บทที่ 30 ภาวนา
จุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของการสวดภาวนา รู้จักวิธีสวดภาวนา และสวดภาวนาอยู่เสมอ
ขั้นที่ 1 กิจกรรม ครูพูดคุยกับผู้เรียนเรื่อง “วันฉลอง” ที่สำคัญๆ เช่น ฉลองวัด ฉลองคริสต์มาส ฯลฯ
- ฉลองวัดเราทำอะไรกันบ้าง ?
- บรรยากาศของวันฉลองเป็นอย่างไร ? ต่างจากวันธรรมดาอย่างไร ?
- เราชอบวันฉลองหรือไม่ ? ทำไม ?
- ย้อนไปคิดถึงวันฉลองที่เพิ่งผ่านไป พิจารณาดูว่ามีอะไรประทับใจบ้าง ?
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ครูถามผู้เรียนว่า
- สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับวันฉลองมีอะไร ? (มิสซา แก้บาป ขับร้อง สวดภาวนา รับศีล แห่)
- ทั้งหมดที่กล่าวมานี้รวมเรียกว่าอะไร ? (พิธีทางศาสนา)
สรุป พิธีทางศาสนาเป็นหัวใจของวันฉลอง ส่วนกิจกรรมอื่นๆ (การประดับประดา การแข่งขันกีฬา ภาพยนตร์ ร้านค้า ฯลฯ) เป็นเพียงส่วนที่ช่วยเสริมจิตใจให้ประกอบพิธีทางศาสนาอย่างศรัทธามากขึ้น
ขั้นที่ 3 คำสอน
1. วันฉลองมีไว้เพื่อช่วยเสริมความรัก ความศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า ชักจูงคริสตชนให้มาเข้าเฝ้าพระเป็นเจ้าอย่าวงใกล้ชิดเป็นพิเศษ สดับฟังพระวาจาที่พระองค์ตรัสกับเรา และกราบทูลความในใจของเราต่อพระองค์ พิธีทางศาสนาก็มีบทบาทช่วยให้สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้สำเร็จไป เราจึงอาจเรียกรวมๆกันว่า เป็นการสวดภาวนานั่นเอง
2. การสวดภาวนาก็คือการที่เรามาอยู่ใกล้ชิดกับพระเป็นเจ้าโดยการยกความคิดและจิตใจของเราขึ้นไปหาพระองค์ เพื่อชื่นชมสรรเสริญพระองค์ โมทนาพระคุณที่ได้ประทานพระหรรษทานความช่วยเหลือนานัปการ ขออภัยโทษเพราะบาปความผิดต่างๆที่ได้กระทำต่อพระองค์ และทูลขอความช่วยเหลือตามความต้องการในปัจจุบัน ดังนั้นช่วงเวลาสวกภาวนาจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดเพระพระเป็นเจ้าเสด็จมาพบเราในช่วงเวลานั้น และเรามีโชควาสนาได้เข้าเฝ้าพระองค์อย่างใกล้ชิด เหมือนมารีได้เข้าเฝ้าพระเยซูคริสต์ที่บ้านเบธานีในครั้งกระโน้น จนพระองค์ตรัสว่า “มารีได้เลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว” (ลก. 10,42)
3. พระเยซูคริสต์ทรงมอบแบบอย่างของการภาวนาให้แก่เราพระองค์ตรัสว่า “อาหารของเราคือการทำตามน้ำพระทัยพระบิดา” (ยน. 4,34) หมายความว่าทุกสิ่งที่พระองค์ทรงหระทำก็ดี ทรงสั่งสอนก็ดี ล้วนมีความสัมพันธ์กับพระบิดาอยู่เสมอ พระองค์กับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน “เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” เราจึงมีการภาวนาในรูปแบบต่างๆ คือ
1) ภาวนาด้วยความคิด ได้แก่การคิดถึงพระเป็นเจ้า คิดถึงพระมหิทธิเดชานุภาพและความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ สรรเสริญพระองค์ด้วยความคิด
2) ภาวนาด้วยความปรารถนา ได้แก่การมีใจผูกพันอยู่กับพระเป็นเจ้า เกิดความปรารถนาที่จะอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์เสมอ
3) ภาวนาด้วยวาจา ได้แก่การแสดงความคิด ความปรารถนาออกมาทางวาจา ดังบทภาวนาต่างๆที่เราสวดกันอยู่ทุกวันนี้
4) ภาวนาด้วยการขับร้อง ได้แก่การภาวนาด้วยวาจานั่นเอง แต่นำมาร้อยกรองและเพิ่มทำนองลงไป ทำให้ไพเราะชวนศรัทธายิ่งขึ้น
5) ภาวนาด้วยกิจการ ได้แก่การทำกิจการใดๆโดยขอพระพรจากพระเป็นเจ้า และยกถวายกิจการนั้นๆเพื่อพระสิริมงคลของพระองค์ ดังพระวาจาที่ว่า “จงให้กิจการดีของท่านปรากฏแก่สายตามนุษย์ เพื่อเขาจะได้สรรเสริญพระบิดาในสวรรค์ (มธ.5,16)
