จดหมายเปิดผนึก...ถึงเพื่อน...ผู้ร่วมงาน
Love Letter 9

การใช้ภาพเพื่อการสอนคำสอน
       เพื่อนผู้ร่วมงานที่เคารพ
       
เช้าวันนี้เป็นวันครู จึงขอภาวนาเพื่อคุณครูและคุณครูคำสอนทุกๆคน และวันนี้เองคุณพ่อถิรลักษณ์ วิจิตรวงศ์(กทม.)นำรูปภาพหนึ่งมาให้ดู พร้อมกับบอกว่าวันนี้จะไปสอนคำสอนคนหูหนวกที่ชมรมฯ “ภาพเดียวสอนได้ครบเลย” เพื่อนคงอยากรู้ซิว่า “คือภาพอะไร” ใครอยากรู้ไปถามเอาเองก็แล้วกัน วันนี้จึงอยากจะพูดถึงเทคนิก
“การใช้ภาพเพื่อการสอนคำสอน” เพื่อนๆคงมีภาพประทับใจสมัยที่เรียนคำสอนตอนเด็กๆใช่ไหม ภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวว่า “ภาพหนึ่งมีค่าเท่าพันถ้อยคำ” เพื่อนหลายคนอาจจะใช้ภาพเพื่อการสอนอยู่บ่อยๆแล้ว ดังนั้นนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่บางครั้งเพื่อนๆอาจจะลืมไปถือว่ามาช่วยฟื้นฟูกันก็แล้วกัน
         ภาพมีหลายประเภท ภาพที่มีพิมพ์ไว้แล้วเป็นชุดๆเป็นต้นภาพจากพระคัมภีร์ ภาพจากหนังสือนิตยสาร ภาพทั่วๆไป ภาพวิว ภาพธรรมชาติ ภาพเหตุการณ์ ภาพโฆษณา ฯลฯ ภาพทุกประเภท เพื่อนๆสามารถนำมาใช้เพื่อการสอนคำสอนได้

เทคนิกการใช้ภาพ
         เมื่อเพื่อนๆเลือกภาพที่จะใช้ในการสอน เพื่อนๆสามารถนำเสนอได้ในหลากหลายวิธีด้วยกัน ต่อไปนี้เป็นวิธีการใช้ภาพในรูปแบบต่างๆ ให้เพื่อนๆเลือกใช้ตามที่ตนเองถนัดได้เลยนะครับ

ใช้ภาพเพื่อไตร่ตรอง/ศึกษา - ให้เพื่อนครูติดภาพขนาดใหญ่พอที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้ชัดไว้บนบอร์ด ระดับสายตาของเด็กๆ ให้เด็กๆนั่งมองเงียบสัก 2-3 นาที แล้วตั้งคำถามเพื่อช่วยให้เด็กๆได้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในภาพนั้น ตัวอย่างเช่น บทเรียนเรื่องศีลมหาสนิท เพื่อนๆอาจจะนำเอาภาพการเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายมาให้เด็กๆดู แล้วถามพวกเขาว่า “เธอเห็นอะไรในภาพนี้บ้าง” “พระเยซูเจ้ามีความสุขหรือความทุกข์...ทำไมจึงคิดเช่นนั้น” พระเยซูเจ้าพูดอะไรในขณะชูขนมปังชูขึ้น” “พระเยซูเจ้าพูดอะไรขณะที่ยกถ้วยเหล้าองุ่น” “ถ้าเธออยู่กับพระเยซูเจ้าที่โต๊ะอาหารนั้น เธอเลือกนั่งตรงไหน..ทำไม” “เธอเห็นการกระทำเช่นเดียวกับภาพนี้ที่ไหนบ้าง”

ใช้ภาพเพื่อทบทวนการสอน - เมื่อเพื่อนๆสอนคำสอนบทหนึ่งบทใดที่ใช้ ภาพประกอบเสร็จแล้ว ให้ทำการสรุปทบทวนบทเรียนโดยนำภาพต่างๆที่ใช้ในการสอนมาแล้วนั้นมาวางไว้ให้ทุกคนเห็น แล้วให้เด็กทบทวนดูว่าภาพไหนสอนเรื่องอะไร โดยให้แต่ละคนได้ตั้งชื่อภาพและเขียนบทสอนที่ได้จากภาพนั้นๆไว้ ภาพหนึ่งอาจจะตั้งชื่อหรือมีบทสอนหลายเรื่องก็ได้ เมื่อได้บทเรียนพอสมควรแล้ว ให้เด็กๆได้แบ่งปันคำตอบที่แต่ละคนได้ ให้เพื่อนเขียนคำตอบของเด็กๆลงในกระดาน ตัวอย่างการใช้ ภาพการบังเกิดของพระเยซู เด็กๆอาจจะตั้งชื่อหรือเขียนถึงบทสอนที่ไดรับ เช่น แสงสว่างส่องโลกา ของขวัญจากพระเจ้า กุมารผู้ยิ่งใหญ่ กระกุมารน่ารัก ฯลฯ แล้วให้สมาชิกในห้องอภิปราย แล้วเลือกชื่อที่ทุกคนเห็นว่าดีที่สุด

