"สะพานสายรุ้ง"
ข้อคิดวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2012
 
            อ่านบทอ่านที่ 1 จากปฐมกาลเรื่องพระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับชาวอิสราเอลว่าจะไม่ให้เกิดน้ำวินาศมาท่วมทำลายแผ่นดินอีก โดยทรงให้ “รุ้ง” เป็นเครื่องหมายแห่งพันธสัญญานี้

           เมื่อพูดถึง “รุ้ง” ทำให้นึกถึงเพลงของวงสองวัย(นานแล้ว) ชื่อ “สะพานสายรุ้ง” ที่ผู้เขียนเพลงต้องการให้ “รุ้ง” เป็นสะพานเชื่อมคนทั้งโลกให้รักกันและกัน เนื้อเพลงตอนหนึ่งมีดังนี้ “ให้สายรุ้งนั้นคือสะพาน ข้ามลำธารผ่านภูผา ผ่านเมืองแมนแดนศิวิไลซ์ ผ่านป่าดงพงไพรพนา ข้ามมหาสมุทรไกล สุดตา ทอดต่อโยงทั่วทุกแดน เชื่อมทุกแคว้นให้ถึงกัน ก้าวข้ามเดินไปบนสะพาน มือประสานกระชับมั่น ไม่กีดกันแบ่งผิวพันธุ์” เป็นบทเพลงที่น่าฟังทั้งเนื้อหาและทำนอง และมีความหมายต่อชีวิตทางสังคมของเราในในปัจจุบันอย่างยิ่ง (ใครอยากฟังเพลงนี้ลองเปิดกูเกิลหาฟังได้)


        ลองอ่าน  คำพันธสัญญาที่พระเจ้าประทานให้แก่ชาวอิสราเอล “ดูซิ บัดนี้เราจะทำพันธสัญญาของเรากับท่านและกับลูกหลานของท่านในภายหน้า และกับสิ่งที่มีชีวิตอยู่กับท่านด้วย...เราจะตั้งรุ้งของเราไว้บนเมฆ รุ้งจะเป็นเครื่องหมายแห่งพันธสัญญาระหว่างเรากับแผ่นดิน”

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คืออะไร
        ถ้าเราติดตามเรื่องน้ำวินาศเราจะทราบว่า มนุษย์เรานั้นเป็นผู้ที่ทรยศต่อความรักของพระเจ้าอยู่ตลอดเวลา มนุษย์ไม่เชื่อฟังพระเจ้าและกระทำบาปต่างๆนาๆไม่รู้จักหยุดหย่อน แต่พระเจ้าไม่เคยหมดความอดทน ไม่สิ้นรัก หรือยอมแพ้ต่อความดื้อรั้นของเรา “ความรักของพระองค์ดำรงเป็นนิจ” พระเจ้าทรงมอบ “รุ้ง” เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความรัก ความหวัง การเริ่มต้นใหม่ โอกาสใหม่ ให้แก่มนุษย์ โดยผ่านทางโนอาห์ เมื่อพระเจ้าของเราทรงมีพระเมตตาให้โอกาสเราเราเช่นนี้ เรายังจะมีจิตใจที่แข็งกระด้าง หรือประพฤติตนทรยศต่อความรักของพระองค์ต่อไปอีกหรือ

