ไวรัสหยุดการสอนคำสอนไม่ได้ไวรัสหยุดการสอนคำสอนไม่ได้
           ในระหว่างการที่ต้องอยู่บ้านเพื่อหยุดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ทำให้กิจการต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปด้วย อุดมสารมีโอกาสสัมภาษณ์คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ หัวหน้าสาขาคริสตศาสนศึกษา วิทยาลัยแสงธรรม เรื่องงานคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกประเทศไทย

อุดมสาร: รู้สึกอย่างไรต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสครั้งนี้ เป็นต้นในเรื่องของการสอนคำสอน
คุณพ่อวัชศิลป์: แรก ๆ ก็อึดอัดนิดหน่อย ต่อมาได้เห็นความคิดริเริ่มและการสร้างสรรค์ จากครูคำสอนประจำวัดและศูนย์ต่าง ๆ เป็นต้นจากครูคำสอนประจำศูนย์คำสอนของสังฆมณฑลต่าง ๆ ที่พยายามปรับตัว โดยการใช้สื่อร่วมสมัยต่าง ๆ ในการถ่ายทอดคำสอนให้กลุ่มเป้าหมาย แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่ากับการสอนแบบหน้าต่อหน้าได้ แต่แง่บวกคือความพยายามและเห็นวิธีการใหม่ ๆ ในการสอนคำสอน ไวรัสหยุดการสอนคำสอนของเราไม่ได้

อุดมสาร: ต้องอยู่บ้านกัน ออกไปไหน บทบาทการสอนคำสอนหรือเรื่องศาสนาจึงตกอยู่กับพ่อแม่
คุณพ่อวัชศิลป์: ถูกต้องครับ ชีวิตทางศาสนาต้องเริ่มที่บ้าน พ่อแม่ต้องเป็นครูคำสอนคนแรกของลูก ๆ ลูกเรียนโดยการซึมซับแบบอย่างจากชีวิตประจำวันของพ่อแม่ เช่น สวดด้วยกัน ร้องหาพระเจ้าด้วยกันในยามทุกข์ ขอบคุณพระเจ้าในยามสุข ขอพรพระเจ้าในยามที่มีความต้องการหรือขาดแคลนสิ่งใด ยามปรกติในวันอาทิตย์ไปวัดด้วยกัน ร่วมกิจกรรมต่างๆของวัดด้วยกัน และเมื่อโตขึ้นส่งลูกเข้าโรงเรียนคาทอลิก ลูกได้เรียนคำสอน ได้รู้เหตุผลของสิ่งที่ตนได้ปฏิบัติในครอบครัว ได้เรียนรู้หลักธรรมคำสอนอย่างเป็นระบบ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่จนแก่เฒ่า ส่วนวัดก็เป็นสถานที่แสดงออกของความเชื่อศรัทธาด้วยการไปนมัสการพระเจ้าและการหล่อเลี้ยงความเชื่อด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ บ้านวัดและโรงเรียนจึงต้องไปด้วยกัน

อุดมสาร: คุณพ่อเน้นบทบาทของโรงเรียนในฐานะที่ให้เหตุผลกับความเชื่อ
คุณพ่อวัชศิลป์: ใช่แล้วพ่อขออ้างอิงงานวิจัยของสหรัฐฯสักเล็กน้อย เขาสำรวจพบว่าเหตุผลสูงสุดคือ “ผู้ปกครองเชื่อว่าคุณครูในโรงเรียนคาทอลิกจะเป็นแบบอย่างในด้านคุณงามความดีหรือศีลธรรมให้ลูกๆ ของพวกเขาได้” พวกเขาเห็นว่าโรงเรียนให้ “คุณค่าทางศีลธรรมที่เข้มแข็ง” นอกจากนั้นพวกเขาต้องการให้บุตรหลานของตนได้รับการอบรมที่ต่อเนื่องจากที่ได้รับจากทางบ้าน พวกเขามองหาโรงเรียนที่จะมีอิทธิพลต่อชีวิตความเชื่อทางศาสนาและชีวิตทางศีลธรรมให้บุตรหลานของพวกเขา ผู้ปกครองท่านหนึ่งบอกว่า “การสอนศาสนาหรือคำสอนที่สม่ำเสมอ และกิจกรรมคาทอลิกต่างๆ ช่วยพัฒนาความเชื่อให้ลูกสาวของฉันแม้ในสถานการณ์ที่ท้าทาย” นอกจากนั้นสภาพระสังฆราชแห่งสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาถึงทายาทของพระศาสนจักรซึ่งสรุปว่านักศึกษาที่จบจากโรงเรียนคาทอลิกยังคงรักษาเอกลักษณ์การเป็นคาทอลิก พวกเขายังคงไปวัดและสวดภาวนาประจำวัน และยังให้ความช่วยเหลือวัดของตนอย่างสม่ำเสมอ นี้แหละคือทายาทของเรา เราจะสร้างทายาทของเราแบบนี้ไหม