ใช้ภาพเพื่อการเล่าเรื่อง – ให้เลือกภาพที่มีบุคคลอยู่ในภาพนั้น แล้วให้เพื่อนๆแต่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่คนในภาพนั้นกำลังพูดคุยกันหรือกำลังตัดสินใจกระทำอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้คำสอนในวันนี้ ถ้าเป็นเด็กโตควรให้พวกเขาแต่งเรื่องขึ้นมาเอง เพื่อเป็นการแสดงจินตนาการถึงการนำเอาคำสอนไปปฏิบัติจริงในชีวิต ตัวอย่างเช่น เมื่อสอนเรื่องความซื่อสัตย์เสร็จแล้ว ให้เพื่อนนำภาพเด็กสองคนคุยกัน ให้เริ่มเรื่องไว้เล็กน้อยจากนั้นให้เด็กๆช่วยกันแต่งเรื่องให้จบ เช่น “เจษฎา เป็นเด็กคนหนึ่งอายุเท่าๆกับพวกเธอ เขากำลังคุยกับเสนอเพื่อนสนิทของเขา เจษฎาบอกเสนอว่า เขาอยากจะได้เกมๆหนึ่งซึ่งเพื่อนๆทุกคนมีเล่นกัน แต่เขาไม่มีเงินซื้อ หลังจากโรงเรียนเลิกแล้วทั้งสองเดินไปร้านขายเกมส์ ขณะนั้นเจ้าของร้านไม่อยู่ เจษฎาเห็นเกมนั้นอยู่ในหิ้งพอดี เขาจึงบอกเสนอว่า.......”ให้เพื่อนหยุดเรื่องไว้แค่นี้แล้วให้เด็กๆอาสาสมัครออกมาผลัดกันเล่าต่อเรื่องให้จบ เมื่อเรื่องจบแล้วให้นำการอภิปรายถึงเรื่องที่พวกเขาช่วยกันแต่งขึ้นนี้ว่ามีความเหมาะสมหรือผิดถูกอย่างไร

การเรียงภาพให้ถูกต้อง - ในบางบทเรียนอาจจะมีการใช้ภาพจำนวนมากเพื่อแสดงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนๆสามารถใช้ภาพเหล่านี้เพื่อทบทวนบทเรียนหรือเพื่อการสอนได้เช่นกัน เช่น เหตุการณ์พระทรมานของพระเยซูเจ้า เพื่อนอาจจะใช้ภาพชุดนี้มาสลับลำดับเหตุการณ์ ไม่ให้ตรงตามเรื่อง แล้วให้เด็กออกมาเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ถูกต้อง

การทำโปสเตอร์ – เทคนิกนี้ใช้ได้ผลดีกับเด็กๆ โดยให้เลือกภาพเล็กๆที่สอดคล้องกับบทเรียน ตัวอย่างเช่น การเป็นคนที่มีน้ำใจดีกับผู้อื่น หรือเรื่องการให้อภัย ในเวลาเดียวกันให้เพื่อนๆควรเลือกภาพที่ตรงกันข้ามกับคุณลักษณะที่ต้องการสอนนั้น ต้องให้ภาพที่เลือกทั้งสองประเภทนั้นมีความเด่นชัด จากนั้นให้ติดภาพทั้งสองประเภทบนกระดานหรือบนกระดาษแข็ง หลังจากที่สอนเรื่องนั้นๆเสร็จแล้วให้เด็กพิจารณาดูภาพในโปสเตอร์และพลัดกันออกมาเขียนวงกลมรอบภาพที่สอดคล้องหรือตรงกับเรื่องที่สอน และให้ขีดกากะบาดลงในภาพที่ไม่สอดคล้องกับเรื่องที่สอน โดยให้อธิบายเหตุผลที่เลือกเช่นนั้น