        บทอ่านที่สอง (1เปโตร 3:18-22) เราเห็นความเชื่อมโยงกันกับบทอ่านแรก(ปฐมกาล 9:8-15) บทอ่านที่หนึ่ง พระเจ้าทรงมอบ “รุ้ง” ให้เป็นเครื่องหมายแห่งการให้อภัย ความหวังและความรัก ส่วนบทอ่านที่สอง พระเจ้าทรงส่ง “พระเยซูเจ้า” ลงมาเพื่อมอบความหวัง ความรักและการให้อภัยแก่มนุษย์ พระเยซูเจ้าให้ทรงเป็นสะพานเพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ หลังจากที่มนุษย์ได้กระทำบาป “รุ้ง” เป็นความหวังของคนในสมัยของโนอาห์ฉันใด “พระเยซูเจ้า” ทรงเป็นความหวังของคนเราในสมัยนี้เช่นนั้น พระเยซูเจ้าทรงทำให้น้ำในครั้งหนึ่งเป็นน้ำที่ทำลายมนุษย์กลับกลายเป็นน้ำแห่งศีลล้างบาปที่นำความรอดพ้นมาให้มนุษย์ผู้ที่มีความเชื่อทุกคนอีกด้วย น้ำที่ครั้งหนึ่งเคยท่วมทำลายโลก แต่น้ำจากสีข้างของพระองค์ที่ถูกทิ่มแทงด้วยหอกกลับกลายเป็นน้ำที่ชำระล้างบาปของเรามนุษย์ และทรงนำเราไปหาพระบิดาเจ้าสวรรค์ ตามที่นักบุญเปาโลสอนว่า “พี่น้องที่รัก พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพียงครั้งเดียวเพราะบาป พระองค์ผู้ทรงชอบธรรมสิ้นพระชนม์เพื่อคนอธรรม พระองค์จะทรงนำเราไปเฝ้าพระบิดา”(1เปโตร 3:18)

      ส่วนในบทพระวรสารนั้น เราได้รับฟังเรื่องที่ “พระจิตเจ้าทรงผลักดันพระองค์ให้เสด็จเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ประทับอยู่ที่นั้นสี่สิบวัน ซาตานมาประจญพระองค์ พระองค์ทรงอยู่กับบรรดาสัตว์ป่า บรรดาทูตสวรรค์ปรนนิบัติรับใช้พระองค์” เรื่องนี้เชื่อมโยงอะไรกับสิ่งที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น ...

      ตัวของเราแต่ละคนที่เช่นเดียวกับพระเยซูเจ้า เราทุกคนต่างมีประสบการณ์เดียวกันในช่วง “มหาพรต” นี้ เรากำลังโดนซาตานทดลองทุกเวลา เรากำลังถูกประจญไม่ให้ทำความดีตามที่เราตั้งใจไว้ บางทีเราอาจจะบ่นกับตนเองว่า “ไม่เห็นจะได้อะไรเลย ทำดีไปทำไม คนอื่นๆไม่เห็นต้องลำบากเหมือนเรา ไปวัด จำศีล อดอาหาร พลีกรรม ทำบุญให้ทาน ทำไปทำไม” เมื่อไรที่เกิดประจญเช่นนี้ เราต้องนึกถึงพระเยซูเจ้าทันที พระองค์ไม่ทรงยอมแพ้ เราก็ต้องไม่ยอมแพ้ด้วย

        เทศกาลมหาพรตเป็นช่วงเวลาแห่งการกลับใจ ใช้โทษบาป เป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง การฟื้นฟูชีวิต และการรับการไถ่บาปจากพระเจ้า ให้เรานึกถึงภาพของพระองค์ในขณะที่ทรงรับทุกข์ทรมานบนไม้กางเขน พระองค์ทรงยอมเพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงรักเราอย่างแท้จริง พระองค์ทรง “ยอมเพราะรัก” เป็นความรักที่ไม่มีสิ้นสุด

        ข่าวดีของพระเจ้าประจำอาทิตย์นี้จึงให้ข้อคิดเพื่อนำไปปฏิบัติหลายประการด้วยกัน เรื่องแรก คือ พระเจ้ามิทรงถือโทษความผิดบาปของมนุษย์ แต่ทรงให้อภัยและให้โอกาสเรามนุษย์ผู้เป็นคนบาปให้กลับมาเป็นลูกที่ดีของพระองค์ สองพระเยซูเจ้าไม่ทรงยอมแพ้ต่อการประจญของปีศาจซาตาน เราก็ต้องไม่ยอมแพ้ต่อการประจญด้วยเช่นกัน อะไรที่เราตั้งใจที่จะกระทำในเทศกาลมหาพรตนี้ ขอให้เรามุ่งมั่น และเข้มแข็งอยู่เสมอ