ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

หน้าที่ผู้นำ

หน้าที่ทั่วไปของผู้นำในค่าย

            ผู้นำควรที่จะรู้ถึงหน้าที่ของตนภายในค่าย หน้าที่นี้นอกเหนือจากหน้าที่การสอนในห้องแล้ว ยังมีหน้าที่อื่นๆ ที่สำคัญและจำเป็นในการใช้ชีวิตอยู่ในค่าย ๆ นี้ หน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้ได้แก่

  1. หน้าที่ต่อจุดประสงค์ของค่าย และเรื่องเกี่ยวกับค่าย

ผู้นำที่ดีต้องเข้าใจในจุดประสงค์ของค่ายให้ถ่องแท้ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องในการร่วมงานกับทีมงาน และในการทำกิจกรรมต่างๆ

            ในฐานะที่ท่านจะต้องเป็นดุจพ่อแม่ของเด็ก ท่านจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องของเด็กๆ และเก็บงาน ด้วยการสังเกตสมาชิกต่างๆ เป็นต้นในระยะ 2 - 3 วันแรก ต้องคอยดูความว้าเหว่ ความคิดถึงบ้านการปรับตัว ความไม่สะดวกสบาย ตลอดจนความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของชาวค่าย

  1. หน้าที่ต่อตัวท่านเอง

            ตัวท่านเองต้องเป็นรูปแบบให้กับเด็กๆ ดังนั้นความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ท่านได้รับมอบหมาย ต้องอย่าให้ด่างพร้อย ความเป็นเสมอต้นเสมอปลาย อารมณ์มั่นคง ไม่ตื่นตกใจ ตรงต่อเวลา อย่าให้เด็กมาคอยท่าน แต่ท่านควรมาคอยเด็กในทุกๆกิจกรรม

  1. หน้าที่ปลุกเด็กตื่นนอน

ท่านต้องคอยระวังเด็กที่ชอบตื่นก่อน แล้วทำเสียงรบกวนผู้อื่น ควรสอนมารยาท และความเกรงใจให้แก่เด็กๆ เมื่อให้สัญญาณตื่นควรให้เด็กสวดบทภาวนาเช้าสั้นๆ อาจจะเป็นบทข้าแต่พระบิดา หรือวันทามารีอา 1 บท แล้วจึงไปทำธุระส่วนตัว

            ผู้นำควรสอนเด็กให้รู้จักล้างหน้าแปรงฟัน ช่วยเด็กที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้

            ผู้นำควรใช้เวลาตรวจสุขภาพของเด็ก ตั้งแต่ผม ฟัน ร่างกาย เล็บ และสอนให้เก็บที่นอน ให้เรียบร้อย ในการปลุกเด็ก อาจจะใช้เสียงเพลงแทนกริ่งก็ได้

  1. หน้าที่ในการภาวนาเช้า และการหัดสวดภาวนา

ในกรณีที่แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่ม ผู้นำจะต้องเตรียมตัวนำการสวดภาวนาเช้าสำหรับเด็กๆ จุดประสงค์ของการสวดภาวนาเช้าก็คือ การขอบคุณพระเจ้าสำหรับการพักผ่อนในคืนที่ผ่านมา ขอบคุณสำหรับชีวิตใหม่ และขอพรสำหรับวันใหม่

            การสวดสำหรับเด็กๆ นั้น ควรมีรูปพระเป็นสัญลักษณ์อยู่ต่อหน้า เพื่อให้เด็กมีสมาธิมากยิ่งขึ้น

 สำหรับเด็กๆ ที่ยังสวดบทภาวนาแบบเป็นทางการไม่ได้ ผู้นำอาจใช้เวลาเช้านี้ให้เด็กๆ ได้ท่องจำบทภาวนา แล้วมีการเอาการเป็นบทๆไป ไม่ควรใช้การบังคับ แต่ใช้การจูงใจให้เด็กได้ท่องบทสวดให้ได้มากที่สุด

