ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

บทที่  28 ศีลบรรพชา

จุดมุ่งหมาย     เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจฐานะและบทบาทหน้าที่ของสงฆ์และพร้อมที่จะร่วมมือกับท่านในงานไถ่กู้มนุษย์ชาติ

ขั้นที่ 1  กิจกรรม       ครูเตรียมรูปพระสังฆราช พระสงฆ์บางองค์ในสังฆมณฑล
ถามผู้เรียนว่า
- ใครคือพระสังฆราชของสังฆมณฑลนี้ ? (แสดงรูปพระสังฆราช ซักถามประวัติพอสมควร)
- ใครรู้จักพระสงฆ์องค์ใดในสังฆมณฑลนี้บ้าง ? (แสดงรูปพระสงฆ์ ซักถามประวัติพอสมควร)
- พระสังฆราชทำหน้าที่อะไร ? (ปกครองสังฆมณฑล โปรดศีลกำลัง โปรดศีลบรรพชา ฯลฯ)
- พระสงฆ์ทำหน้าที่อะไร ? (ถวายมิสซา ฟังแก้บาป ปกครองวัด ดูแลโรงเรียน ฯลฯ)

ขั้นที่ 2  วิเคราะห์

         ครูพูดคุยกับผู้เรียนในหัวข้อ
“ก่อนจะมาเป็นพระสังฆราช หรือพระสงฆ์ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ?”
- ผ่านบ้านเณรเล็ก ประมาณ 6 ปี
- ผ่านบ้านเณรกลาง ประมาณ 1 ปี
- ผ่านบ้านเณรใหญ่ ประมาณ 7 ปี
- ผ่านการฝึกงานอภิบาล ประมาณ 2 ปี
แล้วจึงบวชเป็นสังฆานุกร คือ รับศีลบรรพชาชั้นสังฆานุกร
รับการบวชเป็นสงฆ์ คือ รับศีลบรรพชาชั้นสงฆ์ ถ้าเป็นสังฆราชก็
รับการอภิเษก (บวช) เป็นสังฆราช คือ รับศีลบรรพชาชั้นพระสังฆราช

สรุป    กว่าจะมาเป็นพระสังฆราช หรือพระสงฆ์ ต้องผ่านกระขบวนการเตรียมตัวที่เข้มข้นและยาวนาน และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องผ่านการบวช หรือศีลบรรพชา

ขั้นที่ 3  คำสอน

       1. ศีลบรรพชา คือศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อประทานอำนาจหน้าที่เทศน์สอน โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์และปกครองให้แก่บุคคลบางคนที่เหมาะสม เพื่ออภิบาลดูและสัตบุรุษ
           พระเยซูทรงตั้งศีลบรรพชาพร้อมๆกับศีลมหาสนิท ในขณะที่กำลังรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย คือหลังจากที่พระองค์ทรงตั้งศีลมหสนิทแล้ว ก็ตรัสว่า “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (ลก. 22,19) แสดงถึงน้ำพระทัยของพระองค์ที่ประสงค์จะให้อัครสาวกกระทำพิธีศีลมหาสนิทสืบต่อไป เท่ากับทรงแต่งตั้งอัครสาวกเป็นพระสงฆ์ มีอำนาจหน้าที่ถวายมิสซานั่นเอง

       2. อำนาจหน้าที่ของผู้ที่ได้รับศีลบรรพชาก็แตกต่างกันไปตามขั้น คือ
ก. สังฆานุกร มีอำนาจเทศน์สอน แจกศีลมหาสนิท เป็นประธานในพิธีกรรม เช่น พิธีฝังศพ และโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์บางประการได้ คือ ศีลล้างบาป ศีลสมรส
ข. พระสงฆ์ มีอำนาจโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ยกเว้นศีลบรรพชา ถวายมิสซา เทศน์ และปกครองสัตบุรุษในเขตวัดของตน
ค. พระสังฆราช ได้รับศีลบรรพชาชั้นสมบูรณ์ จึงมีอำนาจเต็มที่จะโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประการ เทศน์และปกครองสังฆมณฑล
กล่าวโดยรวมแล้ว อำนาจหน้าที่ของผู้รับศีลบรรพชาแบ่งใหญ่ๆได้เป็น 3 ประการ คือ

         1) เทศน์สั่งสอน (ประการศก)
         2) โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ (สงฆ์)
         3) ปกครองสัตบุรุษ (กษัตริย์)

