ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

การติดตามผล

          การติดตามผลเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการจัดการอบรมหรือการจัดค่ายฯ ทั้งนี้เนื่องมาจากความเป็นจริงที่ว่า เมื่อบุคคลต่างๆที่มารับการอบรมหรือมาเข้าค่ายฯนั้นย่อมมีความรู้สึกที่ดี มีกำลังใจ มีความรู้ มีทักษะใหม่ หรือมีข้อตั้งใจที่ดีเพื่อการดำเนินชีวิตใหม่ให้ดีขึ้น แต่เมื่อพวกเขากลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม หรืออยู่ในวิถีชีวิตอย่างเดิม อาจจะทำให้ความรู้สึกและความตั้งใจที่ดีนั้นลดหรือหายไป การจัดให้มีการติดตามผลจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญที่จะช่วยให้ผลของการอบรมหรือเข้าค่ายฯธำรงอยู่ต่อไป

วิธีการ

เราสามารถทำการติดตามผลของผู้ที่เข้าค่ายได้ใน 2 รูปแบบ คือ

  1. คืนสู่เหย้า หรือ การเชิญสมาชิกค่ายฯมาร่วมพบปะกัน
  2. การใช้สื่อต่างๆ
คืนสู่เหย้า

         เป็นการนัดพบสมาชิกที่ผ่านการเข้าค่ายฯให้มารวมกันในเวลาที่เหมาะสม อาจจะใช้เพียงครึ่งวัน หรือหนึ่งวัน หรือค้างคืนด้วยกันก็ได้ โดยมีจุดประสงค์

  1. รื้อฟื้นประสบการณ์ในการเข้าค่ายฯ
  2. สานต่อมิตรภาพที่มีต่อกัน
  3. อภิปรายถึงความก้าวหน้าของชีวิตที่ได้รับจากการเข้าค่ายฯ

          ระยะเวลาที่เหมาะสมควรจัดหลังจากการเข้าค่ายได้สัก 4 สัปดาห์ ส่วนรูปแบบนั้นมีหลายหลากแล้วแต่สภาพแวดล้อม ในที่นี้จะเสนอตัวอย่างการจัดวันคืนสู่เหย้าแบบ 2 ชั่วโมง

ตารางเวลา

09.00 น.   ลงทะเบียน

09.15 น.   พิธีเปิดและภาวนา

09.30 น.   การอภิปรายกลุ่มย่อย

10.00 น.   การอภิปรายกลุ่มใหญ่

10.45 น.   ภาวนาปิด

11.00 น.   มิสซา

12.00 น.   อาหารเที่ยง - เดินทางกลับ

ตัวอย่างคำถามเพื่อการอภิปรายในกลุ่มย่อย

  1. ท่านรู้สึกอย่างไรที่ได้มาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่งในวันนี้
  2. ท่านคิดอย่างไรหรือรู้สึกอย่างไรต่อการเข้าค่ายฯที่ผ่านมา
  3. ท่านมีข้อตั้งใจหรือแผนการอะไรที่เกิดขึ้นจากการเข้าค่ายฯที่ผ่านมา และท่านได้ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจหรือไม่อย่างไร
  4. ท่านมีประสบการณ์อะไรที่ท้าทายหรือน่าสนใจบ้างกับชีวิตของท่านหลังจากการเข้าค่ายฯ
  5. ประสบการณ์ที่ดีมีประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับท่านมีอะไรบ้าง

ตัวอย่างคำถามเพื่อการอภิปรายในกลุ่มใหญ่

  1. ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อได้มีโอกาสแบ่งปันกันในกลุ่มย่อย
  2. การเข้าค่ายฯทำให้ชีวิตของท่านเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ อย่างไร
  3. ท่านได้มีการติดต่อหรือให้กำลังใจกันกับเพื่อนๆหลังจากเข้าค่ายฯบ้างหรือไม่
  4. ท่านอยากให้ทีมงานผู้รับผิดชอบช่วยเหลือหรือสนับสนุนท่านในเรื่องใด
การใช้สื่อ

          ในกรณีที่เราไม่สามารถจัดการชุมนุมแบบคืนสู่เหย้าได้ อันเนื่องมาเหตุผลใดก็แล้วแต่ เราอาจจะทำการติดตามผลได้โดยการใช้สื่อต่างๆเข้าช่วยได้ เวลาที่เหมาะคือ เริ่มจัดทำ 3-6 อาทิตย์หลังจากจบการเข้าค่ายฯและต่อไปเรื่อยๆเป็นระยะ

วิธีการ
  1. การใช้จดหมาย / โทรศัพท์ ติดต่อกันเป็นรายบุคคล
  2. การทำจดหมายข่าว / ออกสารหรือหนังสือเล่มเล็กๆที่รายงานข่าวของสมาชิกต่างๆ
  3. ส่งข่าวลงในหนังสือพิมพ์ (อุดมสาร) หรือในสารวัด สารเยาวชน ฯลฯ
  4. จัดทำข่าวหรือรายงานความคืบหน้าลงในบอร์ดหน้าวัด

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์