ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

ข้อคิดวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2011
(กิจการฯ 2:42-7; 1 เปโตร 1:3-9; ยอห์น 20:19-31)
"ชีวิตใหม่กับความหวัง"
ชีวิตใหม่กับความหวัง

1. วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่สองในเทศกาลปัสกา
2. บทอ่านที่หนึ่งในวันนี้มาจากหนังสือกิจการอัครสาวก(กจ.2:42-47) ซึ่งพูดถึงการดำเนินชีวิตของคริสตชนในยุคแรก ที่เกิดขึ้นจากการที่ทุกคนได้มีประสบการณ์ถึงการกลับฟื้นคืนชีพอย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้า
3. บรรดาผู้เชื่อได้ให้การต้อนรับคำสั่งสอนของเปโตร ซึ่งทรงเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกของเรา พวกเขาพากันเข้ารับศีลล้างบาปเพื่อจะได้เข้าร่วมส่วนในพระกายทิพย์ของพระเยซูเจ้า มีความเต็มอกเต็มใจที่จะดำเนินชีวิตที่แยกแยะออกเป็น 4 ประเด็นด้วยกันคือ

(1) มาประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อเรียนฟังคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก(มาเรียนคำสอน) ซึ่งเป็นคำสอนที่พระเยซูเจ้าได้ทรงสอนบรรดาอัครสาวกไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว
(2) ดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้อง พวกเขาแสดงความเชื่อในพระเยซูเจ้าด้วยการดำเนินชีวิตหมู่คณะ มีกิจกรรมต่างร่วมกัน เช่น การสวดภาวนา การร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ชีวิตของพวกเขาเป็นประจักษ์พยานถึงการทำงานของพระจิตเจ้าที่ทรงประทับอยู่กับพวกเขา
(3) เข้าร่วมพิธีปิขนมปัง ซึ่งปัจจุบันก็คือ การร่วมพิธิมิสซาฯนั้นเอง
(4) พวกเขาอุทิศตนเพื่อการอธิษฐาน ซึ่งในยุคที่พระศาสนจักรกำลังก่อตั้งนั้น บทภาวนาที่ทุกคนรู้จัก เช่น บทข้าแต่พระบิดาฯ และบทสดุดี หลังจากนั้นก็มีบทภาวนาอื่นๆติดตามมา

4. จากเรื่องที่เรารับรู้มาแล้วนี้ ทำให้เราทราบว่าบรรดาผู้นำของพระศาสนจักรในยุคเริ่มแรกนั้นมีความคาดหวังอย่างไรต่อผู้เชื่อ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับผู้นำของพระศาสนจักรในยุคปัจจุบัน

5. ในยุคนั้น เราได้เห็นบทบาทของพระจิตเจ้าที่ทรงนำและค้ำจุนพระศาสนจักรที่กำลังตั้งต้น โดยให้บรรดาอัครสาวกทำปาฏิหาริย์และเครื่องหมายอัศจรรย์เป็นจำนวนมาก(กจ.3:43) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เราพอที่จะเห็นเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ใน 3 ประการด้วยกัน คือ

(1) ก่อนอื่นหมด สิ่งที่เหนือธรรมชาติต่างๆเกิดขึ้นเพื่อทำให้ประชาชนเข้ามาหาบรรดาอัครสาวก
(2) ประการที่สอง เป็นการยืนยันว่าบรรดาอัครสาวกเป็นข้ารับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้แต่ผู้เดียว
(3) ประการทีสามเพื่อยืนยันว่าพระศาสนจักรที่เกิดขึ้นนี้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้า

6. กล่าวโดยสรุป โดยอาศัยปาฏิหาริย์และอัศจรรย์เป็นการนำประชาชนให้เข้ามาหาบรรดาอัครสาวกซึ่งเป็นการเข้าสู่การเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรของพระเยซูเจ้าโดยผ่านทางศีลล้างบาป

