ข้อคิดวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2011
"วันภาวนาเพื่อกระแสเรียก"
วันภาวนาเพื่อกระแสเรียก

1. ขอต้อนรับพี่น้องสู่พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในวันนี้ วันอาทิตย์นี้เป็นวันอาทิตย์ที่สี่ในเทศกาลปาสกา นอกจากนั้นพระศาสนจักรยังได้จัดให้วันนี้เป็น “วันภาวนาเพื่อกระแสเรียก” ซึ่งหมายถึงพระสงฆ์ สังฆานุกร และนักบวชชาย-หญิง และการแสเรียกจากชีวิตครอบครัวด้วย ดังนั้นในวันนี้จึงพูดถึงความสำคัญและวิธีการส่งเสริมกระแสเรียก เริ่มจากคำถามว่าทำไมจึงต้องส่งเสริมกระแสเรียก
(1) พระศาสจักรให้ความสำคัญกับ “ศีลบวช” เพราะถ้าไม่มีพระสงฆ์แล้วก็จะไม่มีพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครประกอบพิธีมิสซาฯ ไม่มีใครเสกศีลมหาสนิท ไม่มีศีลอภัยบาป ไม่มีใครดูแลและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของสัตบุรุษ
(2) พระศาสนจักรให้ความสำคัญกับชีวิตของ “ผู้ที่ถวายตัวรับใช้พระเจ้า” ด้วยการเข้าเป็นนักบวชชายและหญิงในคณะนักบวชต่างๆ ชีวิตของบรรดานักบวชเป็นดุจกระดูกสันหลังของพระกายพระเยซูเจ้า พวกท่านมีหน้าที่ช่วยเหลือบรรดาพระสงฆ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของการบริการศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นอกจากนั้นยังรับใช้พระเจ้าด้วยการดำเนินงานด้านการศึกษา การสอนคำสอน การพยาบาล งานสังคมสงเคราะห์ต่างๆ การช่วยเหลือด้านวัตถุและจิตใจกับผู้ที่ขัดสน ฯลฯ ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันสังคมกำลังขาดแคลนผู้ที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วยความเสียสละและด้วยความรักที่ไม่หวังผลประโยชน์ เราจึงต้องภาวนาเพื่อให้เกิดกระแสเรียกนักบวชให้มากขึ้น

2. วันนี้ พระศาสนจักรเชิญชวนเราให้พิจารณาถึงความหมายถึงการเรียกของพระเจ้าและให้เราภาวนาเพื่อกระแสเรียก คำถามสำคัญที่เราจะต้องตอบตนเองให้ได้คือ “สัตบุรุษหรือชุมชนคริสตชนของเรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อกระแสเรียกอย่างไร” เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ได้อย่างดี เราควรที่จะพิจารณาคำสอนของนักบุญเปาโลถึงชาวโรมที่ว่า “ทุกคนที่เรียกขานพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าก็จะรอดพ้น ฉะนั้น ชาวอิสราเอล(คนไทย)จะเรียกขานพระองค์ได้อย่างไรถ้าพวกเขาไม่เชื่อ จะเชื่อได้อย่างไรถ้าไม่เคยได้ยิน จะได้ยินได้อย่างไรถ้าไม่มีใครประกาศสอน จะมีผู้ประกาศสอนได้อย่างไรถ้าไม่มีใครส่งไป ตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า เท้าของผู้ประกาศข่าวดีช่างงดงามจริงหนอ”(รม.10:13-15)

3. จากข้อความตอนนี้สรุปได้ว่าถ้าคนไม่เคยได้ยินหรือได้ฟังพระวาจาของพระเจ้าแล้ว เขาจะรู้หรือจะเชื่อหรือจะได้รับความรอดได้อย่างไร

4. ทำอย่างไรเพื่อเราจะได้มีกระแสเรียกมากขึ้น เพื่อจะได้มีผู้ประกาศข่าวดีมากขึ้น เพื่อจะได้มีผู้ที่ได้รับความรอดมากขึ้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของเราคริสตชนทุกคนที่จะต้องช่วยกันรับผิดชอบ ซึ่งขอนำเสนอในสี่ขั้นตอนดังนี้

