บทเรียนที่ 1 เดือนพฤศจิกายน 1996 หัวข้อเรื่อง เปโตร บุรุษผู้แข็งแกร่งดุจศิลา จุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักถึงคุณค่าประการหนึ่งของชาย คือการเป็นคนเข้มแข็งตามแบบอย่างของนักบุญเปโตร |
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
แจกก้อนหินเล็กๆ ให้ผู้เรียนคนละ 1 ก้อน
แจกสำลีก้อนเล็กๆ ให้ผู้เรียนคนละ 1 ก้อน
แจกกระดาษทิชชูให้ผู้เรียนคนละ 1 แผ่น
ให้ผู้เรียนพิจารณาดูก้อนหิน สำลี กระดาษทิชชู อย่างละเอียดด้วยสายตา
ใช้มือสัมผัส ว่าทั้งสามสิ่งมีคุณสมบัติอย่างไร
ให้ผู้เรียนเขียนความแตกต่างของก้อนหิน สำลี กระดาษทิชชู
เช่น
ก้อนหิน - แข็ง หนัก คงทนถาวร มีสีต่างๆ
สำลี - อ่อนนิ่ม เบา ยืดหดได้ มีสีขาวบริสุทธิ์
กระดาษทิชชู - นุ่ม เบา บาง เปราะ ขาดง่าย สีขาวหรือสีอื่นๆ
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
1.ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างก้อนหิน สำลี และกระดาษทิชชู ก็คือ ก้อนหินแข็ง หนัก คงทน ถาวร ส่วนสำลีและกระดาษทิชชูนั้นอ่อนนุ่ม เบา เปราะบาง
2.จึงเกิดมีคำพูดเชิงเปรียบเทียบขึ้นว่า “เข้มแข็งดุจขุนเขา แข็งแกร่งดุจศิลา” หมายถึงผู้ที่ยืนหยัดมั่นคงในชีวิต ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคอย่างง่ายๆ
สรุป ถ้าชีวิตคือการต่อสู้ ความเข้มแข็งก็คือคุณธรรมที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต
โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่จะต้องรับผิดชอบหรือเป็นหลักยึดเหนี่ยวของสังคม หรือผู้อื่น
ขั้นที่ 3 คำสอน
1.พระเป็นเจ้าทรงสร้างชายขึ้นมาให้มีความแข็งแกร่งทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยทรงตั้งพระทัยที่จะให้ชายเป็นที่พึ่งพิงของครอบครัวและสังคม ความแข็งแกร่งจึงเป็นคุณลักษณะที่เด่นของชายประการหนึ่ง ต่อมาเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงตั้งพระศาสนจักร พระองค์ก็ทรงเลือกเอาอัครสาวกที่แข็งแกร่งที่สุดมาเป็นรากฐานเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง อัครสาวกผู้นั้น คือ เปโตร ซึ่งเดิมมีชื่อว่า ซีมอน แต่พระเยซูคริสต์ทรงเปลี่ยนให้เป็นเปโตร แปลว่า “ศิลา” “ท่านคือศิลา (เปโตร) และบนศิลานี้เราจะสร้างพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันเอาชนะพระศาสนจักรของเราได้” (มธ 16:18) และเปโตรก็ได้กลายเป็นหลักประกันความมั่นคงของพระศาสนจักรนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
