ก้าวเดินและรับฟัง
“ก้าวเดินไปด้วยกัน” และ “การรับฟัง” เป็น “วิถีใหม่” ของพระศาสนจักรคาทอลิกตามเจตนารมณ์ของพระสันตะปาปาฟรังซิสที่จะทรงปฏิรูปพระศาสนจักรตั้งแต่รากหญ้าจนถึงตัวของพระองค์เอง
การเดินไปด้วยกันแต่ไม่คุยกันเป็นเรื่องที่น่าอึดอัด การคุยที่ไม่ฟังกันก็เป็นเรื่องแปลก ดังนั้นจึงต้องมีทั้งการพูดและการฟัง พระคัมภีร์สอนอะไรเกี่ยวกับการฟัง
“พี่น้องที่รัก พึงตระหนักว่า ทุกคนจงฉับไวที่จะฟัง แต่ช้าที่จะพูด และช้าที่จะโกรธ” (ยากอบ 1:19)
คุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของการฟัง
พระเจ้าทรงสอนเราอย่างชัดเจนด้วยถ้อยคำต่อไปนี้
“การตอบก่อนฟังคำถาม เป็นความโง่เขลาและน่าอับอาย” (สุภาษิต 18:13)
“คนโง่เขลาไม่ชอบแสวงหาความเข้าใจ แต่ชอบแสดงความคิดเห็นของตน" (สุภาษิต 18:2)
สำหรับคนที่ร่วมเดินไปด้วยกัน เราต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกตลอดเวลา เราจะเลือกทำเหมือนคนโง่เขลาเบาปัญญาหรือคนที่ชาญฉลาด ถ้าไม่มีพระเยซูเจ้าอยู่ในใจของเรา เราก็อาจจะทำเหมือนคนโง่ การมีชีวิตที่ปราศจากพระจิตเจ้าในชีวิตของเรา มีแนวโน้มที่จะทำให้เราตัดสินใจภายใต้ภูมิปัญญาตามธรรมชาติของเรา ไม่ใช่ตามปรีชาญาณของพระจิตเจ้า
ฟังแรก คือ จงสดับฟังพระจิตเจ้า
“แต่พระผู้ช่วยเหลือคือพระจิตเจ้าที่พระบิดาจะทรงส่งมาในพระนามของเรานั้นจะทรงสอนท่านทุกสิ่ง และจะทรงให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เราเคยบอกท่าน” (ยอห์น 14:26)
ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ พระองค์ทรงมอบคำสอนแห่งความหวังนี้แก่บรรดาสานุศิษย์ ดังนั้นก่อนที่เราจะพูด จะสอน แสดงความคิดเห็น หรือให้คำแนะนำใคร เราต้องให้พระเจ้าทรงสอนและทรงแนะนำตัวเราก่อน ในฐานะศิษย์พระคริสต์ เราต้องไม่ละเลยหรืออย่ามองข้ามความสำคัญของการพูดคุยกับพระเจ้าและสดับฟังว่าพระองค์จะบอกอะไรเรา
หมายความว่าก่อนที่เราจะพูดคุยกับใคร ให้เราภาวนา ก่อนแสดงความคิดเห็น ให้เราภาวนา ก่อนให้คำแนะนำ ให้เราภาวนา ขณะที่เรากำลังตัดสินเลือกทางออก ให้เราภาวนา เมื่อต้องวางแผน ให้เราภาวนาขอความรอบคอบและมอบความไว้วางใจพระเจ้าในทุกขั้นตอนของแผนงานของเรา
“ใจมนุษย์วางแผนวิถีชีวิตของตน แต่พระยาเวห์ทรงนำก้าวเดินของเรา” (สุภาษิต 16:9)
ฟังที่สอง คือ จงสดับฟังพระคัมภีร์
เราไม่สามารถหวนระลึกในเรื่องที่เราไม่รู้มาก่อนได้เลย ในฐานะที่เราเป็นเพื่อนร่วมทางที่จะต้องพูดคุย เสนอแนะ ปรึกษาหารือ เราจะต้องไม่ละเลยที่จะตักตวงเอาขุมทรัพย์แห่งปรีชาญาณจากพระคัมภีร์เพื่อชีวิตของเราเองก่อน พระวาจาของพระเจ้ามิได้เพียงขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราเองก่อนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำแก่บุคคลอื่นๆ หรือให้กับองค์กรของเราด้วย
ฟังที่สาม คือ รับฟังผู้อื่น หรือเพื่อนร่วมทาง
“เงี่ยหูรับฟังปรีชาญาณ และเอียงใจแสวงหาความเข้าใจ” (สุภาษิต 2:2)
