บทเรียนที่ 2 เดือนกันยายน 2538 หัวข้อเรื่อง คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา แม่ของผู้ยากไร้ จุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนได้ซาบซึ้งในชีวิตและตัวอย่างที่ท้าทายของท่าน ผู้เป็นแม่ของผู้ยากไร้ และนำมาปฏิบัติในชีวิต |
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
1. ให้นักเรียนดูวีดดีโอเรื่อง “คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา” หรือ
2. อ่านกลอนต่อไปนี้ให้นักเรียนฟัง
สำหรับฉัน พระเยซู.....
สำหรับฉันแล้ว พระเยซูคือ
พระวาทะที่บังเกิดเป็นมนุษย์
ขนมปังแห่งชีวิต
เครื่องบูชาบนกางเขนเพราะความบาปของเรา
เครื่องบูชาในพิธีมหาสนิท เพราะความบาปของโลกและของฉัน
พระวาทะที่ถูกหักออก
สัจจะที่ถูกประกาศออกไป
ทางนั้นที่ต้องเดิน
แสงสว่าง ที่จุดขึ้น
ชีวิต ที่ทำให้มีชีวิต
ความรัก ที่จะรัก
ความชื่นชม ที่จะแบ่งปัน
เครื่องบูชา เพื่อการถวาย
สันติ ที่จะให้
ขนมปังแห่งชีวิต ที่จะถูกกิน
คนหิวโหย ที่ได้รับการเลี้ยงดู
คนกระหาย ที่ได้รับความฉ่ำชื่น
คนเปล่าเปลือย ที่ได้รับการคลุมกาย
คนไร้บ้าน ได้ถูกนำเข้าในที่พัก
คนเจ็บป่วย ได้รับการรักษา
คนว้าเหว่ ได้รับความรัก
คนที่ไม่มีใครต้องการ ได้รับความรักและการยอมรับ
คนโรคเรื้อน ได้รับการชำระแผล
คนขอทาน ได้รับรอยยิ้ม
คนเมา ได้รับความสนใจ
เด็กน้อย อยู่ในอ้อมกอด
คนตาบอด มีคนนำทาง
คนไข้ มีผู้พูดเพื่อเขา
คนพิการ มีคนเดินกับเขา
คนติดยาเสพติด มีเพื่อนที่เข้าใจ
โสเภณี ถูกนำมาอยู่ในที่ปลอดภัย และมีเพื่อนแท้
คนคุก ได้รับการเยี่ยมเยียน
คนชรา ได้รับการรับใช้
สำหรับฉัน พระเยซูเป็นพระเจ้าของฉัน
พระองค์ทรงเป็นคู่ชีวิตของฉัน
พระองค์ทรงเป็นชีวิตของฉัน
พระองค์ทรงเป็นคนรักคนเดียวของฉัน
พระองค์ทรงเป็นทั้งหมดของฉัน
พระองค์ทรงเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง
ถามนักเรียนว่า คนที่กล่าวถึงในบทกลอนนี้คือใคร อนุญาตให้ถามครูได้ไม่เกิน 10 คำถาม
ตัวอย่างคำถาม (10 คำถาม)
1. คนคนนี้ยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว
2. เป็นพระสงฆ์ นักบวช หรือฆราวาส
3. เป็นชายหรือเป็นหญิง
4. เป็นคนไทยหรือชาวต่างประเทศ
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
- เล่าเรื่องย่อ ๆ (เชิงวิเคราะห์) เกี่ยวกับประวัติคุรแม่เทเรซา
- ถามความรู้สึกและความประทับใจว่าประทับใจคุณแม่เทเรซาตอนไหนบ้าง
คุณแม่เทเรซา แห่งกัลกัตตา
