บทเทศน์เรื่อง "สันติภาพกับความรุนแรง"
ประเทศไทยกำลังมีปัญหา คำสอนเรื่องสันติภาพและความรุนแรงเป็นอย่างไร เราคาทอลิกควรมีหลักการเพื่อยึดไว้เป็นแนวทางในการวินิจฉัยเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้อย่างไร
ก่อนอื่นเราพิจารณาพระวาจาของพระเจ้าในบทพระวรสารของยอห์น 14:27 ที่ว่า
“เรามอบสันติสุขไว้ให้ท่านทั้งหลาย เราให้สันติสุขของเรากับท่าน เราให้สันติสุขกับท่านไม่เหมือนที่โลกให้ ใจของท่านอย่าหวั่นไหว หรือมีความกลัวเลย”
สันติสุข หมายถึงอะไร
สันติสุขไม่ได้หมายถึงไม่มีปัญหาอะไรกัน หรือมีความสุขตลอดเวลา ไม่มีความขัดแย้ง ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เราไม่มีความสุขเลย
สันติสุขที่พระเจ้าประทานให้นี้เป็นทางเลือก ที่ต้องสร้างขึ้นทุกวัน ต้องเกิดจากภายในและส่งผลออกมาภายนอก
สันติสุขมีหลายประเภท ภายใน ครอบครัว สังคม ระหว่างประเทศ ธรรมชาติ
เอกสารของพระศาสนจักร ชื่อ “พระศาสนจักรในเอเชีย” ข้อที่ 6 ระบุว่าทวีปเอเชียของเรานั้นมีวัฒนธรรมแห่งความเป็นกลมกลืน ศาสนาในเอเชียสามารถนำสันติภาพสู่โลกได้
เมื่อเราพิจารณาถึงสาเหตุของความขัดแย้งหรือการทำลายสันติภาพในสังคม เราสามารถสรุปได้ 5 ประการ คือ
1. ความโลภในอำนาจ : ความโลภเป็นผลของบาปกำเนิด แม้แต่อัครสาวกยังเถียงกันว่าใครจะเป็นใหญ่กว่ากัน ในครอบครัวก็เช่นกัน ใครจะมีอำนาจเหนือใคร แม้กระทั่งเรื่องทางเพศ การที่มีการข่มขืนกันนั้นสาเหตุหนึ่งก็ต้องการแสดงอำนาจเป็นใหญ่ หรือไม่ก็เก็บกดอันเนื่องมาจากปมด้อยอะไรบางอย่างจึงแสดงอาการก้าวร้าวหรือมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมออกมา และเพื่อได้อำนาจมาจึงต้อง
• แบ่งพวก มีพรรคมีพวก
• แข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม
• ใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้อำนาจนั้นมา
• หาเหตุผลเพื่อความชอบธรรมของตนเอง เข้าข้างตนเอง โทษคนอื่น ด่าว่าคนอื่น หาเรื่องว่าคนอื่นเลว ส่วนอีกฝากหนึ่งก็หาเหตุผลเพื่อว่าฝ่ายตรงกันข้ามเช่นเดียวกัน
• ใช้วิธีโกหก ป้ายสีกัน ป้อนข้อมูลปลอมเพื่อสนับสนุนฝ่ายของตนเอง และทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงกันข้าม
2. เงิน : เงินคืออำนาจ ใครมีเงินคนนั้นมีอำนาจ ประเทศที่ร่ำรวย 7 ประเทศเป็นกลุ่มประเทศที่คุมกลไกทุกอย่างในโลก ยิ่งมีเงินเท่าไรยิ่งมีอำนาจมาก ดังนั้นคนจึงแสวงหาเงินโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ไม่คิดถึงคนอื่น
3. ผู้มีกำลัง/อาวุธ : ผู้ที่มีอิทธิพล ผู้ถืออาวุธ ผู้ก่อการร้าย