ใช้ภาพเพื่อท้าทายให้คิด – การสอนเรื่องค่านิยมและการฝึกให้คิดอย่างชัดเจนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเด็กวัยรุ่น การใช้ภาพโฆษณาจากหนังสือนิตยสารที่พวกเขารู้จักเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ให้เพื่อนๆตัดภาพโฆษณาออกมาแล้วปะติดที่กระดาษแข็ง อาจจะเป็นภาพของรถยนต์ เครื่องประดับ เพชร โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า หรือสินค้าที่วัยรุ่นสนใจ โดยให้ตัดเอาคำโฆษณาประจำสินค้านั้นมาด้วย แล้วให้เชิญเด็กแต่ละคนได้คิดพิจารณาถึงคำโฆษณาจากสินค้านั้นว่าดีจริงหรือไม่จริง เชื่อได้หรือไม่ ควรสนับสนุนหรือไม่ควร ทำไม หรืออาจจะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ให้โต้วาทีกันโดยให้ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย

ให้เขียนข่าวจากภาพ – ในบทเรียนที่เพื่อนๆใช้เหตุการณ์จากชีวิตของพระเยซูเจ้ามาสอนเด็กๆนั้น ให้เพื่อนนำภาพเหตุการณ์นั้นมาติดให้เด็กๆดู แล้วให้พวกเขาได้ศึกษาถึงรายละเอียดของเหตุการณ์นั้นจากพระคัมภีร์ จากนั้นให้พวกเขาเขียนออกมาเป็นข่าวโดยบรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนเขียนข่าวลงหนังสือพิมพ์ หรือ อาจจะให้เขียนในเชิงบทวิเคราะห์ข่าวโดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมลงในภาพข่าวนั้น

ใช้ภาพเพื่อการภาวนา – ภาพบางภาพเหมาะสำหรับการรำพึงภาวนาเป็นอย่างมาก เช่น ภาพชุมภาบาลที่ดี ภาพพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า ภาพพระแม่มารีย์หรือภาพของบรรดานักบุญ หรือแม้แต่ภาพธรรมชาติทั่วๆไป สำหรับเด็กวัยรุ่นเพื่อนๆอาจจะใช้ภาพจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน หรือครอบครัวของคนที่ยากจน คนพิการ คนที่อยู่ในความยากลำบากต่างๆ เพื่อให้พวกเขาได้ทำการรำพึงภาวนา โดยให้เพื่อนๆนำภาพนั้นมาติดไว้บนกระดานที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน แล้วให้เด็กๆพิจารณาภาพนั้นอย่างเงียบๆสัก 2-3 นาที แล้วนำพวกเขาให้สวดภาวนาอย่างช้าๆ ฝึกพวกเขาให้รู้จักการภาวนาจากใจ หรือให้พวกเขาได้สร้างจินตนาการโดยให้เอาตัวเองเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งในภาพนั้น เพื่อนๆอาจะเปิดดนตรีบรรเลงเบาๆคลอไป ให้พวกเขาอยู่เงียบในลักษณะของการภาวนาที่สงบและด้วยความคารพ สังเกตพฤติกรรมของพวกเขา และเมื่อเห็นว่าถึงเวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญชวนเด็กๆแบ่งปันความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาดูภาพนั้น

เกมทายภาพ – ในการสรุปหรือทบทวนการเรียนในแต่ละบทนั้น แทนที่จะมีการทดสอบแบบที่เคยปฏิบัติกัน เพื่อนๆอาจจะทบทวนเด็กๆโดยใช้ภาพก็ได้ โดยให้เพื่อนเลือกภาพที่ใช้สอนแล้วขึ้นมาแล้วให้เด็กๆบอกว่าภาพนั้นสอนเรื่องอะไร หรือให้เด็กๆได้เขียนไว้ก่อนก็ได้แล้วค่อยให้ตอบ เพื่อนๆอาจจะเลือกภาพใดภาพหนึ่งขึ้นมาแล้วให้เด็กๆตอบว่าเป็นภาพอะไรหรือเหตุการณ์ตอนใดในชีวิตของพระเยซูเจ้า

ใช้ภาพประกอบในหนังสือคำสอนให้เกิดประโยชน์ - ในการผลิตหนังสือคำสอนนั้น ผู้จัดทำมักจะนำภาพมาประกอบในแต่ละบทเรียน ภาพต่างๆเหล่านั้นไม่ได้มีเพื่อประดับหรือทำให้บทเรียนนั้นน่าอ่าน หรือไม่น่าเบื่อเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือในการสอนด้วยอย่างน้อยช่วยทำให้ผู้เรียนของเราจดจำเนื้อหาได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