อักเนส ก๊อนซ่า โบยักซิว ซิสเตอร์ธรรมทูตเกิดที่สโกปิเอ (ประเทศยูโกสลาเวีย) ในปี 1911 จากพ่แม่ชาวอัลบาเนีย เมื่ออายุ 12 ปี เธอได้จากบิดามารดามาเข้าบ้านอบรมของนักบวช ที่นั่นเธอได้เปลี่ยนชื่อจากอักแนสเป็นเทเรซา เมื่ออายุ 18 ปี เธอได้เดินทางไปเป็นธรรมทูตในอินเดีย ตลอด 20 ปี เธอสอนนักเรียนระดับมัธยมในกัลกัตตา ต่อมาเธอได้ยินเสียงเรียกพิเศษของพระเจ้า และเธอไม่สามารถที่จะสอนเรียนได้ต่อไปขณะที่คนนอนตายอยู่ตามถนน เธอขออนุญาตที่จะออกจากอารามและดำเนินชีวิตเคียงคู่คนยากจนตามถนนในปี 1948 พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 อนุญาตให้เธอตามกระแสเรียกพิเศษนี้ เทเรซาจึงถอดชุดซิสเตอร์และสวมส่าหรีสีขาวของสตรีจน ๆ แห่งอินเดีย เธอเริ่มรวบรวมคนยากจนในท้องที่ เจ้าหน้าที่จัดให้มีเยาวชนชาวอินเดียมาร่วมทำงานกับเธอ และนั่นแหละเป็นจุดกำเนิดของคณะนักบวช “ซิสเตอร์แห่งความรัก” ซึ่งได้แพร่หลายที่อินเดียและอีกหลายประเทศในโลก
คุณแม่เทเรซาได้รับรางวัลแมกไซไซ ในปี 1962 จากรัฐบาลฟิลิปปินส์ รางวัลสันติภาพ “ยอห์นที่ 23” ในปี 1970 โดยพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1979
จากคำพูดของท่าน
“จงพูดถึงคนโรคเรื้อนเถิด อย่าพูดถึงข้าพเจ้า มีประโยชน์อันใดที่จะพูดถึงซิสเตอร์คนหนึ่ง จงพูดถึงคนโรคเรื้อนเถิด พวกเขามีประมาณ 6 หมื่นคนที่กัลกัตตา และมีราว 4 ล้านคนทั่วอินเดีย”
“เขาไม่สามารถแบ่งปันของของเขากับเราได้”
“พระเป็นเจ้าทรงช่วยเรา และผู้ใจบุญก็ยื่นมือช่วยด้วย เราจะไม่ยอมรับแม้เศษขนมปังจากผู้ที่เราไปเยี่ยม เพราะคนยากจนเหล่านั้นไม่สามารถแบ่งอะไรกับเราได้ สมาชิกในคณะแต่ละคนมีจานใบหนึ่งพร้อมกับช้อนเพื่อรับประทานอาหาร มีส่าหรี 2 ชุด ซึ่งมีราคาถูก ๆ มีรองเท้า 1 คู่ มีฟูกบาง ๆ เพียงเท่านั้น บ้านของเราคือบ้านของคนยากจนและถนนที่มีคนตายจากความหิวโหย อารามเป็นที่ที่เราไปพักผ่อนและสวดภาวนา เพราะเราต้องการการภาวนา ถ้าปราศจากพลังแห่งการภาวนาแล้ว เราไม่สามารถที่จะอดทนในการเจริญชีวิตเช่นนี้ได้”
สรุป คุณแม่เทเรซาเป็นสตรีในทศวรรษที่ 20 อยู่ในสมัยของเรา ท่านเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ ท่านเป็นผู้ใจบุญ ท่านมีความรักมากมาย ท่านเป็นแบบฉบับของสตรีผู้อุทิศตนเพื่อผู้ยกไร้ คือ ให้ความรักความสุขของชีวิตแก่ผู้ยากจนยากไร้ ท่านเป็นนักบุญที่ยังมีชีวิตอยู่ จากตัวอย่างชีวิตของท่านนี้เอง ทำให้เกิดกิจการงานนั้นแพร่ขยายไปทั่วโลก และยังมีเยาวชนทั้งหญิงชายเข้ามาร่วมในกิจการงานของท่าน มาจากทุกแห่ง ทุกคนทิ้งบ้านทิ้งช่อง ทิ้งบิดามารดา เช่นเดียวกับคุณแม่เทเรซา เพื่อมาดำเนินชีวิตเพื่อผู้ยากไร้ จึงสมควรแล้วที่ทั่วโลกจะขนานนามท่านว่า “แม่ของผู้ยากไร้”
ขั้นที่ 3 คำสอน
