Love Letter 20 “กิจเมตตาฝ่ายจิตใจ "
เพื่อนผู้ร่วมงานที่รัก
ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม พระศาสนจักรคาทอลิกส่งเสริมให้ทุกคนได้ออกจากตนเอง ออกไปทำกิจเมตตาซึ่งประกอบกิจเมตตาฝ่ายกายและกิจเมตตาฝ่ายจิต ในครั้งนี้ขอนำเสนอกิจกรรมที่เราสามารถกระทำได้เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในความต้องการฝ่ายจิตใจ
กิจเมตตาฝ่ายจิตใจ
กิจเมตตาฝ่ายจิตเป็นกิจการที่คริสตชนได้ปฏิบัติกันมาจนเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานแล้วดังปรากฏอยู่ในคำสอนของนักเทววิทยา ข้อเขียนของนักเขียนเรื่องชีวิตฝ่ายของพระศาสนจักร และบทเทศน์ต่างๆ กิจเมตตาฝ่ายจิตเป็นการช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องที่มีความต้องการเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ
กิจเมตตาฝ่ายจิตตามคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกประกอบด้วยกิจการต่างๆจำนวน 7 ประการ ซึ่งแต่ละข้อจะมีข้อแนะนำเพื่อการปฏิบัติเป็นตัวอย่างเพื่อง่ายต่อความเข้าใจ เราสามารถประยุกต์เพิ่มเติมกิจกรรมต่างๆ ลงไปแล้วแต่สภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่
1. ให้คำแนะนำแก่ผู้สงสัย เราทุกคนต่างมีช่วงเวลาที่เกิดความสงสัยในชีวิตแห่งความเชื่อของเรา อย่างไรก็ตาม เราควรที่จะจดจำไว้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นหนทาง ความจริงและชีวิต ซึ่งเราจะต้องยึดมั่นพระองค์ตลอดไปในชีวิตของเรา การรับฟังคำแนะนำและคำสั่งสอนทำให้เรามีปรีชาฉลาด “จงฟังคำแนะนำและรับคำตักเตือน ท่านจะมีปรีชาในอนาคต” (สุภาษิต 19:20) เรื่องกางเขนของพระคริสตเจ้านั้นแม้ดูว่าเป็นเรื่องโง่เขลาในสายตาของคนทั่วไป แต่สำหรับพระเจ้าแล้วเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก “ความโง่เขลาของพระเจ้ายังฉลาดยิ่งกว่าปรีชาญาณของมนุษย์ และความอ่อนแอของพระเจ้าก็ยังเข้มแข็งยิ่งกว่าพละกำลังของมนุษย์” (1 โครินธ์ 1:25) - ถ้ามีคนมาขอคำแนะนำจากท่านหรือ ให้ท่านตอบโดยมีหลักอยู่ในคำสอนของพระเยซูคริสต์เจ้า ผู้ทรงเป็นหนทาง ความจริงและชีวิต - ดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่ดีแห่งการเป็นศิษย์ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ เพื่อในคนทั้งหลายจะได้เห็นความรักของพระเจ้าที่เผยแสดงให้เห็นโดยผ่านทางกิจการหรือการกระทำของท่าน - เป็นเพื่อนร่วมทางกับบุคคลที่มีอุปสรรคหรือปัญหาในเรื่องของความเชื่อ เชิญชวนเขาให้เข้าร่วมกลุ่มเพื่อจะได้รับศึกษาอบรมเพิ่มเติม หรือมีประสบการณ์แห่งความเชื่อ จัดหาหนังสือที่มีประโยชน์เพื่อบำรุงหรือทำความเข้าใจเรื่องความเชื่อ และการนมัสการพระเจ้าในพิธีกรรมต่างๆ |
