ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

ข้อคิดวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2011
เราเป็นสมณราชตระกูล
(กิจการฯ6:1-7; 1เปโตร 2:4-9; ยอห์น14:1-12)
            1. พี่น้องในพระคริสตเจ้า พระคัมภีร์ประจำสัปดาห์นี้ มีประโยคสำคัญที่อยากให้พิจารณาอยู่ประโยคหนึ่งคือ “ท่านเป็นสมณราชตระกูล”(1ปต.2:9) ประโยคนี้มีความหมายต่อชีวิตของเราอย่างไร เราเป็นคนสำคัญขนาดนี้เชียวหรือ เป็นสมณราชตระกูลแล้วจะได้อะไร


             2. ให้เราพิจารณาความหมายของแต่ละคำ เริ่มจาก “ราชตระกูล” คำๆนี้เรารู้จักมักคุ้นดีในวัฒนธรรมไทยของเรา คำนี้ใช้เรียกกับบุคคลที่เกิดมาในเชื้อพระวงศ์ เป็นบุคคลชั้นสูง เป็นหน่อเนื้อของพระมหากษัตริย์  อีกคำหนึ่งคือ “สมณะ” คำๆนี้ใช้กับคนในตระกูลเลวี ซึ่งมาจากบุตรคนที่สามของ     ยากอบ คนในตระกูลนี้มีหน้าที่รับใช้ในหน้าที่สงฆ์ ปฏิบัติหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระวิหาร

            3. เมื่อเรานำเอาคำทั้งสองมารวมกัน ทำให้เราทราบว่าบุคคลที่ได้รับสมญานามนี้จะต้องเป็นบุคคลที่มีสายโลหิตของราชตระกูลนั้นเป็นบุคคลที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้เพื่อให้ทำหน้าที่รับใช้พระองค์ในฐานะสงฆ์ ซึ่งมีสถานะที่แตกต่างจากสถานะทางสังคมทั่วไป

             4. เมื่อเราได้อ่านพระวรสารของนักบุญยอห์น เราเรียนรู้ว่าพระเยซูเจ้าได้ทรงสอนเราว่า “ศีลล้างบาป” เป็นเงื่อนไขของการเข้าสังกัดในพระอาณาจักรของพระเจ้า ตามที่พระองค์ตรัสว่า "เราบอกความจริงแก่ท่านว่าไม่มีใครเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า ถ้าเขาไม่เกิดจากน้ำและพระจิต"(ยน. 3:5) และเมื่อเราอ่านบทจดหมายของนักบุญยอห์นฉบับที่ 1 เราทราบว่า “เชื้อชีวิต” ของพระเจ้าดำรงอยู่ในตัวของผู้ที่ได้รับศีลล้างบาป นั้นเอง(1 ยน. 3:9)

            5. ด้วยเหตุนี้เองทำให้เราได้เรียนรู้ว่าคนที่ได้รับศีลล้างบาป ได้รับเข้าเป็นส่วนหนึ่งในพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นรูปแบบของพระอาณาจักรฝ่ายจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าในโลกนี้ นี้แหละที่ทำให้เราเป็นหน่อเนื้อแห่งสมณราชตระกูลขององค์พระผู้เป็นเจ้า
 
           6. ดังนั้นเมื่อใครก็ตามที่ได้กลับเป็นสมณราชตระกูล พวกเขาจะได้รับสถานะที่ยิ่งใหญ่กว่าสถานะใดๆในโลกนี้ พวกเขาได้รับการยกย่องให้เป็นถึงพระเจ้า “เราได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลายเป็นพระเจ้า พระคัมภีร์เรียกผู้รับพระวาจาของพระเจ้าว่า เป็นพระเจ้า”(ยน.10:34)

          7. เมื่อเราเข้าใจถึงความหมายของการเป็นสมณะราชตระกูลแล้ว ก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจเนื้อหาใจความของบทอ่านที่สองที่ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นชาติที่ทรงเลือกสรรไว้ เป็นสมณราชตระกูล เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของพระเจ้า เพื่อที่จะประกาศพระฤทธานุภาพของพระองค์ผู้ทรงเรียกท่านจากความมืดสู่ความสว่างที่น่าพิศวงของพระองค์” (1 ปต. 2:9)

