ข้อคิดวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2011
(อสย.50:4-7;ฟป.2:6-11;มธ.26:14-27,66)
"ยอมเพราะรัก"
1. วันนี้เราระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพระเยซูเจ้าก่อนที่จะทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน คือ การที่พระเยซูเจ้าทรงเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า หรือที่เราเรียกว่า “วันอาทิตย์ใบลาน” เพราะในวันนี้พวกเราจะมีพิธีพิเศษที่แตกต่างไปจากวันอาทิตย์อื่นๆ คือ มีการถือใบลานแห่เข้าไปในวัดเพื่อทำพิธีมิสซาฯพร้อมๆกัน
2. การแห่ “ใบลาน” เป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ของชาวฮีบรู ที่กระทำเพื่อแสดงออกถึงการต้อนรับ การให้เกียรติ และความชื่นชมยินดี ซึ่งกษัตริย์ซาโลมอนได้รับการต้อนรับเช่นนี้จากชาวอิสราเองเมื่อพระองค์เสด็จไปที่พระวิหาร แต่สำหรับของพระเยซูเจ้าแล้ว พระองค์ไม่ได้ทรงเสด็จมาในฐานะกษัตริย์ฝ่ายโลก ตลอดพระชนม์ชีพเปิดเผยของพระองค์นั้น พระองค์ทรงสอนสานุศิษย์และประชาชนทั้งหลายให้เข้าใจเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้าที่เป็นดุจเมล็ดมัสตาร์ดเล็กๆและอยู่ท่ามกลางประชาชนที่ถูกทอดทิ้ง และคนบาป เป็นอาณาจักรที่ไร้เกียรติหรือสง่าราศีแบบโลก เพราะอาณาจักรนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ แต่จากพระเจ้า
3. สัญลักษณ์อีกประการหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ในการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มก็คือ “ลา” การประทับหลังลามาจากพระคัมภีร์ของประกาศกเศคาริยาห์ 9:9-12 “ดูซิ กษัตริย์ของท่านกำลังเสด็จมาหาท่าน....ทรงถ่อมพระองค์และประทับบนหลังลา...พระองค์จะทรงประกาศสันติแก่นานาชาติ” พระเยซูเจ้าไม่ได้เสด็จเข้ามาอย่างกษัตริย์ผู้ที่ได้รับชัยชนะสมจะได้รับโบกสะบัดด้วยใบลานแต่ในฐานะ “เจ้าชายแห่งสันติ” ทรงเลือกสัญลักษณ์แห่งสันติสุข และด้วยลาที่สุภาพต่ำต้อย พระองค์เสด็จมาเพื่อนำสันติสุขมาสู่นานาชาติ
4. การเสด็จเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มครั้งนี้ พระองค์ได้รับการต้อนรับด้วยเสียงโห่ร้องและการสรรเสริญ แต่พระองค์ทรงรู้ดีว่า นี้เป็นของชั่วคราวเท่านั้น แต่เหตุการณ์จริงที่กำลังรอพระองค์อยู่เบื้องหน้าก็คือ การรับทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน แม้จะรู้เช่นนี้พระองค์ก็ทรงกระทำด้วยความเต็มพระทัย เพราะพระองค์ทรงทราบดีว่านี้คือหนทางแห่งการนำความรอดพ้นมาสู่มนุษยชาติ นี้คือการกระทำให้แผนการของพระบิดาสำเร็จไป หากไม่มีความตายก็จะไม่มีการกลับคืนชีพ ไม่มีวันศุกร์แห่งพระมหาทรมานก็จะไม่มีวันอาทิตย์ปัสกา
5. เมื่อพูดถึงความทุกข์ทรมานของพระเยซูเจ้า ทำให้เราได้เห็นชัดถึงความรักของพระเยซูเจ้าที่ทรงมีต่อเรามนุษย์สามประการด้วยกัน คือ
6. หนึ่ง ความทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นเครื่องหมายแห่งความรัก ซึ่งบ่งบอกเราให้รู้ว่านี้แหละคือความรักที่ยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงมอบให้แก่เรา ไม่มีอะไรที่คนหนึ่งจะทำให้กับอีกคนหนึ่งได้ยิ่งใหญ่เท่านี้อีกแล้ว “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย”(ยน.15:13)
7. สอง ความทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นการเชิญชวนให้เรารักกันและกัน พระเยซูเจ้าทรงสอนเราเสมอๆตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ว่า “นี้คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านรักกันและกัน” (ยน.15:12)
8. สาม ความทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นการเผยแสดงถึงเรื่องของความรัก ชีวิตแห่งความรักที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของความสะดวกสบายหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบอันหอมหวน “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้ผู้นั้นเลิกนึกถึงตนเอง ให้แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา”(มก.8:34)
9. เราจำเป็นต้องยืนยันถึงคำสอนของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงกระทำให้เราเห็นแล้ว เราจำเป็นต้องรำพึงไตร่ตรองถึงความจริงของชีวิตที่พระองค์ทรงเปิดเผยให้เราทราบ
10. ตลอดสัปดาห์นี้เราจะได้เข้าร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้นในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เราไม่ควรที่จะไปกล่าวโทษใครว่าควรรับผิดชอบในความตายของพระเยซูเจ้า พระศาสนจักรประกาศอย่างชัดเจนว่า “คนบาปนี้เองเป็นผู้ก่อ และเป็นเสมือนเครื่องมือให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งหมด ซึ่งองค์พระผู้ไถ่ต้องทนรับไว้นั้น” และ “คริสตชนก็ต้องรับผิดชอบด้วยอย่างหนัก ในการรับทรมานของพระเยซู” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 598)
11. ดังนั้นให้เราสามารถเรียนรู้ถึงความรักอันยิ่งใหญ่จากความทุกข์ทรมานของพระเยซูเจ้า และแสวงหาหนทางที่จะบรรเทาทุกข์พระเยซูเจ้าด้วยการนำเอาคำสอนและแบบฉบับของพระองค์มาปฏิบัติตาม ความทุกข์และความตายของพระองค์เป็นดั่งคำเชิญให้เรา “รักผู้อื่น เหมือนรักตัวของเราเอง”