ccp038.jpgบทเรียนที่         2 เดือนกุมภาพันธ์ 1997

หัวข้อเรื่อง        พระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 เอกบุรุษผู้เกรียงไกรดุจกองทัพ

จุดมุ่งหมาย     
เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจที่จะยืนหยัดบนความถูกต้องโดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสต่อต้านใดๆ ทั้งสิ้น ตามแบบอย่างของพระสันตะปาปา


ขั้นที่ 1 กิจกรรม
                  ให้ผู้เรียนทายคำพังเพย หรือสุภาษิต จากภาพต่อไปนี้ 
                  จะให้ทายเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มก็ได้
                  (พิมพ์คำพังเพย หรือสุภาษิต 7 ภาพ ตามที่กำหนดไว้ลงตรงเนื้อที่ข้างล่างนี้

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
                 ครูและผู้เรียนช่วยกันคิดพิจารณาดูว่า คำพังเพยและคำสุภาษิตเหล่านี้
                - มีความหมายว่าอย่างไร
                - มีส่วนดีที่สอนใจอะไรบ้าง
                - มีส่วนเสียที่อาจชักพาผู้คนให้ไขว้เขวไปอย่างไร

       สรุป  คำพังเพยและคำสุภาษิตเหล่านี้ เป็นขุมทรัพย์และภูมิปัญญาของคนไทยเรา
              นับแต่อดีตกาลที่เกิดจากประสบการณ์อันยาวนาน แต่กาลเวลาที่เปลี่ยนไป
              อาจจะทำให้ความหมายบางอย่างไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์และสถานการณ์
              ในปัจจุบันได้ จึงจำเป็นจะต้องนำมาให้ด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ

ขั้นที่ 3 คำสอน
            1.สังคมสมัยก่อนยังเป็นสังคมเล็กๆ ที่อยู่กันเป็นเอกเทศ ไม่สู้จะไปมาหาสู่หรือผูกพันกันเท่าใดนัก ไม่เหมือนกับสังคมในปัจจุบันที่ใหญ่โตขึ้น ผู้คนติดต่อไปมาหาสู่และมีความสัมพันธ์กันในระดับต่างๆ มากขึ้น สิ่งนี้มีผลทำให้ผู้คนจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน จะอยู่แบบตัวคนเดียวโดยไม่คิดถึงกันไม่ได้ ฉะนั้นคำพังเพยและคำสุภาษิตบางประการที่อาจใช้ได้อย่างเหมาะเจาะในสังคมสมัยก่อน เช่น ปลาใหญ่กินปลาเล็ก มือใครยาวสาวได้สาวเอา น้ำขึ้นให้รีบตัก อิ่มก่อนดูโขนดูหนัง อิ่มทีหลังล้างถ้าวยล้างชาม ฯลฯ ครั้นมาถึงยุคสมัยนี้ อาจจะนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานของการดำเนินชีวิตไม่ได้แล้ว เพราะจะเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่อื่น ซึ่งจะเป็นอุสรรคสำหรับชีวิตของสังคมส่วนรวมและเราก็เห็นกับตาเราเองว่ายังมีผู้คนเป็นจำนวนมากที่ยังยึดติดอยู่กับกระแสที่เกิดจากคำพังเพยและคำสุภาษิตเหล่านี้ ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน การแข่งขันกันแบบใครดีใครอยู่ การสร้างความสำเร็จบนความทุกข์ของคนอื่น หรือที่เรียกว่า การทำนาบนหลังคน ฯลฯ การจะฝืนกระแสนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งง่าย ใครเล่าจะสามารถทำได้?
 
2.พระเป็นเจ้าทรงโปรดให้มีผู้หนึ่งเข้ามารับบทบาทหน้าที่นี้อย่างทะนงองอาจ ผู้นั้นคือ สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ประมุขของพระศาสนจักโรมันคาทอลิกองค์ปัจจุบัน ผู้ทรงได้รับสมัญญาว่า “เอกบุรุษ ผู้เกรียงไกรดุจ กองทัพ” (จากหนังสือแม่พระยุคใหม่ ฉบับที่ 90 ปีที่ 15 พฤศจิกายน – ธันวาคม 1996/2539) เพราะพระองค์ทรงยืนหยัดยึดมั่นและสั่งสอนความถูกต้องโดยไม่หวั่นเกรงอุปสรรค การต่อต้านขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะจากภายในพระศาสนจักรเอง หรือจากภายนอกพระศาสนจักร พระองค์ทรงนำทัพผู้อยู่ข้างความจริงทั้งหลายออกสู้รบกับความไม่ถูกต้องต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นตามมุมต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกย่ำยีด้วยการทำแท้ง โสเภณี แรงงานเด็ก ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเพราะภัยสงคราม การเข่นฆ่ากันเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา การคุมกำเนิด การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ฯลฯ พระองค์ทรงปกป้องสิทธิของสตรีอย่างออกหน้าออกตา ทรงยกย่องสถานภาพและบทบาทของสตรีในสังคมมนุษย์ แต่ในเวลาเดียวกันพระองค์ก็ทรงความเด็ดเดี่ยวที่จะประกาศอย่างเปิดเผยว่า ไม่ทรงเห็นด้วยที่จะให้สตรีบวชเป็นพระสงฆ์ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากฝ่ายตรงข้าง