        3. พระเยซูคริสต์ประทานอำนาจหน้าที่ให้แก่ผู้รับศีลบรรพชามิใช่ให้ใช้อำนาจนั้นบังคับบัญชา หรือตั้งตนอยู่เหนือผู้อื่น แต่พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดในพวกท่านเป็นใหญ่สุด ในผู้นั้นเป็นเหมือนผู้น้อยที่สุด และผู้ใดเป็นนาย ก็ให้ผู้นั้นเป็นเหมือนผู้รับใช้” (ลก. 22,26) พระองค์เองทรงประพฤติเป็นแบบอย่าง คือ “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ใครปรนบัติรับใช้ แต่มาเพื่อปรนนิบัติรับใช้ผู้อื่นและประทานชีวิตเป็นค่าไถ่ของคนจำนวนมาก” (มธ. 20,28) พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร จึงอยู่เพื่อรับใช้ผู้อื่น เมื่อเห็นดังนี้เราจึงควรซึ้งในอุดมการณ์และความเสียสละของท่านเหล่านั้น และพยายามสนับสนุน ส่งเสริมให้ความร่วมมือในทุกวิถีทางเพื่อให้งานรับใช้ของท่านได้เกิดผล ส่งเสริมให้ความร่วมมือในทุกวิถีทางเพื่อให้งานรับใช้ของท่านได้เกิดผล ซึ่งก็เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเอง และพระศาสนจักรโดยส่วนรวม

         4. “ข้าวที่จะเก็บเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย เพระฉะนั้นพวกท่านจงอ้อนวอนพระองค์ทรงเป็นเจ้าของนาให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวพืชผลของพระองค์ (มธ. 9,37 – 38) นั้นคือหน้าที่ของเราคริสต์ชนที่ต้องสนับสนุนกระแสเรียกสงฆ์ให้มากๆ โดยเฉพาะในยุคของเรานี้กระแสเรียกกำลังลดลงอยู่เรื่อยๆ ในบางประเทศกำลังขาดแคลนคนงาน คือพระสงฆ์อย่างหนัก เราจะส่งเสริมกระแสเรียกสงฆ์ได้โดย สวดภาวนาอ้อนวอนพระเป็นเจ้าโดยโปรดดลใจเยาวชนให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของการเป็นสงฆ์ และยินดีอุทิศตนมารับใช้ประชาชนในฐานะสงฆ์ให้มากขึ้น นอกจากนั้นก็ให้ครอบครัวคริสตชนทั้งหลายตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนในอันที่จะอบรมบ่มนิสัยบุตรหลานให้เป็นผู้เหมาะสมที่จะรับเรียก และรับเลือกจากพระเป็นเจ้าให้มาเป็นสงฆ์ของพระองค์ เพราะครอบครัวที่ดีเป็นบ่อเกิดของกระแสเรียก

 ขั้นที่ 4  ปฏิบัติ

  • ข้อควรจำ
    1. ศีลบรรพชา คือศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงตั้งขึ้น เพื่อประทานอำนาจหน้าที่เทศน์สอน โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ และปกครองสัตบุรุษ ให้แก่บุคคลบางคนที่เหมาะสม
    2. อำนาจหน้าที่สงฆ์มีไว้เพื่ออภิบาลรับใช้ประชากรของพระเป็นเจ้า
    3. “จงสวดภาวนาขอพระเป็นเจ้าให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวพืชผลในงานของพระองค์” (มธ. 9,37)
    4. ครอบครัวที่ดีเป็นบ่อเกิดของกระแสเรียก
  • กิจกรรม ร้องเพลง “สดุดีพระสงฆ์”
    สดุดีพระสงฆ์
    1. ศรีสวัสดิ์แด่ท่านผู้มีบุญ สืบสกุลแมลคีเซแดกซ์ใหญ่
    เทพเทวาและมนุษย์สุดแทนไตร ตางชื่นชมอวยชัยให้เจริญ
    2. ท่านนั้นหรือคือสงฆ์นิรันดร ท่านคือสงฆ์ศักดิ์สิทธิกรควรสรรเสริญ
    ท่านคือสงฆ์ผู้แทนได้รับเชิญ ท่านคือผู้เทิดเทินคริสต์ราชา
    3. พระจอมเทพอาทรท่านห่อนทุกข์ เกษมสุขเพราพระคุ้มอารักขา
    ท่านคือแมลคีเซแดกซ์ที่กลับมา โปรดเมตตาเพศสมณะที่ประทาน
    4. ท่านคือผู้ศักดิ์สิทธิ์มีจิตมั่น ท่านเป็นสงฆ์ชั่วนิรันดร์อันสุขศานต์
    โปรดภาวนาเพื่อเราช่วยเอาการ เราจะได้เหมือนท่านบารมี

    การบ้าน เยี่ยมบ้านเณร  สัมภาษณ์เณร    สัมผัสชีวิตเณร

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์