ขั้นที่ 1 กิจกรรม
ร้องเพลง “สดุดีมหาราช” พร้อมกัน
“ขอเดชะองค์พระประมุขภูมิพล มิ่งขวัญปวงชนประชาชาติไทย
มหาราชขัตติยะภูวนัย ดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงประชา
ขอเดชะองค์สมเด็จพระราชินี คู่บุญบารมีจักรีเกริกฟ้า
องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้าขอสดุดี
(ดนตรี)..........
อ้าองค์พระสยมบรมราชันย์ขวัญหล้า เปล่งบุญญาสมสง่าบารมี
ผองข้าพระพุทธเจ้า น้อมเกล้าขออัญชุลี สดุดีมหาราชา สดุดีมหาราชินี”
(ขับร้อง 2 เที่ยว)
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ครูถามผู้เรียน
- เพลงนี้มีความหมายว่าอะไร?
- พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะองค์ปัจจุบัน มีความสำคัญต่อเราชาวไทยอย่างไร?
- เราชาวไทยมีความรู้สึกอย่างไรต่อพระองค์?
สรุป พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสูงสุดของประเทศ ทรงเปี่ยมด้วยบุญญาบารมีทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของพสกนิกร ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม
ขั้นที่ 3 คำสอน
1. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์คู่ประเทศไทยมาแต่โบราณกาล ทรงนำประเทศไทยฟันฝ่าอุปสรรค เภทภัยนานาประการ จนกระทั่งเป็นปึกแผ่นมั่นคง สามารถดำรงเองราชอยู่ได้จนตราบเท่าทุกวันนี้ เรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นนักรบ เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นนักการเมือง เช่น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นนักปกครอง เช่น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นนักอักษรศาสตร์ เช่น สมเด็จพระเจ้าขุนรามคำแหงมหาราช เป็นนักวิทยาศาสตร์ เช่น สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 4 เป็นศิลปิน เช่น สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชการที่ 2 เป็นนักปฏิรูป เช่น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นนักพัฒนาและศิลปิน เช่น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน เราจึงมีความภาคภูมิใจยิ่งนักในพระมหากษัตริย์ของเรา และเราก็มีความจงรักภักดีโดยยกย่องเทิดทูนให้เป็นหนึ่งในสถาบันทั้งสามของประเทศ ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ชาวไทยทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เรารักในหลวง” เพราะ “ในหลวง” ทรงเป็นกษัตริย์ที่ใกล้ชิดพสกนิกรของพระองค์ ทรงห่วงใยในความทุกข์สุขของพสกนิกรของพระองค์ ทรงอุทิศพระวรกาย ความเหนื่อยอยากเพื่อพสกนิกรของพระองค์อย่างที่ไม่มีกษัตริย์ใดเสมอเหมือน
2. พระเยซูคริสต์ทรงเป็นกษัตริย์ของมนุษยชาติ ของสากลจักรวาล เพราะทุกสิ่งถูกสร้างมา ณ “พร้อมกับพระองค์ และในพระองค์” พระองค์ทรงเป็นบุตรหัวปีของมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์เองทรงยืนยันว่า พระองค์เป็นกษัตริย์จริง ดังที่ปีลาตได้ถามพระองค์ว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ?” พระองค์ก็ทรงตอบว่า“ที่ท่านว่าเราเป็นกษัตริย์นั้นก็ถูกต้อง..... แต่อาณาจักรของเรามิได้อยู่ในโลกนี้” (ยน 18:33 และ 37) พระองค์ยังทรงยืนยันว่าพระองค์จะเสด็จมาพิพากษามนุษย์ในวาระสุดท้ายในฐานะกษัตริย์ “พระมหากษัตริย์จะตรัสกับผู้ที่อยู่ทางเบื้องขวา..... เบื้องซ้ายของพระองค์ว่า....” (มธ 25:34 และ 41)
