บทเรียนที่ 1     เดือนสิงหาคม 1994
หัวข้อเรื่อง       พ่อแม่ของฉัน
จุดมุ่งหมาย     เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนแสดงความรัก ความห่วงใยต่อพ่อแม่
                      ด้วยการรับใช้ ช่วยเหลือและปรนนิบัติ
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
ก. ให้นักเรียนจับคู่ชื่อพ่อแม่ (สามี – ภรรยา) ในพระคัมภีร์ ต่อไปนี้
 อาดัม................................(เอวา)  มารีอา.....................................(ยอแซฟ)
 ยออากิม............................(อันนา)  ซาราห์.....................................(อับราฮัม)
 เศคาริยาห์.........................(เอลีซาเบธ) อิสอัค......................................(เรเบคาห์)
 โบอาส..............................(รูธ)  ยากอบ....................................(ราเชล)
 แซมสัน.............................(เดลีลาห์) โมเสส....................................(ศิปโปราห์)
 อาหัส................................(เอสเธอร์) อูรีอา.......................................(บัทเชบา)

ข. ภาพปริศนา
- ครูถามนักรเยนว่าภาพนี้เป็นภาพปริศนาอะไร (ครูบอกใบ้ว่า “เป็นสำนวนไทย หมายถึง “ตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารกอยู่”)
- ครูเฉลย (ตีนเท่าฝาหอย) และอธิบายความหมายให้นักเรียนเข้าใจ
- ครูถามความรู้สึกของเด็กว่าตีนเท่าฝาหอย เป็นอย่างไร

ค. ครูสอนเพลงให้นักเรียนร้อง (ตามเนื้อเพลงที่แนบมา “แม่(พ่อ)”)
 ครูจดเนื้อเพลงบนกระดานดำ ใช้เวลาร้องประมาณ 15 นาที และอธิบายความหมายของเนื้อเพลงให้นักเรียนเข้าใจ
 ครูถามนักเรียนว่า เพลงนี้บอกว่าแม่ (พ่อ) ดีต่อเราอย่างไร (ครูขีดเส้นใต้ข้อความในเนื้อเพลงบนกระดานดำ)
o เธอรู้สึกอย่างไรต่อพ่อแม่ของเธอ?
o เธอจะทดแทนคุณพ่อแม่อย่างไร?

แม่ (พ่อ)
กว่าจะโตมา ใครหนอเหนื่อยอ่อน
กว่าจะโตมา ใครหนอเหนื่อย
ทุกเวลา แม่(พ่อ) คอยห่วงใย กัดก้อน
อ่อน ทุก เว – ลา แม่(พ่อ)คอยห่วงใย
เกลือ กิน ปัด เหลือบไร ยุง ที่ มา กวน ใจ อยาก รู้ ไหม หนอ ว่า
ใคร รัก เจ้า หนัก หนา อิ่ม แล้ว ก็ อุ้ม เจ้า นอน ฮัม เพลง กล่อม
ขวัญ ไม่ ร้อง ห่าง ตา ยาม หิว แม่(พ่อ) ก็ หา ข้าว ปลา ให้กิน ไม่
เคย สิ้น เมต-ตา
(กลับตั้งแต่ต้น “กว่าจะโต........รักเจ้าหนักหนา” เที่ยวสุดท้ายซ้ำ “อยากรู้ไหมหนอ........” 3 ครั้ง)


ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
1. ความรู้สึกทั้งหมดของนักเรียนที่แสดงออกนั้นแล้วแต่ดีทั้งนั้น แสดงว่าธรรมชาติสอนเราให้รู้บุญคุณพ่อแม่ของเรา และรักพ่อแม่ คนที่ไม่รักพ่อแม่ เกลียดพ่อแม่ เนรคุณพ่อแม่เราเรียกว่า “ลูกทรพี” (เรื่องลูกทรพีมีรายละเอียดในเรื่องรามเกียรติ์)

