ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

วิธีเสริมสร้างคุณธรรม
(5 ขั้นตอน เพื่อการเสริมสร้างคุณธรรมให้นักเรียน)

          ดร.ไมเคิ้ล โบร์บา นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญเรื่องชีวิตครอบครัวได้ให้แนวทางในการเสริมสร้างคุณธรรมให้นักเรียนไว้ 5 ประการ ซึ่งข้อแนะนำของท่านได้เริ่มโดยให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กบางประการ เช่น ผู้ใหญ่ร้อยละ 60 เชื่อว่า ความล้มเหลวในเรื่องการรู้คุณค่าของคุณธรรมเป็นปัญหาสำคัญของชาติ(อเมริกา) กว่าสองทศวรรษมาแล้วที่ชีวิตด้านคุณธรรมของเด็ก ๆ เริ่มลดน้อยลง ชาวอเมริกันร้อยละ 72 กล่าวว่าคุณค่าทางศีลธรรม “กำลังเสื่อมถอยลง” นักศึกษาจำนวนมากในวิทยาลัยกล่าวว่า “จำเป็นต้องคดโกงเพื่อความก้าวหน้า” และ ร้อยละ 70 ยอมรับเรื่องการคดโกง จึงไม่แปลกใจ ที่พฤติกรรมการคดโกงเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นการใช้เหตุผลเชิงศีลธรรมที่พบมากที่สุดในหมู่นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ให้ความสนใจเรื่องของตนเองมากกว่าความถูกต้องหรือสิทธิของผู้อื่น


            ดร.ไมเคิ้ล โบร์บา ได้ยกตัวอย่างพฤติกรรมที่บกพร่องของเด็กที่ทำไปโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องหนึ่งว่า
           คุณครูท่านหนึ่งได้อ่านรายงานพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของอัลเฟรด เพราะนี่เป็นครั้งที่สามแล้วในรอบสัปดาห์ที่เขาทำผิดซ้ำเดิม “อัลเฟรด เธอไม่สามารถเลิกพูดว่าร้ายคนอื่นได้” “เธอต้องเริ่มให้ความเคารพคนอื่นให้มากกว่านี้” “ผมจะพยายาม” เขาตอบคุณครูด้วยความเสียใจ “เพียงแต่ว่าผมไม่รู้ว่า การให้ความเคารพคนอื่นหมายความว่าอย่างไร”

            คุณครูทุกแห่งต่างกังวลว่า ลูกศิษย์ของตนไม่รู้คุณค่าของคุณธรรม ผลก็คือ มีนักเรียนจำนวนมากที่ล้มเหลวในการเรียนรู้วิชาที่สำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิต นักจิตวิทยาบอกเราว่าวิธีการหนึ่งที่นักเรียนสามารถเรียนรู้คุณธรรมก็คือ การเฝ้าดูการกระทำที่ถูกต้องจากผู้อื่น ลองนึกถึงเด็ก ๆ ของเราในปัจจุบันที่เฝ้าดูโทรทัศน์ทุกวัน พวกเขาเห็นตัวอย่างของนักกีฬาที่มีปฏิกิริยาหยาบคายต่อกรรมการ นักมวยที่กัดหูคู่ต่อสู้ การใช้ดาราที่เด็ก ๆ ชื่นชอบมาปรากฏตัวด้วยเครื่องแต่งกายและอากัปกิริยาต่าง ๆ ในระหว่างการแข่งขันเพื่อดึงดูดความสนใจ เรามีตัวอย่างของนักการเมือง หรือแม้แต่เรื่องไม่ดีที่เกี่ยวข้องในสังคมและศาสนา ให้เราถามตนเอง “ลูกศิษย์ของเราสามารถเรียนรู้คุณธรรมจากบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้ได้บ้างไหม” คำตอบก็คือ "ยาก"

            บทบาทของต้นแบบที่มีไม่เพียงพอไม่ได้เป็นเหตุผลที่ทำให้การพัฒนาคุณธรรมของคนในปัจจุบันลดลง ดร.โทมัส ลิซโกนา ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับคุณธรรมได้ประเมินแนวโน้ม 10 ประการของสังคมที่มีผลทำให้ชีวิตคุณธรรมของเยาวชนลดลง ได้แก่ ความรุนแรงและการชอบทำลายล้าง การขโมย การคดโกงหลอกลวง การไม่เคารพผู้ใหญ่ ความโหดร้ายต่อเพื่อน ความมุทะลุดัน การใช้คำพูดที่เลวร้าย ความกล้าแกร่งเกินอายุทางเพศและการละเมิดทางเพศ การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางที่เพิ่มมากขึ้นและการลดลงของความรับผิดชอบในฐานะพลเมือง และการทำร้ายตนเอง แน่นอนยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้เยาวชนของเราขาดคุณธรรมหรือคุณลักษณะที่จำเป็น