4. กฎหมาย : ถ้าทุกคนตกลงกันได้ มีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย มีศาล แล้วทุกคนปฏิบัติตามก็จะไม่มีความขัดแย้งกัน แค่ถ้าผู้ออกกฎหมายหรือผู้รับผิดชอบอื่นๆไม่ตรง ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
5. มโนธรรม : เมื่อทุกอย่างดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผล เราจึงต้องหันมาดูบทบาทของศาสนา คือ ยึดมโนธรรมของเราเป็นหลัก มโนธรรมเป็นพื้นฐานของสังคม ที่ทำให้เราสำนึกในหน้าที่ เคารพสิทธิของผู้อื่น ใจของเราทุกคนต้องการความสงบและสันติ เมื่อเราต้องการแล้วเราต้องช่วยกันสร้างมโนธรรมที่ถูกต้องให้กับสังคม
ตามปกติแล้ว คนที่มีมโนธรรมมักจะใช้วิธีการ “สันติวิธี” และคนที่ใช้สันติวิธีจะวิเคราะห์ปัญหาออกเป็น 2 ส่วน คือ “พฤติกรรม” กับ “คน”
คนที่ใช้สันติวิธีจะไม่เกลียด “คน” แต่เกลียด “พฤติกรรม” คนที่มีสันติในตัวจะเป็นคนที่มีความหวังในตัวบุคคล ไม่ทำลายตัวบุคคล โดยหวังว่าถ้าเราชี้แจง หรือให้ข้อมูลที่ถูกต้อง จะช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นได้
คนที่มีสันติ จะพูดความจริง ไม่ใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ ไม่รวบอำนาจ ไม่เผด็จการ แต่รับฟัง ให้เขารู้ตัวและกลับใจ
ถ้าเขารวบอำนาจหรือไม่ฟังใคร เขาต้องรับผิดชอบ
สมัยพระเยซูเจ้าเอง ในปี ค.ศ. 26 ปอนซีอัสปีลาตนำทหารมาตั้งกองทัพใกล้พระวิหาร เอาธงของกองทัพที่มีรูปนกอินทรีมาตั้งไว้ในพระวิหาร เรื่องนี้ชาวยิวถือว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นสถานที่ศักดิสิทธิ์ ซึ่งผิดต่อความเชื่อของพวกเขา
พวกเขามีทางเลือก 2 แนวทาง ต่อสู้โดยใช้กำลังหรือสันติวิธี พวกเขาเลือกใช้สันติวิธี คือ นำผู้คนไปนั่งหน้าวังของปีลาตไม่ให้คนเข้าออกได้ ปีลาตสั่งทหารไปเปิดทางแต่ประชาชนไม่ยอม เขาจึงสั่งทหารไปฆ่า แต่ประชาชนก็ไม่กลัวตาย ที่สุดปีลาตก็ต้องทำตามที่ประชาชนร้องเรียนมาคือให้ทหารนำธงออกไปจากพระวิหาร
ในปี ค.ศ. 39 หลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ตัวแทนของพระจักรพรรดิตาลีบูราสั่งให้ทุกคนให้ความเคารพพระจักรพรรดิ์เท่ากับพระเจ้า ข้าหลวงคนใหม่ชื่อเปโตรนีอุสนำทหาร 3 กองพลและรูปปั้นของพระมหาจักรพรรดิองค์นี้มาตั้งไว้ในกรุงเยรูซาเล็ม ชาวยิวรับไม่ได้ จึงนัดกันหยุดงานแล้วมานั่งประท้วง 40 วัน ที่สุดเปโตรนีอุสส่งคนไปทูลพระจักรพรรดิตาลีบูรา แทนที่พระจักรพรรดิ์ตาลีบูราจะดีใจกลับโกรธเปโตรนีอุสมากจึงสั่งให้เขาฆ่าตัวตายเสีย แต่ก่อนที่คนนำข่าวมาแจ้งให้ทราบปรากฏว่าพระจักรพรรดิตายเสียก่อน เปโตรนีอุสจึงไม่ต้องฆ่าตัวตาย
ในสมัยแรกๆนั้นคริสตชนลังเลใจที่จะเป็นทหาร เพราะต้องฆ่าคน หลายคนไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาที่ให้ไปฆ่าคนอื่น
