บทที่  20 บาป
จุดมุ่งหมาย 
เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักถึงความเลวร้ายของบาป  ผลที่ตามมา และหาวิธีป้องกันเพื่อมิให้กระทำบาป

 

 


ขั้นที่  1  กิจกรรม
 ครูเล่าเรื่องต่อไปนี้ให้ผู้เรียนฟัง

จะเรียกว่าอย่างไรดี
 เศรษฐีใจบุญสุนทาน  ชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก  วันหนึ่งมีขอทานคนหนึ่งมาขอความช่วยเหลือขากท่าน  ท่านก็หยิบยื่นความช่วยเหลือให้ด้วยความเต็มใจ  ขอทานคนนั้นจึงเฝ้าวนเวียนมาขอความช่วยเหลือจากเศรษฐีคนนี้อยู่เป็นประจำ  เศรษฐีคนนี้ฉวยโอกาสสั่งสอนตักเตือนให้คนขอทานให้รู้จักทำมาหากินช่วยเหลือตัวเองบ้างเพราะเห็นว่ายังมีพลังวังชาพอที่จะทำการทำงานได้  ทำให้ขอทานคนนั้นไม่สู้จะพอใจ

 วันหนึ่งขอทานคนนั้นก็ไปขอความช่วยเหลือจากเศรษฐีอีก  เศรษฐีก็ให้เงินจำนวนหนึ่งเป็นทานไป  แล้วก็สั่งสอนอบรมตามเคย  ขอทานคนนั้นรับเงินแล้วก็เอาเงินจำนวนนี้ไปซื้อมีดเล่มหนึ่งมา  พอสบโอกาสก็แอบย่องเข้าไปในบ้านเศรษฐีแล้วฆ่าเศรษฐีคนนั้นตายด้วยมีดเล่มนั้น

ขั้นที่  2  วิเคราะห์
  ครูถามผู้เรียนว่า
- รู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้ ?
- การกระทำของขอทานคนนี้ผิดหรือถูกอย่างไร ?
ถ้าผิดผิดในข้อใดบ้าง ?
        ( ผิดต่อความยุติธรรม  ความรัก  ความกตัญญูรู้คุณ )
- ความผิดดังกล่าวหนักหนาสาหัสเพียงใด ?
- ในความเป็นจริงคนชนิดนี้มีจริงหรือไม่ ?

สรุป การทำผิดต่อผู้ที่มีพระคุณเป็นบาปที่สังคมประณามว่าหนักหนา  ไม่สมกับชื่อว่าเป็นคนเลย

ขั้นที่  3  คำสอน
 1.สิ่งที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์  และถ้าหากเกิดขึ้นก็ได้รับการประณาม  อย่างหนักนี้  กลับเกิดขึ้นเป็นว่าเล่นกับพระเป็นเจ้าผู้ทรงมีพระคุณต่อมนุษย์อย่งหาที่เปรียบมิได้  นั่นก็คือมนุษย์ที่พระเป็นเจ้าได้ทรงสร้างมาตามพระแายาของพระองค์  ผู้ที่พระองค์ทรงไถ่มาด้วยพระโลหิตของพระบุตร  พระเยซูคริสต์  ผู้ซึ่งพระองค์ประทานพระหรรษทานและความช่วยเหลือมากมายอยู่เป็นประจำ  แต่มนุษย์กลับใช้พระคุณเหล่านั้นมาประหัตประหารพระเป็นเจ้าด้วยการทำบาป  เพราะบาปคือการตรึงพระเยซูคริสต์กับไม้กางเขนอีกครั้งหนึ่ง     บาปจึงเป็นสิ่งเลวร้ายและหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าความเลวร้ายใด ๆ ในโลกนี้  เพราะเป็นการจงใจทำร้ายผู้มีพระคุณยิ่งชีวิตคือพระเป็นเจ้าเอง

 2.การทำบาปก็คือการที่มนุษย์ทำคล้าย ๆ กับขอทานคนนั้นคือเนรคุณต่อผู้มีพระคุณ  ซึ่งได้แก่พระเป็นเจ้า  คนที่ทำบาปก็คือคนที่ได้รับพระคุณจากพระเป็นเจ้า  และแทนที่จะใช้พระคุณนั้นกระทำสิ่งที่ดีงามเป็นการขอบพระคุณพระองค์  กลับใช้เพื่อทำผิดฝ่าฝืนพระประสงค์ของพระองค์อย่างจงใจ  ความผิดเช่นนี้เราเรียกว่า “บาป”