โรงเรียน : ความหวังสุดท้ายของเรา
            ความจริงที่ว่าโรงเรียนเป็นความหวังที่ดีที่สุดของการเสริมสร้างคุณธรรมหรือคุณลักษณะที่ดีให้กับนักเรียนของเรา จะมีสถานที่ไหนอีกเล่า? ที่จะมีโอกาสเข้าใจคุณค่าของคำว่า “รับผิดชอบ” หรือ “ความห่วงใย” หรือ “ความเคารพ” หรือ “ความร่วมมือ” จะมีที่ไหนอีกเล่า? ที่พวกเขาจะมีโอกาสใกล้ชิดบุคคลต้นแบบในคุณธรรมที่เหมาะสม จะมีสถานที่ไหนอีกเล่า? ที่นักเรียนจะได้รับการเอาใจใส่และเรียนรู้คุณธรรมที่ชัดเจนเช่นนี้

ดังนั้นเราจะช่วยให้นักเรียนของเราได้พัฒนาคุณธรรมที่เข้มแข็งได้อย่างไร? ขอให้เราเริ่มด้วยความเชื่อที่ว่า "คุณธรรม คุณลักษณะ หรือนิสัยใจคอ เรียนรู้กันได้" ดังนั้นจึงสอนกันได้ หมายความว่านักการศึกษาหรือผู้ให้การอบรมมีอำนาจที่ยิ่งใหญ่เพราะพวกเขาสามารถสอนหรือฝึกอบรมลูกศิษย์ให้มีคุณลักษณะที่สำคัญ ๆ ได้ และเราจะสร้างคุณลักษณะของลูกศิษย์ของเราด้วยขั้นตอนที่สำคัญได้อย่างไร โปรดระลึกไว้เสมอว่าเป้าหมายคือ เพื่อให้ลูกศิษย์มีคุณลักษณะที่ฝังแน่นอยู่ภายในเพื่อจะได้ติดตัวเขาไปจนตลอดชีวิต

 

ขั้นที่ 1 เน้นคุณธรรมหรือคุณลักษณะสำคัญหนึ่งประการ

ขั้นที่ 1 เน้นคุณธรรมหรือคุณลักษณะสำคัญหนึ่งประการ
จากตัวอย่างของโรงเรียนแคนเทอเบอรี่รัฐฟลอริดา

            ขั้นแรกของการเสริมสร้างคุณธรรมหรือคุณลักษณะใหม่ประการใดก็ตาม คือ การตัดสินใจเลือกเรื่องที่สำคัญหรือจำเป็นมากที่สุด เป็นคุณธรรมหรือคุณลักษณะที่ท่านรู้สึกว่าจำเป็นต่อการพัฒนาลูกศิษย์ของท่าน หรือที่ท่านคิดว่าเมื่อลูกศิษย์ของท่านจบจากโรงเรียนของท่านไปแล้วจะช่วยให้พวกเขาได้ก้าวหน้าประสบผลสำเร็จในชีวิต

           โรงเรียนแคนเธอเบอร์รี่ได้กำหนด “คุณลักษณะของผู้ที่จะจบจากโรงเรียน” โดยจัดทำคู่มือและพิมพ์ติดในสถานที่ที่ทุกคนเห็นได้ชัด คุณลักษณะที่พึงประสงค์นี้จะเป็นแนวทางเพื่อโปรแกรมการศึกษาอบรมต่าง ๆ ของโรงเรียน