2. สอนคนที่ไม่รู้ เรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องความเชื่อ และเปิดตนเองเข้าไปพูดคุยหรือแบ่งปันความเชื่อของตนเองกับผู้อื่น ยิ่งเราแบ่งปันความเชื่อเรายิ่งมีความเชื่อมากยิ่งขึ้น - อาสาไปร่วมงานสอนคำสอนในที่ที่ขาดแคลนครูคำสอน ถ้าไม่มีเวลาให้สนับสนุนงานสอนคำสอนด้วยการบริจาคเงินหรือช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อการสอนคำสอน - อาสาสมัครไปงานสอนคำสอนหรือการสอนคริสตศาสนาที่วัดหรือโรงเรียน - เชิญชวนเพื่อนต่างความเชื่อไปร่วมมิสซาพร้อมกับท่านในวันอาทิตย์ - อ่านพระคัมภีร์และหนังสือคำสอนอย่างสม่ำเสมอ - เข้ารับการฝึกอบรมเรื่องของการสอนคำสอนที่วัดหรือสังฆมณฑลจัดขึ้น |
3. ตักเตือนคนบาป จงอย่าตัดสินหรือตำหนิติเตียนใคร แต่จงให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ช่วยเหลือเขาให้พบหนทางเพื่อการแก้ไขปรับปรุงตนให้พ้นจากความผิดนั้น แล้วก้าวเดินไปด้วยกันในการดำเนินชีวิตใกล้ชิดพระเยซูเจ้า - ในสังคมปัจจุบัน เราจะต้องยืนหยัดในการสร้างวัฒนธรรมที่จะไม่ยอมรับบาปทุกชนิด และสำนึกว่าเราทุกคนล้วนแต่เป็นคนบาปและทำบาปอยู่เสมอ - จงอย่าพิพากษาหรือตัดสินใคร แต่จงแนะนำให้พวกเขาได้ให้ประพฤติตนในอยู่ในแนวทางแห่งความชอบธรรม หรือความรอด “อย่าตัดสินเขา และท่านจะไม่ถูกพระเจ้าตัดสิน ท่านตัดสินเขาอย่างไร พระเจ้าจะทรงตัดสินท่านอย่างนั้น” (มัทธิว 7:1-2) - เมื่อท่านจะตักเตือนใคร จงอย่ายกตนเองหรือแสดงว่าตนเองดีหว่าคนอื่น เพราะเราทุกคนต่างต้องการความรักของพระเจ้าเพื่อปรับปรุงตนเองด้วยกันทั้งนั้น - หนทางที่ถูกต้องคือการเป็นเพื่อนร่วมทางกับเขาเพื่อจะได้แบ่งปันความเชื่อให้แก่กันและกันได้อย่างลึกซึ้ง - จงระลึกถึงพระวาจาที่ว่า “ท่านคนหน้าซื่อใจคดเอ๋ย จงเอาท่อนซุงออกจากดวงตาของท่านก่อนเถิด แล้วจะได้เห็นชัดก่อนไปเขี่ยเศษฟางออกจากดวงตาของพี่น้อง” (มัทธิว 7:5) |
4. บรรเทาใจผู้ทุกข์ยาก จงยินดีที่จะรับฟังและให้กำลังใจกับบุคคลที่กำลังมีความทุกข์ แม้ว่าท่านไม่รู้ว่าจะพูดปลอบโยนเขาได้อย่างไรให้เหมาะสม แต่การอยู่กับเขาย่อมก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล - อดทนที่จะรับฟังแม้ว่าเขาจะระบายความทุกข์ยากลำบากอะไรให้ท่านฟัง - ปรุงอาหารหรือซื้ออาหารไปให้เพื่อนที่กำลังอยู่ในความทุกข์ยากลำบาป - เขียนจดหมายหรือส่งการ์ดไปให้กำลังใจ - จัดเวลาไปเยี่ยมคนที่กำลังมีความทุกข์ |
5. ให้อภัยผู้ทำความผิด การให้อภัยผู้อื่นเป็นเรื่องที่ยากทั้งนี้เพราะเรายังไม่มีความเมตตาอันไม่สิ้นสุดและความเห็นอกเห็นใจของพระเจ้าอยู่ในใจของเรา แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้รู้จักให้อภัยแก่ผู้อื่นเหมือนกับที่พระองค์ทรงให้อภัยเรา การพึงพาพระองค์จะช่วยทำให้เราให้อภัยแก่คนอื่นได้ - จงเข้าหาบุคคลที่เราไม่ค่อยพอใจ - ให้กล่าวคำว่า “ขอโทษ” เหมือนที่เราฝึกตั้งแต่เด็ก แต่ต้องพูดออกมาจากใจจริง การยกโทษจะช่วยเปลี่ยนจิตใจและการดำเนินชีวิตของเรา - เข้าร่วมในพิธีศีลอภัยบาป - สวดบทภาวนาพระเมตตา |
