วันสิ้นโลก-Apocalypse โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ
วันสิ้นโลก-Apocalypse

โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ
(บทความนี้ไม่ต้องการบอกว่า ขณะนี้ใกล้วันสิ้นโลก เพียงแต่เปรียบเปรยสถานการณ์ที่เลวร้ายประหนึ่งเหมือนจะสิ้นโลกเท่านั้น)

             Apocalypsis เป็นชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายในพระคัมภีร์ไบเบิล ฉบับคาทอลิกแปลเป็นไทยว่า “พระวิวรณ์” ซึ่งหมายถึงการเปิดเผยของพระเจ้าถึงวันสิ้นโลก มีการตีความว่า จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมาตลอดประวัติศาสตร์ หรือไม่ก็ให้ความหมายของเหตุการณ์ร้ายแรงที่มีคนตายจำนวนมาก อย่างการเกิดโรคระบาด ภัยพิบัติ สงครามครั้งใหญ่ต่างๆ เป็นต้น

             มีผู้นำนิกายศาสนาเจ้าสำนักบางคนนำสมาชิกไปรอวันสิ้นโลก ครั้งแล้วครั้งเล่าโลกก็ยังไม่สิ้น แต่ก็ยังมีคำทำนายมาหลายร้อยปีเรื่องวันสิ้นโลก ตั้งแต่นอสตราดามุสมาจนถึงวันนี้ อยู่ที่ว่าคนจะตีความคำพยากรณ์เหล่านั้นอย่างไร หรือทำเป็นภาพยนตร์วันสิ้นโลกด้วยเทคนิคทันสมัยหลายแบบ ดูแล้วน่ากลัวจริง ๆ

             ความจริง ความหมายอีกด้านหนึ่งของ “สาร” (message) ใน Apocalypse คือเตือนให้คน “กลับใจ” เพราะ “ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ” (ท่านพุทธทาส) ถ้าคนไม่เปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม โลกคงถึงวันแตกโดยไม่ต้องรอให้ดาวหางมาชน ดังกรณี “โลกร้อน” ที่กำลังเกิดขึ้น หรือความเจ็บป่วยโรคระบาดอย่างวันนี้

             สงครามทำให้คนตายหลายร้อยล้าน โรคระบาดก็เช่นกัน ไข้หวัดสเปนเมื่อ 100 ปีก่อน ทำให้คนตาย 100 ล้านระบาดไปทั่วโลก ติดกันอย่างน้อย 500 ล้านคน ตอนนั้นประชากรโลกมีเพียง 1,900 ล้าน

             วันนี้ทุกประเทศทั่วโลกอยู่ในสภาวะ “ตื่นตระหนก” และออกมาตรการที่ไม่เคยมีมาก่อน บ้านเมืองเหมือนผีหลอก รัฐบาลหลายประเทศสั่งให้ “อยู่บ้าน” ห้ามออกไปไหน ยกเว้นมีธุระจำเป็น เช่น ไปซื้ออาหาร ไปซื้อยาหาหมอ และไปทำงาน (ที่ยังเปิดได้) แต่สถานบันเทิง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงหนังโรงละคร โรงเรียน สนามกีฬา สถานศึกษาปิดหมด บางประเทศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน 10 คน ปิดประเทศไปทั่ว ปิดประชาคมยุโรป

            นับเป็นสภาวการณ์ที่น่ากลัว ไม่ใช่กลัวตายเท่านั้น คนส่วนใหญ่กลัวอดตายมากกว่า ไม่ใช่กลัวไม่มีอาหารขายตามห้าง แต่กลัวตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่รู้จะอยู่อย่างไร บ้านเรา มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ทุกวงการ คนที่รับจ้างรายวันยิ่งหนัก

            ความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรงมาก ร้านค้าต่างๆ ต้องปิดตัวลง คนไม่ไปซื้อของ ที่จำเป็นก็สั่งทางอินเทอร์เน็ต อเมซอนรับพนักงานเพิ่ม 100,000 คน เพราะคนสั่งซื้อของมากจนส่งให้ไม่ทัน ไม่รู้อาลีบาบาเพิ่มคนเท่าไร ก็มีเพียงงานบางอย่างที่ไปได้ดีในยามวิกฤตเช่นนี้ แต่ส่วนใหญ่ “ตายอย่างเขียด” เอาแค่คนที่เช่าที่ขายของตามตลาด ตามห้าง แทบไม่มีรายได้ ต้องปิดโดยปริยาย นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหายหมด คนไทยก็ไม่ออกไปเที่ยวแล้ว สายการบินทั่วโลกปลดพนักงาน

             ปีนกระไดขึ้นไปดูธุรกิจใหญ่ การเงิน อุตสาหกรรม หนักหนาสาหัสไปถ้วนหน้า หุ้นตกรุนแรงทั่วโลก เศรษฐกิจ “ถดถอย” (recession) อย่างแน่นอน และคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นขึ้นมา ไมใช่แบบตัว V แต่เป็น U ที่จุดต่ำสุดจะลากยาวนานกว่าจะฟื้น