ใช้ภาพเพื่อเป็นการเริ่มต้นการสอนและการอภิปราย - เพื่อนๆสามารถใช้ภาพเพื่อการสอน ไม่ว่าจะเป็นภาพสมัยใหม่ที่เห็นกันอยู่ทั่วไปหรือภาพศาสนา โดยให้ผู้เรียนได้พิจารณาภาพนั้นทั้งส่วนตัวและในกลุ่ม ผู้เรียนเป็นต้นเด็กๆชอบตั้งชื่อบุคคลในภาพหรือเหตุการณ์ในภาพนั้น ให้พวกเขาลองคิดกันดู “เธออยากจะตั้งชื่อภาพนี้ว่าอย่างไร” “เธออยากจะตั้งชื่อบุคคลในภาพนี้ว่าอย่างไร” เพื่อนๆอาจจะบอกให้ผู้เรียนจินตนาการว่า ถ้าเขาเป็นคนหนึ่งในเหตุการณ์หรือในภาพนั้นเขาเลือกจะอยู่ตรงไหน หรือเลือกอยากเป็นใครในภาพนั้น หรือ ให้เขาแสดงความรู้สึกแทนบุคคลในภาพ เช่น “ ถ้าเธอเป็นคนตาบอดที่พระเยซูเจ้าทรงรักษาให้หาย เธอจะรู้สึกอย่างไร” “ถ้าเธอเป็นเด็กคนนั้นที่พระเยซูเจ้าทรงอุ้ม เธอจะรู้สึกอย่างไร” หรือตั้งคำถามว่า “ทำไม” จึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เช่น “ทำไมพระเยซูเจ้าจึงทรงทวีขนมปังเลี้ยงคนจำนวนมากมายเช่นนี้” “ทำไมพระเยซูเจ้าจึงยอมให้ทหารจับกุมพระองค์” ฯลฯ

           ตัวอย่างการใช้ภาพพระเยซูเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางบรรดานักปราชญ์ในพระวิหาร(ลูกา 2:41-50) เพื่อนๆลองตั้งคำถามตามที่ได้แนะนำมาแล้วซิว่า เพื่อนครูจะใช้ประโยชน์จากภาพนี้ได้อย่างไรบ้าง จะตั้งคำถามอย่างไรได้บ้าง หรือให้เพื่อนๆลองนำภาพนี้ไปทดลองใช้กับเด็กๆของครู แล้วมาคุยกัน

            การใช้ภาพเพื่อการอภิปรายให้ไปถึงความเชื่อศรัทธานั้นมีประโยชน์ต่อการสอนเป็นอย่างมาก เพื่อนๆควรตั้งคำถามถึง “เบื้องหลังภาพ” นั้นๆว่ามีอะไรที่ภาพต้องการสื่อโดยไม่ต้องใช้คำพูด เช่น เมื่อเราสอนเรื่อง “พระศาสนจักรคือชุมชนที่เป็นหนึ่งเดียวกัน” เพื่อนๆคิดว่าภาพอะไรที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ แน่นอน...ภาพของสมาชิกวัดกลุ่มหนึ่งที่ประกอบไปด้วย พ่อแม่  ลูก และเพื่อนบ้านอยู่พร้อมหน้ากัน มีอาหารการกิน มีบรรยากาศที่อบอุ่น ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นภาพที่ตรงกันข้ามกันเลย เป็นภาพของครอบครัวที่แตกแยกกัน หรือภาพแห่งความขัดแย้ง เมื่อแสดงทั้งสองภาพให้เด็กๆเห็นแล้ว ให้พูดคุยกับเด็กๆถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น โดยเปรียบเทียบภาพระหว่างภาพทั้งสอง แล้วตั้งคำถามท้าทายพวกเขาว่าเขาจะมีส่วนในการสร้างครอบครัววัดที่มีความสุขได้อย่างไร อะไรทำให้ครอบครัวไม่มีความสุข วัดเป็นเสมือนครอบครัวของเราอย่างไร ถ้าพระเยซูเจ้าทรงอยู่กับเราที่นี้พระองค์จะทรงทำอย่างไรเพื่อให้วัดของเรามีความอบอุ่น ฯลฯ

การหาภาพมาสอน
            เพื่อนๆอาจจะมีวิธีการใช้ภาพมากมายหลายแบบ อย่างไรก็ตามเพื่อนๆสามารถเลือกใช้วิธีการตามความถนัดของเพื่อนๆและตามภาพที่สามารถหามาได้ วิธีการอย่างหนึ่งเพื่อจะได้มีภาพต่างๆมาใช้ในการสอนนั้น เพื่อนสามารถกระทำได้โดย

