บทที่ 2 : พระบิดาผู้พระทัยดี
เป้าหมาย
สำนึกอยู่เสมอว่าพระเจ้าทรงเป็นบิดาของมวลมนุษย์ ทรงรักและห่วงใยเราเสมอ
จุดมุ่งหมาย : เมื่อสิ้นสุดบทเรียนแล้วนักเรียนสามารถ
1. บอกเหตุผลได้ว่าพระเจ้าทรงเป็นบิดาของมวลมนุษย์ได้อย่างไร
2. รักพระเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นบิดา
4. เข้าใกล้กับพระเจ้าด้วยการสวดภาวนาและประพฤติตนเป็นลูกที่ดีของพระเจ้า
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
• แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน
• ให้แต่ละกลุ่มปรึกษากันจัดงานวันพ่อ รายละเอียดของงานมีอะไรบ้างให้แล้วแต่กลุ่มจะตกลงกันเสร็จแล้วให้แต่ละกลุ่มออกมาแสดงทีละกลุ่ม โดยสมมุติให้คนหนึ่งเป็นพ่อ ที่เหลือเป็นลูกหากมีเวลาไม่พอจะจับฉลากเลือกเอาเฉพาะบางกลุ่มมาแสดงก็ได้
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ครูถามผู้เรียนว่า
• ทำไมจึงจัดงานวันพ่อให้พ่อ ?
• พ่อมีความสำคัญอย่างไร ?
• พ่อจะรู้สึกอย่างไรเมื่อลูกจัดงานวันพ่อให้ ?
สรุป : พ่อมีความสำคัญต่อลูกมาก พอได้ยินคำว่าพ่อเราก็รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เพราะโดยธรรมชาติแล้วพ่อเป็นหลักของครอบครัว เป็นผู้ปกป้องคุ้มภัยให้ครอบครัว เราเรียกพ่อว่า “พ่อบังเกิดเกล้า”
ขั้นที่ 3 คำสอน
1. พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเก่าจะเสนอภาพพระเจ้าที่คอนข้างเน้นหนักไปทางเป็นพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ ทรงความยุติธรรม ทรงอำนาจทรงให้รางวัลคนดีและทรงลงโทษคนชั่ว ชาวอิสราเอลจึงยำเกรงพระเจ้ามาก ไม่กล้าเอ่ยชื่อพระองค์ ไม่กล้าพูดกับพระองค์โดยตรงต้องพูดผ่านทางประกาศก เช่น โมเสส เป็นต้นไม่กล้ามองดูพระองค์เพราะเกรงว่าถ้าเห็นพระองค์แล้วจะต้องตาย
2. แต่พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่าพระเจ้าทรงเป็นบิดาผู้พระทัยดี เปี่ยมด้วยความรัก มนุษย์ทุกคนคือลูกของพระองค์ พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “มีพ่อคนไหนบ้างที่จะเอาก้อนหินให้ลูกเมื่อลูกขอขนมปังหรือจะเอางูให้ลูกเมื่อลูกขอปลา......ในเมื่อพ่อ (ที่เป็นมนุษย์) ยังรู้จักให้ของดีๆแก่ลูก แล้วสาอะไรกับพระเจ้า พระบิดาของท่านในสวรรค์ พระองค์มิยิ่งให้ของดีๆแก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์ดอกรึ ? (มธ 7,9-11)
3. พระเยซูคริสต์ยังทรงแสดงว่าพระเจ้าทรงเป็นบิดาผู้พระทัยดี โดยทรงเล่านิทานเปรียบเทียบเรื่อง “ลูกล้างผลาญ” ให้ฟังว่า “ เมื่อลูกล้างผลาญยังเดินมาแต่ไกล บิดาแลเห็นก็มีเมตตา จึงวิ่งออกไกลสวมกอด...........แล้วสั่งคนใช้ว่าจงรีบไปเอาเสื้ออย่างดีที่สุดมาสวมให้ลูกของเรา ไปเอาแหวนมาสวมนิ้วมือให้ ไปเอารองเท้ามาสวมเท้าให้ แล้วไปเอาลูกวัวตัวอ้อนๆมาฆ่าเลี้ยงฉลองกันเพื่อความรื่นเริงยินดีเถิด เพราะลูกของเราคนนี้ตายแล้วแต่กลับเป็นขึ้นมาอีก หายไปแล้วแต่กลับได้พบกันอีก” (ลก 15,20-24) ภาพนี้ค่อยๆเปิดเผยพระธรรมชาติแท้ของพระเจ้าออกมาให้เราเห็นคือ พระเจ้าทรงเป็นความรัก” (1 ยน 4,8)
4. พระเยซูคริสต์จึงทรงสอนเราให้รักพระเจ้าว่า “จงรักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจของท่าน ด้วยสุดความคิด และด้วยสุดกำลังของท่าน” (มก 12,30) นี่คือพระบัญญัติเอกและเป็นพระบัญญัติแม่ของพระบัญญัติอื่นๆทั้งหมด พระเยซูคริสต์ยังทรงสอนบทภาวนาใหม่ให้เราใช้สวดต่อพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์ พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ พระอาณาจักรจงมาถึง น้ำพระทัยจงเป็นไปในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์……….เป็นบทภาวนาของลูกต่อพระบิดาในสวรรค์ แล้วพระบิดาจะมิทรงฟังและโปรดตามที่เราสวดขอหรือ ?
