การภาวนาโดยการใช้ศิลปะและรูปภาพ
บทนำ
ประสบการณ์ของครูคำสอนมือใหม่คนหนึ่งที่ต้องเข้าสอนนักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าครั้งแรกที่ต้องสอนเขามีปัญหามากมายจนตั้งตัวไม่ติด เขาเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าการบรรยายให้เด็ก ป.3 ฟังนั้นไม่ได้ผลอะไรเลยเพราะเด็ก ๆ ตั้งใจฟังได้ไม่กี่นาทีก็เริ่มคุยเล่นกัน ที่สุดเขาได้มาขอคำแนะนำจากเพื่อนคนหนึ่ง พอดีที่ห้องคำสอนของโรงเรียนมีภาพพระคัมภีร์อยู่ชุดหนึ่ง เพื่อนจึงแนะนำให้ใช้ภาพ “พระเยซูเจ้าทรงห้ามพายุ” มาให้นักเรียนดู ปรากฏว่าได้ผลเกินคาด เด็ก ๆ มองดูภาพด้วยความสนใจและพากันพูดคุยเรื่องนี้อย่างตั้งอกตั้งใจ เด็กบางคนไม่เคยมองดูภาพนี้ด้วยความพินิจพิเคราะห์เช่นนี้มาก่อน ภาพดึงดูดจิตใจเด็ก ๆ เกินคาด
เราสามารถใช้ภาพทั้งภาพศักดิ์สิทธิ์และภาพทั่วไป ภาพมีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เด็กเรียนรู้ด้วยสายตาและการมอง ภาพที่เด็กเห็นจะฝังอยู่ในจิตใจของพวกเขาตลอดไป ศิลปะที่ดีช่วยบำรุงหล่อเลี้ยงดวงตาภายใน ดวงตาแห่งจิตวิญญาณ และเมื่อดวงตาแห่งจิตวิญญาณได้รับการหล่อเลี้ยงแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้น ศิลปะและรูปภาพจึงมีประโยชน์ในฐานะที่เป็นตัวกระตุ้นให้การภาวนาเกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง
หลากหลายวัฒนธรรม หลากหลายรสนิยม
เราลองพิจารณาดูการใช้ภาพเพื่อการเรียนคำสอนและการภาวนากันสักหน่อย
เรามีภาพของพระเยซูเจ้า ภาพของพระแม่มารีย์ และภาพบุคคลต่าง ๆ ในพระคัมภีร์มากมาย ภาพต่าง ๆ นี้มีความหลายหลากซึ่งแสดงออกตามวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เราจะเห็นภาพของพระเยซูเจ้าในลักษณะของคนในยุโรป คนในเอเชีย คนในแอฟริกัน ฯลฯ ภาพต่าง ๆ เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีถ้อยคำใด มากำกับ แต่ก็ให้ความหมายได้อย่างกว้างขวางตามประสบการณ์ของเราคริสตชน
นอกจากลักษณะที่แตกต่างของภาพแล้ว รสนิยมการชมภาพก็แตกต่างกันไป เด็กอาจชอบดูภาพอย่างหนึ่ง แต่ผู้ใหญ่อาจจะชอบภาพอีกลักษณะหนึ่ง สีสันของภาพและองค์ประกอบของภาพก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องพิจารณาดูด้วย เพราะศิลปินผู้วาดมีเจตนาอย่างหนึ่งอย่างใดในการใช้สีกับภาพวาด ของเขา รวมทั้งเสื้อผ้า ฉากหลัง สีหน้า ต่างมีความหมายในการเรียนการสอนทั้งนั้น
ประเพณีที่ยาวนานของการใช้ศิลปะในการภาวนา
