ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

บัญญัติ 10 ประการของการทำงานกับเด็กในค่าย

  1. ความรักเด็ก

            เป็นคุณสมบัติประการแรกที่ผู้นำพึงมี เป็นความรักแท้จริงต่อเด็กๆ ที่ตนจะทำงานด้วย ถ้าผู้นำไม่ชอบเด็ก และไม่ชอบใช้เวลาอยู่กับเด็ก เขาก็จะไม่รู้สึกสนุกและพอใจในการทำงาน

            ความรักในวัตถุสิ่งของที่ต้องใช้คือ ลักษณะของบรรดานายช่างอันแท้จริง

            เกษตรกรที่แท้ย่อมรักดิน รักต้นไม้และดอกไม้ ที่ตนประคบประหงม

            ชาวประมงที่แท้ย่อมรักทะเลและมีความสุขที่อยู่กับทะเลเป็นเวลานานๆ

            ความรักในการงานนั่นเอง ทำให้เขาทุ่มเทศึกษาอย่างถี่ถ้วน เพื่อว่าเขาจะได้มีความชำนาญในงานของเขา เพราะเขารักงานของเขา เวลาที่เขาทุ่มเทไปกับงานนั้นจะวัดกันตามหน้าปัดนาฬิกาไม่ได้

            ดังนั้นผู้ที่จะทำงานกับเยาวชน จึงควรทุ่มเท ร้อนรนในการค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับเด็ก เมื่อเขาอยู่กับเด็กเขาจะสนุกไปกับบรรดาเด็กๆ ที่เขาทำงานอยู่ด้วย

            ความรักต่อเด็ก ทำให้ผู้นำไม่ปฏิบัติสิ่งใดที่ทำให้เด็กต้องอาย หรือเยาะเย้ยเด็กๆ ดูถูกเด็กๆ เพราะการทำเช่นนั้นจะไม่ช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นได้ มีบางโอกาสที่ผู้นำจะต้องชี้ให้เด็กเห็นถึงความผิด และความอ่อนแอของเขา แต่จะต้องปฏิบัติไปด้วยความรัก และถ้าเป็นไปได้ ต้องกระทำแบบส่วนตัว

  1. ความศรัทธาในตัวเด็ก

            เราผู้นำมีทัศนคติต่อตัวเด็กอย่างไร

            เด็กคือใคร ในความคิดของเรา หรือเราเชื่ออะไรในตัวเด็ก  ถ้าเราคิดว่า อย่าไปหวังอะไรกับเด็กๆ ช่างหัวมันเถอะ หรือคบเด็กสร้างบ้าน ไร้สาระ เด็กไม่ได้เรื่อง ทำอะไรไม่ได้หรอก หรือเด็กคือความหวังของเรา คืออนาคตของชราติ เด็กคือพระพรของพระเจ้า 

            เรามีทัศนคติต่อเด็กอย่างไร เราก็จะปฏิบัติต่อเด็กอย่างนั้น 

ถ้าเรามีความศรัทธาในตัวเด็ก เราก็จะไว้วางใจเขา เราก็จะอดทนต่อความผิดพลาด เราจะไม่หมดความอดทน

            เด็กเองก็ต้องการให้ผู้ใหญ่มีความศรัทธา หรือเชื่อถือในตัวของพวกเขา และเมื่อพวกเขารู้ว่าคนที่นิยมชมชอบและเคารพนับถือนั้นมีความศรัทธาในตัวเขา เขาก็จะก้าวหน้าไปสู่อุดมการณ์อย่างไม่น่าเชื่อ

            ผู้ใหญ่หลายคน ทำร้ายเด็กอย่างมหันต์ โดยคิดและพูดว่า เด็กคนนี้ทำอะไรไม่เป็นหรอก ทำอะไรไม่เป็นเรื่อง ทำดีไม่ได้ การกล่าวเช่นนี้เป็นเสมือนการตีตราบาปลงไปในตัวเด็ก

            วิธีการของผู้ใหญ่เช่นที่กล่าวมานี้ย่อมใช้การขู่เข็ญให้เด็กกระทำตามที่ตนต้องการ เด็กจะปฏิบัติตามด้วยความกลัว ความกลัวเช่นนี้ เป็นการขัดขวางมากกว่าการพัฒนาให้เด็กโต

            แต่ความศรัทธาในตัวเด็ก ย่อมทำให้เราผู้นำกล้าที่จะมอบหมายงานให้รับผิดชอบ โดยไม่ต้องกังวลใจ และพร้อมเสมอที่จะคอยให้กำลังใจเมื่อเขาล้มเหลว