สะสมภาพไว้ในแฟ้มภาพส่วนตัวของเพื่อน - แต่ก่อนเพื่อนๆอาจจะเจอภาพที่ประทับใจแต่ก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะนำมาใช้ พอจะใช้เข้าจริงๆก็หาไม่เจอเสียแล้ว ดังนั้นข้อแนะนำก็คือให้มีหูไวตาไว เจอภาพอะไรดีๆชัดๆเมื่อไรเก็บใส่แฟ้มไว้ทันที (แต่ระวังอย่าไปตัดหรืองุบงิบของใครมา) ภาพเหล่านี้อาจมาจากหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ ปฏิทิน โบชัวร์ ส.ค.ส. หรือจาก e-mail ที่ส่งกันกระจายอยู่ในขณะนี้ เมื่อมีจำนวนพอสมควรแล้วให้แยกออกเป็นหมวดหมู่ เช่น การภาวนา ภาพคนในอารมณ์ต่างๆ พระคัมภีร์ พระเยซู นักบุญ กลุ่มชุมชน พระศาสนจักร ศีลศักดิ์สิทธิ์ พระบัญญัติ ความเชื่อ ถ้าจะให้เกิดประโยชน์ เพื่อนๆควรดูบทเรียนที่จะสอนไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องสอนเรื่องอะไรในปีนี้และเมื่อเจอภาพอะไรที่เกี่ยวข้องรีบคว้าใส่แฟ้มไว้เลย ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำเพื่อการเลือกและการใช้ภาพในการสอน

         - ถ้าภาพไม่ใหญ่นัก ให้ส่งภาพนั้นให้เด็กๆได้ดูโดยให้ส่งต่อๆกันไป อาจจะใช้เวลาบ้างเล็กน้อยแต่ก็ยังดีกว่าโชว์ภาพหน้าชั้นแต่เด็กมาไม่เห็นว่าเป็นภาพอะไร อย่างนี้วัยรุ่นเซ็ง.. 
         - ภาพนั้นต้องตัดออกมาแล้วติดในกระดาษแข็งด้วยความเรียบร้อย สวยงาม ไม่ใช่แบบขอไปที ทำให้เนี๊ยบๆมีอารมณ์ศิลป์หน่อย
         - ในการเลือกภาพประกอบการสอนนั้น ต้องสวมหัวใจและสายตาของเด็กๆ(ดูอายุด้วย) เด็กแต่ละวัยคิดไม่เหมือนกัน เราโตแล้วคิดอย่างนี้ แต่จะให้เด็กคิดแบบเราจะได้ไหม เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่แคระนะครับ
         - ถ้าใช้กับเด็กเล็ก ควรใช้ภาพที่มีรายละเอียดไม่มากนัก ให้มีจุดสนใจเพียงประการเดียวหรือสองประการ เพื่อจะได้ไม่ทำให้เด็กๆคิดออกไปไกลเกินไป หรือดึงดูดใจเด็กไปทางอื่นนอกเหนือจากสาระหลักที่เราต้องการจะให้พวกเขาได้เรียนรู้
          - ถ้าต้องนำภาพนั้นติดบอร์ด ควรติดให้อยู่ในระดับสายตาของเด็ก ไม่ใช้ระดับสายตาของครู
          - เพื่อนครูควรนั่งเงียบๆต่อหน้าภาพนั้นก่อนที่จะนำไปใช้กับเด็กๆ พระจิตเจ้าทรงบอกอะไรเพื่อนๆ ลองคิดดูและเตรียมล่วงหน้าว่าเด็กๆจะคิดอย่างไร จะถามอะไร จะแบ่งปันในแนวใด แล้วหาคำตอบล่วงหน้าไว้เผื่อเลย
           - ในการเลือกใช้ภาพศาสนา จงเลือกภาพที่เหมือนจริงให้มากที่สุด แต่ให้หลีกเลี่ยงภาพที่แสดงออกถึงความรู้สึกที่มากเกินไป หรือทำให้ศาสนาเป็นเรื่องสมมติ หรือเป็นนวนิยายไป

       ขอให้เพื่อนสนุกกับการสอน และสอนอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระจิตเจ้าผู้ทรงเป็นสติปัญญาของเราครูคำสอนทุกคน

คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ
บ้านพักพระสงฆ์อารามพระหฤทัยแห่งกรุงเทพ
วันครู 16 มกราคม 2011