จงรักศัตรู
ความหมาย การยกโทษ การไม่ถือความ และทำดีตอบแก่ข้าศึก ปรปักษ์ หรือผู้จองเวรกับเรา
ข้อคิด / คำคม “เมื่อคุณต่อคนอื่น คุณก็ดีต่อตัวเอง”
“ให้อภัยตนเอง และผู้อื่นเสียบ้าง”
“แสวงหาสิ่งดีที่มีในตัวบุคคล”
“เปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตร โดยทำสิ่งดี ดีให้เขา”
“รักคนที่ไม่น่ารัก”
“อย่าให้ความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเป็นตัวบั่นทอนมิตรภาพอันดีที่มีต่อกัน”
ประโยชน์ของการรักศัตรู
1.รู้จักเอาชนะใจตนเอง มีสติ รอบคอบ
2.ฝึกให้เรารู้จักมองคนอื่น และมองโลกในแง่ดี
3.ทำให้เราเป็นคนมีความอดทนมากขึ้น
4.มีความตั้งใจจริงที่จะทำดีกับทุก ๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่เราไม่ชอบ
5.เป็นการให้โอกาสตัวเองและคนอื่นในการค้นหาตัวตนที่แท้จริง เพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น
6.เป็นที่รักของคนรอบข้าง ชีวิตก้าวหน้า มีความสุข
7.มีมิตรเพิ่มมากขึ้น
โทษของการไม่ให้อภัยศัตรู
1.มองคนอื่นและมองโลกในแง่ร้าย
2.ปิดกั้นโอกาสของคนอื่น และตัวเอง ในการจะปรับปรุงแก้ไขนิสัยให้ดีขึ้น
3.กลายเป็นคนอาฆาตแค้น คิดแก้แค้น มีความริษยา ใจแคบ
4.เป็นคนไม่รู้จักอดทน ขาดสติ
5.ไม่เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง
6.ชีวิตวุ่นวาย ไม่สงบ ไม่มีความสุข
เนื้อหาในพระคัมภีร์
“อย่าเกลียดชังพี่น้องของเจ้าอยู่ในใจ แต่เจ้าจงตักเตือนเพื่อนบ้านของเจ้า เพื่อเจ้าจะไม่ต้องรับโทษเพราะเขา เจ้าอย่าแก้แค้นหรือผูกพยาบาทลูกหลาน ญาติพี่น้องของเจ้า แต่เจ้าจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” ( ลนต 19 : 17 )
“ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า จงรักคนสนิท และเกลียดชังศัตรู ฝ่ายเราบอกท่านว่า จงรักศัตรูของท่านและจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน”( มธ 5 : 43 )
“แต่เราบอกท่านทั้งหลายที่กำลังฟังอยู่ว่า จงรักศัตรูของท่าน จงทำดีแก่ผู้ที่เกลียดชังท่าน จงอวยพรแก่คนที่แช่งด่าท่าน” ( ลก 6 : 27 )
“จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ท่านปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อท่าน” ( ลก 6 : 31 )
“แต่จงรักศัตรูของท่านทั้งหลาย และทำการดีต่อเขา จงให้เขายืมโดยไม่หวังที่จะได้คืนอีก” ( ลก 6 : 35 )
บทความ จงปล่อยวาง
ผู้ทรงคุณธรรมแม้จะต้องประสบกับอารมณ์ร้าย เช่น เสียงตำหนิติเตียนอันไม่เป็นธรรม หรือเสียงด่าวาเสียดสี ก็สามารถพิจารณาความจริงได้ว่า ผู้ที่ติเตียนด่าว่าตนนั้นทำไปเพราะมีใจห่างไกลธรรมะ จึงถูกกิเลสครอบงำ แสดงอาการน่าเกลียดเช่นนั้นออกมาให้ผู้อื่นเห็นดีงามไปด้วย
แต่เป็นการกระทำที่ส่อถึงน้ำใจเป็นพาลสันดานหยาบ
ผู้ทรงคุณธรรมหรือบัณฑิตเมื่อรู้เช่นนั้น จึงปล่อยวางได้ เขาว่า เขาด่าก็ช่างปะไร เมื่อไม่เป็นความจริงไม่ยอมรับคำด่าเหล่านั้นเสีย คำด่าว่าเสียดสีเหล่านั้นจะมาทำอะไรเราได้และก็ไม่ต้องไปโต้ตอบให้เสียเวลา หัดแผ่เมตตาให้อภัยในการกระทำอย่างโง่ ๆ ของเขา แล้วเราก็จะสบายใจ คำด่าว่าเหล่านั้นก็จะกลับไปหาผู้นั้นเอง การปฏิบัติอย่างนี้ แม้จะต้องใช้ความอดทนข่มใจอย่างมาก ก็ไม่น่าจะต้องเดือดร้อนอะไรมากนัก จงถือหลักอุทานธรรมคำกลอนที่ว่า
ไม่รู้ไม่ชี้ดีนักรู้จักใช้
นึกอะไรแล้วทิ้งนั่งนิ่งเฉย
ไม่ต่อเรื่องเครื่องทุกข์สุขเสบย
ใครไม่เคยลองดูจะรู้ดี พฤติกรรมที่ปรารถนาให้ผู้เรียนปฏิบัติ
+ อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร จงปฏิบัติกับเขาเช่นเดียวกัน
+ ให้ผู้เรียนรู้จักให้อภัยกับทุกคน และให้โอกาสแก่คนอื่น เพื่อเขาได้พัฒนาและปรับปรุงนิสัย
+ ให้โอกาสตัวเองบ้าง ในการสำรวจและย้อนมองดูตัวเราด้วย ในข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เรามี
+ ให้พยายามมองคนอื่น และมองโลกในแง่ดี
+ ฝึกให้เราเป็นคนอดทนมากขึ้น
+ ให้เรามีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติสิ่ง ดี ดี กับคนรอบข้าง