2. พ่อแม่มีความสัมพันธ์โดยธรรมชาติกับลูก ๆ อย่างแยกไม่ออก ธรรมชาติให้ลูกเกิดจากพ่อแม่ ให้ได้รับความเอาใจใส่ดูแลจากพ่อแม่ ถ้าขาดพ่อแม่ลูกก็จะขาดที่พึ่ง ทำให้ลูกมีชีวิตด้วยความลำบาก และมีปมด้อยในชีวิต ถ้าในครอบครัวมีครบทุกอย่างคือ พ่อ แม่ ลูก ทุกคนก็อยู่เป็นสุข ลูก ๆ ก็จะเจริญเติบโตในความรักและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ พ่อแม่จึงเป็นผู้มีพระคุรต่อเราสมตามที่เนื้อเพลงได้บรรยายไว้ (ครูยกตัวอย่างละครเรื่อง “ดาวพระศุกร์” และ “ลูกรัก ลูกชัง” บางครั้งจะระบายอารมณ์ใส่ลูกไปบ้าง หรือ กระทำรุนแรงต่อลูกไปบ้าง แต่ในที่สุดแม่ก็คือแม่ ไม่อาจเกลียดชังลูกหรือเสือกไสไล่ส่งลูกไปได้)

ขั้นที่ 3 คำสอน
1. นอกจากจะเป็นกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติที่ให้ลูก ๆ ห่วงใยพ่อแม่แล้ว พระเป็นเจ้าเองยังทรงกำชับไว้ในพระบัญญัติของพระองค์ประการที่ 4 ว่า “จงนับถือบิดามารดา อายุจะได้ยืน” (อพย 20.12) อายุยืนหมายถึงพระพรของพระเป็นเจ้า ดังตัวอย่างบรรพบุรุษในพันธสัญญาเดิมที่มีอายุคนละหลาย ๆ ร้อยปี อาดัมมีอายุถึง 930 ปี ยาเรดมีอายุ 962 ปี ผู้ที่มีอายุยืนนานที่สุดได้แก่เมธูสะลาห์ มีอายุถึง 969  พระสงฆ์เองก็อวยพรคู่บ่าวสาวเวลาแต่งงานว่า “ให้มีอายุยืนยาวจนได้เห็นลูกเห็นหลานเห็นโหลน” ความหมายก็คือให้เปี่ยมด้วยพระพรของพระเป็นเจ้า

2. ลูก ๆ ต้องห่วงใยนับถือพ่อแม่ของตน เพราะพ่อแม่เป็นผู้ให้ชีวิต พ่อแม่จึงเป็นรูปจำลองของพระเป็นเจ้า ผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดของชีวิตทั้งหลาย ใครนับถือพ่อแม่ก็นับถือพระเป็นเจ้าด้วย ในแง่นี้เราจึงสามารถพูดได้เต็มปากว่าในโลกนี้ไม่มีใครใหญ่เท่าพ่อแม่ คนอื่น ๆ อาจจะให้อะไรเราจิปาถะ แต่มี่มีใครให้ชีวิตเราได้นอกจากพ่อแม่ คนที่ว่าใหญ่โตคับโลกยังต้องลงกราบลงต่อหน้าพ่อแม่ของตน

3. พระเยซูเจ้าเองทรงกระทำเป็นตัวอย่างพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเป็นเจ้าเหมือนกับพระบิดายังทรงนอบน้อมอยู่ใต้บังคับของพระนางมารีและนักบุญยอแซฟ (ลก 2.51) ซึ่งเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา ๆ ทั้งนี้ก็เพราะพระนางมารี และนักบุญยอแซฟเป็นบิดามารดา พระองค์จึงทรงให้เกียรติยกย่อง  ฉะนั้น ลูก ๆ จงห่วงใยพ่อแม่โดยนอบน้อมเชื่อฟังก่อนอื่นหมด “ลูกทั้งหลายจงเชื่อฟังบิดามารดาของตนทุกอย่าง เพราะการนี้เป็นที่ชอบพระทัยของพระเป็นเจ้า” (คส 3.20)

4. ลูก ๆ จงรู้คุณและตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ด้วยความห่วงใยทั้งทางกายและทางใจ ทางกาย เช่น ดูแลทุกข์สุขของท่าน ความเป็นอยู่ สุขภาพ ฯลฯ ทางใจ เช่น ให้ความใกล้ชิด ความอบอุ่น โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่สูงอายุและรู้สึกว้าเหว่ คอยให้กำลังใจ จัดให้ท่านมีโอกาสปฏิบัติกิจทางศาสนาอย่างดีและสม่ำเสมอ สวดให้พ่อแม่ของตน