1. สตรีที่โลกรู้จักและยกย่องถึงกับได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มิใช่เพราะเธอผู้นี้มีบทบาทเด่นทางการเมืองเหมือนนางอองซาน ซูจี แห่งประเทศพม่า หรือนางมาร์กาเร็ต แธทเชอร์ แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับสมญานามว่า สตรีเหล็กหรือเป็นดาวค้างฟ้างอย่างบริจิต บาร์โด ดาราราสาวทรงเสน่ห์และเซ้กซี่ที่ใคร ๆ พากันหลงใหลแม้จะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม แต่สตรีที่เราพูดถึงนี้เป็นเพียงซิสเตอร์จน ๆ คนหนึ่ง แต่ตัวปอน ๆ เหมือนคนชั้นต่ำ คลุกคลีอยู่กับคนยากคนจน คนตกทุกข์ได้ยาก คนเจ็บคนป่วย คนไร้ญาติขาดมิตรขาดที่พึ่ง คนที่แผลเน่าเฟะพุพองทั้งตัว ทั้งนี้โดยไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์แต่อย่างใดเลย เธอผู้นี้คือผู้ที่ใคร ๆ เรียกขานกันโดยทั่วไปว่า “คุณแม่เทเรซา”
2. จากประวัติที่ได้รับทราบมาแล้วว่า คุณเทเรซามิได้เกิดมามีเชื้อชาติอินเดีย แต่เธอก็อุตสาห์ดั้นด้นมาถึงประเทศอินเดีย ใช้ชีวิตอยู่กับคนอินเดียที่นี่เป็นเวลาถึง 67 ปีแล้ว (1928-1995) อะไรดลใจให้คุณแม่มาถึงที่นี่ คำตอบก็คือ “ความรัก” ต่อเพื่อนมนุษย์โดยเฉพาะต่อคนยากไร้อย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนและทรงกระทำเป็นแบบอย่างไว้ บัดนี้คุณแม่ก็อายุได้ 85 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมหยุด ยังกระวีกระวาดช่วยเหลือคนยากไร้ต่อไป และยังขยายกิจการไปถึงประเทศอื่น ๆ อีกด้วย
3. คุณแม่เทเรซาได้รับเกียรติยกย่องจากทั่วโลก และเกียรติอันยิ่งใหญ่ที่โลกพร้อมใจกันยกให้ คือ รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ซึ่งเฉพาะผู้ที่ได้ประกอบคุณงามความดีจริง ๆ เท่านั้นจึงจะได้รับ แต่กระนั้นคุณแม่ก็ยังเป็นคุณแม่เทเรซาคนเดิม คือเป็นแม่ของผู้ยากไร้ เงินทุกบาททุกสตางค์จากรางวัลโนเบลก็ผ่านจากมือของคุณแม่ไปสู่ผู้ยากไร้จนหมดสิ้น คุณแม่หวังเพียงอย่างเดียวคือ ให้ผู้ยากไร้ที่ตลอดชีวิตแทบจะไม่เคยได้ลิ้มรสความสุขกับเขาเลย จะได้รับไออุ่นแห่งความรักในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตนี้บ้าง ให้พวกเขาได้สัมผัสกับประกายแห่งความสุขนี้อย่างน้อยสักแวบหนึ่งก่อนที่จะปิดตาอำลาชีวิต คุณแม่ถือว่าได้ทำหน้าที่ส่งวิญญาณเหล่านี้เข้าสู่สวรรค์ถิ่นฐานแห่งความสุขนิรันดร และคุณแม่ก็มีความสุขใจและมองความหวังทั้งหมดไว้ในพระหัตถ์ของพระเป็นเจ้าแต่ผู้เดียว
4. คุณแม่เทเรซาเล่าว่า รัฐมนตรีคนหนึ่งในศรีลังกาเคยกล่าวกับคุณแม่ว่า “ผมรักพระเยซู แต่ผมเกลียดพวกคริสตชน” คุณแม่จึงถามเขาว่า “เป็นไปได้อย่างไรกัน?” เขาก็ตอบว่า “เพราะพวกคริสตชนไม่ได้ให้พระเยซูแก่พวกเรา พวกเขาไม่ดำเนินชีวิตของเขาอย่างครบครัน หาไม่แล้วป่านนี้คงไม่มีชาวฮินดูหลงเหลืออยู่เลยแม้แต่คนเดียวในประเทศอินเดีย” (จากบทความเรื่อง คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา” โดยคุณพ่อสิริพงษ์ จรัสศรี ในสารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 8 ฉบับที่ 8 เดือนกันยายน 1993 หน้า 26)
