ความอดทนความอดทน

ความหมาย  การข่มใจ  การอดกลั้น  อดใจ เมื่อเจอกับเหตุการณ์อันไม่ชอบใจ
สุภาษิต  “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”
            “ฝนทั่งให้เป็นเข็ม”
ข้อคิด   “เปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตร  โดยทำสิ่งดี ๆ ให้เขา”
   “แม้จะไปไม่ถึงจุดหมายที่ใฝ่ฝัน  ขอจงก้าวต่อไปอย่าท้อถอย”
   “แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยหลังจากภารกิจในแต่ละวันเพียงใด  จงยืนหยัดที่จะก้าวไปข้างหน้า”
“ความทุกข์ทำให้คนรู้จักคิด  ความรู้จักคิดทำให้คนฉลาด  ความฉลาดทำให้คนรู้จักอดทน”

ประโยชน์ของการมีความอดทน 
    1.ทำให้เราเป็นคนสุขุม  รอบคอบ มีสติ
    2.งานหรือกิจกรรมต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปอย่างดี
    3.เสริมสร้างให้เราเป็นคนมีมานะ มีความเพียรพยายามในการทำงานหรือความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ ในชีวิต
    4.มีความเป็นผู้นำ เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
    5.สอนให้เราไม่ยอมแพ้หรือท้อถอย
    6.เป็นที่รักของทุกคน

โทษของการไม่มีความอดทน  
     1.มีนิสัยวู่วาม  ไม่มีความรอบคอบ
     2.งานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เกิดความเสียหาย
     3.เป็นคนหนักไม่เอา เบาไม่สู้ สร้างนิสัยเกียจคร้านในตัวเอง
     4.ไม่มีความเป็นผู้ใหญ่
     5.ไม่เป็นที่รักของคนอื่น

เนื้อหาในพระคัมภีร์ 
“จงชื่นชมยินดีในความหวัง  จงอดทนต่อความยากลำบาก” ( รม 12 : 12 )
“ขอให้ท่านมีความทรหดที่สุด  และความอดทนไว้นานด้วยความยินดี” ( คส 1 : 11 )
“อย่าให้เราเมื่อยล้าในการทำดี  เพราะว่าถ้าเราไม่ท้อใจแล้ว  เราก็จะเก็บเกี่ยว ในเวลาอันสมควร”   ( กท 6 : 9 )
“จงอดทนนาน และอดกลั้นต่อกันและกันด้วยความรัก” ( อฟ 4 : 3 )
“เราขอวิงวอนพวกท่านให้ตักเตือนคนที่เกียจคร้าน หนุนน้ำใจผู้ที่ท้อใจ  ชูกำลังคนที่อ่อนกำลัง  และมีใจอดเอาเบาสู้ต่อคนทั้งปวง” ( 1 ธส 5 : 14 )

บทความ  อดทนได้ หมายถึงผู้ใหญ่
           คุณเคยพบและสังเกตไหมว่า  บางคนอายุมาก แต่หาเป็นผู้ใหญ่ไม่   ตรงข้าม บางคนอายุน้อยแต่เป็นผู้ใหญ่กว่า ความเป็นผู้ใหญ่ดูจากไหน เคยถกเถียงกันเมื่อครั้งที่มีอธิบดีอายุไม่มากนัก แต่มีความเป็นผู้ใหญ่สูง คือมีความอดทน วางตนดี มีหลักการ ไม่วู่วาม สรุปได้ว่าความเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ อยู่ที่การเจริญเติบโตของจิตใจเป็นสำคัญมากกว่าอายุ

           ความร้อนภายนอก อาศัยน้ำช่วยดับร้อน หรือให้คลายร้อนได้ชั่วคราว   แต่ร้อนใจต้องอาศัยธรรมะเป็นน้ำทิพย์  โดยปกติ ธรรมะเป็นน้ำทิพย์ที่ทำให้สุขใจ เย็นใจ สงบใจ    ดื่มด่ำน้ำทิพย์คือ ความอดทน  จะก่อให้เกิดบารมีอันเป็นธรรมของนักบริหาร   บารมีในที่นี้ คือคุณงามความดีของบุคคลที่ชนะกิเลสความอยากได้ใคร่เป็นจนเกินขอบเขต แต่บางทีคนมักมองว่าบารมีคืออำนาจที่คนเกรงกลัว ซึ่งไม่ใช่ตามความหมายโดยธรรม

            ส่วนขันติหรือความอดทนนั้น  เป็นเครื่องเสริมสร้างบารมี  ความอดทน ทั้งทนได้ สู้ได้ ท่านแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
           1.อดทนต่อความยากลำบากตรากตรำในหน้าที่ ถึงหนักไม่บ่นให้คนเขาเห็น การทำงานย่อมมีอุปสรรค จึงต้องมีความอดทน ไม่อ่อนแอ ท้อถอย   ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ชาวนา มีความอดทนสูงมาก ร้อนเท่าร้อน ยังทำงานในหน้าที่หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ไม่หยุด ไม่เลิกจนกว่างานสำเร็จ

           2.อดทนต่อความเจ็บปวด ต่อความเจ็บไข้ ใจเสาะก็คือยอมแพ้ คนที่มีขันติ ก็เท่ากับทำกรรมดี โรคร้ายแรงก็ลดน้อยลง   เพราะ “แรงอื่นจะเสมอด้วยแรงกรรมไม่มี”    กรรมมีความรุนแรงส่งผลให้ทนทุกขเวทนา

           3.อดทนต่ออำนาจกิเลส คือ โกรธ โลภ หลง  ซึ่งเป็นสิ่งที่มากระทบจิตใจอยู่บ่อย  ยิ่งเป็นผู้มีอำนาจมักถูกยั่วด้วยผลประโยชน์ หากยั่วได้  ผู้ที่ไม่หวังดีก็ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อหาประโยชน์ได้สบาย

          คนที่อดทนจริงจะต้องทนอย่างชื่นบาน ทนอย่างมีความรัก ทนอย่างมีเมตตา มิใช่ฝืนทน   จะเห็นว่าคนที่ขาดความอดทน เท่ากับทำตนให้เป็นคนเสียหลักย่อมคลอนแคลนอ่อนไหวได้ง่าย ทนได้เพื่อความดี  อย่างนี้ ถือเป็นความยิ่งใหญ่ และเป็นผู้ใหญ่จริง น่านับถือ  รักที่จะอยู่ในราชการนาน ควรประหารกิเลส   ถ้าจะพบความหายนะ จงเติมพลังความร้อนเข้าไปแล้วจะพบความจริงว่า   ร้อนยิ่งกว่าสิ่งใดเมื่อถูกสอบสวนลงโทษ ทั้งเสื่อมยศเสียวงศ์ตระกูล ความดีเป็นที่สูง ต้องใช้พลังปีนป่ายเหมือนขึ้นภูเขา แต่พอดถึงยอดแล้ว จะเห็นวิวทิวทัศน์สวยงาม
 

พฤติกรรมที่ปรารถนาให้ผู้เรียนปฏิบัติ
   + จงเป็นคนอดทน เพราะจะทำให้เราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
   + จงเป็นคนใจคอหนักแน่น ไม่โกรธง่าย  และยิ้มแย้มแจ่มใส
   + ให้เราอดทนต่อความเหนื่อยยาก และอุปสรรคต่าง ๆ ที่เรากำลังประสบอยู่