             เมื่อท่านได้เลือกคุณธรรมหรือคุณลักษณะที่เน้นให้เข้ากับนักเรียนได้แล้ว ในหลาย ๆ โรงเรียนได้เน้นคุณธรรมหรือคุณลักษณะประการหนึ่งสำหรับรณรงค์ให้ทุกคนปฏิบัติในแต่ละเดือน การปฏิบัติในขั้นตอนแรกสามารถกระทำได้ตามนี้ เมื่อทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และเสริมแรงให้เห็นความจำเป็นและความสำคัญของคุณธรรมหรือคุณลักษณะนั้นแล้ว ในฐานะที่เป็นคุณลักษณะใหม่ จึงต้องแนะนำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ โดยให้มีนักเรียนเป็นคณะกรรมการเพื่อการรณรงค์ ซึ่งอาจจะออกแบบป้ายประชาสัมพันธ์ เครื่องหมาย บทเพลง และโปสเตอร์ที่ดึงดูดใจแล้วนำติดตามสถานที่ต่าง ๆ รอบ ๆ โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับรู้และกระตุ้นให้ปฏิบัติตาม

            มีคุณคุณธรรมหรือคุณลักษณะมากกว่า 400 ชนิดที่เป็นที่รับรู้กันตลอดมา ดังนั้นจึงควรเลือกสักหนึ่งคุณลักษณะเพื่อนำมาเป็นบทเรียนของท่าน รวมถึงคุณลักษณะหรือคุณธรรมที่พึงประสงค์ที่โรงเรียนได้กำหนดไว้ด้วย ตัวอย่าง เช่น 
            ความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเห็นอกเห็นใจ ความห่วงใยเอาใจใส่ ความเคารพ ความรับผิดชอบ ความรู้จักควบคุมตนเอง ความเป็นพลเมือง ความร่วมมือ ความกล้าหาญ ความจริงใจ พึ่งพาอาศัยได้ การใส่ใจ ความเป็นธรรม การให้อภัย การเป็นมิตร ความเอื้ออาทร ความกตัญญู อารมณ์ขัน ความคิดริเริ่ม บูรณาการ ความร่าเริง ความใจดี ความจงรักภักดี ความรู้จักประมาณตน การมองในแง่ดี สันติสุข ความขยันหมั่นเพียร ความรอบคอบ ความเชื่อถือได้ ความเคารพ การมีวินัยในตนเอง การไวต่อความรู้สึก ความจริงใจ ความอดกลั้น ความเข้าใจ ความไม่เห็นแก่ตัว ความหนักแน่น ความมีวินัย ความสงบ ความฉลา

            จงเลือกคุณลักษณะที่จะช่วยลูกศิษย์ของท่านให้ประสบความสำเร็จในโรงเรียนและในชีวิต โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างสมดุลคุณธรรมที่หล่อเลี้ยงศีลธรรมที่เกิดขึ้นกับหัวใจ (ความเห็นอกเห็นใจ ความใจดี ใฝ่สันติ ความยุติธรรม ความอดทน ความเห็นอกเห็นใจ) และคุณธรรมที่ส่งเสริมการกระทำ (เช่น ความขยันหมั่นเพียร การควบคุมตนเอง ความหนักแน่น) เราต้องให้คุณธรรมหรือคุณลักษณะเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในปฏิภาณของโรงเรียนและระเบียบของห้องเรียน

วิธีการง่าย ๆ ที่จะส่งเสริมคุณธรรมหรือคุณลักษณะให้ลูกศิษย์ของท่าน

“โปสเตอร์คุณธรรม”
           ให้นักเรียนได้ทำโปสเตอร์เกี่ยวกับคุณธรรมนั้น แล้วนำไปติดไว้ทุกสถานที่ให้ทุกคนเห็นได้ชัดเจน ติดไว้อย่างน้อยหนึ่งเดือน เช่น “ความรับผิดชอบ หมายความว่า ฉันจะทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จอย่างถูกต้อง และฉันเป็นคนที่ไว้วางใจได้”

 “การประชุมคุณธรรม”
           โรงเรียนหลายแห่งได้นำเสนอคุณธรรมหรือคุณลักษณะในการประชุมใหญ่ของโรงเรียน โดยให้ทีมงานอธิบายหรือนำเสนอคุณธรรมด้วยการแสดงสั้น ๆ ที่เกี่ยวกับคุณธรรมนั้น ถ้าท่านใช้โอกาสเช่นนี้ท่านจะต้องทำการนำเสนอที่มีความหมายและน่าสนใจร่วมกับลูกศิษย์ของท่านด้วย ท่านอาจจะใช้รูปภาพประกอบการนำเสนอเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น อีกตัวอย่างหนึ่งของโรงเรียนแห่งหนึ่งได้เลือกคุณธรรมประจำเดือนของโรงเรียนคือ “ความกล้าหาญ” ทีมงานได้ให้นักเรียนแต่ละคนเขียนข้อตั้งใจซึ่งเป็นเสมือนคำมั่นสัญญาว่าจะนำไปปฏิบัติแล้วติดไว้ที่บอร์ด โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งในไทเปให้นักเรียนขึ้นเวทีเพื่อรับเครื่องหมายเป็นเกียรติแก่ในฐานะที่มีความ “ซื่อสัตย์” นักเรียนประถมศึกษาจากเมืองมินนีอาโพลีสใช้วิธีให้นักเรียนแสดงบทบาทสมมุติเพื่อให้นักเรียนคนอื่น ๆ เข้าใจเรื่อง “ความกล้าหาญ”

