ข้อแนะนำ 7 ประการเพื่อความร่วมมือระหว่างครูคำสอนกับผู้ปกครอง
ข้อแนะนำ 7 ประการเพื่อความร่วมมือระหว่างครูคำสอนกับผู้ปกครอง

            จากประสบการณ์การทำงานคำสอนที่ผ่านมา มักจะได้รับฟังความยากลำบากของครูคำสอนจากโรงเรียนต่าง ๆ ประการหนึ่งก็คือ ผู้ปกครองไม่ค่อยสนับสนุนให้ลูก ๆ เรียนคำสอน หรือมาวัดในวันอาทิตย์ พวกเขาเห็นว่าการเรียนวิชาการอื่น ๆ มีประโยชน์มากกว่า ซึ่งบางครั้งทำให้ครูคำสอนท้อแท้หรือหมดกำลังใจในการทำหน้าที่ เพราะคิดว่าตนเองกำลังสอนสิ่งที่มีค่ามากที่สุดให้กับลูก ๆ ของพวกเขา สอนให้รักพ่อรักแม่ สอนให้เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต แต่ทำไมพวกเขาจึงมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป ครูคำหรือผู้เกี่ยวข้องอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ หรือตำหนิติเตียนผู้ปกครองได้ แต่ถ้าเราหันมามองการทำหน้าที่ของครูคำสอนเอง ในฐานะครูคำสอนเราได้พยายามกระทำหน้าที่ของเราได้อย่างดี ครบถ้วยแล้วหรือยัง เราได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้ปกครองในการเรียนคำสอนแล้วหรือยัง เราได้ติดต่อหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครองของผู้เรียนหรือไม่ แน่นอนถ้าผู้ปกครองรู้ว่าเรากำลังทำอะไร พวกเขาอาจจะหันมาให้ความร่วมมืออย่างดีก็ได้ ดังนั้น จึงอยากจะนำเสนอข้อปฏิบัติเจ็ดประการ ในการประสานงานกับผู้ปกครองเพื่อให้งานคำสอนของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น



1. การรับฟัง

           ในฐานะครูคำสอน หลายครั้งที่เราให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ ที่จะต้องกระทำให้สำเร็จมากจนกระทั่งลืมที่จะให้ความสำคัญกับการรับฟังผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับฟังความสุขและทุกข์ อุปสรรคและความสำเร็จของผู้ปกครอง ขอให้ครูคำสอนได้ให้ความสำคัญกับการรับฟังเป็นเรื่องแรก ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์หรือพฤติกรรมต่าง ๆ รับฟังความสำเร็จเพื่อนำมาแสดงความยินดีและเฉลิมฉลอง รับฟังอุปสรรคหรือสิ่งท้าทายเพื่อแสดงความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ หรือความต้องการในยามที่ถูกทดลอง ครูคำสอนควรหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อทำการพูดคุย โดยจัดบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการสนทนาอย่างเป็นกันเอง เช่น การมีมุมสนทนา การจัดเก้าอี้สองตัวที่หันหน้าเข้าหากัน การมีโต๊ะที่มีพระคัมภีร์ ไม้กางเขน และดอกไม้จะเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ปกครองรู้สึกถึงความปลอดภัยและความตั้งใจที่จะรับฟังเขา ครูคำสอนจะต้องสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจที่ทำให้ผู้ปกครองไม่รู้สึกหวาดระแวงหรือรู้สึกว่าเสี่ยงที่จะพูดเรื่องต่าง ๆ ให้คนอื่นฟัง ครูคำสอนจะต้องสนับสนุนให้ผู้ปกครองได้แบ่งปันถึงเรื่องที่ท้าทายหรือเป็นปัญหาสำคัญของเขา

