ประวัติศาสตร์คำสอน

                 การสอนคำสอนเป็นกระบวนการฝึกอบรมคนให้มีวุฒิภาวะทางความเชื่อของพระศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อได้ทำการศึกษาอย่างแยกแยะถึงงานการสอนคำสอนกับงานอื่นๆของพระศาสนจักรแล้ว เราจะเห็นได้ว่างานการสอนคำสอนมีความเกี่ยวข้องกับงานหลายด้านของพระศาสนจักรจนทำให้บางครั้งเกิดความสับสนถึงธรรมชาติที่แท้จริงของงานคำสอน
                  ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจถึงนิยามและธรรมชาติ อันเป็นอัตลักษณ์ของงานคำสอน และความหมายของงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานคำสอนของเรา

1. วิชาคำสอน(Catechetics)
           คำแรกที่เราควรให้ความสนใจก็คือ คำว่า “คำสอนหรืองานคำสอน” หมายความว่าอะไร เมื่อเราพูดว่าไปเรียนคำสอนกันเถอะ หรือ ใครสนใจอยากเป็นคาทอลิกต้องไปเรียนคำสอนก่อน ก่อนอื่นเราดูรากศัพท์ในภาษาดังเดิม คำว่า “คำสอน” ในที่ก่อนอื่นมาจากคำในภาษากรีก “Katechizein” ซึ่งหมายความว่า “to deliver” “to pass on” “to transmit”

           เราพิจารณาคำแรกก่อน deliver หมายถึง การกล่าวสุนทรพจน์ เทศน์ อ่านคำพิพากษา การส่ง(เอกสารข่าวพัสดุ) การมอบให้ การเสนอรายงาน การบอกเล่าการ ส่งมอบเอกสาร การพูดออกมาอย่างเปิดเผยคำนี้คนไทยคงคุ้นๆกับการบริการส่งอาหารปรุงสำเร็จถึงบ้านมาแล้ว ส่วนคำว่า Pass on การมอบ การส่งมอบ การให้ และคำว่า Transmit หมายถึง ส่งผ่าน และยังหมายถึงการถ่ายทอดถ่ายทอดทางพันธุกรรมอีกด้วย(พจนานุกรมออกซฟอร์ด)

          เมื่อประมวลความหมายจากศัพท์แล้วเราอาจจะเกิดภาพของวิชาคำสอนขึ้นบ้าง จึงขอสรุปความหมายของคำสอนได้ว่า “คำสอน” หมายถึง องค์ความรู้ถึงวิธีการประกาศข่าวสารแห่งความรอดพ้นจากบาปและการกระทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง

          ในปัจจุบัน คำสอน Catechetics หมายถึง วิชาการหรือศาสตร์ที่ว่าด้วยทฤษฎี หรือความรู้ด้านเทคนิกต่างๆเพื่อการถ่ายทอดข่าวสารแห่งความรอดพ้นจากบาปให้กับมวลมนุษย์ อีกทั้งยังวิเคราะห์บุคคลที่รับผิดชอบในการถ่ายทอดข่าวสาร และนำเสนอวิธีการ เครื่องมือและแนวทางในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิทยาเทววิทยาด้านอภิบาล(Pastoral Theology) อันอยู่ภายใต้การชี้นำของพระจิตเจ้าและสื่ออุปกรณ์ของศาสตร์สมัยใหม่

2. การสอนคำสอน (Catechesis)
         “วิชาคำสอน” เป็นเสมือนทฤษฎีการประกาศข่าวดีแห่งความรอด ส่วน “การสอนคำสอน” ก็คือ การปฏิบัติหรือการประกาศสอนข่าวสารของพระเยซูเจ้าให้กับผู้อื่น

         หนังสือคำสอนและเยาวชนได้ให้นิยามการสอนคำสอนว่าคือ “กิจการเผยแผ่พระวาจาของพระเจ้าด้วยวิธีที่มีเข้มแข็ง มีชีวิตชีวาและมีประสิทธิภาพ โน้มนำให้เกิดความรู้ถึงชีวิตและคำสั่งสอนขององค์พระเยซูคริสต์ เป็นการอบรมศึกษาให้ผู้เรียนได้ก้าวหน้าในความเชื่ออย่างมีลำดับขั้นตอน เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องจนนำบุคคลไปสู่การมีวุฒิภาวะทางความเชื่อ”

          การสอนคำสอนเป็นกิจการหนึ่งของพระศาสนจักรซึ่งโน้มนำบุคคลทั้งส่วนตัวของแต่ละคนและบุคคลทั้งชุมชนให้บรรลุถึงวุฒิภาวะทางความเชื่อ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนๆหนึ่งได้ถ่ายทอดความเชื่อให้กับอีกบุคคลหนึ่งด้วยวิธีการที่เหมาะสม

