ccp016.jpg บทเรียนที่ 2   เดือนพฤศจิกายน 1994
หัวข้อเรื่อง     ญาติผู้ใหญ่
จุดมุ่งหมาย  
เพื่อให้เด็กแสดงความรัก ความห่วงในในปู่ย่า ตายาย โดยช่วยเหลือเยี่ยมเยียน

ขั้นที่ 1 กิจกรรม
 ครูเล่าเรื่อง “ความสามารถของจันทนี” ถ้าเด็กโตอาจจะนำไปเล่นละครแทนก็ได้

“ความสามารถของจันทนี”
 ในชั่วโมงเรียนวิชา “สร้างเสริมประสบการณ์” ครูอนงค์สอนเกี่ยวกับการบำเพ็ญประโยชน์ว่า นักเรียนทุกคนต้องทำประโยชน์แก่คนอื่นๆ ในสังคม แล้วบอกนักเรียนในชั้นว่า ระหว่างโรงเรียนหยุดหลายวัน นักเรียนควรจะบำเพ็ญประโยชน์แก่คนอื่นบ้าง

 “วันนี้ครูจะให้การบ้านแก่นักเรียน โดยการออกไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ในวันสุดสัปดาห์ แล้วมารายงานครูหน้าชั้นในวันจันทร์หน้า!”

 พอถึงวันจันทร์ทุกคนสดชื่นแจ่มใส ออกมารายงานหน้าชั้นต้อยรายงานว่า “เมื่อวันศุกร์ผมตื่นแต่เช้า เดินไปตามถนนไปตลาด พบหญิงชราคนหนึ่งกำลังจะข้ามถนน ผมช่วยจูงข้ามไป พอเดินไปได้สักหน่อยมีคนมาถามผมถึงที่ทำการไปรษณีย์ ผมจึงชี้บอกถนนที่ไปรษณีย์ตั้งอยู่”

 “ดีมาก ที่เธอช่วยคนชราและคนต่างถิ่น” ครูอนงค์ชมเชย

 “หนูช่วยคนตาบอดข้ามถนนค่ะ” โสภารายงาน

 “หนูพบคนตาบอดคนหนึ่งยืนรออยู่ข้างถนน กำลังจะข้ามไปอีกฟากหนึ่ง ถนนมีรถมากหนูกลัวว่าจะเป็นอันตราย จึงจูงคนตาบอดมาข้ามถนนตรงทางม้าลาย”

 “ดีมาก” ครูอนงค์ชม “การข้ามถนนตรงทางม้าลายและรอดูสัญญาณไฟสำหรับให้คนข้ามเสียก่อน แม้จะเสียเวลาไปบ้างแต่ก็ปลอดภัย มีคนเป็นอันมากที่ถูกรถชนบาดเจ็บ เพราะไม่ข้ามถนนที่ตรงทางข้าม และไม่ระมัดระวังให้ดี”

 “ผมช่วยคุณลุงรดน้ำต้นไม้ครับ บ้านลุงห่างจากบ้านผมให้เวลาเดินประมาณ 10 นาที ผมไปช่วยคุณลุงดายหญ้าด้วย” สันติรายงาน

 “หนูช่วยเก็บเศษกระดาษและทำความสะอาดบริเวณวัดในวันเสาร์ค่ะ” สุภานีรายงาน

 นักเรียนในชั้นต่างออกมารายงานต่อหน้าเพื่อนๆ ว่าตนเองได้ทำประโยชน์อะไรบ้างจนครบทุกคน นอกจากเด็กหญิงคนหนึ่ง ชื่อจันทนีนั่งก้มหน้านิ่งอยู่
ครูจึงถามขึ้นว่า “จันทนี เธอไม่ได้ทำการบ้านที่ครูให้หรือ”

 “เปล่าค่ะ หนูไม่มีเวลาเลย” จันทนีก้มหน้าไม่กล้าสบตาครู

 “ไหน ลองอธิบายซิว่า ทำไมเธอไม่มีเวลา เธอทำอะไร” ครูสงสัย

 “คือว่าอย่างนี้ค่ะ” จันทนีพูด “วันหยุดหนูไม่ได้ออกไปช่วยเหลือที่โน่นที่นี่เหมือนเพื่อนๆ หนูต้องอยู่บ้านช่วยดูแลคุณปู่ที่เป็นอัมพาต และคุณย่าที่เดินไม่ค่อยไหว หนูต้องช่วยเช็ดตัวให้ท่าน และดูแลสถานที่อยู่ของท่านให้สะอาด และช่วยคุณพ่อคุณแม่ตักน้ำใส่ตุ่มด้วยค่ะ”