สำหรับเด็กที่โตแล้ว อาจจะได้การสวดภาวนาเช้ากับธรรมชาติ ให้ฝึกการนั่งแบบสมาธิ หรือสวดภาวนาตามคำแนะนำที่อยู่ในสารคำสอน ฉบับเดือนมีนาคม ฉลอง 25 ปี ค่าย หน้า 46-47-48

  1. หน้าที่ระหว่างอาหาร

ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างดีในเรื่องมารยาท และควรตักเตือนเด็กๆให้รับประทานอาหารด้วยความรัก ความเสียสละ จงเพาะนิสัยที่ดีให้กับพวกเขา การสวดภาวนาก่อนและหลังอาหาร เป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้นำควรสอนเด็กๆให้รู้บทสวดหรือร้องบทเพลงสั้นๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักขอบพระคุณพระเจ้า และใช้พระพรที่พระเจ้าประทานมาให้อย่างรู้คุณค่า

ในระหว่างการรับประทานอาหาร ผู้นำควรเดินดูความเรียบร้อย และควรตรวจดูว่า เด็กคนไหนทานได้หรือไม่ได้อย่างไร มีใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่ เพื่อจะได้ช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

  1. หน้าที่ต่อเพื่อนร่วมงาน

            ผู้นำควรสังเกตดูความต้องการของผู้อื่น เพื่อให้ความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

  1. หน้าที่ในการทำความสะอาดบ้าน

            ผู้นำควรอยู่กับเด็กๆ เมื่อมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการทำความสะอาดบ้าน ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะสม สอน-สาธิตการทำความสะอาด และการจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆให้เข้าที่ ต้องจูงใจให้ชาวค่ายเกิดความภูมิใจในความสะอาดเรียบร้อยของที่พักและบริเวณค่ายของตน

  1. หน้าที่ในระหว่างชั่วโมงพัก

            ความรับผิดชอบในระหว่างการหยุดพักจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถ ความอดทนและความรัก ที่มีต่อเด็กๆ 

            ท่านอาจจะใช้เวลาพักสนุกอยู่กับเด็กๆ ทำให้เด็กมีความสุข มิใช่ความรำคาญ

  1. หน้าที่ต่ออุปกรณ์ของค่าย

            ท่านจะต้องระมัดระวังรักษาอุปกรณ์ต่างๆให้อยู่ในระเบียบ สะอาด และมีการใช้อย่างปลอดภัย อย่าให้มีการทิ้งขว้าง

            สิ่งที่ซ่อมแซมได้ควรนำมาซ่อม และสอนเด็กๆ ให้รู้จักรับผิดชอบและรู้จักประหยัด

  1. หน้าที่ต่อเสื้อผ้า

            ท่านต้องตรวจดูการแต่งกายของเด็กๆ สอนให้รู้จักการใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม สอนให้รู้จักการ ผ้าด้วยตัวเอง

  1. หน้าที่ด้านความประพฤติ

            ท่านต้องรายงานเหตุการณ์ที่รุนแรงหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อผู้อำนวยการทราบทุกครั้งไป

  1. หน้าที่ต่อผู้ปกครอง

            เมื่อมีผู้ปกครองหรือแขกไปเยี่ยมค่าย ท่านต้องแนะนำตัวเอง หรือสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง อย่าปล่อยให้แขกต้องรอนาน

  1. หน้าที่เมื่อเด็กเข้าวัดร่วมมิสซา

            ผู้นำควรอยู่กับเด็กในความรับผิดชอบของตนเอง กระตุ้นให้เขาสวดหรือขับร้อง ตักเตือน ท่าทางที่ไม่เหมาะสม ขณะร่วมพิธี แต่ควรทำแบบระมัดระวัง อย่าให้กลายเป็นจุดเด่นของพิธีไป

  1. หน้าที่ขณะเล่นเกม-กีฬา

การละเล่นทำให้เรารู้ว่าเด็กได้ดี ผู้นำที่ดีควรรู้จักใช้เวลานี้ในการสร้างความคันเคยกับเด็ก และชักชวนเด็กมาร่วมเล่น เพื่อให้คลายความคิดถึงบ้าน

