ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

จดหมายเปิดผนึก...ถึงเพื่อน...ผู้ร่วมงาน
Love Letter 5

เลือกวิธีการให้เหมาะ
        เพื่อนครูผู้ร่วมงานคำสอนครับ ในครั้งที่แล้วพ่อพูดถึง “ท่าทีของครู” เพื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ ในครั้งนี้พ่อขอพูด “วิธีการ” ที่ครูควรใช้เพื่อการถ่ายทอดข่าวดีของพระเจ้า
        เพื่อนๆเคยมีประสบการณ์เช่นนี้ไหม แหม..วันนี้รู้สึกสอนได้ดีจริงๆไม่รู้ทำไปได้อย่างไร พระจิตเจ้าคงช่วยเราแน่ๆ...ถ้าหวนคิดถึงประสบการณ์ดีเช่นนี้แล้วลองคิดพิจารณาให้ดี เพื่อนๆจะพบว่าการที่เรารู้สึกว่าตนเองสอนได้ดีนั้นมาจากการที่เรามีความเข้าใจหรือมีประสบการณ์โดยตรงกับเรื่องที่ได้สอน หรือเราเองรู้สึกว่าเรื่องที่สอนนั้นมีประโยชน์หรือมีคุณค่าต่อชีวิตของเราเอง ดังนั้นจึงอยากจะนำเสนอแนวทางในการใช้วิธีการสอนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพดังต่อไปนี้
          ประการแรก ครูจะต้องให้ความสนใจบทเรียนและทำให้บทเรียนนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของครูก่อน ประสิทธิภาพในการสอนคำสอนนั้นขึ้นอยู่กับว่าเรื่องที่ครูกำลังจะสอนนั้นมีความหมายอย่างไรต่อตัวของครูเอง ถ้าเรื่องหรือเนื้อหานั้นตัวของครูเองสำนึกว่ามีความสำคัญและมีความหมายต่อตัวเองแล้ว วิธีการสอนที่จะใช้ย่อมมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน ถ้าคำสอนนั้นมาจากชีวิตของครู เป็นคำสอนที่หลั่งออกมาจากจิตวิญญาณภายในของครูเอง คำสอนนั้นย่อมกระทบจิตใจของศิษย์อย่างแน่นอน ครูเคยเรียนกับครูที่สอนตามตำรามาแล้วใช่ไหม ครูรู้สึกอย่างไร มีภาพให้ครูเลือกสองภาพ คือ ภาพของครูที่สอนออกมาจากใจกับครูที่สอนตามตำรา ครูจะเลือกเรียนกับใคร

          ประการที่สอง ครูต้องสอนด้วยความมั่นใจ และต้องแสดงให้ศิษย์เห็นว่าครูไม่กลัวคำถาม ข้อแนะนำประการนี้สืบเนื่องมาจากประการแรก ถ้าครูมีประสบการณ์กับเรื่องที่สอนแล้ว ครูเองสามารถสอนได้อย่างมั่นใจ และไม่กลัวศิษย์จะถาม แม้ว่าจะตอบได้บ้างหรือไม่ได้บ้างก็ตาม ถ้าอะไรที่เราตอบได้ให้ตอบด้วยความมั่นใจ ศิษย์เองจะเกิดความรู้สึกว่าครูให้ความสำคัญกับตัวของเขา และกล้าที่จะถามในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป แต่ถ้าตอบไม่ได้ให้ใจเย็น ๆ แล้วค่อย ๆ หาคำตอบที่ถูกต้องมาตอบในภายหลัง ความจริงใจไม่ทำให้ศิษย์หมดความเชื่อถือในตัวของเรา แต่จะทำให้ศิษย์เกิดความรู้สึกเคารพในตัวของเราเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีใครที่รู้ไปทุกเรื่อง และเรื่องของศาสนาเรียนเท่าไรก็ไม่มีวันจบ แต่ที่สำคัญครูต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับศิษย์ ถ้าครูบอกว่าจะหาคำตอบมาให้ในคราวหน้า คราวหน้าครูต้องตอบพวกเขาให้ได้จริง ๆ

         ประการที่สาม ใช้ประโยชน์จากคู่มือการสอน คู่มือการสอนในปัจจุบันได้รับการออกแบบเพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลและแนวทางในการสอนอย่างเป็นหลักวิชาการ ผู้เขียนแต่ละคนได้พิจารณาอย่างละเอียดถึงจิตวิทยาการเรียนรู้ของผู้เรียนตามวัยและเทววิทยาที่เหมาะสมกับแต่ละเรื่อง คู่มือที่ดียังให้รายละเอียดตามแผนการสอนที่ดีควรเป็น คือ มีทั้งกำหนดเป้าหมายและจุดประสงค์การเรียนรู้ มีลำดับขั้นตอนของการนำเสนอ เสนอแนะกิจกรรมและสื่อทัศนูปกรณ์ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อการสอนของเราทั้งสิ้น ครูต้องอ่านให้เข้าใจถึงภาพรวมของแต่ละบท แล้วจัดสรรเวลาให้เหมาะสมเพื่อการสอนจะได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เช่น ไม่เน้นกิจกรรมจนทำให้เวลาในการให้เนื้อหาเหลือน้อยลง เพราะจุดประสงค์ของกิจกรรมเพื่อเป็นบันไดแห่งความคิดนำไปสู่ความเข้าใจเนื้อหาที่เราจะให้กับศิษย์