อุดมสาร: โรงเรียนคาทอลิกกับการสอนคำสอน
คุณพ่อวัชศิลป์: โรงเรียนคาทอลิกมี 3 ประเภท ได้แก่ หนึ่งโรงเรียนของวัด การบริหารจัดการขึ้นอยู่กับสังฆมณฑล สองโรงเรียนของคณะนักบวชชาย-หญิง ขึ้นกับคณะนักบวชนั้นๆ และ สามโรงเรียนของฆราวาสคาทอลิก ขึ้นอยู่กับเจ้าของของแต่ละโรงเรียน ในการจัดการเรื่องการสอนคำสอนนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายและการบริหารจัดการของกลุ่มโรงเรียนในแต่ละประเภท ซึ่งในนามของสภาประมุขบาดหลวงคาทอลิกประเทศไทย มีคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสธรรมเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการพัฒนาคริสตชน และการสอนคำสอนทั้งหมดในประเทศไทยโดยร่วมมือกับศูนย์คริสตศาสนธรรมประเทศไทยหรือศูนย์ซีซีที่สามพราน ดังนั้นถ้ามีอะไรเกี่ยวกับงานคำสอนทั้งในโรงเรียน วัดและชุมชน ต้องมาที่สองแห่งนี้

           พ่อขอพูดถึงความสำคัญของโรงเรียนคาทอลิกอีกสักเล็กน้อย จากการวิจัยของหลายสำนักพบว่าพบว่าเยาวชนเริ่มมีคำถามหรือข้อสงสัยเรื่องศาสนาตั้งแต่อยู่ในชันประถมปีที่ห้า และถ้าไม่มีใครช่วยคลายความสงสัยให้พวกเขาพวกเขาก็จะวิ่งหนีจากศาสนา และเมื่อสำรวจผูใหญ่ที่ทิ้งพระศาสนจักรไปแล้วพบว่า พวกเขาเริ่มทิ้งวัดไปในช่วงอายุระหว่าง 10-20 ปี หลังจากนั้นก็ไม่ไปวัดอีกเลย เหตุผลก็คือไม่มีใครให้ความกระจ่างหรือมีคำตอบที่ชัดเจนให้พวกเขาได้ หรือพวกเขาไม่มีพื้นที่ที่จะถกเถียงกันถึงความอึดอัดในเรื่องความเชื่อ

อุดมสาร: ดังนั้นจึงควรมีบุคลากรที่ชำนาญการโดยเฉพาะ
คุณพ่อวัชศิลป์: ควรเป็นเช่นนั้น ครูแต่ละวิชาก็ต้องมีความรู้ความสามารถเฉพาะในวิชานั้นๆ การสอนคำสอนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์คือมีทฤษฎี มีหลักการ มีเนื้อหา มีประวัติศาสตร์เฉพาะ เป็นศิลป์คือมีวิธีการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละวัยและแต่ละสถานการณ์ เช่น การสอนเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ บุคคลพิเศษ เราจะต้องสอนอะไร สอนอย่างไร เป็นต้น

อุดมสาร: ปีการศึกษาใหม่นี้เป็นอย่างไร
คุณพ่อวัชศิลป์: วิทยาลัยแสงธรรมเปิดตามคำสั่งของทางการคือในเดือนกรกฎาคม ตอนนี้ เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าเรียนสาขาคริสตศึกษาแล้ว เรียนภาคปกติ 4 ปีจบปริญญาตรี และภาคอื่น ๆ อีก

อุดมสาร: เหมาะกับใครบ้าง
คุณพ่อวัชศิลป์: เพื่อพัฒนาคริสตชนทุกระดับ ปีนี้สาขาคริสตศาสนศึกษา เราเปิดโอกาสให้เลือกศึกษาได้ 3 รูปแบบ
แบบแรก ได้แก่ ศึกษาแบบจัดเต็ม 3 + 1 ปี คือเรียน 3 ปีฝึกสอน 1 ปี (ปริญญาตรี)
แบบที่สอง คือเลือกศึกษาเป็นรายวิชาที่สนใจจบมีใบรับรองให้ตามรายวิชาที่ศึกษา
แบบที่สาม เลือกเรียนรายวิชารายที่สนใจโดยไม่ต้องการใบรับรองอะไรทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าสถาบัน วัดหรือโรงเรียน หรือคณะนักบวชสนใจแบบไหน เชิญติดต่อได้เลยครับ

อุดมสาร: มีวิชาใดที่พ่ออยากจะแนะนำไหม
คุณพ่อวัชศิลป์: ได้เลย ถ้าโรงเรียน วัด ศูนย์ฝึกอบรม นักบวชชายหญิง ผู้นำองค์กร และหน่วยงานคาทอลิกต่าง ๆ ต้องการศึกษาเรื่องที่สนใจก็สามารถสมัครมาเข้าร่วมเรียนตามที่ได้บอกแล้ว เทอมแรกนี้พ่อขอเสนอ 2 วิชาที่พ่อรับผิดชอบ คือ การสอนคำสอนผู้ใหญ่ ซึ่งพ่อจะสอนทุกวันจันทร์เวลา 9.30-12.30 น. และการสอนคำสอนเด็ก ในทุกวันอังคารเวลาเดียวกันโดยซิสเตอร์คริสทีน เมซิอัส และซิสเตอรคอร่า ดามาเลารีโอ คณะธิดานักบุญเปาโล เป็นผู้สอน ซึ่งจะสอนเป็นภาษาอังกฤษ เน้นการใช้กิจกรรม เหมาะสำหรับครูระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาตอนต้น ใครสนใจติดต่อได้ที่วิทยาลัยแสงธรรม หรือที่พ่อเองก็ได้

อุดมสาร: ขอขอบคุณคุณพ่อ
คุณพ่อวัชศิลป์: ยินดีครับ เราเพิ่งฉลอง 350 ปีมิสซังสยาม จึงอยากที่จะให้เราได้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคริสตชน เป็นต้นครูคำสอนและการสอนคำสอนในประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป


ที่มา : อุดมสาร ปีที่ 44 ฉบับที่ 23 ประจําวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2020