อิริยาบถในการภาวนา
ครูเคยเห็นพี่น้องมุสลิมสวดภาวนาหรือไม่ พวกเขาทำพิธีละหมาดด้วยความศรัทธาน่าเลื่อมใส พี่น้องชาวพุทธเวลากราบพระ พวกเขาคุกเข่าลงกราบศีรษะจรดพื้นสามครั้งด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เราสัมผัสถึงความเชื่อความศรัทธาของศาสนิกชนต่าง ๆ จากภาษากายหรือท่าทางการแสดงออก ทั้ง ๆ ที่บางครั้งเราไม่เข้าใจบทสวดหรือภาษาที่พวกเขาใช้ด้วยซ้ำไป
ในการภาวนาเราต้องใช้ทั้งร่างกายและจิตใจของเราเพื่อการภาวนา ภาษาทางกายก็มีความสำคัญและแสดงออกถึงความเชื่อศรัทธาได้ไม่แพ้ภาษาพูดเช่นกัน
หันมาลองดูท่าทางของเราคาทอลิกในการภาวนา ในการร่วมพิธีกรรมหรือในการภาวนาของเรานั้น เรามีขนมธรรมเนียมประเพณีที่ให้ความสำคัญต่อท่าทางในการภาวนามาช้านาน ทุกท่าทางของเรานั้นช่วยเราในการภาวนาได้ทั้งนั้น หรือเราสามารถภาวนาได้ในทุกอิริยาบถ แต่อย่างไรก็ตามในแต่ละประเทศยังมีการปรับใช้ให้เหมาะกับวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้ ในที่นี้เราจะพูดถึงท่าทาง หรืออิริยาบถที่เป็นทางการและความหมายที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปทั่วโลกดังนี้
- การคุกเข่า
การคุกเข่าแสดงออกถึงความเคารพ ความสุภาพอ่อนน้อม การยอมรับความยิ่งใหญ่หรือความสำคัญ ถ้าเราคุกเข่าพูดกับใครแสดงว่าเรากำลังพูดกับบุคคลที่สำคัญมากหรือยิ่งใหญ่มาก หรือไม่เรากำลังวอนขออะไรบางอย่างที่สำคัญมาก ๆ เช่น ขอความรัก ขอชีวิต ขอการให้อภัย
เราคาทอลิกคุกเข่าสวดต่อหน้าพระเจ้าเป็นการแสดงออกถึงความเคารพที่เรามีต่อพระเจ้าผู้สูงสุด พระผู้เป็นเจ้าของชีวิตของเรา พระเจ้าที่เราต้องพึ่งพาอาศัยพระองค์ไปจนตลอดชีวิต ครูจะต้องสอนเด็ก ๆ ของเราให้คุกเข่าสวดภาวนาด้วยท่าทีที่สุภาพถ่อมตน นอกจากในพิธีมิสซาฯแล้ว ในการเรียนคำสอน เราอาจจะให้เด็กของเราคุกเข่าลงสวดภาวนาเพื่อแสดงความเสียใจต่อความผิดที่ได้กระทำลงไป หรือคุกเข่าสวดภาวนาเพื่อใช้โทษบาปของเรา คุกเข่าเพื่อร่วมทุกข์กับพระเยซูเจ้า หรือเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของบรรดานักบุญหรือมรณสักขีที่ต้องทนทุกข์เพื่อยืนยันความเชื่อต่อพระเจ้า
- การยืน
การยืนเป็นท่าทางในการภาวนาของคริสตชนชาวยิว การยืนเป็นการแสดงความเคารพ ความตั้งใจ ความพร้อม และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า เมื่อเรายืนเป็นการแสดงว่าเรามีส่วนร่วมกับชัยชนะของพระองค์ที่ทรงมีต่อความตาย เรายืนขึ้นเพื่อรับฟังพระวรสาร ยืนเพื่อรับศีลมหาสนิทและยืนเพื่อรับพรในตอนท้ายของพิธีเพื่อเป็นการส่งเราออกไปดำเนินชีวิตตามพระวาจาของพระเจ้าที่เราได้รับฟังและเฉลิมฉลอง