เราเห็นหลักฐานสำคัญของการใช้ภาพได้ในกาตากอมส์ที่กรุงโรม รวมถึงภาพต่าง ๆ ตามวิหารต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและอิสราเอล ภาพต่าง ๆ บอกให้เราได้ทราบถึงเรื่องราวของคริสตชนในสมัยนั้นและทำให้ผู้ศรัทธาจำนวนเป็นล้าน ๆ ได้สวดภาวนากันอย่างตั้งใจ เรื่องราวต่าง ๆ ถูกถ่ายทอดมาสู่คนในสมัยของเราด้วยภาพที่สวยที่ถูกวาด หรือกระทำขึ้นด้วยความรักความเอาใจใส่และความงามอย่างไม่น่าเชื่อ ภาพเหล่านั้นอาจจะเป็นภาพวาดภาพโมเสส ภาพไอคอนและกระจกสี คริสตชนในยุคแรกได้อาศัยภาพเหล่านี้ในการเรียนรู้และสวดภาวนา
ความสวยงามของศิลปะศักดิ์สิทธิ์นี้มีพลังที่จะประทับร่องรอยของความงามลงในทรงจำและในจิตวิญญาณของคนเราได้ และช่วยปลุกเร้าคนเราให้ตอบสนองความงดงามและความน่าทึ่งของภาพนั้นออกมาด้วยการภาวนา พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่หลาย ๆ คนคงมีประสบการณ์ในวัยเด็กที่ครูคำสอนหรือคุณพ่อนำภาพต่าง ๆ มาให้พวกเราดูและเรายังคงจดจำภาพนั้นได้อย่างติดหูติดตาจนถึงปัจจุบันนี้
ในสหรัฐอเมริกาวัดทุกวัดนิยมการใช้ภาพในการสอนคำสอน ภาพที่นิยมใช้สอนเช่นภาพของทูตสวรรค์และภาพชุมพาบาลที่ดี
ผลที่ได้จากการใช้ศิลปะ
เหตุผลที่เราควรใช้ศิลปะในการสอนคำสอนและการภาวนาก็คือ ภาพหนึ่งสามารถเล่าเรื่องราวทั้งหมดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ การใช้การเล่าเรื่องด้วยคำพูดให้เด็กฟังก็น่าสนใจแต่ภาษาก็มีขีดจำกัด แต่ภาพอธิบายอะไรได้มากกว่าถ้อยคำด้วยตัวของภาพเอง
ภาพที่ดีสามารถสื่ออารมณ์และเร้าความรู้สึกได้รวดเร็วและเข้าถึงใจได้อย่างทันทีทันใด ภาพสร้างบรรยากาศแห่งความสงบเงียบทั้งกับกลุ่มและส่วนตัวของเด็กแต่ละคน ความเงียบในขณะมองดูภาพเป็นช่วงเวลาแห่งพระพรของพระจิตเจ้า เสียงของพระจิตเจ้ากำลังทำงานในส่วนลึกแห่งจิตใจของผู้เรียน นี่แหละจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการภาวนาที่แท้จริง เมื่อครูสามารถนำเด็กให้อยู่ในสภาพเช่นนี้ได้ ครูก็ได้ช่วยให้เด็กได้มีประสบการณ์กับพระเจ้าและช่วยทำให้ความเชื่อของเขาได้ลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น
รูปภาพ
รูปภาพต่าง ๆ เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราสามารถนำมาใช้ในการสอนคำสอนและการภาวนาได้
ภาพของพระเยซูเจ้า ภาพของพระแม่มารีย์ และภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ที่เรานำมาให้เด็ก ๆ ดูนั้นบางทีเด็ก ๆ ยังไม่เคยเห็นมาก่อนด้วยซ้ำไป จุดประสงค์หนึ่งในการใช้ภาพในการเรียนคำสอนก็คือ การเชื่อมโยงเรื่องของพระเยซูเจ้าให้เข้ากับเรื่องของมนุษย์เราในปัจจุบันนี้ องค์พระผู้เป็นเจ้ายังทรงประทับอยู่ในโลกท่ามกลางเรา พระองค์ทรงเผยแสดงพระองค์เองในตัวของบุคคลต่าง ๆ ในสิ่งของและในเหตุการณ์ต่าง ๆ เราเชื่อแน่ว่าถ้าเราไม่ช่วยให้เด็ก ๆ ได้มองและรู้จักพระเจ้าในชีวิตประจำวันของพวกเขา พระเจ้าก็ยังคงอยู่ห่างไกลเกินที่เด็ก ๆ จะเข้าถึงพระเจ้า พระเจ้าทรงปรารถนาที่จะพบกับเด็ก ๆ แต่เด็กกลับไม่รู้จักพระองค์ เหมือนกับเด็กๆ กำลังเล่นซ่อนหากับพระเจ้า พระเจ้าทรงซ่อนอยู่แต่เด็กๆ กลับมองไม่เห็นหรือไม่รู้ว่าพระองค์อยู่ที่ไหน