2.การให้การสนับสนุนเรื่องจิตใจ
           การให้การสนับสนุนหรือการส่งเสริมเรื่องจิตใจ เช่น การภาวนาเพื่อผู้ปกครองของเด็ก ๆ ที่มาเรียนคำสอนกับเราอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นครูคำสอนยังสามารถทำได้อีกหลากหลายวิธี เช่น
• การภาวนาเพื่อผู้ปกครองในบทภาวนาเพื่อมวลชนในพิธีมิสซาฯ
• เขียนคำภาวนาเพื่อผู้ปกครองลงในสมุดขอคำภาวนาของวัด
• ถ้าวัดของท่านมีกลุ่มภาวนา หรือกลุ่มสวดสายประคำ ให้ขอให้พวกเขาช่วยภาวนาให้ผู้ปกครองเด็กนักเรียนคำสอนของท่านด้วย
• ขอคำภาวนาจากกลุ่มภาวนา และในโอกาสวจนพิธีกรรมต่าง ๆ ครูคำสอนอาจจะเชิญผู้ปกครองมาเข้าเงียบหรือฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งอาจจะจัดครึ่งวัน หนึ่งวัน หรือในเวลาที่เหมาะสม โดยการพูดคุยตกลงกันก่อน (ควรยืดหยุ่น และจัดเวลาให้เลือก เช้า สาย บ่าย เย็น สุดสัปดาห์ ฯลฯ) เป็นต้นในช่วงเตรียมรับเสด็จฯ และในช่วงมหาพรต สำหรับ

การช่วยเหลือการทำหน้าที่ของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เช่น
• จัดหาแหล่งข้อมูลเพื่อเพิ่มทักษะการอบรมเลี้ยงดูลูก ครูคำสอนอาจจะจัดการประชุม สัมมนา การบรรยาย การจัดการฝึกปฏิบัติการ การจัดการเสวนาเพื่อช่วยให้ผู้ปกครองได้มีโอกาสพัฒนาตนเองและร่วมมือกันในการอบรมเลี้ยงดูลูก
• เชิญผู้ชำนาญการที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก ฯลฯ มาพบและแบ่งปันประสบการณ์กับผู้ปกครอง ครูคำสอนควรจัดพิมพ์เอกสารที่เป็นประโยชน์และสื่อดิจิตัลเพื่อให้ผู้ปกครองได้นำกลับไปทบทวนและปฏิบัติ

การให้ความช่วยเหลือทางด้านศาสนา/การสอนคำสอน/การให้การอบรม
• ในฐานะครูคำสอน เราจะต้องเป็นนักการสื่อสารที่ดีแก่บรรดาผู้ปกครองซึ่งพวกเขาเองต่างเป็นครูคำสอนคนแรกของลูก ๆ ของตน แต่บางทีเราอาจจะลืมไปว่าบรรดาผู้ปกครองเองไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสอนคำสอนหรือการฝึกอบรมเรื่องศาสนาให้กับลูกๆของตน เราจึงควรที่จะให้การสนับสนุนผู้ปกครองให้ตระหนักถึงความสำคัญของหน้าที่นี้และนำเสนอข้อแนะนำเพื่อให้พวกเขาสามารถนำไปใช้ได้ ครูคำสอนควรบอกถึงความคาดหวังที่เรามีกับพวกเขา จัดหาแหล่งข้อมูล หนังสือ สื่ออุปกรณ์ สื่อออนไลน์ เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ได้อย่างสะดวก