  1. เป็นเพื่อนของเด็ก

            ผู้นำที่ถือยศถือศักดิ์ ย่อมจะไม่เป็นที่ประทับใจของเด็กๆ นอกจากเขาจะทำตัวเป็นเพื่อนกับเด็ก

ความเป็นเพื่อนระหว่างผู้นำกับเด็ก มิใช่แบบเอะอะตึงตัง หรือหยาบคาย เด็กจะต้องมีความเคารพนับถือผู้นำ ในเวลาเดียวกัน ผู้นำเองจะต้องมีความเกรงใจ และเคารพในตัวเด็ก

            การมีมิตรภาพย่อมก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันสนิทสนม จนเป็นเรื่องที่รู้สึกง่าย ที่เด็กๆจะเชื่อมั่นในผู้นำและกล้าที่จะบอกเล่าความหวัง หรือระบายความยุ่งยากลำบากต่างๆ ของเขา

            การมีมิตรภาพของผู้นำนี้แสดงออกด้วยการสนใจชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆ เช่น การไปดูพวกเขาเล่นกีฬา ลงไปเล่นเกมต่างๆ กับพวกเขา ไถ่ตามความทุกข์สุข ร่วมสนุกกับสิ่งที่เด็กๆ สนใจเป็นต้น

  1. 4. จุดประสงค์

            ผู้นำจะต้องรู้ว่า "เขากำลังนำเด็กมุ่งไปยังจุดมุ่งหมายใด"  ผู้นำมิใช่เพียงแต่อยู่กับเด็กอย่างเดียวเท่านั้น 

            เมื่อผู้นำรู้จุดประสงค์ในการทำงานกับเด็ก เขาจะต้องพยายามใช้เวลาทำงานกับเด็กให้เกิดคุณประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด

            ใครก็ตามที่เด็กยอมรับนับถือแล้ว ผู้นั้นย่อมมีอิทธิพลต่อเด็กอย่างมาก อิทธิพลนี้ถ้าผู้นำไม่มีจุดประสงค์ที่ถูกต้องแท้จริง ย่อมนำเอาอิทธิพลนี้ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องได้

  1. ความกระตือรือร้น

            การมีจุดประสงค์อย่างเดียว ยังไม่เพียงพอในการทำงานกับเด็ก ผู้นำจะต้องมีความกระตือรือร้นอย่างไม่มีขีดจำกัดอีกด้วย

            เราย่อมทราบดีว่า เด็กๆมีความกระตือรือร้น มีพลังอย่างมาก ดังนั้น ผู้นำจึงต้องเป็นคนที่กระตือรือร้น และเด็กๆ ย่อมรักผู้นำประเภทนี้เช่นกัน

            ความกระตือรือร้นของผู้นำ ย่อมประกอบไปด้วยความพากเพียรอยู่เสมอ ความกระตือรือร้นประเภทไฟไหม้ฟาง หรือฟองสบู่ ย่อมไม่เกิดประโยชน์ต่องาน แต่ต้องเป็นความกระตือรือร้นที่ออกมาจากใจ จากการตระหนักถึงคุณค่าของงานที่ผู้นำกำลังกระทำ ความร้อนรนเช่นนี้ย่อมจะคงอยู่ตลอดไป แม้จะเหนื่อยหรือยุ่งยากเพียงใด

            ความกระตือรือร้นยังทำให้งานของผู้นำสนุก เพลิดเพลินไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในห้อง หรือในกิจกรรมต่างๆ ในค่าย ความกระตือรือร้นนี้จะช่วยให้เด็กๆกระตือรือร้นไปด้วย

  1. ความอดทน

            ผู้นำต้องระลึกอยู่เสมอว่า การสร้างเด็ก ไม่ใช่การสร้างวัตถุสิ่งของ เด็กมิใช่ก้อนดินที่จะปั้นกันได้ง่ายๆ หรือปั้นตามแบบพิมพ์ ผลิตออกมาแบบโรงงาน

            เด็กแต่ละคนเป็นเอกบุคคล มีลักษณะของตนเอง มีกระบวนการของการเจริญเติบโต ตามสภาพแวดล้อมของเขาเอง ดังนั้น ผู้นำจำเป็นจะต้องศึกษาอย่างมากที่สุด ถึงความต้องการและความสนใจของเด็กแต่ละคนที่อยู่ในความรับผิดชอบ และเพียรอดทน รอดูความสำเร็จด้วยความมั่นใจว่า เด็กของเราต้องทำได้

