ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

เปโตร อัครสาวกเปโตร
           เปโตรเป็นชาวเมืองเบธไชดา  แคว้นกาลิลี ประเทศปาเลสไตร์ บิดาชื่อยอห์น น้องชายชื่ออันดรูว์  (หรืออังเดร )  เดิมมีชื่อว่าซีมอน แต่พระเยซูคริสต์ทรงเปลี่ยนให้ใหม่ว่า “ เปโตร” แปรว่าศิลา แต่งงานแล้ว(มธ.8.14)มีอาชีพเป็นชาวประมง อันดรูว์น้องชายเป็นคนแนะนำให้มารู้จักพระเยซูคริสต์ จึงสมัครเป็นศิษย์ของพระองค์แต่นั้นมา ( ยน.1.42)

          เปโตรเป็นคนมีนิสัยมุทะลุ ใจร้อน พูดจาขวานผ่าซาก ตรงไปตรงมา แต่เด็ดเดี่ยวเหมือนศิลาสมกับชื่อที่พระเยซูคริสต์ทรงตั้งให้ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า ของอัครสาวก ดังจะเห็นได้จากพระวรสารที่เอ่ยชื่อเปโตรเป็นคนแรก  ในบรรดาอัครสาวกเสมอ ( มธ.10.2   มก.3.16 ลก.6.14)  และเป็นคนพูดแทนอัครสาวกอื่นๆ พระเยซูคริสต์ทรงมอบหน้าที่สำคัญให้แก่เปโตร คือ เป็นศิลารากฐานของพระศาสนจักร ( มธ.16.18)เป็นชุมพาบาลเลี้ยงดูฝูงแกะ ( ยน.21.15)และเปโตรก็ทำหน้าที่เหล่านี้อย่างออกหน้าออกตาเช่น เป็นคนพูดต่อหน้าประชาชนแทนอัครสาวกอื่นๆ หลังจากรับพระจิตแล้ว( กจ.1.14-36) เป็นคนเปิดประตูรับคนต่างๆ ชาติ คือนายทหารโรมันกับครอบครัว เข้ามาเป็นคริสตชนกลุ่มแรก (กจ.10.48 ) เป็นคนตัดสินปัญหาในที่ประชุมที่กรุงเยรูซาเล็มเรื่องไม่บังคับให้คริสตชนต่างชาติต้องเข้าสุหนัด ( กจ.15.7-11)

         หนังสือกิจการอัครสาวกกล่าวถึงเปโตรถูกจับติดคุกและเตรียมถูกประหาร  แต่เทวทูตของพระเป็นเจ้ามาช่วยออกจากคุกได้ ( กจ.12.3-10)ต่อมาจากหลักฐานที่กระเซ็นกระสายในจดหมายของนักบุญเปาโลบ้างจากประจักษ์พยานที่เล่าขานกันสืบมาบ้าง พอจะทราบว่าเปโตรได้เดินทางไปปลูกฝังพระศาสนาที่เมืองอันทิโอกในปี ค.ศ.40  ก่อนที่จะกลับมาที่กรุงเยรูซาเล็มในปี ค.ศ. 42 และถูกจับติดคุกรอการประหารดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว  เมื่อพ้นจากคุกมาได้อย่างอัศจรรย์ก็ออกไปประกาศพระศาสนาแถบกับปาโดเชีย ปอนตุส บีธีเนีย กาลาเทีย และที่อื่นๆ และคงจะไปที่เมืองโครินธ์ด้วย เพราะปรากฎมีพวกของเปโตรอยู่ที่นั่น (1 คร.1.12)สุดท้ายก็ไปพำนักอยู่ที่กรุงโรม ต่อมาในปี ค.ศ.50  ชาวยิวถูกขับไล่ออกจากกรุงโรม เปโตรก็คงกลับมาที่กรุงเยรูซาเล็ม และมาร่วมประชุมตัดสินปัญหาคริสตชนต่างชาติที่นั่นดังที่กล่าวมาข้างต้น หลังจากนั้นเปโตรคงกลับไปกรุงโรมอีกและอยู่ปกครองกลุ่มคริสตชนที่นั้นจนกระทั่งวาระสุดท้าย ท่านได้เขียนจดหมาย 2 ฉบับถึงกลุ่มคริสตชนที่กรุงโรมเพื่อสั่งสอนและให้กำลังใจ

         เกิดการเบียดเบียนศาสนาขึ้นที่กรุงโรมในสมัยจักรพรรดิ์เนโรซึ่งเป็นผู้จุดไฟเผากรุงโรม และใส่ความคริสตชนว่าเป็นผู้ทำ  คริสชนเป็นจำนวนมากถูกจับไปทรมานและสังเวยชีวิตเป็นเครื่องเล่นของชาวโรมันการเบียดเบียนยาวนานถึง 4ปี (ค.ศ.64-68) เชื่อว่าเปโตรคงถูกฆ่าตายในปี ค.ศ.67 โดยถูกตรึงกางเขน มีตำนานเล่าว่าขณะที่มีการเบียดเบียนศาสนาเปโตรได้รับคำเตือนจากผู้หวังดีให้หลบหนีไปด้วยเกรงว่าฝูงแกะจะแตกกระจัดกระจายเมื่อไร้ชุมพาบาล พอออกมาพ้นกำแพงเมืองเปโตรก็พบพระเยซูคริสตทรงแบกกางเขนเดินสวนทางมา เปโตรทูลถามพระองค์ว่า “พระอาจารย์จะเสด็จไปไหน ?” พระองค์ตรัสตอบว่า “ เราจะไปกรุงโรมเพื่อให้เขาตรึงเราอีกครั้งหนึ่ง” เปโตรจึงได้สติ หันกลับกรุงโรม ยอมให้เขาจับไปตรึงกางเขนแต่เพราะสำนึกว่าตนเป็นคนทรยศ ไม่คู่ควรที่จะตายบนไม้กางเขนเยี่ยงพระอาจารย์จึงขอร้องเพชฌฆาตให้ปักไม้กางเขนของตนเอาศรีษะลงดิน เอาเท้าชี้ฟ้า

         ศพของเปโตรถูกฝังไว้ที่เนินวาติกัน ณ สถานที่นี้เองต่อมาได้สร้างพระวิหารใหญ่คร่อมคลุมศพไว้และตั้งชื่อว่าพระวิหารนักบุญเปโตรเพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่ท่านมาจนทุกวันนี้ และเนื่องจากเปโตรมาพำนักและปกครองกลุ่มคริสตชนที่กรุงโรมจนกระทั่งสิ้นชีวิต จึงถือว่าท่านเป็นสังฆราชองค์แรกของกรุงโรม และเนื่องจากท่านเป็นหัวหน้าของอัครสาวกทั้งหลาย จึงถือว่าท่านเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกของคริสตศาสนา ผู้สืบตำแหน่งของท่านต่อๆมาจึงได้รับตำแหน่งสังฆราชของกรุงโรมและพระสันตะปาปาของคริสตศาสนาด้วย

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์