การสร้างจิตตารมณ์ธรรมทูตให้เด็กๆการสร้างจิตตารมณ์ธรรมทูตให้เด็กๆ
            งานธรรมทูตหรืองานการประกาศข่าวดีสู่ปวงชนเป็นงานหลักของพระศาสนจักรคาทอลิก “พระศาสนจักรดำรงอยู่เพื่อการประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้า”  
พระศาสนจักรคือใคร
– เราทุกคนคือพระศาสนจักร ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องสานต่องานของพระเยซูเจ้าที่ทรงมอบหมายให้แก่อัครสาวกในเบื้องต้นและได้รับการมอบหมายสืบต่อมาจนถึงสมัยของเรา
เป้าหมายของงานคืออะไร - คือการบอกเล่าข่าวดีความจริงของชีวิตให้มนุษย์ทุกคนได้รับรู้ ว่าเขาเกิดมาทำไม ตายแล้วจะต้องไปไหน และจะต้องดำเนินชีวิตในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างไร

จะต้องแพร่ธรรมได้อย่างไร – ส่วนตัวเราแต่ละคนจะต้องดำเนินชีวิตที่เป็นประจักษ์พยาน สวดภาวนาเพื่อให้ตนเองและพี่น้องคริสตชนทุกคนมีความศรัทธาและกล้าเป็นประจักษ์พยานและประกาศข่าวดี สวดให้พี่น้องอื่นๆเปิดใจต้อนรับข่าวดี ร่วมกลุ่มกิจกรรมคาทอลิกเพื่อหล่อเลี้ยงความเชื่อศรัทธาและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างเครือข่ายการทำงานให้ความร่วมมือสนับสนุนกันทำงานอย่างมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ออกไปร่วมงานกับบรรดาผู้แพร่ธรรมในสถานที่ต่างๆ บริจาคเงินหรือวัตถุสิ่งของเพื่องานแพร่ธรรมของส่วนรวม สร้างทายาทหรือส่งเสริมสนับสนุนให้มีผู้ทำงานแพร่ธรรมมากขึ้น

สร้างจิตตารมณ์แพร่ธรรมได้อย่างไร - การสร้างจิตตารมณ์ธรรมทูต จะต้องสร้างกันตั้งแต่ในวัยเด็ก โรงเรียนของเรามีกิจกรรมต่างๆมากมาย สำหรับเด็กคาทอลิก เรามีการสอนคำสอน การสอนคำสอนเป็นเสมือนอาหารฝ่ายจิตวิญญาณให้กับเด็กๆ ให้เด็กๆมีการพัฒนาความรู้และความเชื่ออย่างเป็นขั้นตอน การสอนคำสอนเป็นงานที่เรียกว่าภาคบังคับของโรงเรียนคาทอลิกทุกแห่ง ถ้าโรงเรียนคาทอลิกใดไม่มีการสอนคำสอนให้กับเด็กคาทอลิก โรงเรียนนั้นไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นคาทอลิก ส่วนเด็กนักเรียนที่ไม่ใช่คาทอลิกนั้น ผู้บริหารจะต้องจัดให้มีการสอนวิชาคริสต์ศาสนาโรงเรียนของตน

“คำสอน” กับ “วิชาคริสต์ศาสนา” ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน คำสอนเป็นการพัฒนาชีวิตแห่งความเชื่อ เป็นการฝึกปรือหรือให้การอบรมเด็กคาทอลิกให้มีความเชื่อความผูกพันกับพระเจ้าอย่างลึกซึ้งมากขึ้นๆอย่างเป็นขั้นตอน รู้คำสอนเพื่อจะได้เชื่อศรัทธาและนำคำสอนไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เป็นการ “สอนให้เชื่อ” ส่วนวิชาคริสต์ศาสนาเป็นการสอนความรู้เรื่องความเชื่อ “สอนให้รู้” ผู้เรียนเรียนเพื่อความรู้ไม่จำเป็นต้องเชื่อศรัทธา คนที่สอบวิชาคริสต์ศาสนาได้ที่หนึ่งอาจจะไม่ใช่เด็กคาทอลิกก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามจุดเชื่อมต่อของการเรียนวิชาคริสต์ศาสนาอาจจะเป็นหนทางให้หัวใจของผู้เรียนเปิดออกเพื่อต้อนรับองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยการเข้าเรียนคำสอนก็ได้ เรื่องนี้เป็นงานของพระจิตเจ้า

กิจกรรมคาทอลิก - นอกจากโรงเรียนคาทอลิกจะต้องเอาใจใส่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณเด็กๆของเราให้มีความรักความผูกพันกับพระเจ้าแล้ว โรงเรียนคาทอลิกจะต้องสร้างจิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้แพร่ธรรมหรือธรรมทูตให้กับเด็กๆคาทอลิกของเราด้วย เรามีองค์กรคาทอลิกในโรงเรียนหลายองค์กรด้วยกัน แต่ละองค์กรมีระบบระเบียบการฝึกอบรมของตนเอง แต่จุดประสงค์ประการหนึ่งที่ตรงกัน คือ การสร้างเด็กของเราให้เป็นผู้แพร่ธรรม หรือผู้ประกาศข่าวดีของพระเจ้าตามพระบัญชาของพระเยซูเจ้า ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบด้านการแพร่ธรรมของพระศาสนจักรที่จะเข้ามาเติมเต็มในพันธกิจด้านนี้ ทั้งนี้เนื่องมาจากหลักการที่ว่าทุกคน ทุกองค์กร ทุกโรงเรียน ทุกวัด ทุกสมาคม และอะไรไม่ว่าที่ได้ชื่อว่าเป็นคาทอลิกหรือเป็นของคาทอลิกจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้แพร่ธรรม