7. อีกเรื่องหนึ่งที่คริสตชนรุ่นแรกๆได้กระทำก็คือ การที่พวกเขาพากันขายทรัพย์สินของตนแล้วนำมารวมกันเป็นกองกลางแจกจ่ายให้กับสมาชิกที่ขาดแคลน(กจ.2:44-45) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าบรรดาผู้ศรัทธาเชื่อว่าพระเยซูเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่งในไม่ช้า ดังนั้นสิ่งของต่างๆที่ตนมีจึงไม่มีประโยชน์อะไร บางคนเชื่อจนกระทั่งไม่ทำการทำงานอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องจนกระทั่งนักบุญเปาโลต้องมาแก้ไขความคิดผิดๆนี้ โดยการเทศน์สอนเรื่องของการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า

8. คำเทศน์ของนักบุญเปาโลมีดังนี้ “พี่น้องทั้งหลาย เรื่องการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา และเรื่องการชุมนุมของเราเพื่อพบกับพระองค์นั้น เราวอนขอท่านอย่ารีบด่วนหวั่นไหวหรือตกใจไม่ว่าเพราะคำพยากรณ์ที่อ้างว่ามาจากพระจิตเจ้า หรือเพราะคำพูดหรือจดหมายที่อ้างว่ามาจากเรา ประหนึ่งว่าวันขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาถึงแล้ว อย่าให้ใครหลอกลวงท่านโดยวิธีใดเลย วันนั้นจะยังมาไม่ถึงจนกว่าจะเกิดการกบฏและมนุษย์ชั่วร้ายจะปรากฏตัวมารับความพินาศ” (2ธส.2:1-3)

9. ดังนั้นในวันนี้ เรามารวมตัวกันที่วัดซึ่งเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้า เหมือนกับบรรดาคริสตชนในสมัยดั่งเดิมนั้น เรามาสวดภาวนาด้วยกัน ร่วมพิธีมิสซาฯพร้อมหน้ากัน พูดคุยกัน ช่วยเหลือกัน นี้แหละคือวิถีชีวิตของเราคริสตชน

บทอ่านที่สอง
10. บทอ่านที่สองในวันนี้เป็นบทจดหมายฉบับที่หนึ่งของนักบุญเปโตร ยืนยันถึงคำสอนของท่านในฐานะพระสันตะปาปาองค์แรกที่ได้ส่งไปถึงชาวเอเชียน้อยเพื่ออธิบายถึงชีวิตใหม่ที่เราได้รับมาโดยผ่านทางศีลล้างบาป จุดประสงค์ของเรื่องนี้ก็คือปลุกไฟแห่งความศรัทธาในหมู่ผู้เชื่อเพื่อให้พวกเขาเกิดชื่นชมยินดีในความรอดและชีวิตใหม่ที่ได้รับจากพระเจ้า

11. โดยผ่านทางศีลล้างบาป เราคริสตชนได้เข้าร่วมส่วนในความตายของพระเยซูเจ้าเพื่อเราจะได้มีส่วนร่วมในชีวิตของพระองค์ การล้างบาปในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ทำให้เราได้นำตัวเองเข้าสู่ความตายของพระองค์(รม.6:3) เราได้ถูกฝังพร้อมกับพระองค์ และท้ายสุดเราจะได้กลับคืนชีพเช่นเดียวกับพระองค์ “ถ้าเรารวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในการสิ้นพระชนม์ เราก็รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในการกลับคืนชีพด้วยเช่นกัน” (รม.6:5)

12. ในการเกิดใหม่ฝ่ายจิตของเรานั้นทำให้เราเข้าไปร่วมส่วนในพระกายทิพย์ของพระเยซูเจ้า เป็นการเอาชีวิตของเราไปผูกติดอยู่กับชีวิตของพระองค์ เรารับพระจิตเจ้า เป็นตราประทับ เป็นประกันของมรดกที่พระเจ้าจะประทานให้ (อฟ.1:13-14; 2คร.1:22, 5:5) มรดกของคริสตชนไม่ใช่สิ่งของของโลกนี้ แต่ความหวังของเราคือเมืองสวรรค์(คส.1:5)

13. เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อจะได้รับมรดกที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ ตามความเชื่อของเรา “พระเจ้าจะทรงปกป้องเราไว้ด้วยอานุภาพของพระองค์ให้เรามีความเชื่อจนกว่าจะประทานความรอดพ้น”(เทียบ 1ปต.1:5) พระเจ้าจะทรงปกป้องเรา  “พระบุตรของพระเจ้าทรงปรากฏเพื่อทำลายงานของปีศาจ” (1ยน.3:8) และทรงส่งพระจิตเจ้ามาประทับอยู่กับเราเพื่อเราจะได้ติดตาม และประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์