 “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต” (ยน. 14:6)            8. บางคนอาจคิดว่าฐานะการเป็นบุตรของพระเจ้านั้นเป็นของชนชาติอิสราเองเท่านั้น เพราะพวกเขาเป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรร ในเรื่องนี้นักบุญเปาโลสอนว่า “ข้าพเจ้าจึงถามต่อไปว่า จริงหรือที่ชาวอิสราเอลสะดุดล้มอยู่เช่นนั้นตลอดไป ไม่ใช่เลย แต่เพราะพวกเขาต้องสะดุดล้ม ความรอดพ้นจึงมาถึงชนต่างชาติ เพื่อให้ชาวอิสราเอลเกิดความอิจฉา ถ้าการสะดุดล้มของพวกเขาทำให้โลกได้รับความไพบูลย์และความเสียหายของพวกเขาเป็นความไพบูลย์ของชนต่างชาติแล้ว ความไพบูลย์จะมีมากเพียงใด ถ้าชาวอิสราเอลมีความเชื่อ”(รม. 11:11-12)
 
          9. ดังนั้นโดยการสะดุดล้มของชาติชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรร ประตูแห่งความรอดจึงเปิดออกสู่มวลมนุษย์ เราทุกคนจึงมีสิทธิที่จะได้เป็นบุคคลที่พระเจ้าทรงเลือก ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร อายุเท่าไร ชนชาติใด มีการศึกษาหรือไม่อย่างไร ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพระกายทิพย์ของพระเยซูคริสตเจ้า โดยอาศัยความเชื่อและศีลล้างบาป คริสตชนได้รับเลือกให้อุทิศตนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ในการรับใช้พระเจ้า นี้เป็นเอกสิทธิ์ของเราคริสตชน

        10. ในบทอ่านที่หนึ่งจากกิจการอัครสาวก(กจ.6:1-7) เราได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่สมณราชตระกูลได้ก่อตั้งขึ้น มีศิษย์ที่พูดภาษากรีกไม่พอใจศิษย์ที่พูดภาษาฮีบรู เพราะบรรดาแม่ม่ายของพวกตนไม่ได้รับการเอาใจใส่ในเรื่องการแจกจ่ายอาหาร เพื่อแก้ไขปัญหานี้ บรรดาอัครสาวกจึงได้ให้มีการเลือกผู้ช่วยที่เราเรียกว่า “สังฆานุกร” อีก 7 คน เพื่อจะได้ทำหน้าที่ช่วยเหลืองานของพวกท่าน บุคคลที่ได้รับเลือกที่เราคุ้นเคย คือ สเทเฟน ส่วนบุคคลอื่นๆได้แก่ ฟิลิป โปรโครัส นิคาโนร์ ทิโมน ปาร์เมนัส และนิโคลัส

        11. ในจำนวนสังฆานุกรเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงเลือกบุคคลเข้ามาเป็นสมณราชตระกูลโดยไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง อัครสาวกเป็นชาวยิว บางคนพูดภาษากรีก บางคนภาษาฮีบรู บางคนเป็นคนกลับใจมาจากเมืองอันติโอก เช่น นิโคลัส เราจะเห็นความหลายหลากของบรรดาสาวก ไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือบ้านเกิดเมืองนอนไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ นี้แหละคือความรักและความเป็นสากลของการเป็นสมณราชตระกูล หรือคนของพระเจ้า ความเชื่อของคาทอลิกเปิดต้อนรับทุกคน และเชื้อเชิญทุกคนให้เข้ามาร่วมรับสถานะอันสูงส่งของการเป็นบุตรของพระเจ้า ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน

         12. บทอ่านจากพระวรสารในวันนี้มาจากนักบุญยอห์น(ยน. 14:1-12) ได้พูดถึงสถานะที่แท้จริงของพระเยซูเจ้า “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต” (ยน. 14:6) หรือพูดในอีกนัยหนึ่ง พระองค์ทรงเป็น “หนทาง” ที่จะทำให้เราได้พบความจริงและชีวิตในฐานะที่เป็นสมณราชตระกูล เพราะพระองค์ทรงเป็น “คนกลาง” แต่เพียงผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์(1ทธ. 2:5)
13. เนื้อหาสำคัญประการหนึ่ง คือ พระเยซูเจ้าทรงพูดถึงความเสมอภาคของเราทุกคน “ในบ้านของพระบิดาของเรา มีที่พำนักมากมาย ถ้าไม่มี เราคงบอกท่านแล้ว เรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน”(ยน. 14:2) บางคนอาจจะตีความว่า ประโยคนี้หมายความว่าทุกคนได้จะได้เข้าพำนักอยู่ในพระอาณาจักรของพระเจ้า ทุกคนมีสิทธิก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เข้าครอบครอง หรือได้เป็นสมณราชตระกูล
  