“พระองค์มิได้ตรัสสิ่งที่ทุกคนอยากฟัง แต่พระสมณดำรัสของพระองค์แจ้งชัดและไม่โอนเอน..... พระองค์ทรงคัดค้านและต่อต้านอย่างแข็งขันซึ่งความคิดก้าวหน้าสมัยใหม่ แต่ขัดต่อศีลธรรมมูลฐาน อาทิเช่น มนุษย์มีสิทธิ์ร่วมกับพระเจ้าในการชี้ขาดว่าใครควรจะเกิดและใครไม่ควรเกิด..... พระองค์ทรงประท้วงความไม่เสมอภาคแบบฟ้ากับดินระหว่างคนมีกับคนจน และความทุกข์ทรมานของผู้ตกทุกข์ได้ยาก เนื่องจากความยากจนหรือถูกเบียดเบียนข่มเหงและความอยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ..... ผู้มีความคิดต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับพระดำรัสของพระองค์ก็มีเหมือนกัน แต่ไม่มีใครกล้าโต้แย้งเกี่ยวกับความบรุสุทธิ์ยุติธรรมและความครบครันของพระองค์ กับการที่พระองค์ท่านประทานอภัยแก่ผู้ที่ปองร้ายพระองค์โดยสิ้นเชิง ชนิดที่ไม่มีอะไรติดค้างในพระทัยเลย”

 “.....พระประสงค์อันสำคัญของสมเด็จพระสันตะปาปาก็ได้แก่การอธิบายหลักพระคริสตธรรมให้ชัดเจน เยี่ยมเยียนส่วนต่างๆ ของโลก เปิดความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรนิกายต่างๆ เพื่อให้บังเกิดเอกภาพ.....”

“ในปัญหาเรื่องศีลธรรมทางเพศซึ่งผู้อยู่ในสหรัฐและยุโรปมักจะมีความคิดเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคนและขึ้นอยู่กับมโนธรรมของเขาแต่อย่างเดียว คนอื่นไม่ควรมาเกี่ยวข้อง แต่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงแย้งว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว ใครเล่าจะเป็นผู้ชี้แนะมโนธรรมของพวกเขา?” 

“คุณพ่อโทมัส รีส ประจำศูนย์เทววิทยาวู้ดสต๊อก แห่งมหาวิทยาลัยยอร์จทาวน์ที่กรุงวอชิงตันออกความเห็นว่า ผู้คนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับสมเด็จพระสันตะปาปาในเรื่องการคุมกำเนิด การทำแท้ง หรือพวกรักร่วมเพศก็ยังยอมรับว่า พระองค์ตรัสอย่างมีเหตุผล พระองค์ไม่สามารถบังคับพฤติการณ์ดังกล่าว แต่ทรงเตือนพวกเขาให้รำลึกเสมอว่า นี่เป็นปัญหาเรื่องศีลธรรม ไม่ใช่เรื่องการแพทย์หรืเศรษฐกิจ”

“ดังนั้น ทรงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะแสดงพระองค์เป็นผู้ปกป้องคำสอนและความเชื่อคาทอลิก พระองค์ทรงเป็นผู้รักษามาตรฐานทางศีลธรรมทั้งสำหรับคาทอลิกและมิใช่ทั้งทรงใช้สื่อทุกอย่างที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ในการแสดงให้โลกรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด.....”

“พระองค์มิได้ตรัสสิ่งที่ทุกคนชอบฟัง แต่ทรงถือที่เป็นหลักที่จะต้องตรัสเฉพาะสิ่งจำเป็นที่จะต้องให้ทุกคนได้รับรู้..... ปอล จอห์นสัน นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษกล่าวอย่างแน่ใจว่า สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 จะต้องได้รับการยกย่องว่าเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง เพราะทรงเป็นพระสันตะปาปาของที่ประชุมนานาชาติขององค์การโลก และเป็นผู้นำของพระคริสต์ศาสนาที่กำลังรณรงค์กับโลกที่มีความคิดเห็นเป็นปฏิปักษ์”

“สาธุคุณบิลลี่ เกรแฮม นักเทศน์ผิวดำผู้ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา กล่าวสดุดีพระองค์ว่า ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาผู้ยิ่งใหญ่ของโลกสมัยใหม่ เพราะเป็นผู้นำอันเข้มแข็งทางมโนธรรมของโลกคริสตัง.....”

