จดหมายเปิดผนึก...ถึงเพื่อน...ผู้ร่วมงาน
Love Letter 8
เราอยู่ในครอบครัวคาทอลิก
      เราจะช่วยลูกศิษย์ของเราให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวคาทอลิกได้อย่างไร
      ตอนที่เรายังเป็นเด็ก ๆ อยู่นั้น ความกังวลใจอย่างหนึ่งของเราก็คือ การที่เพื่อน ๆ ไม่ยอมให้เราเล่นด้วย หรือเพื่อน ๆ ไม่ยอมรับให้เข้าพวกด้วย  เด็ก ๆ ในวัย 10-12 ขวบนั้นมีความสุขที่จะได้อยู่กับเพื่อน ๆ ในกลุ่มของตน หรือการได้รับการยอมรับจากเพื่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การแต่งกาย การละเล่น ฯลฯ

          เมื่อเริ่มโตขึ้นเป็นวัยรุ่นเรายิ่งมีความต้องการ “การยอมรับ” จากเพื่อน ๆ มากยิ่งขึ้น เรามีความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ของกลุ่มเพื่อน ของสังคม และไม่เพียงแต่ครอบครัวตามธรรมชาติของตนเองเท่านั้น ยังรวมถึง “ครอบครัวคาทอลิก” ของเราอีกด้วย

          เราจะช่วยลูกศิษย์ของเราให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของ “ครอบครัวคาทอลิก” ของเราได้อย่างไร หนทางหนึ่งก็คือ ให้พวกเขาได้เข้าร่วมพิธีกรรมด้วยความเข้าใจและมีส่วนร่วมอย่างจริงจังนั่นเอง

          เราในฐานะครูคำสอนต้องช่วยแนะนำพวกเขาได้เกิดความรู้และความซาบซึ้งในพิธีกรรมที่พวกเขาจะต้องเข้าไปร่วมเฉลิมฉลองในชุมชนคาทอลิกของเรา เราต้องสอนพวกเขาให้รู้จักสวดภาวนานมัสการพระเจ้าและแบ่งปันประสบการณ์ความเชื่อกับเพื่อน ๆ ที่วัด ให้พวกเขาได้มีโอกาสรู้จักเพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกันที่มาวัดร่วมพิธีกรรมด้วยกัน แนะนำพวกเขาให้ได้รู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับครอบครัวของพี่น้องอื่น ๆ ที่มาร่วมพิธีกรรมด้วยกัน สิ่งเหล่านี้แหละจะช่วยทำให้การมาวัดของลูกศิษย์ของเราได้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวคาทอลิก ไม่เป็นบุคคลที่อยู่เดียวดาย และทำให้เกิดชุมชนคาทอลิกโดยมีพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณเป็นศูนย์รวมแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง

เราอยู่ในครอบครัวคาทอลิก

ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำบางประการเพื่อนำไปใช้ในการสอนคำสอนกับลูกศิษย์ของเรา

การสอนเรื่องพิธีมิสซาบูชาของพระคุณ
พิธีมิสซาฯเป็นการเฉลิมฉลองของครอบครัวคาทอลิก
           ในการสอนคำสอนของทุกชั้นเรียนมักจะต้องมีการสอนเรื่องการเข้าร่วมพิธีมิสซาฯ ซึ่งเป็นพิธีที่สำคัญสำหรับชีวิตของเราคาทอลิก ในการสอนเรื่องพิธีมิสซาฯสำหรับเด็ก ๆ นั้น เราควรที่จะนำเสนอในแง่มุมดังต่อไปนี้ มิสซาฯคือ “การฉลองของครอบครัวคาทอลิก” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวที่มีความเชื่อที่เป็นหนึ่งเดียวกันได้มาพร้อมหน้ากันเพื่อสรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระพรต่าง ๆ ที่พระองค์ประทานให้แก่เราทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมโลก ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเราได้แสดงออกถึงความเชื่อของเราต่อพระเจ้าผู้ที่เรารักและต่อเพื่อนพี่น้องอื่นๆรอบตัวเรา ครูคำสอนจะต้องเน้นย้ำให้เด็กๆรู้ว่าในชีวิตของเราคริสตชนคาทอลิกนั้น วันอาทิตย์เป็นแรกของสัปดาห์ ไม่ใช่วันสุดท้าย เมื่อเป็นวันแรกเราจึงต้องมาร่วมมิสซาฯเพื่อขอพระพรจากพระเจ้าและวอนขอพละกำลังเพื่อเราจะได้ดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อและความไว้วางใจในพระเจ้าในทุกกิจการของชีวิตตลอดสัปดาห์ที่จะมาถึง