แต่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นกษัตริย์ตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงสั่งสอนพวกสาวกไว้ คือ “ใครเป็นใหญ่ก็ให้รับใช้ผู้อื่น” (มธ 20:26) ฉะนั้น ตลอดพระชนมายุ 33 ปีของพระองค์จึงทรงอุทิศเพื่อรับใช้ผู้คนต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งยากดีมีจน คนดี คนป่วย คนบาป พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระทัยอ่อนโยนสุภาพ “จงเรียนจากเราเถิด เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยน” (มธ 11:29) ผู้คนจึงพากันติดตามพระองค์ไปจนลืมกินลืมนอน พระองค์จึงต้องทำอัศจรรย์ทวีขนมปังเลี้ยงพวกเขา พวกฟาริสีเองก็ยอมรับว่า “ดูซิ โลกทั้งโลกตามพระองค์ไปหมดแล้ว” (ยน 12:19)
3. เราคริสตชนต้องภาคภูมิใจที่ได้เข้ามารับใช้ใกล้ชิดกับพระเยซูคริสต์กษัตริย์ผู้พระทัยดีมีเมตตาพระองค์นี้ พระองค์ไม่ทรงมีพระประสงค์อื่นใดนอกจากสันติสุขและความรอดของเรา และพระองค์เสด็จมาเพื่อชี้ทางไปสู่สันติสุขและความรอดนั้น และเพื่อให้เราบรรลุถึงเป้าหมายนี้ได้แน่ชัด พระองค์ก็ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างและยังทรงช่วยเหลืออุดหนุนด้วยพระหรรษทานของพระองค์อีกด้วย
พระองค์ตรัสว่า “ใครใคร่ตามเรามาก็ให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเอง รับไม้กางเขนของตนแบกแล้วตามเรามา” (มธ 16:24) พระเยซูคริสต์กษัตริย์ของเราทรงแบกไม้กางเขนเดินนำหน้าเราไปแล้ว เราที่เป็นประชากรของพระองค์ก็ต้องแบกไม้กางเขนของเราตามพระองค์ไปด้วย ไม้กางเขนคือภาระหน้าที่ที่เราต้องทำตามฐานะ มันไม่หนักเกินกำลังเพราะ “พระองค์จะไม่ทรงให้ท่านถูกทดลองเกินกว่าที่ท่านจะทนได้ และเมื่อทรงทดลองท่านนั้น พระองค์จะทรงโปรดให้ท่านมีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ด้วย เพื่อท่านจะมีกำลังทนได้” (1คร 10:13)
4. ในฐานะที่เราเป็นประชากรที่จงรักภักดีต่อพระเยซูคริสต์กษัตริย์ของเรา เรายังมีหน้าที่ที่จะต้องประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ขจรขจายไป เพื่อให้คนทั้งหลายได้เข้ามาพึ่งพระบารมี คือ มีส่วนในสันติสุขและความรอดที่พระองค์ทรงนำมาให้ เราควรจะต้องประกาศโดยประจักษ์พยานของตัวเราเองเสียก่อน คือ แบ่งปันประสบการณ์ของเรากับพระองค์ให้แก่ผู้อื่น ประจักษ์พยานนี้เสียงดังกว่าคำพูดของเรามากนักและมีพลังดึงดูดความสนใจของผู้คนมากเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังมีหน้าที่ต้องประกาศด้วยวาจาด้วย คือ ต้องทำทั้งสองอย่าง เหมือนพระเยซูคริสต์ซึ่งทรงทั้ง “กระทำและสั่งสอน” (กจ 1:1)
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
1. “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวสยาม”
2. พระคริสต์คือผู้ได้รับเจิม พระองค์ทรงได้รับเจิมเป็นกษัตริย์ของสากลโลก
3. “บุตรมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อีน” (มก 10:45)
4. เราประกาศเกียรติคุณของพระคริสต์กษัตริย์ด้วยวาจาและกิจการ
ข. กิจกรรม
ตั้งรูปพระเยซูคริสต์กษัตริย์ (จากหน้าปกของ “สารคำสอน” ฉบับนี้)
แบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน
จัดทำฉลากกิจกรรมถวายพระเกียรติพระเยซูคริสต์กษัตริย์เท่ากับจำนวนกลุ่มผู้เรียน
ตัวอย่าง
แต่งกลอน/เขียนสุนทรพจน์/ร้องเพลง/กล่าวคำปฏิญาณ/เดินสวนสนาม
ให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มออกมาจับฉลาก ได้อะไรก็ให้ปฏิบัติอย่างนั้น ให้เวลาเตรียมตัวพอสมควร
ลงมือปฏิบัติต่อหน้ารูปพระเยซูคริสต์กษัตริย์ทีละกลุ่ม
ค. การบ้าน
สวดภาวนาสั้นๆ ทุกครั้งที่เห็นรูปพระเยซูคริสต์ว่า
“ขอพระคริสตเจ้าจงทรงพระเจริญเทอญ”