าการโกหกขัดกับความซื่อสัตย์ และผู้อื่นจะมองเห็นการกระทำทั้งหมดของพวกเขา
อุปกรณ์ 1. ลูกอมหลากหลายชนิด (แยกใส่จาน) 2. ผ้าปิดตา
วิธีการ 1. ขออาสาสมัครผู้เรียน 1 คนและใช้ผ้าปิดตาไว้ (จะเป็นผู้ที่ชิมและทายชนิดของลูกอม)
2. นำลูกอมแต่ละชนิดแยกใส่จาน วางไว้บนโต๊ะหน้าชั้นเรียน
3. ให้ผู้เรียนอีก 2-3 คน ออกมาเลือก หยิบลูกอมคนละ 1 เม็ด จากจานใดก็ได้ และนำเสนอรายละเอียด รสชาติสีสันของลูกอม เพื่อเชิญชวนให้ผู้เรียนที่ปิดตาเลือกชิมลูกอมที่ตนเลือกไว้นั้น โดยไม่บอกว่าเป็นลูกอมชนิดใด
4. ให้ผู้เรียนที่ปิดตาเลือกชิมลูกอม 1 เม็ดและทายว่าเป็นลูกอมชนิดใด
5. หากผู้ชิมเลือกชิมลูกอมตามเพื่อนคนใดและสามารถทายถูกว่าเป็นลูกอมชนิดใด ถือว่าเพื่อนคนนั้นเป็นผู้ชนะ
วิเคราะห์ ผู้สอนสนทนากับผู้เรียน
1. คนชิม (ที่ปิดตา) และคนที่ออกมาเลือกลูกอมให้เพื่อนชิม มีความรู้สึกอย่างไร (กลัว, ลังเล, ไม่มั่นใจ, อยากช่วยเพื่อน, อยากแกล้งเพื่อน ฯลฯ)
2. คนชิม เลือกที่จะเชื่อและชิมลูกอมตามเพื่อนคนนั้น เพราะเหตุใด (ไว้ใจ, มั่นใจในตัวของเพื่อน, เพื่อนเชื้อเชิญได้น่าสนใจ, เดา ฯลฯ)
3. ลูกอมที่เลือกชิมนั้น มีรสชาติตรงตามที่เพื่อนบอกหรือไม่ (ตรง, ไม่ตรง)
4. เพื่อนคนอื่น ๆ ได้เห็นหรือได้เรียนรู้อะไร (มีคนพูดโกหก, ความไว้วางใจ, ความซื่อตรง, การกลั่นแกล้ง ฯลฯ)
5. จากกิจกรรมนี้มีบุคคลใดที่น่าชื่นชมบ้าง (เพื่อนที่พูดความจริงและพยายามอธิบายอย่างตรงไปตรงมา)
สรุป ผู้ที่มีพฤติกรรม “ซื่อตรง” คือผู้ที่ประพฤติตรง ไม่เอนเอียง ไม่คดโกง ทั้งทางด้านวาจาและการกระทำ
คำสอน
1. ปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรง และซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การให้หรือรับสินบน การขู่เข็ญบังคับ และให้สิ่งล่อใจ การยอมรับของขวัญ การไม่กระทำตามหน้าที่แบบตรงไปตรงมา แต่ใช้อิทธิพลของพรรคพวกแทนการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด การทุจริตการเลือกตั้ง การมีผลประโยชน์ทับซ้อน การรณรงค์ที่ผิดกฎหมายหรือแม้แต่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในห้องเรียนของเราด้วย เช่น ลอกการบ้าน การทุจริตในการสอบ การใช้เทคโนโลยีในการสืบค้นข้อมูลเพื่อทำงานส่งซึ่งอาจมีการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาของผู้อื่น
2. ความซื่อตรง เป็นหนึ่งในคุณธรรมที่เราสามารถทำได้เสมอในชีวิตประจำวัน ในการทำหน้าที่ของตน เช่น การตื่นนอนให้ตรงเวลา ไปเรียนหนังสือโดยไม่บ่ายเบี่ยง ไม่เกียจคร้าน แต่งกายให้ถูกต้อง ไม่หยิบของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ขโมยสิ่งของเงินทองของใคร เมื่อพบเจอเงินหรือสิ่งของที่มีค่าที่ไม่ใช่ของตน ก็นำไปประกาศหาเจ้าของ คนที่ซื่อสัตย์และมีใจที่ซื่อตรง จะไม่อยากได้ของที่ไม่ใช่ของตน จะเคารพกฎระเบียบของสถานที่ไม่ทำผิดกฎแม้ไม่มีคนเห็น หรือเมื่อทำผิดกฎระเบียบก็ต้องกล้ายอมรับโทษนั้นด้วยความจริงใจ และเราจะทำเช่นนี้ได้ เมื่อประพฤติตนด้วยความระมัดระวัง ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจของเราให้หลงไปทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องเลือกกระทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง หากเราประพฤติตนไม่ซื่อสัตย์ ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่มีจะทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้วางใจ และไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย
3. พระเยซูเจ้าเป็นแบบอย่างให้เราในการดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรง หลังจากพระองค์ทรงรับพิธีล้าง พระองค์เสด็จไปในถิ่นทุรกันดารเพื่ออดอาหาร อธิษฐานภาวนาเป็นเวลาสี่สิบวันและสี่สิบคืน ระหว่างนั้นซาตานมาหาพระองค์ ในช่วงเวลาที่พระองค์อ่อนแอที่สุด เพื่อทำลายความซื่อตรงของพระองค์ ทรงถูกทดลองในทุกทาง แต่กระนั้นพระองค์ก็ไม่เคยทำบาป (เทียบ ฮีบรู 4:15)
