บทที่ 3
พระเยซูคริสตเจ้าได้ทรงรับทรมานสมัยปอนทิอัส ปีลาตทรงถูกตรึงกางเขน ตาย และฝังไว้
43. เรื่องอะไรที่เป็นหัวใจของการประกาศพระวรสาร(571)
เรื่องความตายและการฟื้นคืนชีพของพระเยซูเจ้า
3.1พระเยซูเจ้าและอิสราเอล
44. อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระเยซูเจ้าถูกประหารชีวิต (576)
สาเหตุที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงถูกตัดสินประหารชีวิตคือ
1) คำสอนเรื่องพระธรรมบัญญัติ
2) คำสอนเรื่องพระวิหาร
3) คำสอนเรื่องพระเจ้า
45. พระเยซูเจ้าทรงมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องธรรมบัญญัติ (577)
พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงมาเพื่อลบล้างบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศกแต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้น
46. ชาวยิวไม่พอใจในคำสอนเรื่องพระบัญญัติของพระเยซูเจ้าในแง่ใด(579)
พระเยซูเจ้าทรงตำหนิการถือบทบัญญัติตามตัวอักษร แบบคนหน้าซื่อใจคต โดยขาดจิตตารมณ์ที่แท้จริง
47. พระเยซูเจ้าทรงมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องพระวิหาร (583)
พระเยซูเจ้าทรงมีความเคารพอย่างลึกซึ้งที่สุดต่อพระวิหาร ทรงขัดเคืองพระทัยที่เห็นบางคนมาใช้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นแหล่งค้าขาย
48. สาเหตุใดที่ชาวยิวคิดว่าพระเยซูเจ้าไม่เคารพพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ (585-586)
เพราะพระเยซูทรงทำนายล่วงหน้าถึงความพินาศของพระวิหาร ว่าจะราบเรียบไม่เหลือศิลาที่จะซ้อนทับกันอยู่เลย
49. สาเหตุใดที่ชาวยิวคือว่าพระเยซูเจ้าทรงดูหมิ่นพระเจ้า (589)
พระเยซูเจ้าได้ทรงทำให้คนอื่นขัดข้องใจ เพราะทรงแสดงพฤติกรรมทีเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาต่อคนบาป ทานอาหารร่วมกับคนบา ให้อภัยบาป ซึ่งชาวยิวถือว่าเป็นอำนาจของพระเจ้าเท่านั้นที่จะกระทำเช่นนี้ได้
3.2 พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงกางเขนจนสิ้นพระชนม์
50. ใครต้องรับผิดชอบในการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า (597-598)
ไม่มีใครต้องรับผิดชอบในความตายของพระเยซูเจ้า (ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชาวยิว ยูดาส หรือปีลาต) เพราะพระเยซูเจ้าได้ทรงให้อภัยแก่ทุกคนขณะที่พระองค์ทรงถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขนนั้น แต่เมื่อคำนึงถึงความจริง ที่ว่าบาปของเราเองทำร้ายพระคริสตเจ้า ดังนั้นแต่คริสตชนทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบในพระทรมานของพระเยซูเจ้าด้วย
51. การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า เป็นแผนการช่วยมนุษย์ให้รอด หมายความว่าอย่างไร(599,603-604)
ความตายของพระเยซูเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมล้ำลึกเรื่องการไถ่บาปของพระเจ้า มิใช่เป็นผลของความบังเอิญ พระเยซูเจ้าทรงยอมรับความผิดหรือบาปของเราไว้เอง และยอมรับความตายเพื่อไถ่โทษบาปของมนุษย์ทุกคน
52. การสิ้นพระชนม์เพื่อยกบาปมนุษย์ของพระเยซูเจ้าเป็นไปตามความในพระคัมภีร์ หมายความ
ว่าอะไร(601)
การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าได้มีการประกาศไว้ล่วงหน้าในพระคัมภีร์แล้ว ในฐานะที่เป็นธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่กู้จักรวาล กล่าวคือ เป็นการไถ่คืนหรือปลดปล่อยมนุษย์ทั้งหลายให้พ้นจากความเป็นทาสของบาป
