ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

ธรรมเนียมอุทิศแด่ผู้ล่วงลับธรรมเนียมอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ
        แต่ละชาติ แต่ละศาสนา และวัฒนธรรม จะมีธรรมเนียมปฏิบัติอุทิศแก่บรรพบุรุษ หรือ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับแตกต่างกันไป  ชาวพุธมีพิธี เผาศพ ( Creamation ) ชาวมุสลิม ชาวยิว ชาวคริสต์ มีการฝังศพเป็นการให้ความเคารพผู้ตาย

     พระศาสนจักรคาทอลิกสอนว่า “ผู้ใกล้จะตายควรได้รับความสนใจและเอาใจใส่เพื่อช่วยเหลือเขาให้ดำเนินชีวิตในช่วงสุดท้ายอย่างมีศักดิ์ศรี และมีสันติ พวกเขาต้องได้รับความช่วยเหลือโดยการสวดภาวนาของญาติพี่น้อง ต้องเอาใจใส่ดูแลให้คนเจ็บป่วยได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ในเวลาอันเหมาะสม เพื่อเตรียมให้เขาพบกับพระเจ้าผู้ทรงชีวิต”

     เมื่อคริสตชนล่วงลับ ร่างกายของเขาต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความรัก และความเคารพ เพราะเราเชื่อและหวังในการกลับคืนชีพ ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมสอนว่า การฝังผู้ตายเป็นงานแห่งความเมตตา เป็นการให้เกียรติแก่บุตรของพระเจ้าผู้เป็นวิหารของพระจิต

    ในรัชสมัยของแชลมาเนเสอร์ ข้าพเจ้าได้ให้ท่านแก่พี่น้องร่วมชาติของข้าพเจ้าบ่อย ๆ ข้าพเจ้าเอาอาหารของข้าพเจ้าไปเลี้ยงผู้หิวโหยและเอาเสื้อผ้าของข้าพเจ้าไปให้แก่ผู้ที่ไม่มี เมื่อข้าพเจ้าเห็นร่างเพื่อนร่วมชาติที่ถูกฆ่าและโยนทิ้งนอกกำแพงนีนะเวห์ ข้าพเจ้าก็นำไปฝังเสีย หากกษัตริย์เซนนา เดอริบ ทรงประหารชีวิตผู้ที่หลบหนีมาจากยูเดีย ข้าพเจ้าก็นำไปฝังอย่างลับ ๆ เหตุว่า พระองค์ทรงประหารคนเป็นจำนวนมากในยามพิโรธ เมื่อพระองค์ทรงรับสั่งให้แสวงหาศพของคนเหล่านั้นก็หาไม่พบ ( โทบิต 1:16-18)

     การชันสูตรศพสามารถยอมรับได้ทรงศีลธรรม เพื่อปฏิบัติตามการเรียกร้องทางกฎหมาย หรือการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ การมอบอุทิศอวัยวะให้หลังจากที่ตายแล้วเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นกุศล

     พระศาสนจักรอนุญาตให้เผาศพได้ ถ้าการกระทำนั้นไม่ได้แสดงถึงการปฏิเสธต่อความเชื่อในเรื่องการกลับเป็นขึ้นมาของร่างกาย ( คำสอนพระศาสนจักร 2299-2301;เทียบกฎหมายพระศาสนจักร 1176.3)

     นักบุญโอติโล แห่งคลูนี ได้ริเริ่มการภาวนาอุทิศแด่วิญญาณในไฟชำระ (Purgatory ) ประมาณปี 1000 ท่านสอนนักพรตเบเนดิกตินให้ถวายมิสซาและภาวนาแด่ผู้ล่วงลับ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน พระสันตะปาปาที่กรุงโรมทรงรับรองความคิดที่ดีนี้ และะเผยแพร่ไปทั่วพระศาสนจักร เราจึงมิได้ภาวนาได้ทุกวันตลอดปีเท่านั้น

      พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15  ในปี 1915 อนุญาตให้พระสงฆ์ถวายมิสซาในวันระลึกถึงผู้ล่วงลับได้ 3 มิสซา ให้ผู้ที่เรารัก ผู้ล่วงลับได้รับความช่วยเหลือและพระเมตตา

      กิจปฏิบัติหลักสำหรับอุิทิศแด่ผู้ล่วงลับ คือร่วมิสซา จึงมีธรรมเนียมในหลายประเทศ หลายวัดเรียกร้องให้สมาชิกในครอบครัวไปวัด นอกจากนี้ยังมีการสวดสายประคำ สวดทำวัตร และทำกิจการกุศลอุิทิศให้

       การเยี่ยมสุสาน ตั้งแต่บ่ายวันที่ 1 พฤศจิกายน สมโภชนักบุญทั้งหลาย จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน
1. การได้รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ ( เริ่มตั้งแต่บ่ายวันที่ 1 พฤศจิกายน สมโภชนักบุญทั้งหลาย จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน )

1.1  ใครที่ไปเยี่ยมสุสานหรือ สวดภาวนาอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ ให้สวดบทข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า บทข้าแต่พระบิดา  วันทามารีอา และภาวนาเพื่อวิญญาณในไฟชำระ จะได้รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์

1.2 ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ระลึกถึงวิญญาณในไฟชำระให้ไปเยี่ยมวัด หรือ วัดน้อย ด้วยความศรัทธา สวดบทข้าพเจ้าเชื่อ และ สวดบทข้าแต่พระบิดา  ได้รับพระคุณการุณครบบริบูรณ์

2. การได้รับพระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์อุิทิศแด่ผู้ล่วงลับ ( ตลอดทั้งเดือน )

2.1 ให้สัตบุรุษที่ไปเยี่ยมสุสาน หรือ สวดภาวนา อุทิศแด่ผู้ล่วงลับ จะได้รับพระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์

2.2 ผู้ที่สวดภาวนาทำวัตร เช้า หรือ ทำวัตรเย็น หรือ สวดบทภาวนาอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ ( สวดภาวนาบทอะไรก็ได้) ก็จะได้รับพระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์เช่นเดียวกัน

       ดังนั้น เราควรไปเยี่ยมสุสานที่หลุมฝังศพของผู้ที่เราเคารพรัก ทำความสะอาดหลุมศพ ประดับด้วยดอกไม้ และจุดเทียน บิดามารดา ครูคำสอน ควรสอนบุตรหลานและเด็กๆ  ให้สวดอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ เป็นพิเศษในโอกาสนี้

ที่มา : สารอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ปีที่ 4 ฉบับที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2006

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์