จากคำกล่าวข้างบนนี้คงจะเป็นบทสรุปที่ดีสำหรับเราที่เป็นคริสตชน ทุกวันนี้ที่โลกยังจมอยู่ในความลุ่มหลงแห่งรูป รส กลิ่น เสียง อาชญากรรม อบายมุขและสิ่งเสพติดทั้งหลาย ก็เพราะเราคริสตชนดำเนินชีวิตไม่ได้ครึ่งหนึ่งหรือกระผีกหนึ่งของชีวิตคริสตชนจริง ๆ ถ้าในโลกมีคริสตชนอย่างคุณแม่เทเรซามาก ๆ คือ ผู้ที่ปฏิบัติตามบัญญัติแห่งความรักอย่างจริงจัง ป่านนี้โลกก็คงจะมีความสงบสุขมากกว่านี้แน่ ๆ
ขั้น 4 ขั้นปฏิบัติ
ก.ข้อควรจำ
1. คุณแม่เทเรซา เป็นสตรีที่โลกรู้จักและยกย่องถึงกับได้รับรองวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งเฉพาะผู้ที่ได้ประกอบคุณงามความดีจริง ๆ เท่านั้นจึงจะได้รับ แต่กระนั้นคุณแม่ก็ยังเป็นคุณแม่เทเรซาคนเดิม ถึงเป็นแม่ของผู้ยากไร้
2. คุณแม่เทเรซาได้ชื่อว่าเป็นแม่ของผู้ยากไร้ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์จากรางวัลโนเบล หรือผู้มีจิตศรัทธามอบให้ก็ผ่านจากมือของคุณแม่ไปสู่ผู้ยากไร้จนหมดสิ้น คุณแม่หวังเพียงอย่างเดียวคือ ให้ผู้ยากไร้ที่ตลอดชีวิตแทบจะไม่เคยได้ลิ้มรสความสุขกับเขาเลย จะได้รับไออุ่นแห่งความรัก ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตนี้บ้าง
ข. ปฏิบัติ
ถามนักเรียนโดยให้เขียนลงในสมุดจดบันทึก
- หน่วยงานหรือคณะอะไรบ้างที่ทำงานเกี่ยวกับกิจกรรมที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้
- กิจกรรมคาทอลิกในประเทศไทยที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้มีอะไรบ้าง
ครูเฉลย
หน่วยงาน หรือคณะ กิจกรรมหรืองานที่ทำ
- คณะคามิลเลียนชาย – หญิง - ดูแลคนโรคเรื้อน คนชรา คนไข้
- คณะวินเซนต์เดอปอล - ช่วยเหลือคนยากจน
- คณะภคินีศรีชุมพาบาล - ฟื้นฟูชีวิตให้โสเภณีและสตรีที่มีปัญหาชีวิต
- คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ - ช่วยคนตาบอดและคนพิการ
- ซิสเตอร์เมตตาธรรม - ช่วยเด็กยากจนและเด็กพิการ
- มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก - ช่วยเหลือเด็กเร่รอน ลูกกรรมกรก่อสร้าง
เด็กกองขยะ เด็กขาดอาหาร โสเภณีเด็ก
- ศูนย์พัฒนาเยาวชนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก - ดูแลเด็กและเยาวชนในชุมชนแออัด
- มูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน - ช่วยเหลือเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษา
- คณะซาเลเซียน - อบรมเด็กและเยาวชน
- บ้านอุ่นรัก กรุงเทพฯ - ช่วยเด็กกำพร้า เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่ถูกทำร้าย ทารุณ เด็กที่ถูกข่มขืน
- ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก - ช่วยเด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ เด็กที่ถูกข่มขืน
ค.การบ้าน
ครูพานักเรียนออกไปสัมผัสผู้ยากไร้ เช่น เยี่ยมคนเจ็บที่โรงพยาบาล คนชรา คนพิการ เด็กกำพร้า ฯลฯ