53. นักบุญเปาโลได้พูดถึงแผนการไถ่กู้ของพระเจ้ากับบรรดาสานุศิษย์ไว้ว่าอย่างไร(602)
"ท่านได้รับการไถ่กู้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตอันไร้ค่า ที่สืบมาจากบรรพบุรุษ มิใช่ด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายได้เช่นเงินหรือทอง แต่ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระคริสตเจ้า ดังเช่นของลูกแกะไร้มลทินหรือจุดด่างพร้อย พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วตั่งแต่ก่อนสร้างโลก และได้ทรงเปิดเผยพระคริสตเจ้าเพื่อท่านทั้งหลายในวาระสุดท้าย" (1ปต.1:18-20)
54. พระเจ้าทรงสำแดงให้มนุษย์ได้เห็นแผนการแห่งความรักของพระองค์ด้วยการส่งพระบุตรลงมาชดเชยบาปให้กับมนุษย์ทุกคน ในเรื่องนี้พระเยซูเจ้าได้ทรงเตือนใจไว้แล้วในนิทานเปรียบเทียบเรื่องอะไรของพระองค์
ในตอนท้ายของเรื่องแกะที่หายไป "พระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์ก็เช่นกัน ไม่ทรงปรารถนาให้คนธรรมดา ๆ เหล่านี้แม้เพียงผู้เดียวต้องพินาศไป" (มธ.18:14)
55. พระเยซูเจ้าทรงยอมรับความตายเพื่อไถ่กู้มนุษย์ด้วยความเต็มใจหรือไม่(606-609)
พระเยซูเจ้าทรงมอบชีวิตเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาปโดยสมัครใจ เป็นดังลูกแกะปัสกา ซึ่งสัญลักษณ์แห่งการไถ่กู้ชาติอิสราเอลในครั้งแรก(อพย.12:3-14)
56. เหตุการณ์ใดที่แสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงยอมรับความตายเพื่อไถ่กู้มนุษย์อย่างอิสระ(610-611,616)
ในการเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย พระองค์ทรงตั้งศีลมหาสนิทเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเสียสละของพระองค์ (1คร.11:25) ในการเข้าตรีทูต ณ สวนเกทเสมนี พระองค์ภาวนาว่า "ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด" (มธ. 26:39) และบนกางเขน พระองค์ทรงทำให้การเสียสละของพระองค์สำเร็จบริบูรณ์
57. ทำไมพระศาสนจักรจึงแสดงความเคารพต่อไม้กางเขน(617)
เพราะอาศัยมหาทรมานอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน พระองค์ได้ทรงทำให้เราเป็นผู้ชอบธรรม ได้รับความรอดพ้นนิรันดร
58. คำสอนที่ว่า "จงแบกกางเขนของตน แล้วติดตามเรามา" หมายความว่าอะไร(618)
พระคริสตเจ้าทรงรับทรมานเพื่อเรา และประทานแบบฉบับไว้ให้เราดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของ
พระองค์(เทียบ 1ปต.2:21)
3.3พระเยซูคริสตเจ้าทรงถูกฝังไว้
59. ทำไมพระเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระเยซูเจ้าต้องมารับความตาย(624)
พระเจ้าให้พระเยซูเจ้าทรงลิ้มรสความตายเพราะต้องการให้เรามนุษย์ได้รับรู้ถึงสภาพความตาย สภาพการแยกจากกันระหว่างวิญญาณและกาย ในช่วงเวลาระหว่างชั่วขณะที่ทรงสิ้นลมปรานบนไม้กางเขน และชั่วขณะที่ทรงฟื้นคืนพระชนม์
60. การประทับอยู่ในพระคูหามีความหมายอะไร(625)
เป็นการแสดงถึงการเชื่อมโยงอย่างแท้จริงระหว่างสภาพการรอชั่วคราวของพระคริสตเจ้าก่อนปัสกา กับสภาพอันเปี่ยมด้วยสิริรุ่งโรจน์ในปัจจุบันขององค์ผู้ฟื้นคืนชีพ ว่าเป็นพระบุคคลผู้ทรงชีวิตเดียวกัน
61. ร่างกายของพระเยซูเจ้าต้องเน่าเปื่อยไปเพราะความตายหรือไม่(627)
ร่างกายของพระเยซูเจ้าไม่เน่าเปื่อย เพราะความตายไม่สามารถยึดพระองค์ไว้ใต้อำนาจของมันได้(เทียบ กจ.2:24)
62. ศีลล้างบาปเปรียบกับความตายของพระเยซูเจ้าอย่างไร(628)
ในพิธีศีลล้างบาปนั้น การจุ่มลงในน้ำหมายถึงการลงสู่หลุมศพอย่างจริงจังของคริสตชน ซึ่งตายจากบาปร่วมกับพระคริสต์ เพื่อเข้าสู่ชีวิตใหม่