เราสามารถใช้รูปภาพของบุคคลที่ได้ตอบสนองเสียงเรียกของพระเจ้าและมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างในการติดตามพระองค์มาใช้ในการสอนเพื่อจะทำให้เด็ก ๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตที่งดงามของพวกเขา บุคคลที่ดี ๆ เหล่านี้อาจจะเป็นต้นแบบให้พวกเขาได้มีชีวิตที่ศรัทธาเช่นเดียวกันก็ได้
รูปภาพช่วยทำให้เด็ก ๆ ชื่นชมกับสิ่งสร้างของพระเจ้าฃและชื่นชมกับความยิ่งใหญ่ที่มนุษย์เองได้สร้างขึ้นมา ภาพเหล่านี้ยังช่วยให้เด็ก ๆ ได้เห็นถึงความเลวร้ายที่ได้เกิดขึ้นในโลกเพราะมนุษย์ขาดความ เอาใจใส่ที่จะช่วยกันดูแลรักษาโลก ภาพยังช่วยเปิดจิตใจของเด็ก ๆ ให้รู้จักภาวนาเพื่อสรรเสริญพระเจ้าและขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับผู้คนที่ดี ๆ และสำหรับสิ่งดีงามต่าง ๆ ในโลก ภาพช่วยให้เด็กได้เกิดความทุกข์เสียใจสำหรับสิ่งเลวร้ายและภาวนาของการอภัยจากพระเจ้าแทนมนุษย์คนบาปทั้งหลาย เวลาเดียวกันภาพยังช่วยทำให้เด็กภาวนาวอนขอพระพรสำหรับความต้องการและความจำเป็นต่าง ๆ ที่มนุษย์ยังขาดไป และที่สำคัญคือภาวนาวอนขอความช่วยเหลือให้พ้นจากการประจญของปีศาจที่จะทำให้จิตวิญญาณของเราต้องเสียไป
ตัวอย่างการใช้ภาพในการสอนคำสอนและการภาวนา
ในการสอนเรื่องบาปของโลกและพระเมตตาของพระเจ้าที่ทรงให้อภัยบาปคนบาป ครูอาจจะนำเสนอภาพของความสับสนวุ่นวายในสังคมของเรา ภาพของการทำร้ายกันภาพของการกระทำความผิดในกรณีต่าง ๆ
จากนั้นให้เด็ก ๆ ได้รับฟังพระวาจาของพระเจ้าเรื่องของศักเคียสคนบาปที่พระเจ้าทรงมีเมตตา และได้ให้อภัยบาปต่าง ๆ ของเขา
สุดท้ายให้พวกเขาได้เรียนรู้จากภาพและพระวาจาที่ว่าพระเยซูเจ้าในปัจจุบันนี้โดยผ่านทางพระสงฆ์ พระองค์ยังทรงให้อภัยบาปของเราทุกคนในศีลอภัยบาปเหมือนกับพ่อแม่ที่ให้อภัยลูก ลูกที่ให้อภัยพ่อแม่ เพื่อนให้อภัยเพื่อน
ภาพมีประโยชน์เพื่อการปลุกเร้าให้เกิดการตอบสนอง เมื่อเราใช้ภาพในการสอน ครูควรเตรียมคำถามเพื่อกระตุ้นเด็ก ๆ ให้ได้คิดตามตัวอย่างที่ให้ไว้นี้
คนในภาพนั้นกำลังทำอะไร – การกระทำของเขามีผลต่อคนรอบข้างของเขาอย่างไร – หรือคนในภาพนั้นจะทำอะไรต่อไป – เธอรู้สึกอย่างไรเมื่อมองดูภาพนี้แล้ว - เธอแน่ใจหรือไม่ว่าเธอจะไม่ทำตามแบบอย่างของคนในภาพที่เธอเห็น - เธอจะทำอะไรที่ดีงามหรือมีประโยชน์เช่นเดียวกับคนในภาพที่เธอเห็นได้ไหม – ให้เธอเล่าให้เพื่อนฟังถึงเรื่องที่เธอได้กระทำหรือไม่ได้กระทำเช่นคนในภาพนี้