3. การประกาศข่าวดี(Evangelization)
         การประกาศข่าวดีหมายถึง “การสื่อข่าวดีของพระเยซูเจ้า..เป็นกระบวนการนำบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้เข้ามามีความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า อุทิศตนให้พระองค์ ดำเนินชีวิตตามแนวทางของคริสตชน และกลับกลายเป็นสมาชิกที่เข้มแข็งคนหนึ่งของพระศาสนจักร

         เรื่องที่จะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจในงานนี้เราควรพิจารณาความแตกต่างสองด้านของเรื่องเหล่านี้ คือ
          ก. ระหว่างวิชาคำสอนกับการสอนคำสอน วิชาคำสอนเป็นเรื่องของทฤษฎีต่างๆ ส่วนการสอนคำสอนเป็นเรื่องของการปฏิบัติ

          ข. ระหว่างการสอนคำสอนกับการประกาศข่าวดี การประกาศข่าวดีเป็นเสมือนงานก้าวแรกของการประกาศที่มุ่งตรงไปยังผู้ฟังที่ยังไม่มีความเชื่อและมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือการกลับใจ ในขณะที่การสอนคำสอนเป็นเสมือนก้าวที่สองที่เป็นการติดตามงานก้าวแรก คือ เป็นการสอนเพื่อสนับสนุนการประกาศข่าวดีและมุ่งกระทำกับผู้ฟังที่มีความเชื่ออยู่แล้วและเพื่อให้เกิดความเจริญเติบโตไปสู่การมีวุฒิภาวะในความเชื่อ

4. ครูคำสอน(Catechist)
          ครูคำสอนเป็นบุคคลที่ทำการสอนคำสอน เป็นบุคคลที่ช่วยให้กระบวนการอบรมคนให้บรรลุถึงวุฒิภาวะแห่งความเชื่อ

5. ผู้ประกาศข่าวดี(Evangelizer)
           ผู้ประกาศข่าวดีเป็นบุคคลหนึ่งที่ทำการประกาศข่าวดีให้กับบุคคลที่ยังไม่มีความเชื่อ ในความหมายดังเดิมหมายถึงบุคคลที่เราเรียกว่าเป็น “มิชชันนารี” งานของเขาอาจจะทำหน้าที่ของครูคำสอนด้วยก็ได้

6. หนังสือคำสอน(Catechism)
          หนังสือคำสอนเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งเพื่อทำให้การสอนคำสอนบรรลุผลสำเร็จ เราอาจจะเรียกว่าเป็นตำราของครูคำสอนหรือของผู้ประกาศข่าวดีก็ได้ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะใช้หนังสืออื่นๆที่ไม่เรียกว่าหนังสือคำสอนมาใช้สอนคำสอนอีกได้

          หนังสือคำสอนมิใช่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ครูคำสอนจะต้องยึดถือแบบตายจนเราไม่สามารถประยุกต์ดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลง เราไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของคำสอนได้ เนื้อหาจะต้องเหมือนเดิมตลอดไป ส่วนวิธีการสอนจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและความเหมาะสมกับผู้เรียนได้

         ดังนั้นหนังสือคำสอนจึงเป็น “บทสรุป” ของข้อคำสอนสำคัญๆของศาสนาคริสต์ เป็นเนื้อหาที่ครูคำสอนจะต้องนำไปประกาศสอนได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน พระสันตะปาปายอห์นปอลที่สองได้เขียนคำนำถึงบทบาทของหนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกว่า “หนังสือคำสอนเล่มนี้มุ่งถึงเป็นอันดับแรก เพื่อใช้เป็นตัวบทในการอ้างอิงที่แน่นอนและที่แท้จริงในการสอนข้อคำสอนคาทอลิก”

        หนังสือคำสอนทุกประเภทจะต้องได้รับตรวจตราและการอนุมัติจากผู้มีอำนาจของพระศาสนจักร ทั้งนี้เพราะหนังสือคำสอนจะต้องบรรจุหลักความเชื่อและข้อปฏิบัติของคริสตชน รวมถึงกิจกรรมต่างๆที่บำรุงความเชื่อที่ได้รับการเผยแสดงจากพระเจ้าโดยผ่านทางพระคัมภีร์และจากธรรมประเพณีของพระศาสนจักร ซึ่งทุกคนจะต้องซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าและพระศาสนจักร

         ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรทุกยุคทุกสมัย หนังสือคำสอนเป็นส่วนที่สำคัญที่จะบ่งบอกถึงความเป็นไปของพระศาสนจักรในท้องที่นั้น ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 พระศาสนจักรได้ให้ความสำคัญกับหนังสือคำสอนเป็นอย่างมาก และเกิดการพัฒนาการเขียนหนังสือคำสอน คู่มือการสอนคำสอน การสอนคำสอนตามวัย และอื่นๆมากมายติดตามมา