5. พ่อแม่ของเราเป็นมนุษย์ ยังมีความบกพร่องอ่อนแอทำอะไรที่ไม่ถูกใจเรา หรือกระทำสิ่งที่ผิดต่อหน้าที่ที่เป็นพ่อเป็นแม่ พ่อแม่บางคนโมโหร้าย มักระบายอารมณ์ใส่ลูก ๆ เสมอ ๆ บางทีก็ถึงกับลงไม้ลงมือ กรณีเช่นนี้ลูก ๆ ต้อมีความเชื่อและอดทน เราดูตัวอย่างลูก ๆ ในละครทีวีเรื่อง “ลูกรัก ลูกชัง” หรือ “ดาวพระศุกร์” เป็นเรื่องร้าย ๆ ระหว่างพ่อแม่กับลูก แต่ลึก ๆ แล้วทั้งพ่อแม่ทั้งลูกต่างก็ยังมีความรัก ความผูกพันแฝงอยู่ เราดูแล้วก็อดชมและให้กำลังใจลูก ๆ ไม่ได้ และที่สุดทุกอย่างก็ลงเอยด้วยดีเพราะความอดทนนั่นเอง

“ลูกรัก ลูกชัง”
 มดดำเป็นลูกสาวของคนรวย สุทธิดาเป็นลูกสาวของคนจน แม่ของสุทธิดาแอบสลับสุทธิดากับมดดำลูกสาวของคนรวยเพราะต้องการให้ลูกมีความสุขสบาย และเพื่อแก้แค้นพ่อของมดดำที่ทิ้งตนไป มดดำจึงอยู่ในความเลี้ยงดูของแม่ที่ไม่ใช่แม่แท้ ๆ แต่มดดำก็รักแม่ ประพฤติตัวดี ช่วยเหลือการงานทุกอย่าง เมื่อแม่ดุด่าหรือเฆี่ยนดีก็ไม่ปริปากบ่นว่าหรือเถียงเลย เพราะมดดำคิดเสมอว่าเป็นแม่ที่มีพระคุณ ส่วนแม่ที่เอามดดำมาเลี้ยงไว้ไม่รักมดดำเลย เฝ้าแต่รัก คิดถึง และห่วงใยลูกของตนที่อยู่กับคนรวย และที่สุดแม่คนนี้ก็มีช่องทางเข้าไปอยู่ในบ้านของคนรวยในฐานะคนใช้ พร้อมทั้งนำมดดำไปอยู่ด้วย
 สุทธิดาได้รับการเลี้ยงดูเอาอกเอาใจทั้งจากพ่อแม่ จากป้า จนทำให้เสียนิสัย เอาแต่ใจตนเอง ก้าวร้าว ชอบด่าว่าดูถูกผู้อื่น แม้กระทั่งแม้แท้ ๆ ที่มาเป็นคนใช้อยู่ในบ้านด้วย แต่แม่แท้ ๆ ก็ยังรัก และรักมากด้วย คอยดูและเอาใจใส่เสมอ แม้ว่าลูกในไส้จะร้ายกับตนเองแค่ไหน จะดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นเพียงคนใช้ ก็ยังอดทนเพราะรัก เมื่อสุทธิดาถูกขัดใจหรือถูกติเตียนความประพฤติก็จะเข้าข้างเสมอ ทั้งนี้ก็เพราะรักลูกมาก ยอมทุกอย่างเพื่อลูก ที่สุดแม่ผู้นี้ก็มีแต่ความระทมทุกข์ไม่สมหวังเลยสักครั้งเดียว จนกระทั้งตัวเองต้องเป็นบ้าเพื่อให้ลูกมีความสุข

 จะเห็นได้ว่าขึ้นชื่อว่าแม่แล้วย่อมรักลูกเสมอ แม้บางครั้งจะเป็นความรักที่ผิด ๆ ยอมทุกอย่างเพื่อให้ลูกมีความสุข แม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ส่วนมดดำก็เป็นตัวอย่างของลูกที่มีใจกตัญญู แม้ตัวจะเป็นลูกชังของแม่ที่แม่ไม่เคยรักเลย แต่มดดำก็ไม่เลิกรักแม่ของตน เพราะถือว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณ เป็นผู้บังเกิดเกล้าและเลี้ยงดูมา ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วแม่คนนั้นก็ไม่ใช่แม่แท้ ๆ ของตน