ข้อแนะนำ 7 ประการเพื่อความร่วมมือระหว่างครูคำสอนกับผู้ปกครอง

3.ตั้งจุดประสงค์หรือกำหนดความคาดหวังให้ชัด
          จากประสบการณ์พบว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้ปกครองไม่ค่อยให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ครูคำสอนจัดขึ้นเนื่องมาจากการขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูคำสอนกับผู้ปกครอง บางครั้งอาจจะมีการชี้แจงวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจน ผู้ปกครองไม่ได้ข้อมูลที่จำเป็น ดังนั้นเพื่อแก้ไขในกรณีนี้
• จัดตั้งความคาดหวังของโครงการให้ชัดเจน เป็นรูปธรรมตั้งแต่เริ่มต้นของโครงการการสอนคำสอน จัดส่งเป็นเอกสารให้ผู้ปกครองและหาเวลาอธิบายเมื่อพวกเขามาลงทะเบียน หรือในการปฐมนิเทศผู้ปกครอง
• เปิดพื้นที่ในสารวัด เพจหรือเว็ปไซต์ กลุ่มไลน์ของวัด เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสาร ครูคำสอนอาจจะเขียนถึงความคาดหวัง เหตุผล ของแนะนำ หรือเรื่องที่จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง

4. ช่วยสร้างเครือข่ายผู้ปกครอง
           เราทุกคนต้องการเพื่อน เราต้องการความช่วยเหลือจากกลุ่มเพื่อน และเรายังจำเป็นต้องรู้ว่าเราไม่ได้ทำงานแต่เพียงลำพัง บรรดาผู้ปกครองคาทอลิกก็เช่นกัน พวกเขามีความต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน ๆ ผู้ปกครองด้วยกัน เมื่อเราจัดการประชุมผู้ปกครอง ควรจัดให้มีบรรยากาศแห่งความเป็นกันเอง ผ่อนคลาย สบาย ๆ ไม่ต้องเป็นทางการ แต่ให้เป็นบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ครูคำสอนอาจจะจัด การพบปะผู้ปกครอง ในลักษณะ การพูดคุยกันในร้านกาแฟ หรือมาทานอาหารว่างร่วมกัน ส่วนช่วงเวลาอาจจะเป็นเวลาที่บรรดาผู้ปกครองสะดวก เช่น โครงการ "coffee night for parents” หรือ “morning tea for moms " และอาจจะจัดเตรียมพี่เลี้ยงไว้หรับดูแลเด็กเล็กที่พ่อแม่พามาพบปะด้วยเพื่อความสะดวกในการพูดคุยและแบ่งปัน ครูคำสอนอาจจะใช้สารวัดหรือเว็ปไซด์เพื่อให้ผู้ปครองได้เขียนคำถามหรือเรื่องที่อยากรู้ หรือแบ่งปันประสบการณ์การอบรมเลี้ยงดูลูกเพื่อให้สมาชิกคนอื่น ๆ ได้เรียนรู้และแบ่งปันได้ด้วย

5. ให้ข้อมูลสม่ำเสมอ
            ข้อมูลเป็นหัวใจของการเชื่อมโยงกับผู้ปกครอง ถ้าครูคำสอนต้องการให้ผู้ปกครองได้ทำหน้าที่ในการสอนคำสอนให้ลูก ๆ ของตน พวกเขาต้องการที่จะรู้ข้อมูล รู้บทบาทหน้าที่ของตน ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ การสื่อสารกับผู้ปกครองที่ดีนั้นไม่ได้หมายความว่าครูจัดส่งข้อมูลเป็นกล่อง ๆ ให้ผู้ปกครองถึงบ้าน แต่การให้ข้อมูลอาจจะกระทำได้หลายช่องทาง เช่น การพบปะโดยตรง การใช้โทรศัพท์ อีเมล์ เว็ปไซต์ของวัด สารวัด ไลน์ เฟชบุค และสิ่อต่าง ๆ ครูต้องคิดว่าเรื่องอะไรที่จำเป็นที่ผู้ปกครองต้องรู้ หรือควรรู้ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการคำสอน ผู้ปกครองควรรู้ปฏิทินประจำปี ความตาดหวัง กิจกรรมที่จะต้องให้เด็กหรือผู้ปกครองเข้าร่วม ระหว่างปีจัดการพบปะเพื่อติดตามและการปรับปรุง ปลายปีจัดให้มีการประเมินผลและรายงานความก้าวหน้า