ให้เราใช้ภาพเพื่อสร้างจิตสำนึกแห่งการแบ่งปันและการสร้างชีวิตกลุ่มในระหว่างเด็ก ๆ ที่เราสอนด้วย
ภาพมีพลังมากมาย ภาพช่วยเปิดหัวใจและให้ใจได้พูดอะไรบ้างอย่างกับพระเจ้า ภาพทางศาสนาเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยนำให้ทบทวนชีวิตตามความเชื่อและตอบสนองด้วยการภาวนา
การใช้ภาพเพื่อการรำพึง
ภาพและศิลปะต่าง ๆ ทั้งศิลปะศักดิ์สิทธิ์และศิลปะทั่วไปมีประโยชน์ต่อการภาวนาแบบรำพึงภาวนา เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยทำให้เด็กมีจิตใจจดจ่อซึ่งจะก่อให้เกิดการภาวนาอย่างลึกซึ้งได้ ครูควรเตรียมตัวโดยการเลือกภาพหรืองานศิลปะชิ้นหนึ่งชิ้นใดมาจัดแสดงไว้ต่อหน้าเด็ก ๆ หรือจัดวางไว้ในมุมภาวนาของห้อง
เมื่อเด็กนักเรียนเข้ามาในห้องครูควรเชิญชวนเด็ก ๆ ให้เข้ามายืนอยู่ใกล้ภาพหรือศิลปะนั้น ๆ ให้ทุกคนมองดูภาพนั้นอย่างเงียบ ๆ สักสองหรือสามนาที ชวนให้เด็ก ๆ ได้คิดหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการ มองภาพนั้น จากนั้นให้เด็ก ๆ ได้พูดกับพระเจ้าในใจเกี่ยวกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น บอกกับพระเจ้าว่า เขาได้เห็นอะไร เขารู้สึกอย่างไร และเขาได้คิดถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าจากภาพที่เขามองนั้นอย่างไรคุณครูลองนำไปใช้กับเด็ก ๆ ของครูดู การฝึกเด็ก ๆ เช่นนี้จะทำให้เด็กสามารถนิ่งภาวนาได้ ในปัจจุบันนี้เด็กไม่สามารถนิ่งได้เพราะไม่มีการฝึกอะไรเลย เด็ก ๆ จะวิ่งหนีไปดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมมากกว่าที่จะหยุดนิ่งเพื่อภาวนาต่อพระเจ้า ถ้าเราไม่ฝึกพวกเขาตั้งแต่เวลานี้แล้วเราจะฝึกเขาได้อีกเมื่อไร
การให้เด็กภาวนาด้วยภาพ-การผลิตภาพ
วิธีการสอนเด็กให้ภาวนาจากภาพและศิลปะนี้ ครูสามารถกระทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น ครูให้เด็กดูภาพแล้วให้พวกเขาภาวนาจากใจที่ได้เห็นภาพนั้น ๆ ออกมาดัง ๆ หรือครูอาจจะให้เขาเขียนคำภาวนาที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ได้จากการพิจารณาภาพนั้น เมื่อเขียนแล้วจึงมารวมกลุ่มกันภาวนาตามที่เขียนไว้นั้น หรือครูให้เด็กเลือกภาพจากหนังสือนิตยสารต่าง ๆ คนละภาพแล้วให้แต่ละคนเขียนคำภาวนาจากความรู้สึก จากนั้นให้ภาวนาแบบเร้าวิงวอนก็ได้
อีกวิธีหนึ่งซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการเตรียมมากกว่าคือการผลิต Power point เพื่อการภาวนา เช่น เราจะภาวนาบทวันทามารีอา ครูก็ใช้กล้องไปถ่ายรูปแม่พระในลักษณะต่าง ๆ มาฉายประกอบการภาวนาหรือการรำพึงเกี่ยวกับพระแม่มารีย์