“ดาวพระศุกร์
 ดาวพระศุกร์เป็นเด็กที่ถูกทิ้งไว้ในโรงพยาบาลตั้งแต่เกิด เพราะแม่ของดาวพระศุกร์เป็นคนรวยและถูกกีดกันมิให้แต่งงานกับพ่อของดาวพระศุกร์ ดาวพระศุกร์ได้รับการอุปการะในโรงพยาบาลระยะหนึ่ง ต่อมาได้มีครอบครัวของผู้พันอาทรและมารศรีได้ขอรับดาวพระศุกร์ไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แต่พอมารศรีมีลูกของตัวเองขึ้นมาจริง ๆ ก็กลับเกลียดชังดาวพระศุกร์ และใช้ให้ดาวพระศุกร์ทำงานหนักอย่างน่าสงสาร อีกทั้งยังทุบตี ทำทารุณต่าง ๆ วันหนึ่งดาวพระศุกร์ได้ให้เงินเด็กขอทานไปซื้อข้าวกินด้วยความสงสาร แม้จะรู้ตัวว่าจะโดนลงโทษอย่างหนักก็ตาม และเมื่อกลับมาบ้านดาวพระศุกร์ก็โดนลงโทษอย่างทารุณจนทนไม่ไหวจึงหนีออกจากบ้านไปเป็นขอทาน และต่อมาก็ได้เข้าร่วมกับแกงค์ขโมยอีกด้วย

 ดาวพระศุกร์วาดภาพของแม่ไว้อย่างสวยงามว่าแม่ของตัวเองจะต้องเป็นแม่ที่อ่อนหวานใจดีมาก ๆ พอดาวพระศุกร์โตขึ้นก็ถูกชักชวนให้ไปอยู่ในซ่อง แต่ดาวพระศุกร์ก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ จนเอาตัวรอดจากแขกได้ทุกราย จนพบแขกรายหนึ่งซึ่งเป็นเที่ยวซ่องคือ ภาคย์ ภาคย์สนใจในชีวิตของดาวพระศุกร์มากถึงกับขอซื้อตัวไปเลี้ยงดูที่บ้าน และให้การศึกษาอย่างดีที่สุด แต่ดาวพระศุกร์ก็ไม่มีความสุขนัก เพราะถูกมาหยารัศมีซึ่งเป็นคู่หมั้นของภาคย์อิจฉา และกลั่นแกล้งต่าง ๆ นาน ๆ ทำให้ดาวพระศุกร์ต้องหนีอีกครั้งหนึ่ง

 ระหว่างช่วงที่อยู่กับภาคย์นี้เอง ดาวพระศุกร์ได้รับรู้ว่าศศิประภาคือแม่บังเกิดเกล้าของตัวเอง แต่ก็ต้องผิดหวังที่พบว่าแม่ไม่ยอมรับตรง ๆ ว่าดาวพระศุกร์เป็นลูกเพราะกลัวพีรยุทธิ์ซึ่งเป็นสามีจะรู้เรื่องนี้เข้า แต่ในใจของศศิประภาผู้เป็นแม่นั้นรักดาวพระศุกร์มาก และพยายามให้ความช่วยเหลือ ดูและเอาใจใสด้วยความรักจริง ๆ แม้จะถูกดาวพระศุกร์ประชดประชันว่าเป็นแม่ที่ใจร้าย แม่ที่แสนเลว ศศิประภาก็ยังอดทน เพราะความรักที่มีต่อดาวพระศุกร์นั่นเอง

 เมื่อดาวพระศุกร์จากไปศศิประภาก็เป็นห่วงมาก และพยายามออกติดตาม เอาตัวกลับมา ซึ่งทำให้ดาวเกลียดแม่มากยิ่งขึ้น เมื่อดาวถูกบีบคั้นจากมาหยารัศมีและภาคย์อีก ดาวพระศุกร์ก็หนีออกไปอีกครั้ง และไปเปิดร้านขายดอกไม้ ศศิประภาก็ตามหาจนพบและเที่ยวไปคอยดูแลและกีดกันมิให้ดาวพระศุกร์ติดต่อกับอรรคบิดาบังเกิดเกล้าฉันท์หนุ่มสาว ทำให้ดาวพระศุกร์โมโหมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เข้าใจในตัวแม่ของตนว่าทำไมต้องกีดกัน เพราะดาวพระศุกร์ยังไม่รู้จักบิดาแท้ ๆ ของตน และในที่สุดความลับทั้งหมดก็ถูกเปิดเผยว่าอรรคคือบิดาและศศิประภาคือแม่ ศศิประภายอมที่จะเลิกกับสามี เพื่อจะประกาศว่าดาวพระศุกร์เป็นลูกของตนอย่างเปิดเผย ทำให้ดาวพระศุกร์เริ่มเข้าใจในตัวแม่ และเรื่องก็จบลงด้วยดาวพระศุกร์ยอมไปงอนง้อพีรยุทธิ์ เพื่อให้มาคืนดีกับแม่ และภาคย์ก็ยอมรับความต้องการของใจตนเอง และยอมเลิกกับมาหยารัศมีเพื่อมาแต่งงานกับหญิงที่ตนรักคือดาวพระศุกร์นั่นเอง