ตัวอย่างของมหาตมะคานทีแบบอย่างของการต่อสู้แบบอหิงสาของประเทศอินเดีย เขาพยายามสร้างสันติด้วยสันติวิธี เช่น ในกรณีที่ชาวฮินดูกับมุสลิมไม่ชอบกัน เขาไปอยู่กับชาวฮินดู สวดภาวนาพร้อมกัน มีกรณีหนึ่งที่เด็กฮินดูถูกชาวมุสลิมฆ่าตาย พ่อของเด็กโกรธมากมาถามคานทีว่าทำอย่างไรจึงจะแก้แค้นให้สาสม คานทีตอบว่า “ให้เอาเด็กกำพร้ามุสลิมมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมโดยให้เขาเป็นมุสลิมเหมือนเดิม” นี้คือการแก้แค้นแบบอหิสา และนี้คือคำสอนของเรา
วิธีการสร้างสันติภาพของเราคริสตชนเมื่อมีความขัดแย้ง
1. การเสวนากันด้วยความเคารพและไม่มีอคติต่อกัน
2. ยอมรับว่าตนเองก็มีสวนผิดในความขัดแย้งนั้น
3. ประกาศ/ยืนยันความจริง ให้ข้อมูลได้ทราบโดยทั่วกัน และพร้อมที่จะรับฟังข้อมูลของคนอื่น
4. ภานาและอดอาหาร โดยละเว้นความรุนแรงทุกประเภท
5. เสนอความคิด/ความคาดหวัง/ความต้องการ ซึ่งได้กลั่นกรองมาแล้วจากการภาวนา
สันติภาพมิใช่พระพรของพระเจ้าเท่านั้น แต่ต้องสร้างขึ้นมาด้วยตัวของเราด้วย
เราต้องพิจารณามโนธรรมของตนเองอยู่ตลอดเวลา ให้เราพิจารณาดู จดหมายถึงชาวกาลาเทีย 5:16-23 ตรวจสอบตนเองว่ามีอะไรที่อยู่ในตัวของเราที่ต้องสนับสนุนให้กระทำต่อไป และมีอะไรที่ต้องปรับปรุง ลด ละ เลิก
เราต้องรู้ความจริง มีข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล อย่าเชื่อทุกสิ่งที่สื่อหรือคนอื่นพูด พระเยซูเจ้าทรงโดนคนอื่นใส่ความเท็จจนต้องถูกประการชีวิตมาแล้ว
ให้เราพิจารณาดูการประกาศข่าวแรกของพระองค์ใน ลูกา 4:18-19 ความว่า “เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า”
สังเกตดูว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้นิ่งเฉย พระองค์เสด็จลงมาในโลกนี้เพื่อประกาศข่าวดี เพราะความรอดเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ถ้ามีคนที่ยังทุกข์อยู่ มีความหิว พระองค์ทรงช่วยเหลือเลย ไม่ต้องรอชาติหน้า หรือรอไปรับในสวรรค์
ข่าวดีของพระเยซูเจ้าเกี่ยวข้องกับสังคม แต่พระองค์ไม่เคยใช้ความรุนแรง
สรุป พระอาณาจักรของพระเจ้าคืออะไร เปาโลสรุปสั้นๆใน จดหมายถึงชาวโรม 14:17 ว่า
“เพราะอาณาจักรของพระเจ้าไม่ใช่เรื่องของการกินการดื่ม แต่เป็นความชอบธรรม สันติและความชื่นชมยินดีในพระจิตเจ้า”
สำหรับคนที่ใช้ความรุนแรง พระเยซูเจ้าทรงเคยตรัสกับเปโตรว่า “เอาดาบใส่ฝักเสีย เพราะทุกคนที่ใช้ดาบ ก็จะพินาศด้วยดาบ”(มธ 26:52)
เราต้องยอมรับความแตกต่าง เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ ร่วมมือกับผู้อื่นในการสร้างสันติสุข เป็นสมาชิกในสังคมที่มีให้ความยุติธรรมแก่ผู้อื่น
สรุปจากบทเทศน์ของคุณพ่อมีเกล กาไรซาบาล(SJ)
www.thaicatholicmission.com