        G. Bedouelle ได้ให้ข้อสังเกตถึงคุณลักษณะของหนังสือคำสอนไว้ 3 ประการ คือ “ก่อนอื่นหมด หนังสือคำสอนจะต้องเป็นการสรุปข้อความเชื่อของคาทอลิก สองหนังสือคำสอนเป็นเครื่องมือในการสอน – บางทีอาจจะให้เรียนด้วยการท่องจำ หนังสือคำสอนจะออกมาในลักษณะของการถามมาตอบไป(Q&A) เป็นคู่มือแบบเล็กๆแต่ละข้อสั้นๆเพื่อให้ผู้เรียนสามารถจดจำเนื้อหาสำคัญของข้อความเชื่อได้ สามเป็นหนังสือทางการของพระศาสนจักร หนังสือคำสอนจะต้องได้รับการรับรองอย่างน้อยต้องให้ผู้ใหญ่ของพระศาสนจักรได้รับรู้ว่าเป็นการนำเสนอข้อความเชื่อและข้อคำสอนที่ถูกต้องของพระศาสนจักร”

7. เนื้อหาคำสอน(Message)
          ความหมายโดยทั่วไปของเนื้อหาหรือข่าวสารใดข่าวสารหนึ่งก็คือ “การสื่อสาร” เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด

          ในบริบทของของคริสตชน เนื้อหาคำสอน คือ ข่าวสารถึงเรื่องแผนการของพระเจ้าที่เสด็จลงมาเพื่อไถ่กู้มนุษย์ให้พ้นจากบาป ซึ่งปรากฏเด่นชัดในชีวิตของพระเยซูเจ้าทั้งด้วยพระวาจาและกิจการต่างๆที่พระองค์ทรงกระทำ

8. คุณลักษณะของเนื้อหาคำสอน(Characteristics of the Message)
เนื้อหาคำสอนจะต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

       1) เป็นข่าวสารที่ให้ “ข้อคำสอน” (doctrine) : เป็นหลักคำสอนพื้นฐานที่ออกมาจากแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง
       2) เป็นข่าวสารที่ให้ “ชีวิต”(life) : เนื้อหาในข่าวสารนี้จะต้องเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต มิใช่แค่ทฤษฎีความรู้หรือสูตรทางด้านสติปัญญาเท่านั้น
       3) เป็นข่าวสารที่ก่อให้เกิด “การปฏิวัติ”(revolution) : การปฏิรูปมิใช่เรื่องของความรุนแรง แต่เป็นเรื่องของการกระทำอย่างต่อเนื่อง การร่วมมือร่วมใจ การเจริญเติบโตไปสู่การมีอิสรภาพที่แท้จริง
       4) เป็นข่าวสารที่มี “พลัง”(dynamism) : ข่าวสารที่จะก่อให้เกิดการปฏิวัติได้นั้นจะต้องเป็นข่าวสารที่มีพลัง หมายความว่าไม่มีคำว่า “พอ” สำหรับผู้ฟัง แต่ข่าวสารนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา ความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมาย
       5) เป็นข่าวสารที่เป็น “การประกาศ”(proclamation) : เป็นการประกาศสอนที่ไม่ใช่ทำแบบเป็นชิ้นๆหรือเป็นส่วนๆหรือเป็นการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการประกาศอย่างมีแบบแผนและตรงกับความต้องการของผู้ฟัง
       6) เป็นข่าวสารที่ “ท้าทาย”(challenge) : ตามธรรมดาแล้วการประกาศมักจะมีจุดมุ่งหวังที่จะปลุกเร้าผู้ฟังให้เกิดการตอบสนองด้วยการยอมรับหรือการปฏิเสธ ดังนั้นข่าวสารแห่งคำสอนจะต้องมีลักษณะของการท้าทายให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
       7) เป็นข่าวสารแห่ง “ความหวัง”(hope) : ในเนื้อหาของข่าวสารนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการท้าทายเท่านั้น แต่ยังเป็นข่าวสารที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่จะพัฒนาหรือก้าวหน้าขึ้นในอนาคต มีความหวังว่าอนาคตจะต้องดีกว่าเดิมแน่นอน
       8) เป็นข่าวสารที่เป็น “ประจักษ์พยาน”(witness) : ข่าวสารนี้ไม่ใช่แค่เป็นเพียงข้อมูลหรือการนำเสนอที่เลื่อนลอย แต่เป็นข่าวสารที่มีชีวิต เป็นการปฏิรูปชีวิต เป็นการท้าทาย ดังนั้นบุคคลที่ประกาศสอนไม่ใชเป็นศาสตรจารย์ แต่เป็นประจักษ์พยาน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ชีวิตและคำสั่งสอนที่ออกจากปากจะต้องสอดคล้องตรงกัน