อธิบายถึงเครื่องหมายต่าง ๆ ที่ใช้ในพิธีกรรม
          ครูคำสอนจะต้องสอนให้เด็ก ๆ มีความเข้าใจและคุ้นเคยกับเครื่องหมายต่างๆที่ใช้ในพิธีมิสซาฯ เช่น ทำไมเราจึงต้องทำเครื่องหมายกางเขนที่หน้าผาก ริมฝีปาก และหน้าอก ก่อนที่เราจะได้รับฟังพระวาจาของพระเจ้า ครูคำสอนต้องอธิบายให้เด็กรู้ว่าการทำเครื่องหมายกางเขนที่หน้าผากนั้นเพื่อต้องการวอนขอพระเจ้าให้ได้เสด็จมาประทับอยู่ในสติปัญญาเพื่อให้เราเข้าใจพระวาจาของพระเจ้า ประทับอยู่กับริมฝีปาก เพื่อเราจะได้ประกาศข่าวดีเรื่องพระเจ้าที่เราได้รับฟังให้แก่ผู้อื่น และวอนขอพระเจ้าโปรดประทับอยู่ในดวงใจเพื่อจะได้รักศรัทธายึดมั่นในพระวาจาที่จะได้รับฟังนั้น ครูควรส่งเสริมให้เด็กๆได้ทำเครื่องหมายนี้ขณะร่วมพิธีด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง นอกจากนั้นครูอาจจะให้เด็กๆได้กระทำเครื่องหมายกางเขนนี้ทุกครั้งก่อนที่จะอ่านพระคัมภีร์ทั้งส่วนรวม ส่วนตัว และการอ่านพระคัมภีร์ในครอบครัวด้วย

ทำความเข้าใจบทอ่านในพิธีมิสซาฯประจำวันอาทิตย์
         เราสามารถทำได้ในสองลักษณะ คือ การมอบหมายให้เด็กๆจดจำบทอ่านในวันอาทิตย์ที่พวกเขาไปร่วมพิธีมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังว่ามีข้อความตอนไหนที่ประทับ หรืออาจจะนำเอาบทอ่านในวันอาทิตย์ที่จะมาถึงมาอ่านกันก่อนไปร่วมพิธี อ่านแล้วอธิบายถึงความหมายที่สำคัญให้พวกเขาฟัง หรือให้พวกเขาได้แบ่งปันถึงความประทับใจในบทสอนที่ได้รับจากพระคัมภีร์
        
          ครูคำสอนอาจจะวางแผนให้เด็ก ๆ ของเราได้นำเอาพระคัมภีร์ประจำวันอาทิตย์นั้นมาแสดงเป็นละคร แล้วให้เด็ก ๆ ได้อภิปรายถึงข้อคำสอนที่เกิดมาจากพระคัมภีร์ที่นำมาแสองนั้น เช่น พระเยซูเจ้าทรงเรียกเปโตรและอันดรูว์(มธ 4:12-23) พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนเป็นโรคเรื้อน(มก 1:40-45) พระเยซูเจ้าทรงสนทนากับนิโคเดมัส(ยน 3:1-21) หรือเรื่องอื่นๆที่สามารถนำมาให้เด็กๆแสดงเป็นละครและเมื่อแสดงเสร็จแล้วให้ครูตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น

