การสอนคำสอนแบบอิกญาเชี่ยนในประเทศไทย ตอน ขั้นตอนการสอนตามแบบอิกญาเชี่ยน
การสอนคำสอนแบบอิกญาเชี่ยนในประเทศไทย
ตอน ขั้นตอนการสอนตามแบบอิกญาเชี่ยน

             การเรียนการสอนแบบอิกญาเชี่ยนประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก คือ บริบท (Context) ประสบการณ์ (Experience) การไตร่ตรอง (Reflection) การปฏิบัติ (Action) และการประเมินผล (Evaluation) รายละเอียดดังนี้

1. รู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล: บริบท (Context)

           บริบทที่แท้จริงของผู้เรียน บริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมแบบสถาบันของโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนรู้ แนวคิดที่ผู้เรียนได้เรียนรู้และรับเอาไว้ก่อนเข้ากระบวนการเรียนรู้ การทำความเข้าใจตัวผู้เรียน ความพร้อม ประสบการณ์ ความรู้ เจตคติ เป็นการแสดงความสนใจและความห่วงใยเป็นรายบุคคล ทำความรู้จักและคุ้นเคยเรื่องส่วนตัว ครอบครัว เพื่อน สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ศิลปะ ดนตรี ความใฝ่ฝัน ฯลฯ ปฏิบัติด้วยความเคารพ สร้างไว้วางใจ เป็นเพื่อนแท้ในการเรียนรู้

2. ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้เรียน (Experience)

           การให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้เรียน สิ่งที่พวกเขารู้แล้ว ข้อเท็จจริง ความคิด มุมมอง ทฤษฎีใหม่ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนในแต่ละวัน ประสบการณ์อาจจะมาจากประสบการณ์โดยตรง หรือจากการบอกเล่าจากผู้อื่นก็ได้ แนวปฏิบัติ เช่น การนำเข้าสู่บทเรียน ด้วยการถามเชื่อมโยง การให้แสดงความคิดเห็นก่อนการเรียนการสอน การชี้แจ้งวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน การพูดถึงเรื่องที่เป็นที่สนใจของผู้เรียน บอกเบื้องหลังหรือที่ไปที่มาของเนื้อหาที่จะเรียนรู้ ในวันนี้ ชี้ให้ผู้เรียนเห็นประเด็นสำคัญของการเรียน ทักษะการตั้งคำถาม กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนลงมือกระทำด้วยตนเอง การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน การเรียนด้วยการค้นคว้าการใช้กระบวนการกลุ่มย่อย การให้เพื่อนช่วยเพื่อน

         ครูสร้างปัจจัยแวดล้อมโดยให้ผู้เรียนรวบรวมและระลึกถึงข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ของตนเอง เพื่อกลั่นกรองสิ่งที่เข้าใจอยู่แล้วในแง่ของข้อเท็จจริง ความรู้สึก คุณค่า ความเข้าใจ และความหยั่งรู้ที่พวกเขานำมาใช้กับประเด็นปัญหาที่อยู่ตรงหน้า จากนั้นครูจะชี้แนะให้ผู้เรียนค่อย ๆซึมซับข้อมูลใหม่เข้ากับประสบการณ์ที่ได้รับเพิ่มเติม เพื่อให้ความรู้ของผู้เรียนเติบโตขึ้นสู่ความสมบูรณ์และความจริง ครูจะวางรากฐานสำหรับการเรียนรู้ถึงวิธีการในการเรียน (Learning how to learn) โดยการฝึกผู้เรียนให้มีทักษะและได้เทคนิคของการไตร่ตรอง

3. การไตร่ตรอง (Reflection)