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจดจำ
1. พระเป็นเจ้าทรงสั่งให้เรา (ลูก ๆ) รักและเคารพนับถือพ่อแม่ของตน เพราะพ่อแม่เป็นผู้แทนของพระโดยตรง ในฐานะที่เป็นผู้ให้กำเนิดและถ่ายทอดชีวิตให้แก่ลูก ๆ

2. เรามีหน้าที่ต่อพ่อแม่ คือ
    รัก  พยายามทำทุกอย่างให้พ่อแม่มีความสุขทั้งกาย – ใจ
    เคารพนับถือ ยกย่องให้เกียรติพ่อแม่ ด้วยกาย วาจา ใจ
    เชื่อฟัง  ทำตามคำสั่งสอนของพ่อแม่อย่างเคร่งครัด โดยไม่บ่น ไม่เถียง
    กตัญญู รู้จักบุญคุณ ตอบแทนบุญคุณโดย รับใช้ ช่วยทำงาน ประหยัดและช่วยรักษาทรัพย์ ตั้งใจเล่าเรียน และประพฤติดี สวดภาวนาทำบุญอุทิศให้พ่อแม่ของตน

ข. กิจกรรม
ให้นักเรียนท่องกลอนต่อไปนี้ และจดลงในสมุด

พ่อแม่ไม่มีเงินทองจะกองให้  จงตั้งใจพากเพียรเรียนหนังสือ
หาวิชาความรู้เป็นคู่มือ      เพื่อยึดถือเอาไว้ใช้เลี้ยงกาย
พ่อกับแม่มีแต่จะแก่เฒ่า   จะเลี้ยงเจ้าเรื่อยไปนั่นอย่างหมาย
ใช้วิชาช่วยตนไปจนตาย   ลูกสบายพ่อกับแม่ก็ชื่นใจ

ค. ปฏิบัติ
เล่นเกมพ่อแม่ลูก
1. จับกลุ่ม ๆ ละ 3 คน โดยให้คนที่ 1 เป็นพ่อ คนที่ 2 เป็นแม่ และคนที่ 3 เป็นลูก คนที่เป็นพ่อและคนที่เป็นแม่สร้างบ้านโดยจับมือกันชูขึ้นเป็นหลังคาบ้าน โดยคนที่เป็นลูกอยู่ตรงกลาง (บ้าน)

2. ให้แต่ละกลุ่มทำเป็นวงกลม ทำตามคำสั่งของครูหรือผู้นำ เช่น สั่งว่า “พ่อไปทำงาน” คนที่เป็นพ่อก็วิ่งไปรอบ ๆ วงกลม ที่บ้านจะเหลือแต่ลูกและแม่เท่านั้น พ่อวิ่งได้พอสมควร ผู้สั่งก็บอกว่า “พ่อกลับบ้าน” พ่อต้องวิ่งกลับมายังบ้านของตนให้ถูกและมาจับมือกับแม่เป็นบ้านอีกครั้งหนึ่ง ผู้สั่ง (ครู หรือ ผู้นำ) เปลี่ยนคำสั่งเป็นแม่หรือลูกบ้าง เช่น แม่ไปวัด ลูกไปโรงเรียน ฯลฯ

ข้อคิด จะเห็นได้ว่าสมาชิกในครอบครัวจะออกจากบ้านไปทำงาน ทำธุระ หรืออกไปเรียน ไปเที่ยว แต่เมื่อได้เวลาก็กลับบ้านเสมอ สมาชิกจะมีความสุข เมื่อสมาชิกทุกคนอยู่ครบทุกคน พ่อ แม่ ลูก
ร้องเพลง “แม่(พ่อ) อีกครั้งหนึ่ง