             ในสภาวะเช่นนี้ ไม่มีใครอยากซื้ออะไรที่ไม่จำเป็น ไม่ต้องพูดเรื่องการนำเข้าส่งออก ยกเว้นอาหารและหยูกยา ข้าวของเพื่อการดูแลสุขภาพ รถยนต์ที่เยอรมนีทุกยี่ห้อประกาศลดการผลิต อุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับผลกระทบหมด เพราะนอกจากมีปัญหาเรื่องการขนส่งที่มีการปิดประเทศกัน ไม่มีใครอยากใช้จ่ายนอกจากสิ่งจำเป็น

             สถาบัน Robert Koch ของเยอรมนีซึ่งรับผิดชอบให้ข่าวรายงานสถานการณ์โควิด-19 ทุกวันโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้น่ากลัวว่า โควิด-19 คงไม่จบง่าย อาจอีกหลายสัปดาห์หลายเดือน และส่งผลกระทบไปอีกอย่างน้อย 2 ปี เป็นการพูดที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดและตื่นตระหนก จนต้องออกมาพูดใหม่ว่า การระบาดอาจจบลงอีกไม่นาน แต่จากประสบการณ์ในอดีตแสดงให้เห็นว่า เชื้อยังคงอยู่อีกระยะหนึ่งกว่าจะหมดไปจากโลกจริงๆ เพียงแต่จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงเหมือนตอนนี้

            ที่เยอรมนีมีผู้ติดเชื้อเป็นหมื่นแล้ว แต่คนตายเพียง 20 กว่าคน (ณ วันที่ 19 มีนาคม) คงเป็นเพราะรับมือได้ดีแต่ต้น ระดมแพทย์พยาบาลจากทุกโรงพยาบาล สถานศึกษาวิจัย ให้หยุดก่อน มาช่วยกันดูแลคนไข้กลุ่มนี้ก่อน เพื่อชะลอการระบาด ให้ทุกโรงพยาบาลเตรียมพร้อมรับมือผู้ป่วยเป็นสองเท่าของที่เคยทำ ให้เตรียมโรงแรมเพื่อแปลงเป็นโรงพยาบาลเพื่อให้เพียงพอ มาตรการเหล่านี้ทำให้เยอรมนีมีคนตายน้อยกว่าอิตาลีที่มีผู้ติดเชื้อ 30,000 คนตาย 2,500 เห็นภาพในโรงพยาบาลอิตาเลียนแล้วเหมือนดูหนังโรคห่าลงในยุคกลางของยุโรป ตายแบบเอาไปเผาไม่ฝังไม่ทัน

            เขียนเรื่อง Apocalypse ไม่ได้คิดว่ากำลังจะสิ้นโลก แต่เพื่อให้เราตั้งสติ มาทบทวนเรื่องการดำเนินชีวิต เราสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ผลิตและบริโภคอาหารที่เป็นพิษ ทำให้อากาศเป็นพิษ อันเป็นที่มาของโรคไม่ติดต่อและโรคติดต่อร้ายแรงทั้งหลาย รวมทั้งโควิด-19

            ตอนโรคเอดส์ระบาด และตอนเกิดอีโบลาเคยเขียนไว้ว่า “แม้ว่าเราจะพบวัคซีน พบยารักษาโรคเอดส์และอีโบลาได้ วันหนึ่งอาจเกิดโรคไอ้ โรคอี อะไรอีกก็ไม่รู้ เพราะไม่ได้อยู่ที่โรค แต่อยู่ที่ “คนเราต่างหาก”

            ระยะนี้ ใช้เวลาที่อยู่บ้านมากๆ อ่านหนังสือ ดูหนังดีๆ ให้ชีวิตมีความอภิรมย์บ้าง แต่หนังหนักๆ ก็ดูได้ อย่าง Apocapyse Now ของ Francis Ford Coppola ที่ได้รับการยกย่องเป็นหนังสงครามเวียดนามดีที่สุด หนังยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง และได้รางวัลมากมาย มีดาราใหญ่อย่างมาร์ลอน แบรนโด แสดง
            ดูความโหดเหี้ยมของสงคราม ความไร้เหตุผลอันบัดซบ (absurd) บางฉากที่นำเอาดนตรีคลาสสิกของริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวีชาวเยอรมันมาประกอบ ฉากที่ฝูงเฮลิคอปเตอร์อเมริกันกำลังโจมตีหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เวียดกงตั้งฐานอยู่ริมทะเล เพลงดังของวากเนอร์จาก The Valkyrie (Die Walkuere ตอนหนึ่งใน Der Ring des Niebelungen-The Ring of Niebelung อุปราการอันยิ่งใหญ่ของเขา) ที่คุ้นหูผู้คนและเร้าใจเป็นอย่างยิ่ง