6. ปรับการจัดกิจกรรมให้ยืดหยุ่น และมีทางเลือก
            ผู้ปกครองในทุกวันนี้ต่างมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ซับซ้อนมากขึ้น พวกเขาจำเป็นที่จะต้องจัดเวลาให้สมดุลระหว่างหน้าที่การงาน ธุรกิจ และการอบรมเลี้ยงดูบุตร หรือการเข้าร่วมกิจกรรมกับลูก ๆ ของตน ไม่ว่าจะเป็นกีฬา การท่องเที่ยว ศิลปะ ฯลฯ ซึ่งหลายครั้งทำให้พวกเขามีความยุ่งยากลำบากใจที่จะทำเรื่องต่าง ๆ ให้ครบสมบูรณ์ ในฐานะครูคำสอน เราจะต้องยืดหยุ่นและทำความเข้าใจสถานการณ์ของผู้ปกครอง ต้องตัดสินใจหรือลำดับความสำคัญของกิจกรรม ตรวจสอบตารางเวลาเพื่อเลือกเวลาที่เหมาะสม จัดกำหนดการที่ให้ผู้ปกครองมีทางเลือก จัดวิธีการชดเชยสำหรับผู้ที่ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้

7. ชื่นชมในความพยายาม
            การเป็นผู้ปกครองคาทอลิกในสมัยนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เราต้องตระหนักว่าโลกปัจจุบันผลักดันเราให้วิ่งไปตามกระแสต่าง ๆ มากมายหลายทิศทาง ผู้ปกครองคาทอลิกได้รับแรงท้าทายที่จะดำรงตนให้อยู่ในความเชื่อศรัทธาและการให้การอบรมเลี้ยงดูลูกตามหลักความเชื่อคาทอลิก ดังนั้นการชื่นชมในความพยายามของผู้ปกครองหรือของเด็ก ๆ เองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงานด้านคำสอน การจัดการรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น รูปพระ การ์ดภาวนา ไม้กางเขน เหรียญ ใบประกาศเกียรติคุณ ฯลฯ จะเป็นแรงจูงใจให้กับเด็กๆและผู้ปกครองของเรา การแสดงความยินดีในความพยายามสามารถกระทำได้ทั้งแบบส่วนตัวและแบบสาธารณะ การเขียนคำว่า "ขอบคุณ" และติดประกาศไว้ที่บอร์ดของวัด หรือในสารวัดสำหรับความร่วมมือ การประกาศความก้าวหน้าของเด็ก ๆ ช่วยกระตุ้นให้ทุกคนเห้นความสำคัญและให้ความร่วมมือ

             การติดต่อผู้ปกครองไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าท่านมีทัศนคติที่ถูกต้อง ถ้าเราคิดจะสอนผู้ปกครอง เราก็จะแสดงบทบาทของการเป็นครู แต่ผู้ปกครองไม่ใช่เด็กหรือลูกศิษย์เรา เราควรถือว่าผู้ปกครองเป็นผู้ร่วมงานของเรา ดังนั้นการปรึกษาหารือ การรับฟัง การทำงานร่วมกันจึงควรเป็นทัศนคติที่ถูกต้องของครูคำสอนกับผู้ปกครอง จงระลึกไว้ว่าครูคำสอนเป็นสื่อกลางระหว่างพระเจ้ากับเด็ก ๆ จึงอยากที่จะเชิญชวนครูคำสอนไม่ใช่แค่สนับสนุนบรรดาผู้ปกครองให้ทำหน้าที่ของการเป็นครูคำสอนคนแรกของลูก แต่ต้องเป็นเพื่อนร่วมทางในการให้การอบรมลูกๆของพวกเขาให้ยิ่งวันยิ่งยึดมั่นศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

ขอให้สนุกและมีความสุขกับงาน
คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ

(เรียบเรียงจากข้อเขียนของ Claudio A. Mora ผู้ประสานงานคำสอนครอบครัวของสังฆมณฑลดาล์ลัส สหรัฐเมริกา)