“ประชาสัมพันธ์ทางหน้าจอสกรีนเซฟเวอร์”
            แต่ละวันทีมงานหรือนักเรียนเขียนประโยคสั้นๆ บรรยายถึงประโยชน์ของคุณธรรมไว้ตรงกลางของจอสกรีนเซฟเวอร์ ทุกครั้งที่แต่ละคนใช้คอมพิวเตอร์ สิ่งแรกที่พวกเขาจะเห็นก็คือข้อความที่บอก ตัวอย่างเช่น “เดือนนี้เป็นเดือนของความขยันหมั่นเพียร จงจำไว้ว่าจงทำงานหนักและอย่ายอมแพ้” ส่วนนักเรียนของกองทัพสหรัฐฯที่ตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองวิเซนซ่า อิตาลี ได้จัดทำป้ายประกาศสุดอลังการเป็นหัวข้อการปฏิบัติคุณธรรมประจำเดือนติดไว้บนจอ LED ขนาดใหญ่ด้านหน้าของโรงเรียน

“ประกาศคุณธรรม”
            คุณครูหลายท่าน (หลายโรงเรียน) ใช้เวลาเริ่มต้นของแต่ละวันด้วยการประกาศคุณธรรมต่อหน้านักเรียน โดยทีมงานให้นักเรียนที่ได้รับคัดเลือกหรือจับสลากชื่อหรือมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งเลือกคุณธรรมใดประการหนึ่งเพื่อประกาศด้วยเสียงดังต่อหน้าเพื่อน ๆ

ขั้นที่ 2 สอนความหมายของคุณธรรมหรือคุณลักษณะ

ขั้นที่ 2  สอนความหมายของคุณธรรมหรือคุณลักษณะ
            ขั้นตอนที่สอง การสอนคุณธรรมหรือคุณลักษณะ คือ การให้นักเรียนได้รู้ความหมายที่แท้จริงของคุณธรรมประการนั้น ๆ และรู้เหตุผลว่าทำไมจึงมีความสำคัญที่จะต้องเรียนรู้ อธิบายให้นักเรียนเข้าใจโดยให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ใกล้ตัวของพวกเขา อย่านึกว่าพวกเขารู้แล้ว มีหลายคนยังไม่รู้หรือยังไม่นึกคิด

ตัวอย่างวิธีการบางประการที่จะช่วยทำให้นักเรียนได้ฝึกฝนคุณธรรมใหม่

“วรรณกรรมคุณธรรม”
         ทีมงานอภิบาลอาจจะเลือกหนังสือที่ส่งเสริมคุณธรรมหรือคุณลักษณะที่ต้องการเสริมสร้างให้นักเรียนได้อ่าน จากนั้นให้ถามนักเรียนว่า “จากเรื่องที่อ่านได้แสดงให้เห็นคุณธรรมประการนั้นอย่างไร” “เธอรู้สึกอย่างไรเมื่อคนได้ปฏิบัติตามคุณธรรมนั้น ๆ” หรือ “คุณธรรมนั้นมีประโยชน์อะไร” ตัวอย่างเช่น โรงเรียนเซนต์แอนในแอนนาโพลิส คุณธรรมประจำเดือนคือ “ความเห็นอกเห็นใจ” บนบอร์ดของโรงเรียนทีมงานได้นำหนังสือที่เสริมสร้างคุณลักษณะความเห็นอกเห็นใจมานำเสนอให้นักเรียนได้ไปหามาอ่านเพื่อช่วยในการสอนเรื่องคุณธรรมได้น่าสนใจและง่ายยิ่งขึ้น