ภาคถวาย
        การอธิบายเรื่องความสำคัญของภาคถวายนั้น ครูจะต้องเน้นให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าสิ่งที่เรานำไปถวายแด่พระเจ้าในภาคถวายนั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรล้วนแต่เป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนบุคคลหรือถึงตัวของพวกเขาเองที่นำถวายแด่พระเจ้า เป็นการมอบถวายกายและใจของเราเป็นเครื่องถวายแด่พระเจ้า พระเจ้าไม่ต้องการสิ่งของหรือเครื่องบูชาที่เป็นวัตถุสิ่งของ แต่พระองค์ทรงต้องการหัวใจของเรามนุษย์ทุกคน
        
        เพื่อให้เด็ก ๆ เกิดความคุ้นเคยและมีประสบการณ์ในภาคถวายนี้ ครูอาจจะจัดให้เด็ก ๆ ได้ถวายสัญลักษณ์แทนตนเองในชั่วโมงคำสอน โดยจัดโต๊ะไว้ด้านหน้า ตั้งไม้กางเขน ประดับด้วยดอกไม้ แล้วเชิญชวนเด็กๆให้หยุดเงียบพิจารณาตนเองว่ามีวัตถุสิ่งของใดที่อยู่ใกล้ๆตัวแล้วมีคุณลักษณะแทนตัวตนของเขาได้ เช่น ก้อนหิน กระดาษ ปากกา ดินสอ ฯลฯ แล้วจัดให้มีกระบวนแห่ นำสัญลักษณ์นั้น ๆ มาถวายบนโต๊ะหรือแท่นที่ครูได้จัดไว้ ในขณะที่วางของถวายให้เด็กแต่ละคนภาวนาสั้นๆว่า “ลูกขอถวายชีวิตของลูกแด่พระองค์” ที่สำคัญครูเองจะต้องเตรียมของถวายและเป็นคนแรกที่ถวายสัญลักษณ์ของตนเองแด่พระเจ้าร่วมกับเด็ก ๆ ด้วย

สัญลักษณ์ทางพิธีกรรม น้ำ เหล้าองุ่น น้ำมัน
        ในพิธีกรรมของเราหลายๆพิธีกรรมมีการใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ เช่น พิธีศีลล้างบาป  พิธีมิสซาฯ (มีการใช้น้ำเพื่อผสมกับเหล้าองุ่น) ฯลฯ ครูควรพาเด็ก ๆ ไปดูอ่างล้างบาป(บางวัดยังเก็บไว้แต่บางวัดเก็บไว้หลังวัดแล้ว) แล้วจัดทำวจนะพิธีกรรมเล็กๆเพื่อระลึกถึงศีลล้างบาปของเด็ก ๆ โดยให้ครูอวยพรเด็กๆด้วยน้ำเสกจากอ่างล้างบาปนั้น

        การใช้น้ำและเหล้าองุ่นในพิธีมิสซาฯ ครูอาจจะนำเอาพิธีช่วงนั้นมาให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด โดยให้ครูแสดงบทบาทเป็นพระสงฆ์และให้เด็กๆเป็นผู้ช่วยพิธี ให้ครูอธิบายบทสวดที่พระสงฆ์สวดและกิริยาอาการที่พระสงฆ์กระทำ ครูอาจจะเปิดให้เด็กๆอภิปรายถึงความหมายที่ตนเองเข้าใจถึงพิธีกรรมในตอนนี้ (หาข้อมูลจากหนังสือพิธีมิสซาฯ)

        เราใช้น้ำมันในพิธีศีลล้างบาป ศีลกำลัง ศีลบวช และศีลเจิมผู้ป่วย เช่นเดียวกันครูอาจจะจำลองพิธีนั้น ๆ มาใช้กับเด็กๆของเรา ให้เด็กได้สัมผัสจริง นำของจริงมาให้เด็กๆได้หยิบได้ดมได้เจิม โดยที่ครูอธิบายถึงความหมายของสิ่งของและบทสวดประกอบพิธีให้เด็กๆได้เข้าใจด้วย ในเรื่องนี้อาจจะต้องใช้เวลาหลาย ๆ คาบก็ได้

