ไปวัดทำไม ไปแล้วได้อะไร
การแห่เข้าตอน การแห่เข้า
      
“เชิญยืน” เสียงพิธีกรเชิญทุกคนในยืนขึ้นพร้อมกับเชิญชวนให้ “ขับร้องเพลง”
        “การขับร้องเพลง” เป็นการสร้างบรรยากาศแห่งเฉลิมฉลองในขณะที่ขบวนแห่ของประธานและศาสนบริการอื่นๆเดินเป็นขบวนเข้าสู่พระแท่นบูชา ท่วงทำนองของบทเพลงในพิธีแห่เข้านี้เป็นท่วงทำนองของการเดินทางไปยังบ้านของพระบิดาซึ่งผู้ที่ร่วมกระบวนแห่นั้นต่างมีความชื่นชมยินดีและสนุกสนาน ซึ่งบทสดุดีได้แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศและจุดมุ่งหมายของการขับร้องเพลงในการแห่เข้าดังนี้
“โปรดส่งความสว่างและความจริงของพระองค์ลงมา เพื่อช่วยชี้ทิศทางให้แก่ข้าพเจ้า และนำข้าพเจ้าไปยังภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ไปยังสถานที่อันเป็นแหล่งพำนักของพระองค์แล้วข้าพเจ้าจะเข้าไปยังพระแท่นบูชาของพระเจ้า ไปพบพระเจ้าผู้ทรงเป็นความยินดีปรีดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระองค์ด้วยเพลงพิณ ข้าแต่พระเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้า”(สดุดี 43:3-4)

          “การยืน” เป็นการต้อนรับและให้เกียรติประธานในพิธีมิสซา พระสงฆ์ผู้เป็นประธานจะเดินเข้ามา ซึ่งบางวัดจะมีการแห่เข้าอย่างสง่าพร้อมกับศาสนบริกรอื่นๆ
         “กระบวนแห่” ในทางเทววิทยาเป็นเครื่องหมายที่เตือนใจเราทุกคนให้ระลึกถึงความจริงของชีวิตที่ว่า เราทุกคนในฐานะที่เป็นประชากรของพระเจ้าก็คือ บุคคลที่กำลังเดินทาง “จาริกแสวงบุญ” จาก “โลกนี้” เข้าสู่ “เมืองสวรรค์” อันเป็นบ้านแท้นิรันดรของเรา

         ในการเดินทางจาริกของชีวิตศักดิ์สิทธิ์นี้ เรามี “พระเยซูคริสตเจ้า” เป็นจุดหมายปลายทาง ซึ่งสัญลักษณ์ของพระเยซูเจ้าก็คือ “พระแท่นบูชา” และในขณะเดียวกันพระเยซูเจ้าเองทรงร่วมเดินทางจาริกไปกับเราโดยทรงประทับอยู่ในตัวของ “พระสงฆ์” ผู้เป็นประธานในพิธีอีกด้วย

         “พระแท่น” เมื่อขบวนแห่มาถึงพระแท่นบูชาแล้ว พระสงฆ์และศาสนบริกรจะแสดงความเคารพต่อศีลมหาสนิทด้วยการย่อเข่าหรือการไหว้ จากนั้นพระสงฆ์จะเข้าไปกราบพระแท่น หรือจูบพระแท่น การกราบหรือการจูบพระแท่นเป็นการแสดงความเคารพต่อพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัตินี้มีต้นกำเนิดมาจากสมัยที่บรรดาคริสตชนถูกเบียดเบียนอย่างหนักจนต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในอุโมงค์ที่เรียกว่าคาตาคอมบ์ (Catacombs) และร่วมกันถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณบนหลุมศพของบรรดามรณะสักขี ผู้ซึ่งยอมรับทรมานและความตายด้วยความกล้าหาญเช่นเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยชีวิตของพวกท่านเหล่านั้น เมื่อพระศาสนจักรมีอิสระสามารถประกอบพิธีกรรมหรือแสดงความเชื่อได้อย่างเปิดเผยแล้ว จึงนำเอาธรรมเนียมนี้มาใช้ต่อไปโดยนำเอาพระธาตุซึ่งอาจจะเป็นชิ้นส่วนของร่างกาย เช่น กระดูก ผม ฯลฯ มาใส่ไว้ในพระแท่นเพื่อแสดงให้เห็นว่าการมาร่วมพิธีมิสซาฯนี้เป็นการยืนยันถึงความเชื่อในธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูคริสตเจ้า (การรับทรมาน การกลับคืนชีพ และการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์) ที่ได้สืบสานต่อในชีวิตของบรรดานักบุญและจะเกิดขึ้นในชีวิตของเราทุกคนที่เข้าร่วมพิธีมิสซาฯนี้
         นอกจากนั้นในพระแท่นยังบรรจุแผ่นหินไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้แสดงความหมายว่าพระเยซูคริสตเจ้าทางเป็นศิลาหัวมุม(cornerstone) หรือเสาเข็มของพระศาสนจักร

“จงเข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็นศิลาทรงชีวิต ซึ่งมนุษย์ละทิ้งไปแต่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้และมีค่าประเสริฐ
ท่านเป็นเหมือนศิลาที่มีชีวิตกำลังก่อสร้างขึ้นเป็นวิหารของพระจิตเจ้า
เป็นสมณตระกูลศักดิ์สิทธิ์ เพื่อถวายเครื่องบูชาฝ่ายจิตซึ่งเป็นที่สบพระทัยของพระเจ้าเดชะพระเยซูคริสตเจ้า
ดังที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘เราเลือกศิลาประเสริฐและวางไว้ในนครศิโยนเป็นศิลาหัวมุม ทุกคนที่มีความเชื่อในศิลานี้จะไม่ต้องอับอายเลย”(1ปต 2:4-6)

ข้อไตร่ตรองและการปฏิบัติ
           1. การขับร้องเพลงแห่เข้าเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง หลายวัดมีนักขับร้องที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดี ทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีสัมผัสได้กับความศักดิ์สิทธิ์และความงามสง่า แต่บางวัดยังขาดการจัดเตรียมที่เหมาะสม ควรที่ผู้อภิบาลและสภาอภิบาลจะได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้พิธีมิสซาฯจะได้สมพระเกียรติแด่พระเจ้า
           2. บางวัดจัดให้มีกระบวนแห่ของประธานและศาสนพิธีกรมาจากด้านหน้าวัดของวัด ทำให้เห็นเครื่องหมายของการเดินทางไปสู่เมืองสวรรค์ได้เด่นชัดขึ้น
           3. หลายวัดจัดให้มีผู้ช่วยมิสซาฯทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย บางวัดเป็นเยาวชนหรือผู้ใหญ่ โดยมีการจัดการอย่างดี มีการสวดภาวนาก่อนและหลังการช่วยมิสซา มีผู้รับผิดชอบ มีการจัดการประชุม มีการเข้าเงียบและแสวงบุญ น่าชมมาก
           4. บางวัดมีการจัดดอกไม้ประดับพระแท่นมากมายจนทำให้ความเด่นของพระแท่นซึ่งมีความหมายถึงองค์พระเยซูเจ้าลดคุณค่าลง เวลาชมภาพจากกรุงโรม พระแท่นที่พระสันตะปาปาประกอบพิธีมิสซาฯดูเรียบง่ายน่าเคารพ