ในฐานะครูหรือผู้ให้การอบรมในโรงเรียน เราจะทำอย่างไรให้เด็กๆของเรามีจิตวิญญาณของการแพร่ธรรม
1. การปลุกจิตสำนึก-จิตศรัทธา
           การปลุกจิตสำนึกเป็นการสร้างความตระหนักให้เด็กๆได้เห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของงานแพร่ธรรมและการทำหน้าที่แพร่ธรรม ปลุกให้ตื่นจากความเมินเฉยหรือการไม่รู้ สำนึกแรกคือ เขามาจากไหน พระเจ้ารักและดีต่อเขามากเช่นไร พระเจ้าทรงดีต่อเขาทำไม สำนึกที่สองคือ เขาจะต้องทำดำเนินชีวิตอย่างไรและต้องทำอย่างไรเพื่อตอบแทนพระคุณของพระองค์

            เราจะทำการปลุกจิตสำนึกเด็กๆได้อย่างไร การให้ข้อมูล การสร้างกระแส ด้วยการพูดหรือให้เด็กๆได้รับรู้ถึงข่าวคราวงานแพร่ธรรมในที่ต่างๆ ความลำบากของเพื่อนร่วมโลกในที่ต่างๆ ให้รู้สึกเห็นใจคนที่ลำบากกว่าเราทั้งด้านปัจจัย 4 เป็นต้นคนที่ขาดความรัก คนที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ และที่สูงสุด คือคนที่มีความต้องการความช่วยเหลือทางด้านจิตวิญญาณ

           เราอาจจะทำโดยการทำนิทรรศการ การรณรงค์ การพาไปร่วมงานธรรมทูต ไปเยี่ยมธรรมทูต การเขียนจดหมายหรือการส่งการ์ดให้ธรรมทูตที่ทำงานในสถานที่ต่างๆ การเชิญธรรมทูตมาแบ่งปันประสบการณ์ การหาข่าวมานำเสนอในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ

           การสร้างศรัทธาให้เด็ก เช่น การให้เด็กๆสวดภาวนาเพื่องานแพร่ธรรม อย่างน้อยให้สวดวันทามารีอาวันละ 1 บท การให้สวดสายประคำธรรมทูต เดินรูป 14 ภาคธรรมทูต มิสซาธรรมทูต ฯลฯ

2. การให้ความรู้
          การให้ความรู้เกี่ยวกับงานธรรมทูต เป็นการสอนคำสอนด้านธรรมทูต เช่น การทำงานของพระเยซูเจ้า การเลือกอัครสาวกมาร่วมงาน การทำงานของบรรดาอัครสาวกที่ต้องสู้ทนกับความยากลำบาก โดยคัดเลือกมาจากพระคัมภีร์

          ความรู้เกี่ยวกับคณะนักบวชต่างๆที่ทำงานแพร่ธรรม ฆราวาสแพร่ธรรม ประวัติของนักบุญ มรณะสักขี และมิชชันนารี ประวัติการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศของเรา ท้องถิ่นของเรา และของสากล และความรู้-ทักษะวิธีการประกาศข่าวดี

3. การปฏิบัติ
          เมื่อมีศรัทธาและความรู้แล้ว ครูควรให้เด็กๆได้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อนำความรู้มาเป็นการกระทำ เช่น การทำกิจกรรมประเภทจิตอาสา การช่วยเหลือกิจกรรมในโรงเรียน การช่วยเหลือเพื่อนๆหรือรุ่นน้องในการบริการต่างๆ การบริจาคเงินเพื่อเด็กที่ยากจนกว่า การไปเยี่ยมบ้านเด็กกำพร้า เด็กพิการ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ

           การเป็นอาสาสมัครช่วยงานของวัด เช่น ช่วยมิสซาฯ ขับร้อง ทำความสะอาดวัด รดน้ำต้นไม้ แจกและเก็บหนังสือเพลง ฯลฯ

          การอาสาชวนเพื่อนมาวัด ชวนเพื่อนเฝ้าศีลมหาสนิท อธิบายบทเพลงและบทสวดให้เพื่อนๆ บอกเล่าเรื่องพระเยซูเจ้าให้เพื่อนฟัง ฯลฯ

         พาเด็กๆไปเข้าค่ายกระแสเรียก ไปเที่ยวบ้านเณร บ้านผู้ฝึกหัด บ้านนักบวช ศูนย์แพร่ธรรมต่างๆ ฯลฯ

4. ความร่วมมือกันในการทำงาน – เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
           เพื่อให้การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีการเรียนรู้งานของกันและกัน ร่วมมือกัน ประชุมปรึกษาหารือกัน มีกิจกรรมร่วมกันระหว่างกลุ่ม ระหว่างโรงเรียน ระหว่างสังฆมณฑล ระหว่างทวีป
เครื่องมือเพื่อการสร้างความร่วมมือ เช่น วันยุวธรรมสากล หนังสือคู่มือต่างๆ อุปกรณ์การฝึกอบรมต่างๆ 
www.missionarychildhood.com

(นำเสนอคณะครูสังฆมณฑลราชบุรี วันที่ 17 ก.ค. 2553 : คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ )