ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

การภาวนาโดยการใช้ดนตรีและบทเพลง

การภาวนาโดยการใช้ดนตรีและบทเพลง
บทนำ
         ถ้อยคำของนักบุญเอากุสตินที่ถือว่าเป็นอมตะและเชิญชวนให้เราร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์ก็คือ คำกล่าวที่ว่า “คนที่ขับร้องเพลงก็เท่ากับได้สวดภาวนาเป็นสองเท่า” (the person who sings, prays twice)
         เราทุกคนชื่นชอบเพลงและดนตรี สังเกตได้ว่าเวลาไปร่วมพิธี ถ้ามีการร้องเพลงดี ๆ หัวใจของเรารู้สึกพองโต มีชีวิตชีวา มีความสุขและความยินดี

         เพลงสร้างบรรยากาศแห่งศรัทธา เพลงมีพลัง เพลงถูกใช้ในทุก ๆ โอกาส ไม่ว่าจะเป็นยามสุขหรือยามทุกข์ ทั้งเพื่อการผ่อนคลายและเพื่อธุรกิจ เพื่อสร้างกระแสความรักชาติหรือสถาบัน

         มีคุณพ่อท่านหนึ่งนำเอาซีดีเพลงและบทภาวนาไปเป็นของเยี่ยมผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง เพลงและการภาวนานี้ช่วยทำให้ผู้ป่วยพบกับสันติ สงบ และยอมรับความตายและความหวาดกลัวจากการพลัดพรากจากครอบครัว

เพลงกับครูคำสอน
           หน้าที่ของครูคำสอนก็คือ การสอนเด็กรุ่นใหม่ของเราให้รู้จักการภาวนาและเป็นนักภาวนาไปจนตลอดชีวิต ปัญหาก็คือเราจะฝึกอบรมเด็กของเราให้เป็นนักภาวนาได้อย่างไร จะให้เราแต่งเพลงเพื่อการสอนหรือใช้ในพิธีกรรมใช่หรือไม่ และถ้าเราไม่มีความชำนาญหรือไม่สันทัดในการร้องเพลงเราจะทำอย่างไร

           วิธีแก้ปัญหาก็คือ ให้เราเชิญชวนเพื่อนครูที่มีความสามารถมากกว่าเราหรืออาจจะให้เป็นเพื่อนหรือเด็ก ๆ ในห้องของเราเป็นตัวช่วยก็ได้ แต่ที่เราสามารถทำได้และดีด้วยก็คือ ใช้ mp3 หรือ clip มาเป็นตัวช่วย

           ครูควรจัดหาเพลงที่มีอยู่มากมายทั้งเพลงในวัดและเพลงดีทั่ว ๆ ไปไว้ในห้องคำสอนของครู เป็นเพลงทั้งที่มีเนื้อร้องและเพลงบรรเลง

           ในแต่ละบทเรียนครูควรหาเพลงที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่สอนในแต่ละครั้งเพื่อจะได้ช่วยเสริมหรือตอกย้ำคำสอนของครูให้เป็นที่จดจำและน่าประทับใจมากยิ่งขึ้น

 

เพลงกับเยาวชน
            เราต้องยอมรับว่า เพลงและดนตรีมีพลังอย่างมากสำหรับเยาวชนในยุคของเรา สังเกตดูซิว่าไม่ว่าจะไปไหนพวกเขาจะต้องมีอะไรเหน็บหูไว้เสมอ เพลงและดนตรีกลายเป็นธุรกิจหลายร้อยล้านในบ้านของเรา เยาวชนของเรากำลังเสพติดเพลงอย่างแรง ขาดเสียงเพลงไม่ได้เลย

           ในวงการคำสอนของเรา เราจะสังเกตได้ว่าเด็ก ๆ ของเราร้องเพลงทางโลกได้เก่งกว่าการสวดภาวนาเสียอีก เรารู้ดีว่าคนในโลกใช้เพลงเพื่อธุรกิจของเขา แล้วเราเล่า ศาสนาเป็นต้นกำเนิดของบทเพลง แต่เราในปัจจุบันเราได้ใช้ประโยชน์จากเพลงอย่างไร

          ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาเรื่องนี้ให้ดีและพยายามใช้เพลงเพื่องานคำสอนของเรา

         เราอาจจะใช้เพลงที่เยาวชนนิยมไม่ว่าจะเป็นแนวไหนก็ตามมาสอนเยาวชนให้รู้ถึงคุณค่าของชีวิตและเป็นบทเรียนในการดำเนินชีวิตได้ เพลงที่ดีให้เอาแบบอย่าง เพลงที่ไม่ดีต้องสอนให้เขารู้จักคิดแยกแยะให้ถูกต้อง

         มีคุณพ่อในอเมริกาเป็นดีเจจัดเพลงในรายการวิทยุ โดยคัดเลือกเพลงของศิลปินที่เยาวชนชื่นชอบมาให้ความหมายในทางศีลธรรมเพื่อสอน ปรากฏว่าโดนใจวันรุ่นมาก

          นอกจากเพลงแล้วยังมีมิวสิควีดีโอให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

 

เพลงสร้างแรงบันดาลใจ
             เราใช้เพลงเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ลูกศิษย์ของเรา ตัวอย่างเช่นให้เด็ก ๆ ฟังเพลง “แผ่นดินของเรา” จากนั้นให้เขาเงียบ ๆ เพื่อขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งสร้างต่าง ๆ ที่พระองค์ประทานให้แก่เรา ให้ฟังเพลง “ข้าแต่พระบิดาฯ” แล้วให้เขียนคำภาวนาส่วนตัวถึงพระเจ้าในฐานะที่เป็นพ่อของเรา บอกเขาว่า “ขณะนี้มีอะไรที่อยากบอกพระเจ้าบ้าง”
 
            อาจจะให้เด็กเขียนเนื้อเพลงใส่ลงในทำนองเพลงที่พวกเขาชอบหรือให้เขาแต่งเพลงสั้น ๆ ขึ้นมาเอง ตัวอย่างการสอนเรื่องพระเยซูเจ้ารักษาคนพิการให้เดินได้ ครูได้ใช้เพลง Michael row your boat ashore โดยเปลี่ยนเนื้อเพลงใหม่ว่า “พระเยซูรักษาคนพิการ อัลเลลูยา คนพิการขอบคุณพระองค์ อัลเลลูยา”

เพลงเพื่อการรำพึง
          เราสามารถใช้บทเพลงเพื่อให้เด็กได้ฝึกการรำพึงหรือการคิดไตร่ตรองชีวิตของตนกับความผูกพันกับชีวิตของพระเจ้าได้ เช่น เปิดเพลงใดเพลงหนึ่งแล้วให้เด็กรำพึงถึงบทเพลงนั้นโดยการปั้นดินน้ำมัน หรือการวาดภาพ ระบายสี เขียน ฯลฯ โดยให้อยู่ในความเงียบ
         ครูอาจจะเลือกเพลงทำนอง Gregorian Chant (เพลงภาษาลาติน) เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ซึมซาบกับท่วงทำนองเพลงสวดของศาสนา และพาใจให้คิดถึงพระเจ้า

        เด็ก ๆ อาจสามารถใช้จินตนาการในการวาดหรือเขียนการภาวนาโดยอาศัยท่วงทำนองหรือบทเพลงต่าง ๆ เหล่านี้

        การฟังคำภาวนาที่ได้จัดทำในรูปของดนตรีหรือบทเพลงเป็นการทำให้เด็ก ๆ ของเราสามารถเรียนรู้ที่จะภาวนาด้วยหัวใจได้ง่ายขึ้น

 

บทเพลงในพิธีกรรม
          บทเพลงมีความสำคัญในพิธีกรรมต่าง ๆ อย่างมาก “ดนตรีเป็นประสบการณ์แห่งความสุขของเด็ก ๆ และเป็นวิธีที่อัศจรรย์ใจสำหรับการสรรเสริญพระเจ้า ภาษาที่ง่าย ๆ พื้น ๆ ช่วยรวมเราให้เป็นหนึ่งเดียวในการภาวนา” (Patricia Mathson ผู้เขียนคำนำในหนังสือการภาวนาสำหรับเด็ก)

           เราสามารถใช้ดนตรีและบทเพลงในการภาวนาได้หลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น การสวดบทข้าแต่พระบิดาฯและบทวันทามารีอา เราอาจจะใช้การร้องเป็นเพลง

           เราใช้เพลงในการเริ่มต้น ระหว่าง และในตอนจบของพิธีกรรม

เทคนิคการร้องเพลง เช่น

- การให้ร้องเพลงโดยร้องล้อตามผู้นำทีละตอน
- ร้องเพลงประกอบท่าทาง
- จับมือกันแล้วเคลื่อนไหวไปตามจังหวะเพลง
- ร้องเฉพาะท่อนรับ ส่วนท่อนก่อให้ผู้นำหรือเด็กที่ร้องได้เป็นผู้ร้องเดี่ยว
- ถ้าเราทำได้คือถ่ายภาพแล้วทำสไลด์ประกอบเพลงหรือคำภาวนา

 

เพลงจากพระคัมภีร์
          เพลงที่มีเนื้อหามาจากพระคัมภีร์นั้นเป็นบทเพลงที่เราใช้กันมาตามเป็นประเพณีนิยมของเรามาแล้วแล้ว เพลงเหล่านี้เราสามารถหาได้จากหนังสือเพลงและจาก Internet ที่มีผู้ผลิตขึ้นมากมายในขณะนี้ เรานำเพลงที่ดี ๆ มีความหมายเช่นนี้มาใช้เพื่อให้เด็ก ๆ ของเราได้ใช้เพื่อการภาวนาหรือคิดถึงพระเจ้าได้อย่างดี

           ครูควรรวมเพลงที่มาจากบทสดุดี ๆ ไว้เพื่อนำมาใช้กับเด็ก ๆ ของเรา เช่น เพลงพระเจ้าทรงเลี้ยงดู (บทสดุดี 23) เป็นต้น

          เพลงจากพระคัมภีร์นอกจากจะทำให้เรารู้เรื่องราวในพระคัมภีร์แล้วยังช่วยทำให้เด็ก ๆ ของเราได้ร่วมจิตใจไปกับเรื่องราวนั้น ๆ และใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้าและบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกด้วย

          เราสามารถใช้ดนตรีและบทเพลงเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ภาวนาในหลาย ๆ รูปแบบ เพลงทำให้เกิดจินตนาการ และเสริมสร้างความเชื่อ

 

คำแนะนำในการใช้ดนตรีและบทเพลง
         ข้อแนะนำ 4 ประการก่อนที่ครูจะใช้บทเพลงหรือดนตรีในการภาวนากับเด็ก ๆ
         1.ทำความรู้จักบทเพลงที่จะนำมาใช้ให้ดีเสียก่อน เช่น เรื่องของจังหวะ ตอนไหนเร็ว ตอนไหนช้า ตอนไหนควรเบาหรือดัง มีกี่ประโยค แต่ละประโยคมีความหมายอะไร ท่อนรับเป็นอย่างไร คำไหนเป็นคำที่สำคัญของบทเพลง เป็นบทเพลงที่เล่าเรื่องราวหรือเพลงเพื่อการรำพึง เพลงนี้ทำท่าประกอบหรือมีการเคลื่อนไหวได้หรือไม่ เพลงนี้เด็ก ๆ จะชอบหรือเปล่านะ เพลงนี้สอนอะไรเรา ฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกอย่างไร

        2.ขั้นต่อมาคือ การตัดสินใจเลือกวิธีการนำสอน คือ เริ่มจากการจูงใจให้เด็ก ๆ สนใจในบทเพลงที่ครูจะสอน ครูเตรียมคำพูดที่ให้เด็ก ๆ เห็นถึงความงดงามของบทเพลงหรือประโยชน์ของบทเพลงที่เรากำลังจะร้องหรือฟังกัน เกริ่นนำถึงความหมายของเพลงจากนั้นครูจะใช้วิธีการเปิด mp3 หรือ ร้องเพลง ให้เด็ก ๆ ได้อ่านเนื้อหาของเพลงเน้นคำที่มีความหมายเป็นพิเศษในบทเพลงนั้น ให้เด็กฟังพร้อมกับเคาะจังหวะหรือปรบมือตามจังหวะเพลง เมื่อเด็กคุ้นเคยแล้วค่อย ๆ ให้ร้องพร้อม ๆ กันจากนั้นให้คิดถึงท่าทางหรือการเคลื่อนไหวแล้วทำพร้อม ๆ กัน

       3.เมื่อคิดขั้นตอนการนำเสนอแล้วจึงลงมือปฏิบัติการ ครูต้องตรวจสอบเรื่องเครื่องเสียง ความดังของเสียงที่ทำให้เด็กทุกคนได้ยินอย่างทั่วถึงไม่เบาหรือดังจนเกินไป สังเกตความสนใจของเด็ก ๆ ตอนไหนร้องยากหรือตอนไหนร้องผิดกันมาก ๆ ตอนไหนที่เด็ก ๆ ชอบ ตอนไหนที่เด็กสนุก ครูควรมีเนื้อเพลงให้เด็ก ๆ ได้ดูด้วย และเมื่อให้เด็กไตร่ตรองจากเนื้อเพลงเขาจะได้ขีดเขียนคำหรือวลีหรือประโยคที่เขาประทับใจ

      4.ในการเตรียมการใช้เพลงและดนตรีเพื่อการภาวนานี้ ครูควรกระทำจนเด็ก ๆ คุ้นเคยกับกระบานการนำเสนอของครู บางครั้งครูอาจจะใช้เพลงเดิมที่เคยใช้แล้วเด็กชื่อชอบมาใช้ร้องพร้อม ๆ กันอีกก็ได้ เพราะเพลงถ่ายทอดเนื้อหาที่มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต ทำให้จิตใจสดชื่น และโน้นน้าวจิตใจของเด็ก ๆ ให้มุ่งไปหาแต่สิ่งที่ดีงาม เพลงเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้จิตใจผ่อนคลาย เพลงและดนตรีช่วยยกจิตวิญญาณของเราขึ้นไปหาพระเจ้า

เรื่องชวนคิด
        1. จากประสบการณ์ของครูเอง บทเพลงช่วยทำให้ครูได้ภาวนาดีขึ้นอย่างไรบ้าง
        2. การขับร้องทบเพลงในวัดของครูเป็นอย่างไรบ้าง การขับร้องในวัดช่วยทำให้ครูภาวนาได้ดีขึ้นหรือไม่อย่างไร
        3. ครูรู้สึกอย่างไรที่เห็นเด็ก ๆ ของเราติดเพลงกันมาก และครูคิดอย่างไรถ้าเราเอาเพลงที่เด็ก ๆ ชื่นชอบมาใช้ในการเรียนคำสอน

เรื่องที่ควรทำ
       1. ถ้าครูไม่ชำนาญเรื่องเพลงหรือไม่คุ้นเคยกับเพลงสมัยใหม่ก็ให้ครูได้สอบถามคนที่รู้เรื่องดี ๆ ขอคำแนะนำจากเขา หรือถามเด็ก ๆ ในชั้นของเราก็ได้ว่าตอนนี้เขาชอบเพลงของใครชอบร้องหรือฟังเพลงอะไร แล้วหาเวลาเงียบ ๆ ฟังเพลงนั้นหลาย ๆ รอบ หาเนื้อเพลงเพื่อศึกษาถ้อยคำ เปิดใจและสติปัญญารับฟังเพลงนั้น (แม้จะไม่ตรงสเป็กของครู) จับประเด็นสำคัญของเพลงให้ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นคำที่ร้องซ้ำ ๆ จากนั้นลองประเมินภาพรวมของเพลงหลังจากได้ฟังเพลงนั้นอย่างดีแล้ว (ครูอาจจะไม่ชอบเพลงนี้ แต่เด็กชอบนะครับ) จากนั้นให้ครูเขียนความรู้สึกที่ได้รับจากการฟังเพลงบทนี้ และคิดต่อไปว่าพระวาจาของพระเจ้าตอนใดที่ตรงกับเนื้อหาของบทเพลงนี้บ้างและครูเองจะจับประเด็นไหมในบทเพลงนี้มาสอนลูกศิษย์ของครู
       2. ถ้ามีเพลงอะไรที่ตรงกับเนื้อหาคำสอน ให้ครูได้เตรียมเพลงพร้อมเครื่องเล่นให้พร้อม แล้วลองคิดท่าทางประกอบบทเพลงเพื่อจะได้ร้องและทำท่าทางพร้อม ๆ กัน
       3. ช่วยกันทำให้การขับร้องเพลงในวัดเป็นเครื่องมือเพื่อให้ผู้ร่วมพิธีเกิดความศรัทธา และมีส่วนร่วมอย่างมีชีวิตชีวา ครูอาจจะใช้เพลงในพิธีมิสซาฯ มาใช้สอนก่อนการร่วมพิธีมิสซาฯก็ได้ เป็นการเตรียมจิตใจที่ดี

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์