ในห้องคำสอน เราควรให้เด็ก ๆ ได้ยืนขึ้นตามแบบอย่างการร่วมพิธีกรรมในวัด คือ ให้ยืนเพื่อสวดภาวนาก่อนและหลังการเรียนคำสอน ยืนเพื่อเป็นการให้เกียรติและตอบรับพระวรสาร การยืนยังเป็นการแสดงความเคารพต่อพระวาจาของพระเจ้า และการเตรียมพร้อมที่จะรับฟังและตอบสนองพระวาจาของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการแห่พระคัมภีร์และการอ่านพระคัมภีร์ในห้องเรียน บางครั้งการให้เด็ก ๆ ยืนขึ้นเพื่อภาวนาก็เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถให้เด็กเกิดความตื่นตัวในการภาวนามากยิ่งขึ้นด้วย
- การนั่ง
ในพิธีกรรม เรานั่งในระหว่างการฟังบทอ่านที่หนึ่งและบทอ่านที่สอง ระหว่างการฟังคำเทศน์ หลังการรับศีลมหาสนิท การนั่งเหมาะสำหรับการไตร่ตรองสิ่งที่ได้รับฟัง สำหรับการรำพึง การซึมซับหรือการขบคิดทำความเข้าใจพระวาจาของพระเจ้า การพิจารณามโนธรรม
ครูควรให้เด็ก ๆ นั่งเงียบ ๆ เพื่อการรำพึงหรือภาวนาตามที่ครูจะนำพวกเขาให้ภาวนาในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับเด็กไทยของเราการนั่งพับเพียบหรือนั่งขัดสมาธิกับพื้นให้ความรู้สึกที่ดีในการภาวนา หรือการนั่งรำพึงกับภาพนิ่งหรือมิวสิควีดีโอเพลงศักดิ์สิทธิ์
- การนอนหมอบ
เราพบการนอนราบหมอบกับพื้นในพิธีบวชพระสงฆ์หรือพระสังฆราช การนอนราบมีความหมายถึงการยอมรับอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้า หรือความต้องการพระเจ้าอย่างสิ้นสุดจิตใจ ตัวอย่างของพระเยซูเจ้าภาวนาในสวนมะกอกขณะที่กำลังทุกข์ทรมานก่อนถูกตรึงกางเขน การนอนราบเช่นนี้เราเองอาจจะใช้เพื่อการภาวนาส่วนตัว แต่ต้องระวังเรื่องของการง่วงนอนด้วย ในห้องคำสอนอาจจะให้มีการนอนภาวนาเช่นนี้แต่ไม่ค่อยจะมีโอกาสมากนัก ถ้าจะทำจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งการให้ความหมายและความสะอาดของพื้นให้ดีเสียก่อน
ในการฝึกเรื่องการให้การอบรมเยาวชน เคยมีกิจกรรมให้เยาวชนนอนฟังเพลงบรรเลงหรือเพลงที่มีความหมายดี ๆ เป็นการรำพึงในรูปแบบของเยาวชน นอกจากนั้นยังมีการนอนเพื่อไตร่ตรองถึงอดีตของตนเอง เพราะการนอนทำให้คิดถึงอดีตได้ดี บางคนสวดสายประคำขณะนอนซึ่งสามารถทำได้ ไม่ผิดมารยาทอย่างไร
- การโค้งคำนับ
การโค้งคำนับ เช่นเดียวกับการคุกเข่าและการนอนราบ เป็นการแสดงความเคารพอีกรูปแบบหนึ่ง เราควรสอนเด็ก ๆ ของเราให้แสดงความเคารพด้วยการโค้งคำนับแบบสุภาพ เป็นทางเลือกขณะ ที่เดินผ่านตู้ศีลหรือพระแท่น หรือการแสดงความเคารพต่อพระคัมภีร์หรือขบวนแห่ต่าง ๆ
- การก้มศีรษะ