 ครูอนงค์เมื่อได้ฟังเหตุผลของจันทนีก็ยิ้ม พูดว่า “การที่เธอช่วยดูแลคุณปู่คุณย่า และช่วยคุณพ่อคุณแม่ด้วยนั้น ก็ถือว่าเป็นการทำประโยชน์เหมือนกันและเป็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่มากเพราะว่าเธอได้แสดงให้เห็นว่า เธอรักและเคารพผู้สูงอายุที่อยู่ใกล้ชิดเธอ ผู้สูงอายุเหล่านี้ถือว่ามีพระคุณต่อตัวเธอ เพราะท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ ผู้ให้กำเนิดคุณพ่อคุณแม่ของเธอเอง ฉะนั้นครูถือว่า เธอได้ทำประโยชน์แล้วเหมือนเพื่อนๆ ของเธอเหมือนกัน”

 “พระเป็นเจ้าประทานความสามารถให้เรา” ครูอนงค์อธิบายต่อ “คือให้เรามีสุขภาพดี มีมือ เขน ขาที่แข็งแรง มีสมองที่เฉลียวฉลาด เราต้องใช้ความสามารถนั้นถวายพระเจ้า โดยการช่วยเหลือคนอื่นๆ รอบตัวเราเฉพาะอย่างยิ่ง โดยการช่วยเหลือญาติผู้ใหญ่ภายในบ้าน หรือภายในละแวกบ้านของเธอเอง”

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
วิเคราะห์จากกิจกรรมที่ 1
- ทุกคนในชั้นเรียนของครูอนงค์ได้ทำกิจกรรมที่ดีทุกคน คือได้ทำคุณประโยชน์โดยช่วยเหลือคนอื่นๆ ในวันหยุดเรียนหลายวัน

- แต่กิจกรรมของเด็กหญิงจันทนีที่ทำนั้นดีมาก เพราะว่าจันทนีได้ช่วยเหลือญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด คือ คุณปู่ซึ่งเป็นอัมพาตและคุณย่าที่เดินไม่ค่อยไหว โดยเช็ดเนื้อเช็ดตัว และทำความสะอาดสถานที่พัก นั้นเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ให้กับผู้อื่นซึ่งผู้อื่นนั้นเป็นญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิด และมีพระคุณต่อตัวของเราด้วย เป็นผู้ให้กำเนิดคุณพ่อคุณแม่ของเรา

สรุป ความรักเริ่มต้นจากภายในบ้าน เราต้องดูและคนในบ้านของเราให้ดีเสียก่อน จึงจะขยายความรักออกไปสู่เพื่อนบ้าน

ขั้นที่ 3 คำสอน
1. ในสมัยนี้พอพูดถึงครอบครัวเรามักเป็นห่วงลูกๆ ที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง เพราะต้องออกไปทำงานแต่เช้าและกลับบ้านเย็น แต่เราลืมไปว่าในครอบครัวแบบไทยๆ เรายังมีญาติผู้สูงอายุ คือ ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา อาศัยอยู่ด้วย ญาติผู้สูงอายุเหล่านี้ก็ถูกทอดทิ้งไม่แพ้ลูกๆ เหมือนกัน สำหรับลูกๆ ยังมีเพื่อนเล่น ของเล่นมาคลายเหงา แต่สำหรับญาติผู้สูงอายุท่านไม่เล่นอะไรแล้วเพราะเลยวัยแล้ว ท่านไม่มีเพื่อนเพราะคนรุ่นราวคราวเดียวกันกับท่านก็มีน้อย และไม่ค่อยไปมาหาสู่กัน เพื่อนของท่านจึงได้แก่ความเงียบเหงาวันแล้ววันเล่า