6. อดทนต่อความผิดของผู้อื่น จงอย่าเป็นทุกข์กับความผิดที่ผู้อื่นกระทำต่อท่าน จงมีความหวังและวางไว้ใจในพระเจ้าเพื่อท่านจะสามารถอดทนต่อความยากลำบากที่เกิดขึ้นมากมายในโลกนี้ และกล้าหาญที่จะเพชิญหน้ากับมันด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ - ท่านรู้สึกเก็บกดหรือเครียดกับใครคนใดคนหนึ่งอยู่หรือไม่ ทนทางที่ดีคือการทำตนเองให้หลุดออกไปจากสถานการณ์นั้น ภาวนาบทข้าแต่พระบิดาเพื่อวอนขอความเพียรทน |
7. ภาวนาสำหรับผู้เป็นและผู้ตาย การภาวนาเป็นหนึ่งในพลังที่ทรงอานุภาพที่ท่านสามารถสนับสนุนผู้อื่น จงร่วมใจกันภาวนาทั้งเพื่อผู้ที่ยังมีชีวิตร่วมถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วยเพื่อให้ทุกคนอยู่ในความอารักขาขององค์พระผู้เป็นเจ้า - ขอมิสซาสุขสำราญให้เพื่อนหรือรอบครัวของเพื่อนที่กำลังอยู่ในความทุกข์ยาก - ขอมิสซาเพื่อดวงวิญญาณของเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวของเพื่อนที่ล่วงลับไปแล้ว - จัดให้มีหนังสือภาวนาและมีที่จดบันทึกเพื่อจะได้จะบันทึกชื่อของผู้ที่เราภาวนาให้หรือผู้ที่ต้องการคำภาวนาจากเรา - ขอให้เพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวช่วยกันภาวนาให้บุคคลที่กำลังต้องการคำภาวนา - จงมอบความไว้วางใจและความห่วงใยของท่านด้วยคำภาวนาให้กับบุคคลที่อยู่รอบๆตัวของท่าน |
เพื่อนผู้ร่วมงานที่รัก คงมีอะไรหลายสิ่งหลายอย่างที่เราได้กระทำกันอยู่แล้ว และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราคิดว่าเราสามารถกระทำเพิ่มเติมได้ อย่าลืมคำสอนของพระเยซูเจ้าที่ว่า
“พระอาณาจักรของพระเจ้าไม่อยู่ในคำพูด แต่อยู่ในการกระทำซึ่งแสดงพระอานุภาพของพระจิตเจ้า” (1โครินธ์ 4:20)
“เพราะเราทุกคนจะต้องปรากฏเฉพาะพระบัลลังก์ของพระคริสตเจ้า เพื่อแต่ละคนจะได้รับสิ่งตอบแทนสมกับที่ได้กระทำเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในร่างกาย ขึ้นอยู่กับการกระทำนั้นว่าจะดีหรือชั่ว” (2 โครินธ์ 5:10)
“แต่ละคนจงพิจารณาการกระทำของตน แล้วจะภูมิใจในตนเอง โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับผู้อื่น” (กาลาเทีย 6:4)
“พี่น้องทั้งหลาย จะมีประโยชน์ใดหากผู้หนึ่งอ้างว่ามีความเชื่อแต่ไม่มีการกระทำ ความเชื่อเช่นนี้จะช่วยให้เขารอดพ้นได้หรือ” (ยากอบ 2:14)
ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านพ้นไปแต่ คำสอนของพระเจ้าจะยังคงอยู่ตลอดไป
ขอให้สนุกกับงานรับใช้พระเจ้า
คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ
***ภาพประกอบโดย คุณมธุรวรรณ โลกวิทย์