14. ถ้าเราต้องมีความทุกข์หรือการทดลองต่างๆ เราจะต้องไม่กลัวเพราะเรารู้ว่าความทุกข์ยากเพียงเล็กน้อยในโลกนี้เทียบไม่ได้กับรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงสัญญาจะมอบให้แก่เราในภายหน้า ระหว่างความสุขชั่วคราวกับความสุขนิรันดรนั้น เปรียบเทียบราคากันไม่ได้เลย ดังนั้นขอให้เรารอคอยด้วยความหวัง และด้วยความชื่นชมยินดี

15. ทำไมพระเจ้าจึงให้เราต้องประสบกับความทุกข์ต่างๆด้วย การที่พระเจ้าอนุญาตให้เราต้องมีความทุกข์ทรมานนั้นเป็นการทดสอบเราแต่ละคน การที่เรามีประสบการณ์แห่งความทุกข์เป็นการทดสอบความเชื่อแท้ของเรา เราได้เลียนแบบของพระเจ้าผู้ทนทุกข์ทรมานได้หรือไม่ เราได้ทำให้ความทุกข์ยากลำบากของเราเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระองค์หรือไม่ เราได้เข้าใจหัวอกของคนที่ต้องทนทุกข์หรือไม่ เราสามารถถวายพระเกียรติพระเจ้าได้ในทุกกรณีของชีวิต “ความเชื่อที่ไม่มีการกระทำก็ย่อมตายแล้วฉันนั้น” (ยก.2:26) และ “เราเป็นผลงานของพระองค์ ถูกสร้างมาในพระคริสตเยซูเพื่อให้ประกอบกิจการดี ซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดล่วงหน้าให้เราปฏิบัติ” (อฟ.2:10)

16. นักบุญเปาโลสอนชาวเอเฟซัสว่า “ท่านได้รับความรอดพ้นเพราะพระหรรษทานอาศัยความเชื่อ ความรอดพ้นนี้มิได้มาจากท่าน แต่เป็นของประทานจากพระเจ้า” (อฟ.2:8) ซึ่งคำสอนนี้สะท้อนคำพูดของนักบุญเปโตรในวันนี้ว่า “ท่านจึงชื่นชมยินดีสุดที่จะพรรณนา เพราะท่านกำลังจะได้รับจุดมุ่งหมายของความเชื่อ คือ ความรอดพ้นของวิญญาณอยู่แล้ว” (1ปต. 1:9) คำสอนนี้แสดงถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าประทานให้แก่เรา แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นพระเจ้า แต่พระเจ้าทรงรักเราและเราก็รักพระเจ้า แม้เราจะมองไม่เห็นพระองค์ แต่เราก็เชื่อในพระองค์ เรารักและเชื่อได้อย่างแน่ใจโดยผ่านทางองค์พระเยซูเจ้าผู้ที่ได้วางแบบฉบับและเป็นหลักประกันไว้ให้กับเราแล้ว

พระวรสาร
17. พระวรสารในวันนี้เป็นของนักบุญยอห์น ซึ่งพูดถึงเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าได้ทรงกระทำหลังจากที่ได้สิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพแล้ว โดยเริ่มจากค่ำคืนที่พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนชีพจากความตาย แล้วเสด็จมาประทับอยู่ท่านกลางสานุศิษย์ที่ชุมนุมกันอยู่ในห้องชั้นบนที่ล็อคประตูไว้อย่างแน่นหนา ข้อสังเกตในการปรากฏตัวของพระองค์ก็คือวันนี้เป็นวันเดียวกับที่พระองค์ทรงกลับฟื้นคืนชีพ เป็นวันที่ต้นของสัปดาห์ซึ่งเราทำการฉลองวันอาทิตย์ปาสกา(ยน. 20:19)