            อีกประการหนึ่งที่ผู้นำต้องมีความอดทน ก็คือธรรมชาติของเด็กเองยังไม่มีความมั่นคง ยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบบางสิ่งบางอย่างที่ใหญ่เกินวัยของพวกเขา เขายังอยู่ในวัยลองผิดลองถูก กำลังทดสอบประสบการณ์ใหม่ๆ ผู้นำจึงต้องพร้อมที่จะให้อภัยแบบเจ็ดคูณเจ็ดสิบ

  1. อารมณ์ขัน

            เด็กๆรักสนุกและร่าเริง เขาพอใจในการขบขันและชอบให้ผู้อื่นชมเชยการทำตลกขบขันของเขาด้วย

            ผู้นำที่สามารถเข้ากับชีวิต เด็กในด้านนี้ได้ ไม่ช้าเขากับเด็กก็จะสนิทสนมเป็นอันหนึ่งเดียวกัน

            การมีอารมณ์ขันหมายถึง การมองงานในด้านสนุก ในแง่ดี การมีอารมณ์ขันช่วยฝึกความอดทน ในยามที่ต้องหัวเสียกับพฤติกรรมบางอย่างของเด็ก ช่วยให้เห็นลู่ทางในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม นอกจากนั้นยังช่วยรักษาภาวะจิตใจที่หดหู่ อิดหนาระอาใจ

            แต่การมีอารมณ์ขันนี้จะต้องเป็นอารมณ์ขันที่สะอาด ไม่หยาบคาย หรือทำให้ใครเสียหน้า เช่น การเอาความผิดปรกติของเด็กๆ มาเล่นตลกเป็นต้น

  1. จินตนาการ

            ผู้นำที่มีจินตนาการอันดีจะอยู่ในโลกใบเดียวกับเด็กได้ไม่ยาก แม้ว่าโลกของผู้ใหญ่กับโลกของเด็กจะต่างกัน มาตรฐานในการตีคุณค่าของผู้ใหญ่กับเด็กก็ต่างกัน เป้าหมาย - ปัญหา ฯลฯ ก็ผิดกัน แต่ผู้นำจะต้องอยู่ร่วมกับเด็กๆ ต้องรอบรู้โลกของเด็ก การคิดว่า "รู้จักเด็กทะลุปรุโปร่งแล้ว ฉันนะเป็นเด็กมาก่อน อาบน้ำร้อนมาก่อน" นั้นเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะเด็กสมัยผู้นำกับเด็กปัจจุบันผิดกันมาก

            ผู้นำจะต้องออกจากโลกของตน ลงมายังโลกของเด็ก ทำความเข้าใจเด็ก ทำไมเด็กจึงสนุกเมื่อได้ทำเช่นนั้นเช่นนี้ ผู้นำจะต้อง ไม่พยายามประพฤติปฏิบัติกับเด็กราวกับว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ หรือ ยัดเยียด ความสนุกของเราลงไปในชีวิตของเด็กๆ 

  1. ความจริงใจ

                เด็กๆมีประสาทสัมผัสพิเศษที่จะจับความจริงใจ หรือความไม่จริงใจของผู้นำ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหลอกลวงเด็ก

            เมื่อเด็กรู้สึกว่า ผู้นำไม่จริงใจต่อเขา เขาก็จะขาดความไว้วางใจในตัวผู้นำ

            การสม่ำเสมอในการพบปะปฏิบัติต่อเด็กๆ การวางตัวเป็นแบบอย่าง ย่อมติดตาตรึงใจเด็กตลอดไป

  1. อุดมคติส่วนตัว

            ผู้นำที่มีความมั่นคง คงเส้นคงวา มีรูปแบบชีวิตที่ชัดเจน ไม่สับสน สม่ำเสมอ ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลกับเด็กๆ เพราะเด็กๆมักจะบูชาคนเก่ง เด็กจะเอาแบบอย่างของบุคคลที่เขารักนับถือมาเป็นรูปแบบของชีวิตของตน

            ถ้าท่านเป็นคนที่มีอุดมคติที่ชัดเจน ท่านก็จะมีเด็กๆ ที่มีอุดมคติเช่นกัน พฤติกรรมของท่าน และทัศนคติที่ท่านแสดงออกมา มีค่ามากกว่าวาจา หรือการยืนอบรมเด็กหน้าแถว

            พึงจำไว้ว่า "อุปนิสัยใจคอนั้นได้มาจากการเลียน มิใช่การเรียน"

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์