ccp028.jpg บทเรียนที่          2 เดือนกุมภาพันธ์ 1996
หัวข้อเรื่อง          กุลสตรีไทย (มารยาท)
จุดมุ่งหมาย       
เพื่อให้นักเรียนมีความสำนึกในคุณลักษณะที่ดีของกุลสตรีไทย ในความร่วมมือกับชายในการเสริมสร้างครอบครัวและโลกมนุษย์ใหม่


ขั้นที่ 1 กิจกรรม
 ให้นักเรียนเล่าถึงสตรีที่ตนประทับใจมากที่สุดว่าเป็นใคร และมีอะไรที่ทำให้ประทับใจ
 (อาจเป็นแม่ ดารา ครู นักการเมือง นักธุรกิจ หมอ ฯลฯ) โดยให้มีรายละเอียดดังนี้
- ชื่อ ตำแหน่ง หรือสถานภาพ
- คุณลักษณะ
- ความสามารถ (พรสวรรค์)
 เสร็จแล้วให้นักเรียนนำมาอ่านให้เพื่อน ๆ ฟัง

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
 คุณลักษณะของสตรีที่ช่วยเสริมแต่งบุรุษ (ชาย) ให้สมบูรณ์
     หญิง                                                      ชาย
 อ่อนโยน                      ช่วยเสริม                 เข็มแข็ง
 ประนีประนอม                ช่วยเสริม                เด็ดขาด
 ละเอียดอ่อน                  ช่วยเสริม              หยาบกระด้าง
 ใจเย็น                          ช่วยเสริม                 ใจร้อน
 อดทน                          ช่วยเสริม                ไม่อดทน
 ช่างพูด                         ช่วยเสริม                เงียบขรึม
 ใช้ความรู้สึกและจริงใจ     ช่วยเสริม                ใช้สมอง
  ฯลฯ                                                           ฯลฯ

สรุป ชายนั้นจะเก่งและมีความสามารถแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ เพราะคุณลักษณะนั้นแข็งและหนักแน่นเกินไป จำเป็นต้องอาศัยความอ่อนโยน จึงจะทำให้สมบูรณ์ คือมีทั้งเข้มแข็งและอ่อนโยน เมื่อไปที่ไหนก็จะพบแต่ความสุข ส่วนหญิงก็เช่นเดียวกันต้องอาศัยคุณลักษณะของชายมาทำให้สมบูรณ์ เช่น ความอ่อนโยนของหญิงก็จำเป็นต้องพึ่งความเข้มแข็งของชายมาช่วย จึงจะสมบูรณ์

ขั้นที่ 3 คำสอน

1. สตรีเป็นผู้มีเกียรติและศักดิ์ศรี ในปัจจุบันจึงมีการยกย่องให้เกียรติสตรีกันมากถึงกับมีการเฉลิมฉลองปีสตรีสากลในปี 1995 ที่เพิ่งผ่านไป ในเวลาเดียวกันสตรีเองก็พึงคำนึงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเองด้วย โดยประพฤติปฏิบัติตนให้คู่ควรกับเกียรติและศักดิ์ศรีนั้น บ่อยครั้งที่สตรีเองกลับเป็นต้นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ตนเองโดยดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น สมัครใจขายบริการทางเพศ กระทำตนเป็นแม่เล้าบังคับหญิงสาวและเด็กให้ขายตัว ปฏิบัติตนไม่อยู่ในทำนองคลองธรรม เล่นการพนัน ติดสุรา ยาเสพติด ไม่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน กิริยามารยาทไม่ส่อแววกุลสตรีไทยที่รักนวลสงวนตัว ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกียรติและศักดิ์ศรีและสตรีมัวหมองและตกต่ำ จนกระทั่งแม้สตรีอื่น ๆ ที่ประพฤติตัวดีก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

2. ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงรณรงค์วัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ในส่วนที่เกี่ยวกับสตรีก็อยากจะให้รื้อฟื้นความเป็นกุลสตรีไทยขึ้นมาใหม่กุลสตรีไทยก็คือสตรีที่มีตระกูลและมีความประพฤติแบบไทย ๆ ซึ่งอาจจะพิจารณาโดยสรุปได้ว่าเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะ 4 ประการดังต่อไปนี้

1) งามกาย ได้แก่  ก. มีร่างกายสะอาด หมดจด สดใส
   ข. แต่งกายสุภาพเรียบร้อย ไม่ชะเวิบชะวาบล้ำยุค
   ค. มีจริตกิริยางดงาม ไม่กระโดกกระเดก เก้งก้าง

2) งามวาจา ได้แก่  ก. พูดจาไพเราะ อ่อนหวาน นุ่มนวล ไม่หยาบกระด้าง
   ข. รู้จักใช้ภาที่ถูกต้อง สละสลวย
   ค. ไม่พูดเพ้อเจ้อ รู้จักพูดเมื่อควรพูด

3) งามใจ ได้แก่  ก. มีอารมณ์ดีสม่ำเสมอ หนักแน่น ไม่ปรวนแปรไปมา
   ข. มีใจรักและเมตตากรุณาต่อคนอื่น
   ค. มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่น มองคนอื่นในแง่ดีไม่มีอคติ

4) งามปฏิบัติ ได้แก่ ก. รู้และปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างดี ไม่บกพร่อง
   ข. รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว
   ค. รู้จักอยู่และร่วมมือกับคนอื่นได้โดยไม่รังเกียจหรือขัดเขิน