         ประการที่สี่ ใช้วิธีการที่หลากหลาย ครูอาจจะใช้วิธีการต่างๆ เช่น การอ่านพระคัมภีร์ การเล่าเรื่อง การแสดงละคร รูปภาพ แผนภูมิ เพลง ดนตรี เกม การเขียนบนกระดาน ศิลปะ วิดีโอ เทป ซีดี ฯลฯ แต่สิ่งที่ครูควรคำนึงถึงก็คือ ศิษย์ของเราแต่ละคนมีการรับรู้ที่แตกต่างกันไปตามบุคลิกภาพและรสนิยม เช่น เด็กคนหนึ่งอาจจะเข้าใจเนื้อหาโดยผ่านทางเรื่องเล่า บางคนชอบรูปภาพ บางคนชอบการแสดงละครจากพระคัมภีร์ บางคนชอบดูภาพยนตร์ ฯลฯ
ดังนั้นครูควรใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย เช่น วันนี้ใช้เพลง วันพรุ่งนี้ใช้การแสดง วันต่อไปใช้เล่นเกม ฯลฯ อย่าให้ศิษย์บ่นว่า “มุขเดิมอีกแล้ว” ไม่ว่าใครก็ชอบอะไรๆที่หลากหลายแตกต่างและแปลกใหม่ 

        ประการที่ห้า สรุปประเด็นสำคัญของบทเรียนทุกครั้งก่อนที่จะจบการสอน ครูควรเหลือเวลาในช่วงท้ายๆ แม้ว่าจะเป็นเพียง 5 นาทีก็ตาม ขอให้เพื่อนครูได้สรุปประเด็นสำคัญของการเรียนรู้ในวันนี้ โดยอาจจะเป็นการสอบถามว่า “พวกเราได้เรียนรู้อะไรในวันนี้บ้าง” ให้ศิษย์ช่วยกันแสดงความคิดเห็น แล้วครูเติมประเด็นสำคัญที่ศิษย์อาจจะไม่ได้พูดออกมา หรือครูเองสรุปประเด็นสำคัญโดยเขียนลงบนกระดานแล้วให้ศิษย์ได้จดลงในสมุดประจำตัว ครูไม่จำเป็นที่จะต้องคาดหวังให้เด็กจดจำความสำคัญทั้งหมดให้ได้(ถ้าได้ก็ดี) แต่อย่างน้อยให้พวกเขาจดจำอะไรบางอย่างและแสดงออกด้วยคำพูดของตนเองได้ นี้ก็ถือว่าการเรียนของเราในวันนี้ประสบผลสำเร็จแล้ว

        ประการที่หก วอนขอความสำเร็จจากพระจิตเจ้า ถ้าหากว่าเพื่อนครูรู้สึกว่าการสอนในวันนี้ไม่ดีเลย สงสัยว่าจะไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ หรือสอนไม่ได้อย่างใจ ขอให้ครูอย่าท้อแท้ ให้ครูดูแบบอย่างของพระเยซูเจ้าเป็นหลัก แม้ว่าพระองค์ทรงสั่งสอนประชาชนอย่างจริงจัง แต่พวกเขาก็ยังไม่เข้าใจจนกระทั่งพระจิตเจ้าเสด็จลงมา

        ดังนั้นคำแนะนำสุดท้ายของจดหมายฉบับนี้ก็คือ สวดภาวนาวอนขอพระจิตขณะเตรียมการสอน สวดภาวนาขอพระจิตขณะทำการสอน และสวดภาวนาของพระจิตหลังการสอน ขอตบท้ายด้วยคำของนักบุญอิญาซิโอที่ว่า “ขณะภาวนาให้คิดเสมอว่าทุกสิ่งขึ้นอยู่กับพระเจ้า ขณะทำงานให้คิดเสมอว่าทุกอย่างขึ้นกับตัวเรา” และ “หน้าที่เป็นของเรา ความสำเร็จเป็นของพระเจ้า”
        ขอให้เพื่อนผู้ร่วมงานทุกคนจงมีความสุข สนุกกับการสอนคำสอน

คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ
อารามพระหฤทัย กทม.
วันที่ 1 กันยายน 2010

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์