  1. หน้าที่ที่จะให้อิสระแก่ชาวค่าย

            การเสริมสร้างจิตใจและอุปนิสัยของชาวค่ายนั้น ขึ้นอยู่กับการให้อิสระภาพเป็นส่วนใหญ่ ควรปล่อยให้เด็กๆได้มีเวลาทำอะไรตามใจปรารถนา ให้มีความคิดริเริ่มที่จะทำอะไรโดยใช้ความคิด การตัดสินใจด้วยตัวเขาเอง

  1. หน้าที่เวลาเข้านอน

            ก่อนนอน ควรมีการให้ข้อคิดเตือนใจที่ดี อย่าให้เด็กเกิดความเครียดก่อนเข้านอน

  1. หน้าที่ในการรักษาความปลอดภัย

            ความปลอดภัยทั้งด้านร่างกาย และจิตใจภายในค่ายควรจัดระบบการรักษาความปลอดภัย ไม่ควรให้คนแปลกหน้าเข้ามายามค่ำคืน ไม่ควรให้เด็กๆอยู่ในที่ลับหูลับตา 

ความปลอดภัยเกี่ยวกับทรัพย์สิน อย่าให้เด็กๆ เก็บของมีค่าไว้กับตนเอง ควรฝากไว้ที่เหรัญญิกของค่าย

หน้าที่ของผู้นำในการนำกลุ่ม

1.ช่วยกลุ่มในการรวมตัวกัน

หน้าที่แรก ช่วยกลุ่มในการรวมตัวกัน

  1. เข้าใจว่าทำไมสมาชิกจึงเข้าร่วมในกลุ่มและพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตลอดไป คนโดยทั่วไปเข้าร่วมกลุ่มเพื่อสนองตอบความต้องการส่วนบุคคล ตัวอย่าง เช่น ความต้องการเป็นส่วนของกลุ่ม, ต้องการคบหาสมาคมกับเพื่อน หรือต้องการที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่งกับคนอื่น หรือบางทีก็เข้าร่วมกลุ่มเพราะความมุ่งหมายบางอย่าง, เข้าร่วมในกิจกรรมของกลุ่ม, เข้าร่วมกับเพื่อน หรือไม่ก็เพราะว่ามีคนคาดหวังไว้ว่าคนเองจะเข้าร่วมด้วย ถ้ากลุ่มไม่สามารถสนองตอบความต้องการได้ดังหวัง ก็มักจะเลิกมาเข้าร่วมในกลุ่ม ความเข้าใจในเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ผู้นำกลุ่มสามารถช่วยเหลือสมาชิกในการสนองตอบ ความต้องการของแต่ละบุคคลได้ อันจะทำให้กลุ่มกลายเป็นกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จ
  2. เข้าใจถึงแรงผลักที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของสมาชิกกลุ่มและชีวิตของกลุ่มเอง ในช่วงการเกิดกลุ่มใหม่ ๆ กระบวนการในการเข้ามาร่วมกลุ่มของสมาชิกมักจะเป็นที่คาดหวังไว้ และเป็นสถานะทางจิตวิทยาของแต่ละบุคคล กลุ่มเอง ในช่วงเริ่มต้นชีวิตก็จะผ่านเข้าไปในกระบวนการที่คาดหวังไว้เช่นกัน ความรู้เรื่องของแรงผลักดันนี้จะทำให้ผู้นำกลุ่มสามารถเข้าใจพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละคน อันจะทำให้ยุทธวิธีในการยกระดับการเจริญเติบโตของกลุ่มมีแนวโน้มดีขึ้น
  3. ทักษะในการช่วยเหลือกลุ่มในการตั้งเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดถึงกิจกรรมของกลุ่มเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากและเป็นงานที่ยากเอาการ คนยอมให้กลุ่มเป็นเจ้าของเพราะมีเหตุผล องค์การต่าง ๆ ให้ความอุ้มชูกลุ่มก็มีเป้าประสงค์ เจ้าหน้าที่, ผู้บริหาร, ผู้นำกลุ่มและสมาชิก ต่างก็มีความมุ่งหวังของตนเอง ถ้าหากว่าการตั้งเป้าหมายของกลุ่มกระทำโดยพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้อย่างถ่องแท้ ในความต้องการ, เป้าหมาย และการคาดหวัง เป้าหมายส่วนบุคคลได้รับการตอบสนองในเป้าหมายของกลุ่ม, เป้าหมายของกลุ่มสัมพันธ์กันกับเป้าหมายขององค์กร, ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกลุ่มและผู้บังคับบัญชาเข้าใจกัน, การรับผิดชอบร่วมกันได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย กลุ่มก็จะพัฒนาไปในทางที่มีวุฒิภาวะขึ้น
  4. ทักษะในการช่วยเหลือกลุ่มให้พัฒนาองค์กรที่เหมาะสมในการดำเนินงานตามเป้าหมาย