18. ถ้าเราจำได้เมื่อพระเยซูปรากฏพระองค์แก่มารีย์ชาวมักดาราที่อุโมงฝังพระศพนั้นในเช้าของการกลับคืนชีพนั้น พระองค์ตรัสกับเธอว่า “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้เลย เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา” (ยน.20:17) เช่นเดียวกัน การปรากฏพระองค์ให้กับสานุศิษย์ในเย็นวันเดียวกันนั้น พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขา “จงรับพระจิตเจ้าเถิด” (ยน.20:22) นี้เป็นการกระทำให้พระสัญญาสำเร็จไป(ยน. 7:39) จากบทอ่านนี้เป็นการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า 3 ประการ คือ

(1) การกลับคืนชีพ
(2) การเสด็จขึ้นสู่สวรรค์
(3) การประทานพระจิตเจ้าให้แก่บรรดาอัครสาวก

19. พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราเฉลิมฉลองเหตุวันปัสกาและวันพระจิตเจ้าเสด็จลงมาคนละอาทิตย์กัน แต่ความจริงแล้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในวันเดียวกันแต่ต่างกัน 24 ชั่วโมง

20. หลังจากที่พระเยซูเจ้าตรัสว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” พระองค์ทรงเป่าลมเหนือพวกเขาทั้งหลายตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้า” (ยน.20:21-22) นักบุญยอห์นใช้คำภาษากรีกที่เป็นคำเดียวกับคำที่ใช้ในหนังสือปฐมกาล ตอนที่พระเจ้าทรงเป่าลมเข้าไปในมนุษย์แล้วก็มีชีวิต(ปฐก.2:7) เช่นเดียวกัน การกระทำของพระเยซูเจ้าต่อบรรดาอัครสาวกเป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเขา(และพวกเราด้วย)กลับกลายเป็น “สิ่งสร้างใหม่” ของพระเจ้า เราได้รับพระจิตของพระเจ้าในตัวของเราทุกคน

21. อีกเหตุการณ์หนึ่งคือการที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงหลักฐานเป็นรอบแผลที่มือและสีข้างของพระองค์ให้สานุศิษย์ได้เห็นนั้น พระคัมภีร์ได้พูดถึงศิษย์คนหนึ่งชื่อโทมัสที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด”(ยน. 20:25) นี้เป็นการเปิดเผยให้เราทราบอย่างแน่ชัดถึงความเพียรทนของพระเยซูเจ้าที่จะแสดงความรักของพระองค์ให้มนุษย์รู้ (เรื่องพระเจ้าจะมีคนที่เชื่อและไม่เชื่อ เราไม่ต้องไปกังวลใจ)

22. เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน.20:21) นี้เป็นพระบัญชาของพระองค์ที่มอบให้กับสานุศิษย์ซึ่งก็หมายถึงเราทุกคนด้วย ให้สืบทอดงานการไถ่บาปมนุษย์ของพระองค์ให้แก่มวลมนุษย์

23. เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”(ยน.20:23) คำพูดของพระเยซูเจ้านี้เป็นคำพูดศักดิ์สิทธิ์ เป็นการที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลอภัยบาป ทรงมอบอำนาจให้แก่บรรดาอัครสาวกและผู้สืบทอดตำแหน่ง ตามธรรมประเพณีของคาทอลิก

24. ในตอนสุดท้ายของพระวรสารในวันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสกับโทมัสว่า “ท่านเชื่อเพราะได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็นก็เป็นสุข” (ยน.20:29) คำพูดนี้ยืนยันถึงอัศจรรย์ เครื่องหมายต่างๆ การบำบัดรักษาโรค

25. บทสรุปถึงชีวิตของพระเยซูเจ้าก็คือไม่ว่าพระองค์เสด็จไปที่ใด พระองค์ก็ทรงกระทำแต่ความดีที่นั้น พระเยซูเจ้าทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์หลายประการต่อหน้าบรรดาสานุศิษย์แต่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ในพระคัมภีร์(ยน.20:30) เรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้เพื่อให้เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อแล้ว ท่านทั้งหลายก็จะมีชีวิตเดชะพระนามของพระองค์”(ยน. 20:30) เนื่องเพราะพระนามของพระเยซูเจ้า จึงทำให้เรามีประสบการณ์กับชีวิตใหม่ ซึ่งนำความหวังมาให้เรา เป็นความหวังที่จะไม่ทำให้เราต้องผิดหวัง

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์