การก้มศีรษะเป็นการแสดงความเคารพอีกวิธีการหนึ่ง เป็นต้นเมื่อเราก้มศีรษะรับการอวยพรจากพระสงฆ์ การก้มศีรษะเป็นการแสดงความเชื่อของเรา ว่าพระเจ้าเองทรงปกมือเหนือศีรษะของเราแต่ละคนเพื่อให้พรเราแต่ละคน
- การย่อเข่า
เรายังคงเห็นผู้ใหญ่ย่อเข่าเพื่อแสดงความเคารพต่อศีลมหาสนิทขณะที่เดินเข้าหรือเดินออกจากวัด การย่อเข่าเป็นท่าทางหนึ่งในการนมัสการพระเจ้า หรือการแสดงความเคารพต่อศีลมหาสนิท ครูอาจจะสอนเด็ก ๆ ให้รู้ความหมายของการย่อเข่า และฝึกเด็กให้ย่อเข่าเวลาเข้าวัด หรือเวลาที่เข้าไปใกล้ ๆ หรือเดินผ่านตู้ศีลฯ
- ท่าทางอื่น ๆ
“มือ”
เราใช้มือเพื่อการแสดงออกถึงความเคารพต่อพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ เช่น
“การพนมมือ” เพื่อการภาวนาเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้า การแสดงความเคารพ การมีสมาธิในการติดต่อกับพระเจ้า ครูควรฝึกเด็ก ๆ ของเราให้พนมมือให้ถูกวิธี ตามขนมธรรมเนียมของไทยเรา
“การกางมือออก” เพื่อภาวนาเป็นการอ้อนวอนขอพระพรจากพระเจ้า
“การประสานมือ” ไว้หน้าตักขณะนั่งเป็นการตั้งจิตใจภาวนา
“การจับมือกัน” เป็นการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมในเป็นหนึ่งเดียวกันในการภาวนา
“ตา”
มีความสำคัญต่อการภาวนาเช่นกัน ครูควรฝึกเด็ก ๆ ให้ใช้ตาในการภาวนา เช่น
“การหลับตา” เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งวอกแวกที่เข้ามารบกวนการภาวนา และเป็นการเพ่งจิตใจเข้าหาพระเจ้า
“การเพ่งมอง” การให้เด็กเพ่งมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการสร้างสมาธิให้มีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ครูอาจจะให้เด็กฝึกมองภาพศักดิ์สิทธิ์ มองศิลปะ เทียน กางเขน ดอกไม้ หนาม รอยแผลของพระเยซู
“เท้า”
เท้ามีส่วนสำคัญในการภาวนาเช่นกัน ครูควรสอนให้เด็ก ๆ ยืนในท่าทางที่ถูกต้องเพื่อแสดงความเคารพต่อพระเจ้าและสถานศักดิ์สิทธิ์ เราใช้เท้าเดินร่วมขบวนแห่ต่าง ๆ การเดินรูป 14 ภาพ การเดินเพื่อสวดสายประคำ
เรื่องที่ควรคิด&เรื่องที่ควรทำ
เรื่องที่ควรคิด
1. ท่าทางใดที่ทำให้ท่านภาวนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำไม
2. ท่าทางใดที่เป็นประโยชน์ต่อการภาวนา และท่าทางใดที่เป็นอุปสรรคในการภาวนาของท่าน
เรื่องที่ควรทำ
1. ให้ศึกษาท่าทางในการภาวนาของเพื่อนที่นับถือศาสนาอื่น ๆ ว่าขณะภาวนาเขาทำอย่างไร
2. สอนและฝึกเด็ก ๆ ให้สวดภาวนาด้วยท่าทีที่สำรวม และให้เอาใจใส่การแสดงความความเคารพต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
3. ฝึกเด็ก ๆ ในการกราบหรือไหว้พระให้ถูกต้องตามประเพณีไทย