2.จากพระวรสารจะพบว่า เปโตรเป็นคนมีนิสัยมุทะลุ ใจร้อน พูดจาขวานผ่าซาก ตรงไปตรงมา แต่เด็ดเดี่ยวเหมือนศิลา เปโตรได้แสดงออกถึงความเป็นหลักของพระศาสนจักรมาโดยตลอด นับตั้งแต่ได้รับการเอ่ยชื่อเป็นคนแรกเสมอในบรรดาอัครสาวกสิบสององค์ (มธ 1:2, มก 3:16, ลก 6:14) เป็นคนที่พูดแทนอัครสาวกอื่น ๆ เสมอเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงไต่ถาม พระเยซูคริสต์ทรงตั้งให้เป็นชุมพาบาลเลี้ยงดูฝูงแกะ (ยน 21:15) เป็นคนแรกที่เทศน์แก่ประชาชนหลังจากรับพระจิตแล้ว (กจ 1:14-36) เป็นคนเปิดประตูรับคนต่างชาติคือนายทหารโรมันและครอบครัวเข้ามาเป็นคริสตชนกลุ่มแรก (กจ 10:48) เป็นคนตัดสินปัญหาในที่ประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม เรื่องไม่บังคับให้คริสตชนต่างชาติต้องเข้าพิธีสุหนัต (กจ 15:7-11) และท่านได้แสดงความแข็งแกร่งเมื่อถูกจับติดคุกและเตรียมถูกประหาร แต่เทวดาของพระเป็นเจ้าได้มาช่วยออกจากคุกไปเสียก่อน (กจ 12:3-10) สุดท้ายท่านต้องระหกระเหินเดินทางไปเทศนาในที่ต่างๆ จนกระทั่งถึงกรุงโรม และได้พำนักอยู่ ณ ที่นั้น ทำหน้าที่ชุมพาบาลจนกระทั่งถึงคราวเบียดเบียนศาสนาครั้งใหญ่ ท่านก็ได้ถูกจับตรึงกางเขนและเพราะสำนึกว่าตนเป็นเพียงศิษย์ผู้ต่ำต้อย ไม่คู่ควรที่จะตายบนไม้กางเขนเยี่ยงพระอาจารย์ จึงขอร้องให้เพชรฌฆาตปักไม้กางเขนของท่านเอาศีรษะลงดินเอาเท้าชี้ฟ้า ศพของเปโตรถูกฝังไว้ที่เนินวาติกันซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของมหาวิหารนักบุญเปโตรที่สร้างขึ้นคร่อมหลุมฝังศพของท่าน นี้เป็นสัญลักษณ์ของศิลารากฐานของพระศาสนจักรสืบไป
3.เปโตรจึงเป็นแบบอย่างของชายทั้งหลายที่จะต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความแข็งแกร่งทางจิตใจ ที่เรียกกันว่า “ความจริงใจ” เปโตรนั้นอ่อนเชิงในหลายเรื่อง เช่น ใจร้อน อ่อนไหว ใช้อารมณ์ เปิดใจบอกกับพระเยซูคริสต์ว่า “พระองค์คือพระคริสต์ บุตรพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) จนได้รับคำชมอยู่หยกๆ ต่อมาประเดี๋ยวเดียวก็เปิดใจกล่าวทักท้วงมิให้พระเยซูคริสต์ต้องรับทุกข์ทรมานตามแผนการของพระเป็นเจ้า จึงถูกตำหนิอย่างแรงว่า “ไปให้พ้น เจ้าซาตาน อย่ามากีดขวางเรา เพราะเจ้าคิดอย่างมนุษย์ ไม่ได้คิดอย่างพระเจ้า” (มธ 16:23) แต่เปโตรก็น้อมรับด้วยดีไม่มีหมางใจ คืนวันที่พระเยซูคริสต์ต้องถูกจับ เปโตรทูลพระองค์ว่า “แม้คนทั้งปวงจะทิ้งพระองค์ไป ข้าพเจ้าจะไม่ทิ้งพระองค์เลย” (มก 14:29) พอพระเยซูคริสต์ตรัสว่า “คืนนี้เองแหละ ก่อนไก่ขัน เจ้าจะปฏิเสธเราถึงสามครั้ง” เปโตรก็ยืนยันมั่นเหมาะว่า “ถึงจะตายข้าพเจ้าก็จะตายกับพระองค์ จะไม่ปฏิเสธพระองค์เลย” (มก 14:31) แต่พอเอาจริง เปโตรก็ปฏิเสธพระองค์จริงๆ พระวรสารกล่าวว่า “เปโตรพูดยังไม่ทันขาดคำ ไก่ก็ขันขึ้น พระเยซูคริสต์ทรงเหลียวมองดูเปโตร เปโตรก็ระลึกถึงคำของพระองค์ได้ที่ว่า ก่อนไก่ขัน เจ้าจะปฏิเสธเราถึงสามครั้ง เปโตรจึงออกไปข้างนอก ร้องไห้เป็นทุกข์ยิ่งนัก” (ลก 22:60-62) ความจริงใจของเปโตรต่อพระเยซูคริสต์ส่งผลให้เปโตรเสียใจต่อความอ่อนเชิงของตนไปจนชั่วชีวิต และมีส่วนผลักดันให้ท่านอุทิศชีวิตเพื่อพระองค์จนถึงที่สุด