จากเพียงวลีสั้น ๆ ของพระคัมภีร์นี้ (และพระวาจาอื่น ๆ อีกมากมาย) พระเจ้าทรงชี้นำให้รู้ถึงศิลปะของการรับฟัง คือ จงช้าในการพูด แต่ว่องไวในการฟัง ถ้อยคำนี้จะต้องจารึกอยู่ในสมองของเราขณะที่เรากำลังจะพูดคุยกับใครก็ตาม จงสะท้อนย้อนถามว่า “เรื่องที่ฉันได้ยินคุณพูดนั้นคือเรื่อง....ใช่ไหม” คำถามนี้จะเป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบการฟังของท่านได้อย่างดี จงใส่ใจมิใช่แค่ฟังแต่ต้อง เข้าใจด้วยว่าเขาต้องการสื่ออะไรหรือมีเจตนาที่จะบอกอะไร อาศัยพระจิตเจ้าและพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์จะช่วยเป็นผู้นำทางเรา และการถามคำถามที่รอบคอบรัดกุมจะช่วยทำให้เราเข้าใจเรื่องที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำพูดที่เขาได้สื่อออกมาด้วย
“คนโง่เขลาคิดว่าความประพฤติของตนถูกต้อง แต่ผู้มีปรีชาญาณย่อมฟังคำแนะนำของผู้อื่น” (สุภาษิต 12:15)
การฟังยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับเพื่อนร่วมทางให้เข้มแข็งได้อีกด้วย เพราะ
1.การฟังคือรูปแบบหนึ่งของความรัก
โดยการฟัง เราวางงานของเราทุกอย่างลง เราหยุดสิ่งที่เรากำลังทำหรือกำลังคิด แล้วให้ความสนใจกับบุคคลที่ร่วมทางหรือเข้ามาหาเรา การฟังเรียกร้องให้เราทิ้งความเห็นแก่ตัวและสวมใส่ความเห็นอกเห็นใจให้แก่กัน นี่คือรูปแบบหนึ่งของความรักและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
2. การฟังแสดงออกถึงความห่วงใย
การฟังแสดงว่าเราต้องการที่จะเข้าอกเข้าใจประสบการณ์ที่คนนั้นกำลังประสบกำลังรู้สึก และกำลังคิดอยู่ แต่ถ้าคนหนึ่งที่ใกล้ชิดเรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับฟังในเรื่องที่เขาต้องการพูด เขาย่อมรู้สึกเจ็บปวด การที่ไม่รับฟังแสดงว่าเขาเป็นคนไม่มีค่า เสียเวลาที่จะพูดคุยด้วย ตรงกันข้าม การรับฟังแสดงเราห่วงใย เอาใจใส่ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ต่อกันให้มากขึ้น
3. การฟังแสดงถึงความเคารพต่อกัน
ขอให้เราคิดถึงถ้อยคำจากสุภาษิต 18:2 อีกครั้ง “คนโง่เขลาไม่ชอบแสวงหาความเข้าใจ แต่ชอบแสดงความคิดเห็นของตน” คนโง่เขลาคิดว่าตนเองรู้ทุกอย่างและอาจจะชอบพูดและให้คนอื่นรับฟังเรื่องที่เขาพูดหรือแสดงความคิดเห็นของเขา ส่วนคนฉลาดมักจะแสวงหาและทำความเข้าใจในความรู้ต่างๆ ให้มากขึ้น นั้นคือการให้ความเคารพความคิดของผู้อื่น ความเคารพแสดงออกโดยการรับฟัง
เราจะรับฟังให้ดีได้อย่างไร
เราอาจจะคิดว่าการรับฟังเป็นเรื่องง่าย แต่จริงแล้วมันไม่ง่ายเลย การฟังอย่างดีและแท้จริงนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะว่า ต้องใช้ความตั้งใจ การมีวินัยในตนเอง การควบคุมตนเอง และการยับยั้งชั่งใจ ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำบางประการเพื่อการรับฟังที่แท้จริง
1.ฟังด้วยตาและท่าทีของท่าน