          การนำเอาประสบการณ์ของผู้เรียนมาพินิจพิจารณาแยกแยะ ตั้งคำถาม ทำความเข้าใจ ความหมายและคุณค่าที่สำคัญที่เรากำลังเรียนรู้ เพื่อค้นหาความสัมพันธ์กับมุมอื่น ๆ ของความรู้และกิจกรรมของมนุษย์ เป็นการหล่อหลอมและปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ช่วยสร้างจิตสำนึกของผู้เรียน ในลักษณะที่ผู้เรียนจะได้รับการกระตุ้นให้ก้าวพ้นจากการรับรู้ ไปสู่การลงมือปฏิบัติ แนวปฏิบัติ เช่น การให้คำปรึกษา บันทึกประจำวันของผู้เรียน รูปแบบการกระทำซ้ำ กรณีศึกษา การอภิปรายกรณีที่มีความขัดแย้ง การเล่นบทบาทสมมุติ การโต้วาที การสัมมนาเชิงวิชาการ ความจำ ความเข้าใจ จิตนาการและความรู้สึก จะถูกนำมาใช้เพื่อให้เข้าใจถึงความหมายที่สำคัญ และคุณค่าของสิ่งที่กำลังเรียน เพื่อที่จะค้นพบความสัมพันธ์กับแง่มุมอื่นๆ ของความรู้และกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ และเพื่อให้สำนึกถึงคุณค่าของสิ่งที่จะตามมาจากการแสวงหาความจริงอย่างต่อเนื่อง การไตร่ตรองควรจะเป็นกระบวนการของการหล่อหลอมและการปลดปล่อย ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อจิตสำนึกของผู้เรียน (อันได้แก่ ทัศนคติที่เป็นนิสัย คุณค่าชีวิต และความเชื่อ รวมถึงวิธีคิด) โดยที่พวกเขาได้รับการกระตุ้นให้ก้าวพ้นไปจากการรับรู้ (knowing) ไปสู่การกระทำ

4. การปฏิบัติ (Action)

             การปฏิบัติเป็นแบบทดสอบของความรัก เป้าหมายของการหล่อหลอมอบรมหนุ่มสาวคือการอุทิศตนอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สุขของสังคม การปฏิบัติ หมายถึง การเจริญเติบโตภายในของมนุษย์ อันมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ที่ผ่านการไตร่ตรองและแสดงให้เห็นภายนอก มีสองส่วนคือการเลือกที่เกิดขึ้นภายในกับการเลือกที่แสดงออกภายนอก แนวปฏิบัติ เช่น ให้ทำโครงการ/การมอบหมายงาน ให้มีประสบการณ์ในการรับใช้บริการ ให้ทำข้อเขียนและคำถามเพื่อคำตอบในการเรียงความ การวางแผนและการนำไปปฏิบัติ ทางเลือกด้านงานอาชีพ

            บทบาทของครูในขั้นปฏิบัติ คือ การให้สิ่งที่ท้าทายต่อจินตนาการและการฝึกให้ผู้เรียนมุ่งมั่นที่จะเลือกแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้ต่อยอดและติดตามผล ของสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้มา สิ่งที่ผู้เรียนกระทำอันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการนำทางของครูในขณะที่อาจจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นประชาสังคมแห่งความยุติธรรม สันติภาพ และความรัก ได้ในทันที แต่อย่างน้อยก็ควรจะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการศึกษาที่มีแนวทางและ ก้าวไปสู่เป้าหมายนั้น แม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นเพียงการนำไปสู่ประสบการณ์ใหม่ต่าง ๆ การไตร่ตรอง ที่เพิ่มขึ้น และเป็นการกระทำอันเป็นผลสืบเนื่องภายในของบเขตของประเด็นปัญหาที่นำมาไตร่ตรอง

5. ประเมินผล (Evaluation)

            ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทดสอบ การประเมินตนเองของผู้เรียน การประเมินขอบเขตของพฤติกรรมผู้เรียน แฟ้มประวัติผู้เรียน การประชุมเพื่อปรึกษาหารือของครู คำถามสำหรับครู การสำรวจประวัติผลงานของผู้เรียน ทั้งนี้เพื่อเป็นโอกาสให้ครูได้แสดงความยินดีและให้กำลังใจแก่ผู้เรียน

---------------------------------------

(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาศึกษาดุษฎีบัณฑิต เรื่อง “การพัฒนาแผนกกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทักษะการสอนและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของครูคำสอนตามแนวคิดอิกญาเชี่ยนในประเทศไทย” สาขาวิชาการศึกษาตลอดชีวิตและการพัฒนามนุษย์ ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2558)

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kamsondeedee.com/main/ignatian-pedagogy