4.ชายทุกคนก็ล้วนแต่อ่อนเชิงเช่นเดียวกับเปโตร ผิดกันแต่ว่า พอผิดพลาดไปแล้ว ก็แก้ตัวเป็นพัลวัน หรือไม่ก็เกิดอาการท้อใจ หมดหวัง แทนที่จะยอมรับความผิดพลาดนั้นและพยายามกลับใจ แก้ไข และชดเชยด้วยการกระทำที่มุ่งมั่น จริงจัง เหมือนเปโตร ในข้อนี้เราต้องหันมาพึ่งพระเป็นเจ้าผู้ทรงเป็นบ่อเกิดและขุมพลังของผู้ที่วางใจในพระองค์ ขอพระองค์ทรงสอนใจเราว่าชายที่เข้มแข็งดุจศิลา มิใช่ชายที่ไม่ทำผิดพลาด แต่เป็นชายที่แม้ผิดพลาดไปแล้วก็รู้จักลุกขึ้นต่อสู้อย่างทรนงต่อไป
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก.ข้อควรจำ
1.“ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะสร้างพระศาสนจักรของเรา” (มธ 16:18)
2.เปโตรนั้นอ่อนเชิง แต่เพราะท่านเป็นคนจริงใจ ท่านจึงกลับมาเป็นคนเข้มแข้งดุจศิลาและสามารถค้ำจุนพระศาสนจักรได้
3.พระเป็นเจ้าทรงสร้างชายมาให้เป็นคนแข็งแกร่งทั้งกายและใจ โดยทรงตั้งพระทัยจะให้ชายเป็นที่พึ่งพิงของครอบครัวและสังคม
4.ชายที่แข็งแกร่งไม่ชายที่ไม่เคยทำผิดทำพลาด หากแต่เป็นชายที่แม้ผิดพลาดไปแล้ว ก็รู้จักลุกขึ้นต่อสู้อย่างทรนงต่อไป
ข.กิจกรรม
ร้องเพลงประกอบท่าทาง “คนมีปัญญา” หรือ “ท่านคือศิลา”
คนมีปัญญา
คนมีปัญญา สร้างบ้านไว้บนศิลา คนมีปัญญา สร้างบ้านไว้บนศิลา
เมื่อมีลมพายุพัดมา เมื่อมีฝนตกและน้ำไหลเชี่ยว
เมื่อมีฝนตกและน้ำไหลเชี่ยว บ้านของเขาก็ยังคงอยู่
คนโง่สร้างบ้าน สร้างบ้านไว้บนหาดทราย คนโง่สร้างบ้าน สร้างบ้านไว้บนหาดทราย
เมื่อมีลมพายุพัดมา เมื่อมีฝนตกและน้ำไหลเชี่ยว
เมื่อมีฝนตกและน้ำไหลเชี่ยว บ้านของเขาก็พังทลาย
ท่านคือศิลา
ท่านคือศิลา และบนศิลานี้ เราจะสร้างพระศาสนจักร
ท่าทางประกอบเพลง
1.เมื่อร้อง “ท่านคือศิลา” ให้กำมือทั้งซ้ายและขวา ยกขึ้นระดับไหล่
2.เมื่อร้องท่านที่สอง “และบนศิลานี้” ให้กำมือข้างขวา และทำท่าทุบ (วาง) บนมือซ้ายซึ่งแบออก
3.เมื่อร้องท่อนสุดท้าย “เราจะสร้างพระศาสนจักร” ให้แบมือทั้งประกบกัน พร้อมทั้งประสานมือ ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือให้ประกอบกัน เมื่อร้องคำว่า “พระศาสนจักร” ให้แบมือที่ประสานไว้ในลักษณะหงายมือขึ้น พร้อมทั้งขยับนิ้วไปมา
ค.การบ้าน
วาดภาพไม้กางเขนเอาหัวปักลงดิน ซึ่งหมายถึงเปโตร แล้วเขียนคำไว้ข้าใต้ว่า
“ใจถึงจริงๆ” หรือให้ประดิษฐ์รูปไม้กางเขนด้วยก้อนหินเล็กๆ ในลักษณะเอาหัวปักลงดินก็ได้