        องค์การของกลุ่มประกอบด้วย กรรมการที่ได้รับคัดเลือก, โครงสร้างขององค์กร, วิธีการดำเนินงานในการรับสมาชิกใหม่, วันเวลาการประชุม บางทีอาจจะกระทำตามหรือไม่ตามธรรมนูญของกลุ่มโดยทั่วไปก็ได้ เป้าหมายที่ตั้งไว้ทำให้สมาชิกรู้ว่ากลุ่มต้องการจะทำอะไรได้ดีที่สุด ถ้าเป็นองค์กรของกลุ่มที่เล็ก การที่สมาชิกจะต้องเสียเวลามาทำเรื่องที่ง่าย ๆ ให้เป็นยาก เช่น ตั้งองค์กรเสียใหญ่โต มีการประชุมตามแบบแผน ก็อาจจะทำให้เกิดการเสียเวลา เบื่อหน่าย องค์กรที่พยายามสร้างขึ้นที่ไม่สัมพันธ์กับเป้าหมาย ก็อาจทำให้สมาชิกเกิดการคับข้องใจได้ ผู้นำกลุ่มต้องเข้าใจความแตกต่างเช่นนี้เป็นอย่างดี

2.ช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มให้เป็นคนมีประสิทธิภาพขึ้นทั้งส่วนตนและในฐานะสมาชิกของกลุ่ม

หน้าที่ที่สอง ช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มให้เป็นคนมีประสิทธิภาพขึ้นทั้งส่วนตนและในฐานะสมาชิกของกลุ่ม