คำว่า อาแมน
         เราใช้คำว่า “อาแมน” บ่อยมาก ครูมั่นใจหรือไม่ว่าเด็กๆของเราเข้าใจความหมายของคำศักดิ์สิทธิ์นี้

        ครูอาจจะสอนเด็กๆโดยเขียนคำว่า “อาแมน” ตัวโต ๆ บนกระดาน แล้วอธิบายว่าคำนี้หมายความว่า “ถูกต้องแล้ว” หรือ “เราเห็นด้วย” “เรายอมรับ” เมื่อไรที่เราตอบว่าอาแมน แสดงว่าเรายอมรับสิ่งที่พระสงฆ์หรือบทภาวนาที่พระสงฆ์สวดนำเรา หรือทุกสิ่งที่พระสงฆ์กระทำในพิธีมิสซาฯ เช่น เรายอมรับว่าขนมปังและเหล้าองุ่นเป็นเครื่องหมายแทนตัวเรา และได้เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูที่ได้ถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาแด่พระบิดาสวรรค์

          ครูต้องเตือนเด็กๆเป็นต้นเวลาที่เข้าไปรับศีลมหาสนิท พระสงฆ์เตือนเราโดยชูแผ่นศีลต่อหน้าเราแล้วบอกว่า “นี้คือพระกายพระคริสตเจ้า” ผู้รับศีลจะต้องตอบว่า “อาแมน” ซึ่งหมายถึงการยอมรับว่าแผ่นขาวๆที่เขาจะรับนั้นเป็นพระกายของพระคริสตเจ้าจริง

การมอบสันติสุขของพระคริสตเจ้าแก่กันและกัน
       ในจุดนี้เป็นสิ่งที่ถูกวิจารณ์กันมากว่า เราคาทอลิกทำกันเพียงพิธีเท่านั้น ไม่เกิดความรู้สึกอบอุ่นอย่างแท้จริง ดังนั้นครูนำจุดนี้มาอภิปรายกับเด็กของเรา ทำไมในพิธีจึงต้องมีพิธีนี้ก่อนที่เราจะเข้าไปรับศีลมหาสนิท เรานึกถึงพระวาจาของพระเจ้าในตอนที่ว่า “ดังนั้น ขณะที่ท่านนำเครื่องบูชาไปถวายยังพระแท่น ถ้าระลึกได้ว่าพี่น้องของท่านมีข้อบาดหมางกับท่านแล้ว “จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น” (มธ 5:23-24)

        ครูอาจจะจัดพิธีการมอบสันติสุขโดยวิธีการต่าง ๆ ในชั้นเรียน โดยการเสนอแนะของเด็ก ๆ

         ในครั้งนี้ขอนำเสนอวิธีการฝึกอบรมเด็ก ๆ ของเราให้เกิดรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวคาทอลิก โดยให้เข้าร่วมพิธีมิสซาฯด้วยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ครูอาจจะเพิ่มเติมการสอนโดยการนำช่วงใดช่วงหนึ่งของพิธีมิสซาฯมาให้เด็กๆได้เรียนรู้หรือได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด เพราะในขณะร่วมพิธีมิสซาฯในวันอาทิตย์นั้น เด็ก ๆ ไม่ได้เห็นพิธีอย่างละเอียด หรือไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ยิ่งเด็กมีความเข้าใจหรือจัดให้เด็กๆของเรามีส่วนร่วมในพิธีได้มากเท่าไร เด็ก ๆ ยิ่งรักพระศาสนจักรมากยิ่งขึ้น และเมื่อพวกเขามาวัด พวกเขาจะเกิดความรู้สึกว่านี้คือ งานฉลองของครอบครัวคาทอลิกอย่างแท้จริง

ขอให้เพื่อน ๆ สนุกกับงานสอนคำสอนเด็ก ๆ นะครับ

คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ
บ้านพักพระสงฆ์ราชบุรี
วันที่ 3 ธันวาคม 2010