การตอบรับด้วยคำว่า “อือ..อ๋อ” ด้วยสายตาที่มองไปที่โทรศัพท์แทนที่จะเพ่งมองคนที่กำลังพูดหมายความว่าท่านกำลังไม่รับฟัง การตอบว่า “อือ..อ๋อ” โดยทำงานกับคอมพิวเตอร์ของท่านแทนที่จะเพ่งสายตาไปยังคู่สนทนา หมายความว่าท่านกำลังมีเรื่องที่สำคัญต้องทำมากกว่าคำพูดของคนที่อยู่ต่อหน้าท่าน จงฟังด้วยท่าที ท่าทาง น้ำเสียง สายตา ที่จริงใจ เอาใจใส่ จะช่วยให้การฟังมีประสิทธิภาพ
2. ฟังด้วยความเพียรทน
อย่ารีบตอบ จงจำพระวาจาตอนนี้ไว้เสมอ “ทุกคนจงฉับไวที่จะฟัง แต่ช้าที่จะพูด และช้าที่จะโกรธ” (ยากอบ 1:19) อย่ารีบพูดขัด แต่ให้รอคอยจนเขาพูดจบ เป็นเรื่องที่ยากสำหรับบางคนที่แน่ใจว่าตนเองถูกและผู้พูดผิด จึงอยากจะหยุดความคิดของผู้พูด แน่ล่ะ การขัดขวางเช่นนี้ จะทำร้ายความสัมพันธ์ระหว่างท่านได้
จงเพียรทนยังหมายความว่าไม่รีบให้คำแนะนำหรือเสนอแนะ ก่อนจะให้คำแนะนำเราต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อน เข้าใจความรู้สึก สภาพแวดล้อม ความเพียรทนแสดงออกด้วยความเห็นอกเห็นใจ
3. ให้คำพูดสะท้อนกลับ (feedback)
บางครั้งเราเรียกว่า “การฟังเชิงรุก” การถามเกี่ยวกับเรื่องที่เขาพูด เช่น “ถูกไหมที่ฉันรู้สึกว่าคุณไม่พอใจในเรื่อง........” “เรื่องที่คุณต้องการบอกคือเรื่อง....ใช่ไหม” การให้คำพูดสะท้อนกลับเช่นนี้จะช่วยทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าเราต้องการที่จะเข้าใจเรื่องที่เขาจะสื่ออย่างแท้จริง เราเอาใจใส่คำพูดของเขาทุกคำพูด และยังช่วยไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดที่จะนำไปสู่การขัดแย้งอีกด้วย
4. สังเกตการสื่อสารที่ไม่ใช่คำพูด
โดยทั่วไปคนเราสื่อสารโดยไม่ได้ใช้คำพูดถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ให้เราสังเกตปฏิกิริยาของผู้พูด เช่น พูดแบบสบาย ๆ หรือเกร็ง ๆ พูดโดยมองตากันหรือหลบหน้าหลบตา น้ำเสียงสอดคล้องกับคำพูดไหม
5. อย่าดึงความสนใจไปยังเรื่องของตนเอง
ระหว่างที่ผู้พูดกำลังบอกเล่าเรื่องหรือความคิดเห็นของเขา การที่เราเสริมว่า “เออ...เรื่องนี้ทำให้ผม คิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับผม คือ ...” หรือ “เออ..ไม่เห็นจะมีอะไรเลย ให้ผมเล่าเรื่องนี้ให้คุณฟังจะดีกว่า” จงให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจเรื่องที่เขาพูดเป็นลำดับแรกว่าเขาต้องการบอกอะไร ไม่ใช่ไปเล่าเรื่องของตนเองให้เขาฟัง
พระเจ้าประทานให้เรามีสองหู และมีเพียงหนึ่งลิ้น บางคนตีความว่าพระเจ้าทรงต้องการให้เราฟังมากกว่าพูด การฟังเป็นการแสดงความรักและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การฟังยังช่วยให้เราก้าวเดินไปด้วยกันด้วยความเข้าใจ มีส่วนร่วม เป็นหนึ่งเดียว และกระทำพันธกิจของพระเจ้าต่าง ๆ ด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพตามพระประสงค์ของพระเจ้าและเจตนารมณ์ของพระสันตะปาปาฟรังซิสสำหรับการประชุมซีนอดในครั้งนี้
“พี่น้องที่รัก พึงตระหนักว่า ทุกคนจงฉับไวที่จะฟัง แต่ช้าที่จะพูด และช้าที่จะโกรธ” (ยากอบ 1:19)