บาปอาจเข้าใจได้สองลักษณะคือ
 ก.”การทำผิดต่อพระเป็นเจ้าโดยรู้ตัวและเต็มใจ”  แก่นแท้หรือสาระของความผิดในลักษณะนี้อยู่ที่มนุษย์ตัดสินใจเลือกน้ำใจของตนเองเป็นใหญ่  ไม่ขึ้นกับพระเป็นเจ้า  ซึ่งเท่ากับยกตนเองขึ้นเป็นพระเป็นเจ้าเสียเอง  ไม่สนใจใยดีต่อพระเป็นเจ้าและน้ำพระทัยของพระองค์อีกต่อไป  การกระทำดังกล่าวเท่ากับเป็นการเหยียบย่ำพระเป็นเจ้า  ไม่มีพระเป็นเจ้าอยู่ในสายตาอีกต่อไป

 ข.”การทำผิดต่อพระบัญญัติของพระเป็นเจ้าโดยรู้ตัวและเต็มใจ” พระบัญญัติคือคำสั่ง  การผิดต่อคำสั่งก็เท่ากับผิดต่อผู้ออกคำสั่งดังเช่นที่มนุษย์คู่แรกได้ทำผิดต่อคำสั่งห้ามกินผลไม้ของพระเป็นเจ้า  ดังนั้นโดยเนื้อแท้  การทำผิดต่อพระบัญญัติก็เป็นการทำผิดต่อพระเป็นเจ้าเช่นกัน

 3.พูดถึงบาปควรจะใช้หมายถึงการทำผิดตามที่กล่าวในข้อ 2 ก. ซึ่งเป็นบาปจริง ๆ หรือที่เรียกว่า “บาปหนัก” ส่วนที่เรียกกันว่า “บาปเบา” นั้น โดยเนื้อแท้แล้วบาปเบาไม่ใช่บาป  เป็นแต่เพียงความบกพร่อง ความอ่อนแอ  ความเหนื่อยหน่าย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน  แต่ไม่ถึงกับเป็นเรื่องใหญ่โตถึงขั้นจงใจยกตนขึ้นเหนือพระเป็นเจ้า  อาจจะเป็นการสะดุดหยุดชะงักในการทำคุณงามความดี หรือการเฉไฉออกไปจากเส้นทางความดีบ้างแต่ก็ยังไม่อยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืนมาได้  เพราะมิได้จริงจังกับสภาพดังกล่าว  แต่อย่างไรก็ดี การปล่อยปละละเลยทำบาปเบาไปเรื่อย ๆ ก็จะเป็นโอกาสที่ชักพาไปสู่การทำบาปหนักได้

4.ทั้งนี้และทั้งนั้น  ผู้ที่ทำบาปก็มิใช่ว่าจะหมดหวัง หรือหมดสิ้นอนาคตไปแล้ว  นักบุญเปาโลกล่าวว่า“ที่ใดมีบาปปรากฎมากขึ้น ที่นั่นพระคุณก็จะไพบูลย์ยิ่งขึ้น” ( รม 5,20 )หมายความว่า พระคุณของพระเป็นเจ้านั้นยังมีอยู่มากมายเหลือล้นพอที่จะล้างบาปเหล่านั้น  เมื่อผู้ทำบาปสำนึกผิด  กลับใจ  และเข้าพึ่งพระมหากรุณาของพระองค์ผ่านทางศีลแก้บาป  นิทานเปรียบเทียบเรื่อง  “ลูกล้างผลาญ”  ย่อมเป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดีในเรื่องนี้

5. เมื่อบาปมีความเลวร้ายในตัวมันเอง  และถ้าหากไม่สำนึกผิดและแก้ไขก็จะมีผลถึงความสูญเสียตลอดนิรันดร  จึงสมควรที่จะหาวิธีป้องกันเพื่อมิให้ทำบาปอีกต่อไป  พระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์มาพระองค์ย่อมทราบโครงสร้างหรือแก่นแท้ของมนุษย์ดีว่าอ่อนแอและอ่อนเชิงเพียงใด  พระองค์จึงประทานความช่วยเหลือมากมายเพื่อช่วยมนุษย์ให้สามารถยืนหยัดในการทำคุณงามความดี  ไม่หันไปทำบาปตามแรงดึงดูดของตัณหา  ความช่วยเหลือเหล่านั้นมี  เช่น