ถ้าครูจะให้เด็กภาวนาอะไร ครูก็สามารถไปถ่ายภาพที่เกี่ยวข้องมานำเสนอหรืออาจจะให้เด็ก ๆ ได้ผลิตภาพเพื่อการภาวนาด้วยตัวของพวกเขาเอง
ครูอาจจะให้พระคัมภีร์ตอนใดตอนหนึ่งเป็นเนื้อหาหลัก แล้วให้พวกเด็กไปถ่ายภาพมาประกอบ หรือเลือกบทสดุดีหรือบทเพลงใดก็ได้แล้วหาภาพมาประกอบ จากนั้นเราก็นำมาภาวนาร่วมกันในห้อง
ข้อแนะนำในการใช้ภาพและศิลปะในการสอนคำสอนและการภาวนา
ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะสำหรับการใช้ภาพและศิลปะในการสอนคำสอนและการให้เด็ก ๆ ภาวนา
- ครูควรหาภาพหรือรูปศิลปะที่ดึงดูดจิตใจเก็บไว้ในคลังของครูเอง เวลาที่ครูเดินทางไปเที่ยวที่ไหนถ้ามีร้านขายภาพหรือขายโปสการ์ด ครูควรเดินไปดูและหาซื้อไว้เพื่อใช้ในการสอน หรือเมื่อครูอ่านหนังสือนิตยสารอะไรแล้วเห็นภาพดี ๆ มีความหมายให้ครูเก็บไว้หรือถ่ายเอกสารไว้
- พาเด็ก ๆ ไปชมศิลปะในห้องแสดงศิลปะหรือในงานแสดงศิลปะต่าง ๆ โดย
(1) ให้เด็กพิจารณาภาพนั้นอย่างเงียบแล้วให้ถามตนเอง 4 ข้อ คือ
ก. ฉันเห็นอะไร
ข. ฉันรู้สึกอย่างไร
ค. ฉันชอบอะไรในภาพนี้
ง. อยากจะบอกกับพระเจ้าว่าอย่างไร
ขณะที่พิจารณาภาพนั้นให้เด็ก ๆ ได้ภาวนาขอพระจิตเจ้าส่องสว่างจิตใจให้สามารถมองเห็นธรรมในภาพเหล่านั้น
(2) เสร็จแล้วให้เด็ก ๆ นั่งล้อมวงกันแล้วแบ่งปันสิ่งที่เขาเห็น ความรู้สึกที่เกิดขึ้น และสิ่งที่เขาชื่นชอบจากภาพที่เห็นนั้น และเรื่องที่เขาต้องการบอกให้พระเจ้าฟัง
(3) ครูอาจจะเพิ่มเติมความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาพนี้ เช่น สี เส้น ลาย ประวัติของผู้วาด ช่วงสมัยของผู้วาด และเกร็ดความรู้ต่าง ๆ ที่ครูได้ศึกษามาก่อน
(4) จากนั้นให้สวดภาวนาขอบพระคุณพระเจ้าพร้อม ๆ กัน อาจจะให้สวดภาวนาจากใจก็ได้
(5) สุดท้ายแจกภาพโปสการ์ด ภาพที่เราได้ดูกันเพื่อสะสมไว้เป็นที่ระลึก
ปิตาจารย์ยุคแรก ๆ ของพระศาสจักรชื่อ Cyril of Jerusalem ได้ให้ข้อสังเกตว่า “ความเชื่อจากการเห็นเข้มแข็งกว่าความเชื่อจากการได้ยิน” (Faith by seeing is stronger than faith by hearing)
สิ่งที่ควรคิด
1. ครูเคยมีประสบการณ์ในการภาวนาโดยใช้ภาพหรือศิลปะบ้างหรือไม่
2. ครูมีภาพอะไรที่ประทับใจบ้าง ภาพอะไรที่ทำให้ครูเกิดการภาวนาได้ดี
3. ครูเคยใช้ภาพในการสอนคำสอนหรือให้เด็ก ๆ ได้ภาวนาโดยใช้ภาพบ้างหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร
สิ่งที่ควรทำ
1. ให้ครูหาเวลาเพื่อการรำพึงต่อหน้ารูปศักดิ์สิทธิ์หรือศิลปะศักดิ์สิทธิ์
2. หาภาพสวย ๆ มาประดับห้องคำสอนหรือห้องเรียน สะสมภาพที่มีความหมายไว้ในอัลบัมเพื่อใช้ในการสอน
3. ให้เด็กสะสมภาพหรือตัดภาพที่มีความหมายใส่แฟ้มไว้หรือจัดการประกวดภาพที่มีความหมาย