  1. มีความรู้เกี่ยวกับความคิดและทักษะของการเป็นผู้นำกลุ่มและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ Concept ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการเป็นผู้นำเน้นมากขึ้นในเรื่อง “ผู้นำทำอะไร” มากกว่า “ผู้นำคืออะไร” อะไรที่ผู้นำทำนั้น สมาชิกคนใด ๆ ในกลุ่มก็สามารถกระทำได้ ขอบข่ายของหน้าที่ของผู้นำครอบคลุมไปถึงการแบ่งปันกันเป็นผู้นำในกลุ่ม การพึ่งพาอาศัยผู้นำกลุ่มมักไม่ค่อยจำเป็นมากไปกว่าการที่สมาชิกทุกคนมีส่วนในการตัดสินใจ เพื่อที่จะดำเนินงานหรือสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าอันเป็นผลเนื่องมาจากความสำเร็จที่ได้ร่วมกันทำให้เกิดขึ้น
  2. ทักษะในการติดต่อสื่อสาร การพินิจจารณาเรื่องการติดต่อสื่อสารของสมาชิกในกลุ่มอาจทำให้ทราบว่าทำไมกลุ่มถึงได้มีปัญหา คนหนึ่งพูดอย่างหนึ่งแต่ได้ยินไปอีกอย่างหนึ่ง คนส่วนใหญ่มักติดต่อสื่อสารโดยลักษณะท่าทางที่แสดงออก แต่ก็มักจะไม่ใครเคยตระหนักว่าเป็นอย่างนั้น กลุ่มอาจช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงวิธีต่าง ๆ ในการติดต่อสื่อสาร และจะช่วยฝึกฝนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  3. ทักษะในการพัฒนาการเปิดเผยเปิดใจระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ในกลุ่มใหม่ ๆ สมาชิกส่วนมาจะรู้สึกและปิดตนเอง และมักไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะถูกต้องเมื่อมีใครมาพูดทำให้เกิดการเป็นกันเอง จึงจะสามารถทำให้รู้สึกชินบ้าง คนโดยทั่วไปมักจะพบว่าเป็นการยากที่จะพูดเรื่องของตนเองต่อหน้าคนแปลกหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ถือว่าเป็นความลับ แต่ถ้าได้มีการเริ่มต้นแล้ว ความแตกต่างเหล่านี้ก็จะค่อยหายไป มีความมั่นใจและอบอุ่นใจเกิดขึ้น เหล่านี้คือขั้นตอนแรกที่สมาชิกในกลุ่มมักจะทำ
  4. ทักษะในการช่วยเหลือกลุ่มให้สามารถให้และรักการ Feed-back เมื่อมีสมาชิกคนใดได้รับการบอกกล่าวจากคนอื่นว่าตนเองปฏิบัติตัวอย่างไร, พฤติกรรมของตนเองทำให้คนอื่นรู้สึกอย่างไร เหล่านี้เป็นการรับการ Feed-back จากคนอื่น, การ Feed-back เป็นความจำเป็นในการที่จะทำสมาชิกแต่ละคนปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองและพัฒนาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น การ Feed-back ที่ดีจะต้องได้รับการฝึกฝนในเรื่องการฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ, ความเห็นใจคนอื่น จนเกิดทักษะจนสามารถให้การได้โดยผู้รับไม่มีความรู้สึกว่าถูกตำหนิหรือถูกลงโทษ แต่กลับเข้าใจและเห็นความสำคัญที่จะรับเอา ในทางตรงกันข้ามทักษะในการขอให้คนอื่นให้ Feed-back แก่เราก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
  5. ทักษะในการแยกแยะรวบรวมจุดประสงค์ของสมาชิก และใช้ความขัดแย้งระหว่างกันให้เป็นประโยชน์ในการสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น คนมีความแตกต่างกันในความคิด ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ และพฤติกรรม ความแตกต่างดังกล่าวมีอิทธิพลต่อความหวังของสมาชิกและผู้นำกลุ่ม เมื่อความแตกต่างกันในทางความคิดมีมากก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ปัญหามักเกิดขึ้นเมื่อพฤติกรรมของสมาชิกหรือผู้นำกลุ่มเปลี่ยนไปจากที่เขาคาดหวังไว้ หากกลุ่มสามารถที่จะแยกแยะสอบถามความคาดหวังของสมาชิกแต่ละคนได้โดยการเปิดตัวเอง และแก้ปัญหาการขัดแย้งด้วยความซื่อตรงได้ กลุ่มก็จะเจริญขึ้น ซึ่งในทางกลับกันก็จะส่งผลให้เกิดประสบการณ์ที่ดีต่อสมาชิก
  6. ทักษะในการสนองตอบอย่างเหมาะสมต่อพฤติกรรมของสมาชิก พฤติกรรมของคนเราทุกอย่างที่แสดงออกไม่ว่าจะดีหรือเลวมักมีเหตุผลที่น่าศึกษาเสมอ โดยทั่วไปแล้วผู้นำกลุ่มมักจะสามารถเข้าใจและสนอบตอบต่อพฤติกรรมของสมาชิกได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว และหากเกินความสามารถเขาก็ยังสามารถที่จะขอให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษดำเนินการต่อแทนได้
  7. ทักษะในการพัฒนาบรรยากาศของการเจริญเติบโตให้กับสมาชิกและผู้นำกลุ่ม บรรยากาศของการสนับสนุนและยอมรับจะช่วยส่งให้สมาชิกสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ การตระหนักในตนเอง, ความเข้าใจตนเอง เกิดขึ้นได้ก็โดยมีบรรยากกาศที่เหมาะสม กลุ่มหลายกลุ่มประสบผลสำเร็จโดยวิธีนี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้นำเอง หากผู้นำพยายามสำรวจตนเองอย่างซื่อสัตย์ร่วมกับกลุ่ม เขาแสดงให้เห็นว่าเขามีการยอมรับความสามารถของตนเองในฐานะเป็นคนคนหนึ่ง เพราะเหตุนี้ ก็มีอิสระที่จะหลีกเลี่ยงการป้องกันตนเอง สามารถที่จะปล่อยวาง และสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนเป็นอย่างดี พฤติกรรมที่แสดงออกจึงเต็มไปด้วยความเข้าใจ ยอมรับ ไว้วางใจ และอนาทรต่อคนอื่น เหล่านี้เป็นบรรยากาศที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตขึ้น