2. พระเป็นเจ้าทรงให้ความสำคัญในตัวผู้สูงอายุมากถึงกับประทานพระบัญญัติประการที่สี่ให้เราปฏิบัติ คือ จงนับถือบิดามารดา คำว่าบิดามารดาก็กินความถึง ปู่ย่า ตายายด้วย และคำว่านับถือก็กินความถึงการเอาใจใส่ดูแล ปรนนิบัติ เลี้ยงดูท่านอย่างสมกับฐานะ และพระองค์ยังทรงนับอายุของบรรพบุรุษที่ยืนยาว เป็นรูปหมายถึงพระพรของพระองค์ ดังนั้น ใครนับถือญาติผู้สูงอายุก็เท่ากับนับถือพระเป็นเจ้าเอง และใครเลินเล่อสบประมาทญาติผู้สูงอายุ ก็เท่ากับเลินเล่อสบประมาทพระเป็นเจ้าเอง

3. ความรักเริ่มต้นที่บ้าน บาทีเราคิดว่าความรักคือการออกไปช่วยเหลือคนอื่น ก็ถูก แต่ถูกถากๆ เท่านั้น ที่จริงเราจะต้องเริ่มปฏิบัติความรักที่บ้านก่อน คือ เอาใจใส่ดูแลญาติผู้สูงอายุของเราที่บ้าน ให้ท่านรู้สึกอบอุ่น ไม่เงียบเหงาโดดเดี่ยว จงอยู่เป็นเพื่อนใกล้ชิดท่าน มีอะไรในครอบครัวก็ให้ท่านมีส่วนร่วมด้วยในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง จงห่วงใยสุขภาพความเป็นอยู่ทั้งกายและใจของท่านอยู่เสมอ มีบางคนร้องไห้แทบจะขาดใจเมื่อญาติผู้สูงอายุเสียไป แต่เวลาท่านยังมีชีวิตอยู่กลับไม่เห็นใส่ใจดูและท่านเลย การร้องไห้เช่นนี้จึงไม่ก่อนให้เกิดประโยชน์อะไร

4. จงเอาใจญาติผู้สูงอายุมาใส่ใจเรา เราปฏบัติต่อท่านอย่างไรในขณะนี้ ลูกหลานของเราก็จะปฏิบัติต่อเราในภายหลังเช่นกัน

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
1. ครอบครัวแบบไทยๆ คำว่าญาติผู้สูงอายุ คือ ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา ที่อาศัยอยู่ในบ้านด้วย

2. พระเป็นเจ้าทรงให้ความสำคัญในตัวผู้สูงอายุมากถึงกับประทานพระบัญญัติประการที่สี่ คือ จงนับถือบิดามารดา คำว่าบิดามารดาก็กินความถึง ปู่ย่า ตายายด้วย นับถือหมายถึง การเอาใจใสน่ดูและ ปรนนิบัติเลี้ยงดูท่านอย่างสมกับฐานะ

3. ใครนับถือญาติผู้สูงอายุก็เท่ากับนับถือพระเป็นเจ้าเอง และใครเลินเล่อสบประมาทญาติผู้สูงอายุก็เท่ากับเลินเล่อสบประมาทพระเป็นเจ้าเอง

4. ความรักเริ่มต้นที่บ้านเราจะต้องปฏิบัติความรักที่บ้านก่อนคือ เอาใจใส่ดูแลญาติผู้สูงอายุของเรา บ้านให้ท่านรู้สึกอบอุ่น ไม่เงียบเหงาโดดเดี่ยว อยู่ใกล้ชิดท่าน มีอะไรในครอบครัวก็ให้ท่านมีส่วนร่วมด้วนในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง ห่วงใยสุขภาพ ความเป็นอยู่ทั้งกายและใจของท่านอยู่เสมอ

ข. กิจกรรม
ไปเยี่ยมบ้านพักคนชราที่อยู่ใกล้ๆ โดยให้ไปพูดคุย สัมภาษณ์ “ว่าทำไมจึงมาอยู่ที่บ้านคนชรา” ฯลฯ

- คนไหนไม่มีญาติผู้สูงอายุในบ้านก็หาโอกาสไปเยี่ยมคนชราใกล้เคียงหรือละแวกบ้านของเรา ถามทุกข์สุขของเขา
- คนไหนมีปู่ย่า ตายายในบ้าน ช่วยปรนนิบัติ เช่น อ่านหนังสือให้ฟัง เตรียมข้าวปลาอาหาร จัดที่นอน ทำความสะอาด พูดคุยกับท่าน ฯลฯ