ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

จดหมายเปิดผนึก...ถึงเพื่อน...ผู้ร่วมงาน
Love Letter 18 “การสอนคำสอนในปัจจุบันเป็นอย่างไร?”
เพื่อนผู้ร่วมงานที่รัก
            

             เมื่อพูดถึงคำว่าการสอนคำสอน เรามักจะนึกถึงห้องเรียน ครูคำสอน พระคัมภีร์ รูปแบบ การท่องจำ บทสวด ถามตอบ มีระเบียบวินัย ฯลฯ ตามที่เราเคยได้รับการสั่งสอนหรือได้เรียนรู้กันมาจากอดีต หลายๆโบสถ์และโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนคำสอนด้วยรูปแบบนี้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหนังสือคู่มือ หรือมีการใช้สื่ออุปกรณ์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน หรือมีกิจกรรมให้เด็กทำมากขึ้น แต่โดยรูปแบบพื้นฐานยังคงเหมือนเดิม

 

              เราต้องยอมรับว่าสภาพสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งในวิถีชีวิตของบุคคล ครอบครัว สังคม การศึกษา เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมต่างๆ เรื่องเหล่านี้ส่งผลต่อการเรียนคำสอน หรือการหล่อหลอมความเชื่อให้แก่เด็กๆ เยาวชน และสมาชิกของเราอย่างมาก นักการศึกษาอบรมได้นำเสนอแนวคิดที่หลากหลายเพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในด้านการศึกษาอบรม ซึ่งในเรื่องนี้เองทำให้เราในฐานะผู้ให้การฝึกอบรมจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนความคิดในการสอนคำสอนหรือการหล่อหลอมความเชื่อให้กับอนุชนของเราต่อไป มีแนวคิดด้านการศึกษาอบรมที่น่าสนใจ เช่น

 

               - การศึกษาของเด็ก "มีพื้นฐานจากความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ว่า เป็นกระบวนการของสติปัญญาของเด็กแต่ละคนที่จะรับเอาข้อมูลและบูรณาการข้อมูลนั้นได้ตามเวลาที่เหมาะสมกับพัฒนาการของสติปัญญาที่จะรับรู้ได้” ในทางปฏิบัติจึงมองการเรียนรู้ว่าเป็น กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในสติปัญญาของเด็กแต่ละคน ส่วนทางทฤษฎีนั้น การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้จากการบูรณาการระหว่างการสอนของครูกับการจัดบรรยากาศการเรียนของครู และร่วมกับกระบวนการเรียนรู้ภายในของเด็กแต่ละคน” (Mercer, 163)

 

               - การสอนด้านคุณค่าหรือค่านิยมกับประสบการณ์ของเด็ก ครูอาสาสมัครหลายคนอาจจะรู้สึกอึดอัดกับการอภิปรายหรือการแบ่งปันของเด็กในประเด็นปัญหาที่ยากๆที่ให้เด็กได้กระทำ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กๆยังคงพยายามที่จะมีส่วนร่วมในการไตร่ตรองทางเทววิทยากับประสบการณ์ของพวกเขาแม้จะมีอุปสรรคเหล่านี้ก็ตาม เด็กๆสามารถไตร่ตรองทางเทววิทยาได้ (ในแนวทางที่แตกต่างกันตามพัฒนาการของอายุ/ลำดับขั้นตอน) และผู้ใหญ่สามารถให้การสนับสนุนโดยให้ความสนใจอย่างจริงจังกับประสบการณ์ของเด็กๆวัยหนุ่มสาวนี้ และใส่ใจกับภาษาทางศาสนา สัญลักษณ์ พิธีกรรม และกรอบการตีความอื่นๆรวมถึงทักษะต่างด้วย (Yust 2002)

 