3.ช่วยกลุ่มในการพัฒนากิจกรรมกลุ่ม

หน้าที่ที่สาม ช่วยกลุ่มในการพัฒนากิจกรรมกลุ่ม

  1. มีความรู้เกี่ยวกับชุมชนซึ่งกลุ่มของตนเองเป็นส่วนหนึ่ง รู้ปัญหา ความต้องการ ลักษณะ โครงสร้าง และทรัพยากรของชุมชน ผู้นำควรต้องรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลที่สุดในชีวิตของสมาชิกกลุ่ม สมาชิกกลุ่มใช้เวลาว่างไปทำอะไร ทำงานและเล่นกับใคร
  2. เข้าใจถึงความต้องการ, ปัญหา, ข้อคำนึก, ความสนใจ, สถานะ, วิถีชีวิต และงานพื้นฐานของสมาชิก ยิ่งผู้นำกลุ่มเข้าใจสมาชิกมากขึ้นเท่าใด หรือทดลองเอาใจสมาชิกมาใส่ใจเราดู ลองรู้สึกเห็นจากจุดของเขา ผู้นำก็จะยิ่งสามารถพัฒนาวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้เขาพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
  3. ทักษะในการช่วยเหลือกลุ่มให้ได้ทำสิ่งที่เขาต้องการอยากจะทำจริง ๆ   มีบ่อย ๆ ที่กลุ่มไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำจริง ๆ บางทีเป้าหมายของสมาชิกไม่สัมพันธ์กันกับแผนงานของกลุ่ม บ่อยทีเดียวที่สมาชิกมักมีความรู้สึกทางด้านลบว่าสิ่งที่ทำเป็นเป้าหมายของผู้นำ ในทุกสถานการณ์ การปรึกษาหารือกันอย่างอิสระและเต็มใจ การช่วยทำให้มองเป็นสิ่งที่จะทำร่วมกันได้และทุกคนยอมรับ
  4. ช่วยให้กลุ่มสามารถค้นพบและริเริ่มกิจกรรมใหม่ ๆ กิจกรรมกลุ่มบางทีก็ซ้ำกันบ่อย ๆ เก่าแก่ ทั้งเนื้อหาและวิธีการ เมื่อกลุ่มปรึกษาหารือกันในการตั้งเป้าหมายที่ถูกต้องตามความต้องการของทุกคนแล้ว ควรจะมองหาวิธีใหม่ในการทำสิ่งใหม่ ๆ บ้าง กลุ่มส่วนใหญ่มักไม่ชอบทำกิจกรรมเก่า ๆ ซ้ำซากความเต็มใจของสมาชิกที่จะริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ จะทำให้เขาสนใจขึ้น และต้องการการท้าทายในการสร้างประสบการใหม่
  5. ทักษะในการช่วยเหลือกลุ่มให้มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มหรือชุมชนที่ใหญ่ขึ้น มีไม่กี่กลุ่มที่อยู่โดดเดี่ยวในสังคม กลุ่มก็เหมือนบุคคล เมื่อกลุ่มใดเข้มแข็งและพัฒนาขึ้นก็มักจะมีความปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม หน้าที่ของผู้นำก็ควรจะพยายามที่จะช่วยให้กลุ่มสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ๆ ได้