“ข่าวคุณธรรม”
          ให้นักเรียนได้รวบรวมบทความหรือข่าวที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมหรือคุณลักษณะที่ต้องการ โดยแต่ละวันทีมงานอาจจะเกริ่นนำถึงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นแล้วให้นำเสนอบทความหรือข่าวที่นักเรียนหาได้มายืนยันถึงคุณค่าและคุณประโยชน์หรือผลเสียที่เกิดขึ้นจากการมีหรือการขาดคุณธรรมนั้น ๆ นักเรียนอาจจะหาบุคคลที่เป็นวีรบุรุษในคุณธรรมต่างๆ มาติดไว้ที่บอร์ดเพื่อให้เพื่อน ๆ ได้เห็นด้วยก็ได้

“เชิดชูคุณธรรม”
           เมื่อไรก็ตามที่ท่านเห็นหรือได้ยินว่านักเรียนคนใดได้กระทำความดีหรือคุณธรรมที่ได้เลือกไว้ ใช้จุดนั้นเพื่อเป็นแบบอย่างหรือนำเสนอสิ่งที่เด็กคนนั้นได้กระทำ “อเล็ก เธอทำดีมาก เธอได้แสดงความเคารพโดยรอจนกว่าครูพูดจบก่อนแล้วเธอจึงพูดแสดงความคิดเห็น”

“แบ่งปันความรู้สึก”
          นักเรียนต้องการได้ยินความรู้สึกของท่านว่าคุณธรรมนั้นมีความสำคัญอย่างไรกับตัวท่านเอง ถ้าท่านได้รับการเคารพ ท่านอาจจะบอกนักเรียนว่าท่านรู้สึกดีอย่างไรที่เห็นว่าพวกเขาไม่พูดว่าร้ายต่อกันหรือพูดในแง่ลบทั้งเรื่องของตนเองและของผู้อื่น

“ผู้สืบข่าวคุณธรรม”
           ให้นักเรียนมองหาเพื่อน ๆ ที่ปฏิบัติตามคุณธรรม แล้วนำมารายงานในห้องเรียนว่าเพื่อนคนนั้นได้ปฏิบัติคุณธรรมนั้นอย่างไร และเกิดผลอย่างไรทั้งของตนเองและผู้อื่น

ขั้นที่ 3 สอนว่าคุณธรรมนั้นเหมือนหรือคล้ายกับอะไร

ขั้นที่ 3 สอนว่าคุณธรรมนั้นเหมือนหรือคล้ายกับอะไร
“สอนคุณธรรมให้เหมาะกับวัยของเด็ก”

            ไม่มีวิธีการสอนคุณธรรมอะไรที่ดีที่สุด แต่การวิจัยเรื่องทักษะการสอนสมัยใหม่กล่าวว่า "การบอกว่านักเรียนควรประพฤติอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับการปฏิบัติให้เห็นจริง ท่านจะทำให้เกิดความแตกต่างที่สำคัญโดยการเป็นต้นแบบคุณธรรมนั้น และทำบทเรียนให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"

ขอนำเสนอ 3 วิธีการ ดังนี้

“บทบาทสมมุติคุณธรรม”
         ครูบางท่านพบว่าการใช้บทบาทสมมุติมีประโยชน์ช่วยทำให้นักเรียนเข้าใจว่าคุณธรรมคืออะไร เป็นวิธีง่าย ๆ ที่แสดงให้พวกเขาเข้าใจว่าคุณธรรมนั้นเป็นอย่างไร

“ละครสั้นคุณธรรม”
         นักเรียนสามารถสร้างละครสั้นเกี่ยวกับคุณธรรมและแสดงให้เพื่อนได้ชม อาจจะแสดงต่อหน้าที่ประชุมใหญ่หรือแสดงแต่ละห้องก็ได้ เมื่อแสดงจบแล้วให้มีการพูดคุยแสดงความคิดเห็นกันว่าได้เรียนรู้คุณธรรมนั้นอย่างไร

“รูปภาพคุณธรรม”
         หาภาพถ่ายที่เกี่ยวกับคุณธรรมหรือถ่ายภาพพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นคุณธรรมนั้น นำมาขยายให้ใหญ่ แล้วนำไปติดบอร์ดเพื่อเตือนใจและกระตุ้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติตนตามคุณธรรมนั้น

“สอนคุณธรรม ให้เป็นกิริยา ไม่ใช่คำนาม”