3. ความเป็นกุลสตรีมิใช่มีไว้เพื่อตนเอง แต่เพื่อหมู่คณะ เริ่มตั้งแต่บุรุษ (ชาย) และพร้อมกับบุรุษก็แผ่ไปถึงครอบครัว โรงเรียน วัด ชุมชน หมายความว่า กุลสตรีที่แท้จริงต้องใช้คุณลักษณะของตนเพื่อเสริมบุรุษให้เป็นผู้สมบูรณ์ เหมือนกับที่บุรุษช่วยเสริมสตรีให้เป็นผู้สมบูรณ์เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพราะพระเป็นเจ้าทรงสร้างบุรุษและสตรีขึ้นมา เพื่อให้เป็นคู่ครองที่เหมาะสมของกันและกัน (เทียบ ปฐก 2.18) จากนั้นทั้งสองจึงจะสร้างครอบครัวที่เป็นปึกแผ่นโดยมีลูกที่สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติเยี่ยงบิดามารดา และแผ่ไปถึงโรงเรียน วัด ชุมชน ต่อไป  คนยุคใหม่คิดว่ากุลสตรีเป็นคนโบราณ เข้ากับสตรียุคใหม่ไม่ได้ สตรีในยุคใหม่นี้จึงละวางระเบียบแบบแผนของกุลสตรีที่กล่าวมาข้างต้นอย่างสิ้นเชิง เช่น ปล่อยเนื้อปล่อยตัวในการแต่งกายตามดาราและแฟชั่นจนเกินงาม มีกิริยาท่าทางหยาบ แข็งกระด้าง จนดูแล้วปวดหัว พูดจากกระโชกกระชากโฮกฮาก ฟังแล้วแสบหู มีอารมณ์ร้อนวูบวาบ และก้าวร้าวต่อผู้อื่น แม้กระทั่งต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ที่จริงสตรีไม่ว่าจะยุคไหน ๆ ก็สามารถคงความเป็นกุลสตรีในเวลาเดียวกันได้ เพราะความเป็นกุลสตรีนั้นโดยเนื้อแท้แล้วก็คือการเป็นสตรีสมบูรณ์แบบตามที่ธรรมชาติของสตรีควรจะเป็นนั่นเอง ธรรมชาติสร้างสตรีให้มาเป็นเพศที่อ่อนโยน อ่อนหวาน นิ่มนวล แม้กระทั่งสรีระของสตรีเองก็บ่งบอกถึงลักษณะดังกล่าว รวมทั้งจิตใจของสตรีด้วย ซึ่งขัดกับความหยาบ แข็งกระด้างเป็นอย่างยิ่ง สตรีในยุคใหม่อาจจะกล้าหาญ ปราดเปรียวออกหน้าออกตา เป็นผู้นำในสังคม แต่ยังคงเป็นสตรีที่อ่อนหวาน อ่อนโยน นิ่มนวลได้ และจะดูสมเป็นสตรีมากกว่า

4. พระคัมภีร์บอกว่า “พระเป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามพระฉายาของพระองค์ ตามพระฉายาของพระเป็นเจ้านั้นพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาและทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” (ปฐก 1.27) แสดงให้เห็นชัดว่า พระเป็นเจ้าทรงตั้งพระทัยที่จะสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิงแตกต่างกัน ชายก็ให้เป็นชาย หญิงก็ให้เป็นหญิง และมีลักษณะของความเป็นชายและเป็นหญิงแตกต่างกันด้วย จึงไม่เป็นการสมควรที่จะกลับตัวกลับเพศกัน หรือยกย่องสรรเสริญคนที่กระทำดังกล่าวอย่างออกหน้าออกตาอย่างที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ บางคนอาจจะเกิดจากความผิดปกติทางกายทางใจ แต่ความผิดปกติเป็นความผิดปกติ จะมายกย่องเหมือนเป็นความปกติหาได้ไม่

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ

ก. ข้อควรจำ
1. ความเป็นกุลสตรีมิใช่มีไว้เพื่อตนเอง แต่เพื่อหมู่คณะ เริ่มตั้งแต่บุรุษ (ชาย) และพร้อมกัน บุรุษก็แผ่ไปถึง ครอบครัว โรงเรียน วัด ชุมชน หมายความว่า กุลสตรีที่แท้จริงต้องใช้คุณลักษณะของตนเพื่อเสริมบุรุษให้สมบูรณ์ เหมือนกับที่บุรุษช่วยเสริมสตรีให้เป็นผู้สมบูรณ์เช่นเดียวกัน

2. ความเป็นกุลสตรีนั้นโดยเนื้อแท้แล้วก็คือ การเป็นสครีสมบูรณ์แบบตามที่ธรรมชาติของสตรีควรจะเป็นนั้นเอง ธรรมชาติสร้างสตรีมาให้เป็นเพศที่อ่อนโยน อ่อนหวาน นิ่มนวล รวมทั้งจิตใจของสตรีด้วย

3. พระเป็นเจ้าทรงตั้งพระทัยที่จะสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิงแตกต่างกัน ชายก็ให้เป็นชาย หญิงก็ให้เป็นหญิง และมีลักษณะของความเป็นชายและเป็นหญิงแตกต่างกันด้วย จึงไม่เป็นการสมควรที่จะมากลับตัวกลับเพศกัน

ข. ทำพิธีขอบพระคุณ
1. เพลงเริ่มพิธี
2. ครูพูดเตือนใจให้ขอบคุณพระที่ได้ทรงสร้างเราให้เป็นชายเป็นหญิง
3. พระวาจา (ปฐก 1.25-28)
4. ครูอธิบายพระวาจาอย่างสั้น ๆ เน้นการสร้างของพระเป็นเจ้าที่สร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระองค์
5. บทภาวนาของนักเรียน พร้อมกับดอกไม้ โดยให้เด็กแต่งคำภาวนาสั้นก่อนเริ่มพิธีโดยให้เด็กอ่าน)