              - การศึกษาของเด็กถูกจัดให้อยู่ในช่วงอายุต่างๆซึ่งแยกเด็กออกจากครอบครัวและจากชุมชนแห่งความเชื่ออื่นๆ เด็กมีโอกาสน้อยมากที่จะสังเกตถึงพัฒนาของลำดับขั้นต่อไปที่จะดึงพวกเขาให้ก้าวไปข้างหน้าและช่วยพวกเขาให้เจริญเติบโตในความเชื่อ พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะมองดูคุณพ่อคุณแม่ ครูอาจารย์ และบุคคลสำคัญอื่นๆแสดงความเชื่อศรัทธา การช่วยเหลือรับใช้สังคม การภาวนา และการมีสัมพันธ์ภาพที่ดีกับผู้อื่นให้เห็น เรารู้ว่าชีวิตแห่งความศรัทธาของเด็กๆนั้นจะต้องได้รับการหล่อหลอมหรือบำรุงเลี้ยงด้วยความเชื่อศรัทธาของครอบครัวและความเชื่อศรัทธาที่มีชีวิตชีวาของชุมชน

 

              - การศึกษาของเด็กมักจะ “เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติของชุมชนแห่งความเชื่อ การศึกษาอบรมของเด็กๆเป็นการหล่อหลอมให้เกิดเอกลักษณ์ เป็นการเรียนรู้โดยผ่านการมีส่วนร่วมในพระศาสนจักรในฐานะที่เป็น “ชุมชนแห่งปฏิบัติ” ที่พยายามดำเนินชีวิตตามแนวทางของพระเยซูและจัดระบบชีวิตและการปฏิบัติตามคำสอนเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า ด้วยการจัดลำดับการทำงาน และเปลี่ยนแปลงให้เกิดการทุ่มเทอุทิศตนสู่ทางเลือกใหม่ของชีวิต (Mercer, 163) แต่เราจะเห็นว่า เรายังมีการผสมผสานระหว่างการศึกษาอบรมของเด็กๆกับชุมชนอื่นๆน้อยมาก

 

                 ทุกวันนี้ เราได้เรียนรู้ยิ่งทียิ่งมากขึ้นว่า วิธีการเรียนรู้ของเด็กๆไม่เหมือนกับเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา ทั้งวิธีการเรียนและกิจกรรมการเรียน โลกของเด็กได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตนเอง เพื่อจะได้สามารถพัฒนาเด็กๆของเราได้ครบในทุกมิติ ทั้งร่างกายสติปัญญา และจิตวิญญาณ พระศาสนจักรที่เข้าใจในเรื่องนี้ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการฝึกอบรมเด็กๆของตนให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว

 

               จากประสบการณ์อันยาวนานของพระศาสนจักร การหล่อหลอมความเชื่อศรัทธาให้กับเด็กๆ นั้น พระศาสนจักรแนะนำว่า “จำต้องเชื่อมโยงกับสถานการณ์และเงื่อนไขในชีวิตของพวกเขา..ต้องทุ่มเทความสนใจไปที่แหล่งการศึกษาอันจำเป็นแก่ชีวิต 2 แหล่ง คือ ครอบครัวและโรงเรียน ด้วยความสำนึกที่ชัดเจนว่าไม่มีสิ่งใดจะมาแทนที่การสอนคำสอนในครอบครัวได้” (GDC, 178)  “โรงเรียนเป็นโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพต่างๆทางด้านสติปัญญา อารมณ์ และพฤติกรรมให้มากขึ้น”(GDC, 179) งานคำสอนหรือการหล่อหลอมความเชื่อศรัทธา จึงไม่ควรถูกจำกัดอยู่ในแหล่งหนึ่งแหล่งใดเท่านั้น แต่จะต้องได้รับการเอาใจใส่ใจอย่างใกล้ชิดระหว่าง บ้าน วัด และโรงเรียน เพราะบ้านเป็นสถานที่หล่อหลอมและปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน วัดเป็นสถานที่แสดงออกถึงศรัทธาและบำรุงเลี้ยงศรัทธา ส่วนโรงเรียนให้เหตุผลและความรู้เกี่ยวกับความเชื่อศรัทธา ถ้าการทำงานสามารถทำแบบ “สามประสาน” ได้ งานการหล่อหลอมความเชื่อศรัทธาจะมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

 

 

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์