          ให้เลือกคุณธรรมประการหนึ่งแล้ว นำมาพิจาณาเพื่อฝึกอบรมนักเรียน นำคุณธรรมนั้นมาทำเป็นโปสเตอร์และให้อยู่ในหัวใจของนักเรียน โดยให้คุณธรรมนั้นอยู่ในรูปของกิริยา (VERB) ไม่ใช่คำนาม (Noun) เช่น โปสเตอร์ที่เกี่ยวกับการสอนคุณธรรมเรื่อง “การควบคุมตนเอง” บางโรงเรียนนำไปพิมพ์ให้สวยงามด้วยถ้อยคำที่กินใจ ทำเป็นแม็กเน๊ตติดแม่เหล็กแล้วให้นักเรียนแต่ละคนนำกลับไปติดที่ตู้เย็นที่บ้านเพื่อให้พ่อแม่พี่น้องที่บ้านมีส่วนร่วม หรือให้ทุกห้องเรียนทำเป็นโปสเตอร์ขนาดใหญ่ติดไว้เพื่อกระตุ้นเตือนใจนักเรียนในห้อง หรือให้นักเรียนทุกคนทำโปสเตอร์ขนาดเล็ก ๆ ติดไว้ประจำโต๊ะของตนเอง และให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติคุณธรรมนั้นเป็นเวลาหนึ่งนาทีของการเริ่มและการจบในแต่ละวัน นี่เป็นการให้นักเรียนได้เรียนการมีวินัยด้วยตนเองด้วย

คุณธรรมจะต้องถูกสอนให้เป็นนิสัย หรือเป็นทักษะชีวิต
ความกล้าหาญ ทำอย่างไรเพื่อจะแสดงความกล้าหาญ
ความเคารพ เราจะใช้คำพูดหรือส่งข้อความที่แสดงความเคารพได้อย่างไร
ความใจดี ให้ด้วยความจริงใจได้อย่างไร
ความยุติธรรมหรือความชอบธรรม ทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือฟื้นฟูความเป็นธรรมกลับมา
การควบคุมตนเอง จึงจะจัดการความโกรธหรือทำอารมณ์ให้สงบลงได้อย่างไร

ขั้นที่ 4 สร้างโอกาสเพื่อการปฏิบัติคุณธรรม

ขั้นที่ 4 สรัางโอกาสเพื่อการปฏิบัติคุณธรรม

การศึกษาคุณธรรมเป็นเรื่องของทุกคนในโรงเรียน

          โดยทั่วไปแล้วนักเรียนทุกคนจะต้องได้รับโอกาสให้ฝึกฝนคุณธรรมใหม่ ๆ ทฤษฎีการเรียนรู้สอนเราว่าโดยทั่วไปแล้วต้องใช้เวลา 21 วันเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมหรือทักษะใหม่ นี่เป็นกฎที่ต้องจดจำไว้เมื่อท่านต้องใช้กิจกรรมนี้เพื่อฝึกฝนศิษย์ของท่าน ต่อไปนี้เป็นกิจกรรมเสนอแนะ 3 กิจกรรมเพื่อช่วยลูกศิษย์ท่านให้ก้าวหน้าในคุณธรรมที่ต้องการ

“คลิปคุณธรรม”
         นักเรียนสามารถตรวจสอบความก้าวหน้าของพวกเขาโดยทางคลิปวีดีโอที่นำเสนอคุณธรรมนั้น ๆ โดยให้ดูคลิปแล้ววิเคราะห์ร่วมกัน จากนั้นให้ส่งคลิปบทเรียนคุณธรรมนั้นไปให้พ่อแม่ของเขาด้วย เพื่อจะให้พวกท่านได้รับรู้และช่วยกวดขันหรือสนับสนุนให้ลูก ๆ ได้ฝึกปฏิบัติคุณธรรมนั้นไปพร้อมๆ กันด้วย

“บันทึกผลการไตร่ตรอง”
         นักเรียนสามารถประเมินผลตนเอง หรือไตร่ตรองชีวิตของตนเองอย่างต่อเนื่องด้วยการเขียนบันทึกสิ่งที่เขาได้กระทำตามคุณธรรมนั้นทุกวัน จะส่งผลดียิ่งขึ้น ถ้าในนาทีแรกของทุกชั้นเรียนครูอาจจะให้นักเรียนออกมาอ่านสิ่งที่ได้เขียนโดยเลือกสิ่งที่เขา “ทำได้ดีที่สุด” ให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ และเมื่อจบวันให้พวกเขาได้ประเมินผลหรือทำไตร่ตรองชีวิตของตนเองว่าได้ปฏิบัติคุณธรรมนั้นได้อย่างดีหรือไม่อย่างไร ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือให้นักเรียนได้ปฏิบัติคุณธรรมเดิมเป็นเวลา 21 เพื่อความสำเร็จสูงสุด