ก.การภาวนา  พระเยซูคริสต์ตรัสว่า  “จงขอแล้วจะได้  จงหาแล้วจะพบ  จงเคาะแล้วประตูจะเปิดให้แก่ท่าน”  (มธ 7,7)  การภาวนาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญและมีผลสำหรับเปิดประตูรับความช่วยเหลือจากพระเจ้า  นักบุญอัลฟอนโซถึงกับกล้ายืนยันว่า  “ใครภาวนาก็รอด  ใครไม่ภาวนาก็พินาศ”

ข.ศีลศักดิ์ศิทธิ์  ที่พระเยซูคริสต์ทรงตั้งขึ้นก็มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยมนุษย์ตามสถานะต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับบาปก็มีศีลศักดิ์สิทธิ์ 2 ประการเป็นต้น คือศีลอภัยบาป  ซึ่งมีไว้เพื่อช่วยผู้ที่ทำบาปโดยตรง  เพื่อลบล้างบาปที่ได้ทำไปโดยที่ผู้ทำได้สำนึกผิด  กลับใจ  และมาสารภาพบาปนั้น  และศีลมหาสนิท  ซึ่งมีไว้เพื่อเป็นพลังเสริมความแข็งแกร่ง  คือยึดมนุษย์ให้สนิทแนบแน่นกับพระเจ้า  อันจะเป็นการป้องกันมิให้มนุษย์นั้นแตกแยกหรือหันกลับไปหาบาปได้อีกง่าย ๆ 

ค.การหลีกหนีโอกาสที่จะทำบาป  “ท่านทั้งหลายจงสงบใจและจงระวังระไวไว้ให้ดีด้วยว่าศัตรูของท่านคือมารที่วนเวียนอยู่รอบ ๆ ดุจสิงโตคำราม  คอยเสาะหาคนที่มันจะกัดกินได้” (1ปต 5,8) นักบุญเปโตรเปรียบมารหรือปีศาจเป็นเหมือนสิงโตที่ล่ามโซ่วนเวียนไปมาเพื่อหาช่องตะครุบเหยื่อ  ฉะนั้นวิธีเดียวที่จะไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของสิงโตตัวนี้ก็คือ  อยู่ให้ห่าง  อย่าเข้าใกล้ในรัศมีที่มันจะตะครุบเอาได้  นั่นก็คือการหลีกหนีโอกาสที่จะทำบาป  ซึ่งได้แก่การมัธยัสถ์กายใจ การละเว้นบุคคล  สถานที่  การกระทำที่ยั่วยุไปในทางบาป ฯลฯ

ขั้นที่  4  ปฏิบัติ
ก.ข้อควรจำ
1. บาปคือการทำผิดต่อพระเป็นเจ้า โดยรู้ตัวและเต็มใจ
2. บาปคือสิ่งเลวร้ายอย่างทีสุด  เพราะเป็นการทำผิดต่อผู้มีพระคุณอย่างสูงสุด คือ พระเป็นเจ้า
3. “ที่ใดมีบาปปรากฎมากขึ้น  ที่นั่นพระคุณก็จะไพบูลย์มากยิ่งขึ้น” ( รม 5,20 )
4. สิ่งที่จะช่วยมิให้ตกในบาป ได้แก่ การภาวนา การับศีลแก้บาป การรับศีลมหาสนิท  การหลีกหนีโอกาสที่จะทำบาป

ข.กิจกรรม 
ร้องเพลง “ความเกรงกลัวต่อบาป”
ตั้งใจที่จะหลีกหนีบาปโดยหมั่นสวดภาวนา  รับศีลแก้บาป  ศีลมหาสนิท และไม่ปล่อยให้อยู่ในโอกาสที่จะทำบาป

เพลง “ความเกรงกลัวต่อบาป”
บาป  บาป  บาป  เราเกรงกลัวต่อบาป 
ความชั่วทุกอย่างเป็นบาปถ้าทำผิดบทบัญญัติอย่างเจตนา 
กลัว  กลัว  กลัว กลัวความชั่วกันเถิดหนา  
คนดีย่อมเกรงกลัวว่าจะนำความเดือดร้อนมาให้แก่ผู้อื่น