6) กิจศรัทธาต่างๆ ได้แก่การปฏิบัติบางอย่างเพื่อถวายเกียรติแด่พระเป็นเจ้า แม่พระ และนักบุญ ซึ่งพระศาสนจักรรับรองว่าถูกต้อง เช่น การอวยพระศีลมหาสนิท การเดินรูป 14 ภาค การสวดสายประคำ การทำนพวาร การทำวันศุกร์ต้นเดือน การแห่ ฯลฯ กิจศรัทธาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์สำหรับวิญญาณ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่ถูกต้อง คือ ควรทำหลังจากที่ได้ทำหน้าที่อื่น ๆ ครบถ้วนแล้วเท่านั้น จะทำแทนหน้าที่อื่น ๆ ไม่ได้ เช่น จะทำวันศุกร์ต้นเดือนแทนวันอาทิตย์ไม่ได้
พระเยซูคริสต์ทรงกำชับว่า “ต้องสวดภาวนาอยู่เสมอ โดยไม่เบื่อหน่าย” (ลก. 18,1) พระองค์ยังสั่งพวกสาวกในสวนมะกอกว่า “จงเฝ้าระวังและสวดภาวนาเพื่อจะได้ไม่ถูกประจญ จิตใจนั้นพร้อมแล้วก็จริง เนื้อหนังยังอ่อนแออยู่” (มธ. 26,41) นักบุญอัลฟอนโซถึงกับยืนยันว่า ใครสวดก็รอด ใครไม่สวดก็พินาศ” ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการสวดภาวนา เพราะเราเป็นคนอ่อนแอ และเส้นทางไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นเต็มไปด้วยความลำบาก ขวากหนาม และภยันตรายต่างๆเราจำเป็นต้องพึ่งความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้า ซึ่งนอกจากจะโดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์แล้ว ก็โยทางการสวดภาวนานี่แหละ
4. พระเยซูคริสต์ทรงรับรองว่าทุกสิ่งที่เราภาวนาขอต่อพระเป็นเจ้า พระองค์จะประทานสิ่งนั้นให้ “จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ จงแสวงหาเถิด แล้วท่านจะพบ จงเคาะเถิด แล้วประตูจะเปิดรับ” (มธ. 7,7) พระองค์ถึงกับสอนนาว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย.......” (มธ. 6,9 – 13) ซึ่งเป็นบทภาวนาที่ประเสริฐที่สุด และเป็นที่พอพระทัยพระเป็นเจ้ามากที่สุด พระศาสนจักรจึงใช้บทภาวนานี้เป็นบทภาวนาทางการของพระศาสนจักร เราจึงควรสวกภาวนาบ่อยๆ และด้วยความเชื่อว่า พระเป็นเจ้าทรงมีพระทับยดีและกว้างขวาง พระองค์ไม่ทรงแหนหวงพระหรรษทานของพระองค์เลย ดังนั้นพระองค์จะประทานสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เราตามที่เราทูลขอทุกครั้ง “ท่านทั้งหลายเป็นคนบาปยังรู้จักให้สิ่งดีๆแก่ลูกหลานของท่าน แล้วพระบิดาของท่านในสวรรค์เล่า จะมิยิ่งประทานสิ่งที่ดีกว่าแก่อีกแก่ผู้ที่ทูลขอต่อพระองค์หรือ ?” (มธ. 7,11)
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
- ข้อควรจำ
1. การสวดภาวาคือการตั้งตนอยู่กับพระเป็นเจ้าทั้งกายและใจ สดับฟังพระวาจาที่พระองค์ตรัส และทูลความในใจของเราต่อพระองค์
2. การสวดภาวนาด้วยชีวิต คือ”ไม่ว่าท่านจะกิน จะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม จงทำเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเป็นเจ้าเถิด” (คร. 10,31)
3. การสวดภาวนาเป็นสิ่งจำเป็น “ใครสวดก็รอด ใครไม่สวดก็พินาศ”
4. พระเป็นเจ้าทรงโปรดตามที่เราภาวนาเสมอ “จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ จงแสวงหาเถิด แล้วท่านจะพบ จงเคาะประตูเถิด แล้วประตูจะเปิดรับ” (มธ. 7,7)
- กิจกรรม ร้องเพลง “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” พร้อมทำท่าทางประกอบ
ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย
แต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย
พระองค์สถิตในสวรรค์
พระนามของพระองค์เป็นที่สักการะ
พระอาณาจักรจงมาถึง
ขอให้ทุกสิ่งเป็นไปตามน้ำพระทัย
ในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์
ขอประทานอาหารประจำวัน
แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้
โปรดยกโทษให้ข้าพเจ้า
เหมือนข้าพเจ้ายกให้ผู้อื่น
อย่าปล่อยให้ข้าพเจ้าถูกประจญ
แต่โปรดช่วยให้พ้นภัย อาแมน
การบ้าน สวดภาวนา เช้า – ค่ำ ทุกวัน ชวนคนอื่นๆในบ้านมาร่วมด้วย