        14. เมื่อพระเยซูเจ้าทรงกล่าวประโยคนี้ พระองค์ทรงไม่ต้องการให้บรรดาสานุศิษย์เกิดความกลัวหรือกังวลใจว่าพระองค์จะจากพวกเขาไป พระองค์ทรงอ้างอิงสองเรื่องด้วยกันคือ (1) บ้านพระบิดามีที่อยู่มากมาย (2) การเตรียมสถานที่เพื่ออัครสาวก ทั้งสองคำนี้จะแยกจากกันไม่ได้ เพราะต่างเสริมซึ่งกันและกันในเรื่องที่พระเยซูทรงกล่าว

       15. ก่อนที่พระเยซูเจ้าจะกลับกลายเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์แบบในฐานะที่ทรงเป็นลูกแกะของพระเจ้า หรือลูกแกะที่ถูกถวายบูชาบนไม้กางเขน บรรดาสานุศิษย์ยังไม่ได้มีพื้นที่ในพระอาณาจักรสวรรค์ แต่หลังจากความตายและการกลับคืนชีพของพระองค์แล้วนั้น(1คร.15:20)พระอาณาจักรของพระองค์ในเมืองสวรรค์และบนโลกจึงได้รับการสถาปนาขึ้น ในวันพระจิตเสด็จลงมาเมื่อพระเยซูเจ้าประทานพระจิตเจ้าเหนือบรรดาสานุศิษย์(กจ.2:4) พระองค์ได้ทรงเตรียมสถานที่สำหรับสานุศิษย์ของพระองค์ในพระอาณาจักรของพระองค์ พระจิตเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางสานุศิษย์แต่ละคน ทุกคนต่างเป็นวิหารของพระจิตเจ้า ทุกคนต่างก็มีสถานที่อยู่ในพระอาณาจักรของพระเจ้านั้นเอง(1คร.3:16)

         16. ในพระวรสารของนักบุญลูกา เราพบการยืนยันของพระเยซูเจ้าที่แสดงว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ท่ามกลางชีวิตของคริสตชน เมื่อฟารีสีถามว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าจะมาถึงเมื่อใด พระองค์ทรงตอบว่า “พระอาณาจักรของพระเจ้ามิได้มาอย่างที่จะสังเกตได้ ไม่มีใครจะพูดว่าพระอาณาจักรอยู่ที่นี่ หรืออยู่ที่นั้น เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ในหมู่ท่านทั้งหลายแล้ว”(ลก. 17:20-21)

       17. ดังนั้นเมื่อพระเยซูเจ้าทรงกล่าวว่ามีที่อยู่มากมายในบ้านของพระบิดานั้น พระองค์ตรัสความจริง เรารู้ว่ามีสวรรค์และยังมีไฟชำระ และยังมีพระวิหารของพระเจ้าจำนวนร้อยจำนวนพันมากมายที่อยู่ในตัวของสมณราชตระกูลซึ่งก็คือตัวของเราแต่ละคนที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วนั้นเอง เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเสด็จไปเตรียมที่ให้เรา พระองค์ทรงประทานพระจิตเจ้าให้เรา เราได้น้อมรับด้วยความเชื่อและความรักแล้ว เราก็มีสถานที่ในเมืองสวรรค์แล้วอย่างแน่นอน

       18. สรุปได้ว่า ข่าวดีของพระเจ้าในสัปดาห์นี้ เป็นข่าวดีที่ยืนยันถึงสิทธิประโยชน์ที่เราในฐานะผู้ที่มีความเชื่อและเข้ารับศีลล้างบาป จาการที่เราเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง แต่พระเจ้าได้ทรงยกเราขึ้นสูงให้เป็นถึงสมณราชตระกูล พระคุณประการนี้เป็นพระคุณที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความดีงามของเราแม้สักนิด แต่เป็นเพราะความรักและพระเมตตาคุณที่พระองค์ประทานให้กับเราเปล่าๆ สิ่งที่เราจะตอบแทนพระคุณของพระเจ้าได้นั้นก็คือ การขอบพระคุณพระองค์ตลอดชีวิต และการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับสถานะอันสูงส่งขอเรา และที่สำคัญคือ ช่วยกัน “ประกาศพระฤทธานุภาพของพระองค์ผู้ทรงเรียกท่านจากความมืดมาสู่ความสว่างที่น่าพิศวงของพระองค์”(1ปต.2:9)

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์