            ฝูงบินอเมริกันยิงระเบิดมิสไซล์ ปืนกล ลงใส่ทหาร ชาวบ้าน ผู้ใหญ่ เด็ก ตายเป็นเบือแบบไม่เลือก คอปโปลาไม่ได้ต้องการให้ทหารอเมริกันเป็นฮีโร่ แต่ต้องการจะบอกว่า เป็นเหตุการณ์ที่ไร้สติ ไร้กฎเกณฑ์ มีแต่ความบ้าเลือด บ้าคลั่ง สะใจที่จะฆ่าทำลายด้วยสัญชาตญาณดิบเท่านั้นที่ผู้กำกับหนังคนดังเลือกเพลงนี้ เพราะใครที่รู้จักอุปราการเรื่องนี้ก็จะรู้ว่า มีความคล้ายกันมากเพียงใด เพราะ “แหวนของนีเบอลุง” (The Ring of Niebelung) เป็นเรื่องจากตำนาน หรือเทพปกรณัมชาวเยอรมันโบราณ การรบกันของบรรดาเทพเจ้า ที่องค์หนึ่งไปขโมยแหวนจากคนแคระ (Niebelung) ที่สาปแช่งว่า ใครที่สวมใส่แหวนนี้ต้องตาย เรื่องราวทั้งหมดก็จะดำเนินไปทั้ง 4 ตอนให้เห็นว่า ใครใส่และตายบ้าง

            ดนตรีที่ผู้กำกับหนังเลือกไปใช้เวลาฝูงเฮลิคอปเตอร์บุกเข้าโจมตีนั้น เป็นเพลงที่วากเนอร์ใช้ตอนที่กลุ่ม “นางฟ้า” ของเทพ Odin ถูกส่งไปเพื่อเลือกหรือกำหนดว่า ในสงครามนั้นใครจะต้องตาย ใครจะรอด

            คงไม่แปลกใจที่เรื่องราวจากตำนานของเยอรมนีโบราณนี้จะถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สมัยใหม่ที่ทำเงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน การทำสงครามของบรรดาเทพเจ้าทั้งหลาย (Odin, Thor, Ragnarok และอื่นๆ) รวมไปถึงนวนิยาย The Lord of the Rings ที่ทำเป็นหนังดังหลายตอน ประพันธ์โดย J.R.R. Tolkien ก็ได้รับอิทธิพลจากตำนานเยอรมนีโบราณนี้ด้วยเช่นกัน

            ดู Apocalypse ของ Coppola และกลับไปอ่านเรื่องอุปราการของวากเนอร์ ทำให้พอเข้าใจว่า ทำไมคนโบราณจึงเชื่อว่า ตำนานสำคัญกว่าความจริง เส้นแบ่งระหว่างตำนานกับความจริงนั้นบางแทบมองไม่เห็น จนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่สงสัยไม่แยกระหว่างประวัติศาสตร์บอกเล่าสืบต่อกันมาที่ผสมผสานตำนานกับข้อเท็จจริง ปรากฏการณ์หลายอย่าง แม้วิทยาศาสตร์อาจอธิบายอย่างอื่น คนจำนวนมากวันนี้ก็ยังเชื่อแบบเดิม

            คนที่รู้จักพระคัมภีร์ไบเบิลดี อาจไม่ได้คิดถึง “พระวิวรณ์” (Apocalypsis) หนังสือเล่มสุดท้าย แต่คิดถึงเล่มแรกๆ ที่พูดเรื่องอดัมและอีฟ ที่ต้องออกจากสวนสวรรค์เพราะไปละเมิดข้อห้าม คิดถึงกรณีน้ำท่วมโลก เหลือแต่โนอาห์และครอบครัว คิดถึงเมืองโซดมและโคโมรา เมืองคนบาปที่ถูกไฟจากสวรรค์ตกลงมาเผาไหม้ไปทั้งเมือง

           แต่กระนั้นก็ควรอ่านพระวรสาร (The Gospel) เรียนรู้ดูชีวิตและฟังคำสอนของพระเยซูให้ดี ตรงนี้น่าจะสำคัญกว่า คือการอยู่ด้วยความเชื่อศรัทธาและอุดมการณ์ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่เป็นไร พระเยซูเองก็ทรงมีพระชนมชีพเพียง 33 ปีเท่านั้น ชีวิตจะยาวจะสั้น ไม่สำคัญเท่ากับว่า อยู่อย่างมีคุณค่าเพียงใด บรรลุเป้าหมายชีวิตหรือไม่
Not how long you live, but how you live!

(ขอบคุณบทความจาก https://mgronline.com/daily/detail/9630000028976)
เผยแพร่: 22 มี.ค. 2563 19:24 โดย: นพ นรนารถ