4.ช่วยเหลือกลุ่มให้เป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

หน้าที่ที่สี่ ช่วยเหลือกลุ่มให้เป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

  1. มีความรู้ถึงขั้นตอนของการเจริญเติบโตของกลุ่ม กลุ่มไม่ได้เกิดขึ้นมาแล้วก็มีวุฒิภาวะเลย ก็เหมือนบุคคลทั่วไป จะต้องพัฒนาผ่านขั้นตอนต่าง ๆ บางกลุ่มไม่เคยไปถึงไหน เคยเริ่มเช่นไรก็เป็นเช่นนั้น แต่บางกลุ่มก็จะเจริญไปจนถึงขั้นที่สามารถแตกไปตั้งกลุ่มอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นความจำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญมรากที่ผู้นำกลุ่มจะต้องรู้ถึงขั้นของการเจริญเติบโตของกลุ่ม เพื่อจะได้ช่วยกลุ่มให้เจริญไปได้ตามความต้องการ
  2. ทักษะในการช่วยเหลือกลุ่มในการแยกแยะ พัฒนา และระวังรักษามาตรฐานของกลุ่ม มาตรฐานของกลุ่ม หมายถึง ลักษณะพฤติกรรมของกลุ่มซึ่งกลุ่มได้พัฒนาขึ้นมาเป็นเวลานาน เช่น การฟังโดยความตั้งอกตั้งใจ, การตัดสินใจโดย consensus, แบ่งปันความรับผิดชอบ ช่วยกลุ่มให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ
  3. ทักษะในการแก้ปัญหา อุปสรรคใด ๆ ทีกลุ่มพานพบจนเป็นปัญหา หากสมาชิกในกลุ่มได้พยายามเข้าใจปัญหา, แยกแยะให้ชัดเจน ก็จะเป็นหนทางนำไปสู่การทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ๆ กลุ่มทุกกลุ่มมีปัญหาซึ่งเป็นสิ่งดีที่เปิดโอกาสให้กลุ่มได้ฝึกหัดแก้ไปขปัญหาได้ดีขึ้น
  4. มีความเข้าใจถึงผลกระทบของความร่วมมือและการแข่งขันในกลุ่ม การแข่งขันกัน ไม่ว่าจะโดยการจงใจหรือไม่จงใจ ไม่ว่าจะเกิดระหว่างสมาชิกและสมาชิก หรือระหว่างกลุ่มเล็กต่อกลุ่มเล็ก หรือกลุ่มต่อกลุ่มก็ตาม มักทำให้ลดประสิทธิภาพของกลุ่ม ความเข้าใจในเรื่องนี้ของผู้นำจะเป็นทางนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น
  5. มีความรู้ถึงวิธีการที่จะให้กลุ่มสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของกลุ่ม
  6. มีความเข้าใจถึงบทบาทของกลุ่มต่อกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สมาชิกกลุ่มหรือชุมชนมักกลัวการเปลี่ยนแปลง สาเหตุอาจเป็นเพราะไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงในตัวของสมาชิกเอง หรืออาจเป็นเพราะกลัวไปว่าเปลี่ยนแปลงแล้วจะทำให้เกิดอะไรขึ้นตามมา แต่ในปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป็นและเราไม่สามารถจเหนีไปจากความเปลี่ยนแปลงได้ กลุ่มที่มีประสิทธิภาพนั้นไม่แต่เพียงสามารถเปลี่ยนแปลงได้เท่านั้น แต่ยังเข้าร่วมกับคนอื่นในการทำการเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จได้
  7. ทักษะในการให้คำปรึกษาแก่กลุ่มและสมาชิกของกลุ่มได้

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์