5. เมื่อพระเจ้าทรงเป็นบิดา เราทุกคนก็เป็นลูกของพระองค์ เรารักพ่อของเราอย่างไร เราก็ต้องรักพระเจ้าอย่างนั้น เราแสดงความรักพ่อของเราอย่างไรเราก็ต้องแสดงความรักพระเจ้าอย่างนั้น ในชีวิตจริงเราช่วยพ่อของเราทำงาน เราปรนนิบัติพ่อของเรา เช่น หาน้ำมาให้ดื่ม หยิบเสื้อผ้ามาให้ใส่ ช่วยพัดให้คลายร้อน ช่วยบีบนวดให้คลายเมื่อย ช่วยเป็นเพื่อนคุยกันให้สนุกหายเหงา ฯลฯ เราจงทำกับพระเจ้าพระบิดาของเราเช่นเดียวกัน คือ ปรนนิบัติพระองค์โดยถือตามพระบัญญัติ เช่น ไปวัดร่วมมิสซา ทำบุญให้ทาน ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คุยกับพระองค์ โดยการสวดภาวนา เฝ้าศีลมหาสนิท เป็นต้น
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
1. “แม้แต่ท่านทั้งหลายที่เป็นคนชั่วยังรู้จักให้ของดีๆแก่ลูก แล้วพระบิดาของท่านผู้สถิตสวรรค์จะไม่ประทานของดีๆแก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์มากกว่านั้นหรือ” (มธ 7,11)
2. “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” (1 ยน 4,8)
3. พระเยซูเจ้าทรงสอนให้เราเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาโดยสอนให้เราภาวนาบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย(มธ.6,913)
4. เราแสดงความรักต่อพระเจ้าพระบิดาของเราโดยถือตามพระบัญญัติ เช่น ไปวัดร่วมมิสซา ทำบุญทำทาน ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คุยกับพระองค์โดยการสวดภาวนา เฝ้าศีลฯ
ข. กิจกรรมในห้องเรียน สวดข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายพร้อมกันและช้า ๆ เลือกข้อความหรือคำที่ประทับใจแล้วแบ่งปันคำประทับใจให้กับเพื่อนฟัง(ถ้าเด็กเล็กให้ปรับตามความสำควร)
ค. กิจกรรมที่บ้าน สวดบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายตอนตื่นนอนและก่อนเข้านอนทุกวัน (หรือกิจกรรมอื่นๆที่เด็กสมัครใจเลือกกระทำเอง โดยให้ยึดหลักว่าจะนำคำสอนหรือข่าวดีที่ได้รับในวันนี้ไปปฏิบัติในชีวิตอย่างไร และนำกลับมาเล่าให้เพื่อนๆฟังในครั้งต่อไป)
คำสอนเพิ่มเติมในบทที่ 2
พระบิดาได้รับการเผยแสดงโดยพระบุตรพระเยซูคริสตเจ้า(CCC 238-242)
1. ในพันธสัญญาเดิมมีการเอ่ยพระนามพระเจ้าว่าทรงเป็นพระบิดา พระองค์ทรงเป็นพระบิดาในในฐานะใดบ้าง
• ในพระคัมภีร์ภาพพันธสัญญาเดิม มีการเอ่ยพระเจ้าพระเจ้าในฐานะ “บิดา” แม้ในหมู่ของศาสนาอื่นๆก็เช่นกัน สำหรับชาวอิสราเอล ถือว่า (CCC 238)
1) พระเจ้าทรงเป็นบิดาของพระเจ้าทั้งหลายและของมนุษย์ทั้งปวง
2) ทรงเป็นบิดาในฐานะที่ทรงประทานพันธสัญญาให้แก่ชาวอิสราเอลในฐานะที่เป้นบุตรหัวปีของพระองค์(เทียบ อพย.4:22)
3) ทรงเป็นบิดาของกษัตริย์แห่งอิสราเอล
4) ทรงเป็นบิดาของคนจนทั้งหลาย ของเด็กกำพร้าและหญิงม่าย(เทียบ 2 ซมอ.7:14;สดด.68:6)
2. พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของเรา บิดาในที่นี้หมายความว่าอะไร
• ในการเรียกพระเจ้าเป็น “พระบิดา” มีสองความหมายคือ
1) การที่พระเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดแรกของทุกสิ่งและทรงมีอำนาจเหนือธรรมชาติและเหตุผลของมนุษย์
2) พระเจ้าทรงเป็นองค์ความดีและทรงห่วงใยลูกๆทุกคนของพระองค์(เทียบ CCC 239)
3. พระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงว่าพระเจ้าทรงเป็นพระบิดาในความหมายใด
• พระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงว่าพระเจ้าทรงเป็น “พระบิดา”ในความหมายที่ไม่เคยมีใครกล่าวไว้ก่อนหน้านั้น คือ พูดในแง่ของความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่าง พ่อกับลูก ดังนี้ “ไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตร และผู้ที่พระบุตรประสงค์จะสำแดงให้รู้จัก” (มธ.11:27) (เทียบ CCC 240)
4. สังคายนาใดที่รับรองความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงมีสภาวะหนึ่งเดียวกับพระเจ้า
• บรรดาอัครสาวกที่อยู่ใกล้ชิดรับรู้ถึงความจริงประการนี้จึงได้สั่งสอนกันต่อๆมา จนที่สุดในการประชุมสังคายนาคอนสแตนติโนเปิ้ล(ค.ศ.381)และนิเชได้ประกาศถึงความสัมพันธหนึ่งเดียวกันนี้ให้เป็นข้อความเชื่อหนึ่งในบทข้าพเจ้าเชื่อ(เทียบ CCC 242)