“การบ้านคุณธรรม”
          ครูอาจจะมอบหมายคุณธรรมนั้นให้นักเรียนนำไปปฏิบัติที่บ้านและให้บันทึกความพยายามและผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติลงในสมุดบันทึก

ขั้นที่ 5 ให้เสียงสะท้อนกลับอย่างมีประสิทธิภาพ

ขั้นที่ 5 ให้เสียงสะท้อนกลับอย่างมีประสิทธิภาพ
          ขั้นตอนสุดท้ายในฝึกฝนคุณธรรมคือ การเสริมกำลังใจเรื่องที่ถูกต้องและสะท้อนกลับพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม จงกระทำเพื่อช่วยให้นักเรียนได้มีความกระจ่างในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำลงไป “สิ่งที่เธอทำนั้น ถูกต้องแล้ว จงทำต่อไปนะลูก” หรือ “เกือบดีแล้วล่ะ ถ้าเธอทำแบบนี้แทนจะดีกว่า” จัดการนักเรียนที่ประพฤติผิดก่อนที่พวกเขาจะมีนิสัยที่ผิด ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้เปลี่ยนแปลงคุณธรรมที่เป็นเชิงบวกมากขึ้น

ต่อไปนี้ขอเสนอวิธีการสะท้อนกลับที่มีประสิทธิภาพบางประการ

“วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์”
         ถ้าความประพฤติของนักเรียนถูกต้อง ให้บอกพวกเขาทันทีว่า “ดีมาก เธอได้ทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว” ถ้าพฤติกรรมไม่ถูกต้อง บอกพวกเขาว่าทำอย่างไรเพื่อให้ถูกต้อง “สิ่งที่เธอทำนั้นยังไม่ถูกต้องนัก ครั้งต่อไปเธอควรทำอย่างนี้จะดีกว่า”

“แก้ให้ตรงจุด” นักเรียนจะได้รับประโยชน์จากการแก้ไขพฤติกรรมนั้นทันที

“ส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก”
       หาโอกาส “ให้เขาทำสิ่งที่ถูกต้อง” เมื่อท่านเสริมกำลังการปฏิบัติคุณธรรมที่เหมาะสมถูกต้องของนักเรียน พวกเขามักจะชอบที่จะปฏิบัติสิ่งนั้นอีกเรื่อย ๆ หรือกระทำซ้ำ ๆ ต่อไป

“ผู้ให้การอบรมสร้างความแตกต่างได้”

“ผู้ให้การอบรมสร้างความแตกต่างได้”
            เนื่องจากจำนวนนักเรียนที่ขาดการพัฒนาคุณธรรมที่ต่อเนื่องมั่นคงจริงจังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นความจำเป็นที่ทุกโรงเรียนจะต้องร่วมมือกันในการให้การอบรมสั่งสอนเรื่องคุณธรรมอย่างต่อเนื่อง โปรดจำไว้ว่า การฝึกฝนคุณธรรมที่ดีที่สุดนั้นจะต้องถูกบรรจุอยู่ในแผนการเรียนการสอนของท่าน ซึ่งมีวิธีการมากมาย เช่น วรรณกรรม หนังสือ วีดีโอ คลิป เพลง คำขวัญ หัวข้อข่าว และบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณลักษณะหรือคุณธรรมที่ดี

           วิธีที่ควรกระทำเพื่อการพัฒนาคุณธรรมให้นักเรียนของท่านคือ การเลือก "คุณธรรมประจำเดือน" การทำเช่นนี้จะทำให้นักเรียนพัฒนาคุณธรรมได้แข็งแกร่ง ซึ่งพวกเขาจะนำใช้ไม่เพียงแต่เวลาที่อยู่ในโรงเรียนหรือในเวลานี้เท่านั้น แต่เขาจะนำไหใช้ได้ตลอดชีวิตของเขา เหนือสิ่งอื่นใด อย่าลืมว่าตัวท่านเองมีผลต่อการพัฒนาคุณธรรมของนักเรียนของท่าน “ท่านสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์