(1)  เรื่องที่สำคัญกว่าเรื่องอื่นใดก็คือ “การภาวนา” วัดของเราทุกวัดจะต้องช่วยกันภาวนาเพื่อกระแสเรียก อย่ากลัวว่าพระศาสนจักรของเราจะมีพระสงฆ์นักบวชมากเกินไป ยิ่งเรามีมากเท่าไร เราก็สามารถจัดส่งพระสงฆ์นักบวชไปเป็นธรรมทูตตามสถานที่ต่างๆที่ยังขาดแคลนหรือในดินแดนที่ยังมีคนที่ไม่รู้จักพระเจ้า ในเมืองไทยเรายังมีอีกหลายจังหวัด หลายอำเภอ หลายตำบล หลายหมู่บ้านที่คนยังไม่รู้จักพระเจ้า และเรายังสามารถส่งพระสงฆ์นักบวชของเราไปช่วยงานต่างประเทศได้ด้วย เพราะเราเองก็ได้รับกระแสเรียกการเป็นคริสตชนมาจากพระสงฆ์นักบวชต่างประเทศมาก่อนเช่นกัน

(2) เป็นความรับผิดชอบของ “ครอบครัว” ที่จะต้องดำเนินชีวิตคริสตชนอย่างดี เพราะครอบครัวเป็นพื้นฐานและเป็นบ่อเกิดของกระแสเรียก ครอบครัวจะต้องมีการภาวนาร่วมกัน ไปวัดด้วยกัน ครอบครัวจะต้องเป็นพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า จะแบ่งแยกไม่ได้ วันอาทิตย์จะต้องเป็นวันที่ทุกคนจะต้องไปวัด นี้เป็นพระบัญญัติของพระศาสนจักร ครอบครัวจะต้องสร้างวัฒนธรรมการไปวัดในวันอาทิตย์ให้ติดตัวลูกหลานไปจนตลอดชีวิต

(3) พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องให้ความเคารพและสนับสนุนชีวิตของพระสงฆ์และนักบวช ถ้ามีลูกคนใดแสดงความสนใจอยากเป็นพระสงฆ์ บราเดอร์หรือซิสเตอร์ พ่อแม่จะต้องให้การสนับสนุน พ่อแม่ไม่มีสิทธิขัดขวางพระหรรษทานของพระเจ้าที่กำลังทำงานโดยผ่านทางพระจิตเจ้าในตัวของลูก พ่อแม่จะต้องขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้เลือกคนหนึ่งในครอบครัวของเราให้มารับใช้พระเจ้า

(4) สุดท้าย เพื่อสนับสนุนกระแสเรียก พ่อแม่จะต้องเปิดโอกาสให้ลูกๆของตน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดได้รู้จักหรือสัมผัสกับชีวิตของสงฆ์และนักบวช ถ้าเด็กๆไม่เคยใกล้ชิดหรือได้รู้จักว่าชีวิตของสงฆ์หรือนักบวชเป็นอย่างไร พวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูเจ้าทรงประทานพระหรรษทานจากศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆโดยตัวของพระสงฆ์ พวกเขาก็จะไม่รู้ว่าศาสนาทำอะไรบ้าง หรือไม่รู้ว่าศาสนามีประโยชน์อย่างไร

5. เมื่อเราไปวัดในวันอาทิตย์ เราจะเห็นผู้ช่วยมิสซาฯ ผู้อ่านพระคัมภีร์ คณะนักขับร้อง ผู้ยกของถวาย ฯลฯ กิจกรรมหรือการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมในลักษณะต่างๆเหล่านี้เป็นการส่งเสริมกระแสเรียกอย่างดี การเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้ามีส่วนร่วมในกิจการของวัดเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง วัดควรบริหารจัดการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเป็นต้น การเอาใจใส่ให้มีกิจกรรมพิเศษเพื่อเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ เช่น การเรียนคำสอน การจัดค่าย การแสวงบุญ การพักผ่อนหย่อนใจร่วมกัน การเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจ ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ควรบรรจุอยู่ในแผนงานประจำปีของวัดอย่างชัดเจน

6. ให้เรานึกภาพดูว่าถ้าวัดของเราไม่พระสงฆ์แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เราอย่าไปบ่นว่าว่าทำไมพระเจ้าจึงลงโทษพวกเรา ทำไมไม่ส่งพระสงฆ์มาให้เรา แต่เราจะต้องถามตนเองว่าแล้วเราได้ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์หรือนักบวชอย่างไรบ้าง