4. พระเยซูเจ้ายังทรงสอนเราว่า คริสตชนที่ดีต้องประพฤติตนตามมาตรฐานใหม่คือ ท่านยังได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าผิดคำสาบาน แต่จงทำตามที่ได้สาบานไว้ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย อย่าอ้างถึงสวรรค์เพราะเป็นที่ประทับของพระเจ้า อย่าอ้างถึงแผ่นดิน เพราะเป็นที่รองพระบาทของพระองค์ อย่าอ้างถึงกรุงเยรูซาเล็ม เพราะเป็นนครหลวงของพระมหากษัตริย์ อย่าอ้างถึงศีรษะของท่าน เพราะท่านไม่อาจเปลี่ยนผมสักเส้นให้ดำเป็นขาวได้ ท่านจงพูดเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ คำพูดที่มากไปกว่านั้นมาจากมารร้าย (มธ.5:33-37) และผู้ที่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อย ก็จะซื่อสัตย์ในเรื่องใหญ่ด้วย ผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อยก็จะไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องใหญ่ด้วย (ลูกา 16:10)
5. ทุกวันเราควรฝึกปฏิบัติในเรื่องความซื่อสัตย์และความซื่อตรงให้ติดเป็นนิสัย ทุกครั้งที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เราจะมีความภูมิใจในตนเองโดยทันทีโดยที่ไม่ต้องมีใครมามอบให้ และบุคคลที่มีใจซื่อตรงนั้น ได้รับชื่อว่าเป็นผู้ไว้วางใจได้ อาศัยพระวาจาและบัญญัติของพระเจ้า จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตเป็นคริสตชนที่ดีที่มีใจซื่อตรง
ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
1. ผู้ที่มีพฤติกรรม “ซื่อตรง” คือ ผู้ที่ประพฤติตรง ไม่เอนเอียง ไม่คดโกง ทั้งทางด้านวาจาและการกระทำ
2. คนที่ซื่อสัตย์และมีใจที่ซื่อตรง จะไม่อยากได้ของที่ไม่ใช่ของตนเอง จะเคารพกฎระเบียบของสถานที่ ไม่ทำผิดกฎแม้ไม่มีคนเห็น
3. คริสตชนต้องประพฤติตนด้วยความระมัดระวัง ไม่ปล่อยตัว ปล่อยใจของเราให้หลงไปทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องเลือกกระทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
4. พระเยซูเจ้าเป็นแบบอย่างให้เราในการดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรง แม้ทรงถูกทดลองในถิ่นทุรกันดาร แต่พระองค์ก็มิทรงทำบาป (เทียบ ฮีบรู 4:15)
5. ผู้ที่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อย ก็จะซื่อสัตย์ในเรื่องใหญ่ด้วย ผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อย ก็จะไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องใหญ่ด้วย (ลูกา 16:10)
6. อาศัยพระวาจาและบัญญัติของพระเจ้าจะช่วยให้เราดำเนินชีวิตเป็นคริสตชนที่ดีที่มีใจที่ซื่อตรงได้
ข. กิจกรรมสรุปบทเรียน
หลังจากที่เราได้เรียนเรื่องความซื่อตรงกันแล้ว เรามาทดลองประเมินตนเองกันสักนิดว่าตัวเรามีความซื่อตรงในระดับใด
รวมคะแนนเสร็จแล้วมาดูผลคะแนนกันดีกว่า
น้อยกว่า 50 คะแนน จะต้องปรับปรุงตัวอย่างมาก เพราะท่านเป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจ
50 – 60 คะแนน ค่อนข้างมีความซื่อตรงแต่ก็ยังไม่ซื่อตรงตลอดเวลา บางครั้งก็ไม่ซื่อตรงแต่ยังปรับปรุงได้
61 – 75 คะแนน เป็นคนที่ไว้ใจได้ มีความซื่อตรงค่อนข้างมาก แม้บางครั้งอาจบูดเบี้ยวบ้างอาจเพราะปัจจัยแวดล้อม หรือไขว้เขวไปบ้าง
76 – 90 คะแนน เป็นคนที่ไว้ใจได้ มีความซื่อตรงในทุก ๆ ที่ทุกเวลา เป็นคนดีของสังคมและครอบครัว
มากกว่า 90 คะแนน เป็นคนซื่อตรงอย่างสุดยอด ที่สุดเป็นคนสมบูรณ์แบบ หากเป็นตุลาการท่านจะเทียบได้กับ“เปาบุ้นจิ้น” ถือว่าเป็นคริสตชนที่ดีมาก
หมายเหตุ: โดยปกติการประเมินตนเองมักมีอคติ ผู้ประเมินมักให้คะแนนตนเองสูงกว่าความเป็นจริงแต่อย่างไรก็ดี การประเมินนี้จะทำให้เราแต่ละคนจะได้เข้าใจตนเองมากขึ้น และตระหนักเรื่องความซื่อตรง รู้ว่าตนเองมีความบกพร่องในเรื่องใด จะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น หากได้คะแนนที่ดีก็ต้องภูมิใจในตนเองด้วย
ค. การบ้าน
เขียนไตร่ตรองว่า จะปรับปรุงแก้ไขตนเองในเรื่องใดบ้าง
::: Download บทเรียนที่ 9 ::