 ดังนั้น จึงเป็นความจริงที่กล่าวว่า “สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ทรงมีพลังแห่งวาจาสัจ เป็นเอกบุรุษผู้เกรียงไกรดุจกองทัพ” (จากหนังสือแม่พระยุคใหม่ ฉบับเดียวกัน)
 
 3.ในเมื่อผู้นำของเรา คือสมเด็จพระสันตะปาปาทรงแสดงความกล้าหาญออกต้านกระแสอันไม่ถูกต้องต่างๆ ของโลก เราซึ่งสังกัดในกองทัพธรรมของพระองค์ก็จะต้องลุกขึ้นจับอาวุธเข้าสู้ศัตรูเคียงข้างกับพระองค์ นักบุญเปาโลกล่าวเตือนคริสตชนชาวเมืองเอเฟซัสว่า “จงสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเป็นเจ้า เพื่อจะต่อต้านยุทธอุบายของพญามารได้..... จงเอาความจริงคาดเอว เอาความชอบธรรมเป็นทับทรวงเครื่องป้องกันอก และเอาข่าวดีแห่งสันติภาพซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความพรักพร้อมมาสวมเป็นรองเท้า และพร้อมกับสิ่งทั้งหมดนี้จงเอาความเชื่อเป็นโล่ ด้วยอาศัยโล่นั้นท่านจะได้รับดับลูกศรเพลิงของพญามารเสีย จงเอาความรอดเป็นหมวกเหล็กป้องกันศีรษะ จงถือพระแสงของพระจิตคือพระวาจาของพระเป็นเจ้า” (อพ 6:11-17)

-เอาความจริงคาดเอว หมายถึง การยึดมั่นในความจริง เพื่อต่อสู้กับความเท็จและความหลอกลวง
-เอาความชอบธรรมป้องกันอก หมายถึง การยึดความถูกต้องเป็นชีวิตจิตใจ เพื่อต่อสู้กับความผิดหลง
-เอาข่าวดีมาสวมเป็นรองเท้า หมายถึง การก้าวออกไปประกาศข่าวดี

      “เท้าของคนเหล่านั้นที่นำข่าวดีมาช่างงามจริงหนอ” (รม 10:15)
-เอาความเชื่อเป็นโล่ หมายถึง การพักพิงพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นองค์ความจริง ยึดพระองค์เป็นสรณะ เพื่อมิให้ตกเป็นเป้าของพวกอธรรม
-เอาความรอดเป็นหมวกเหล็ก หมายถึง เจตนา หรือจิตมุ่งมั่นที่จะบรรลุถึงความรอดนั้นต้องเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตเรา เพื่อต่อสู้กับความสุขชั่วแล่นในโลกนี้
-เอาพระวาจาของพระเป็นเจ้าเป็นอาวุธ หมายถึง การประกาศพระวาจาเปรียบประดุจการซัดสาดอาวุธเข้าใส่ศัตรู เป็นอาวุธที่มิได้มีไว้เพื่อเข่นฆ่า แต่เพื่อให้ชีวิต

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก.ข้อควรจำ
1. ค่านิยมของโลกปัจจุบันขัดแย้งกับค่านิยมของพระเป็นเจ้า โลกสอนให้เห็นแก่ตัว แต่พระเป็นเจ้าทรงสอนให้เสียสละเพื่อผู้อื่น
2. สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ทรงเป็นเอกบุรุษผู้เกรียงไกรดุจกองทัพ เพราะพระองค์ทรงกล้าทวนกระแสนิยมของโลกโดยทรงประกาศว่าอะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง โดยไม่หวั่นเกรงสิ่งใดทั้งสิ้น
3. สมเด็จพระสันตะปาปามิได้ตรัสสิ่งที่ทุกคนอยากฟัง แต่พระสมณดำรัสของพระองค์ชัดเจนและไม่โอนเอน
4. “ข้าพเจ้ามิได้ทูลขอให้พระองค์ยกเขาไปจากโลกเสีย แต่ให้เขาอยู่ในโลกโดยไม่เป็นของโลก” (เทียบ ยน 17:15)
ข.กิจกรรม 
 -ครูจัดทำกระป๋องมหาพรตขึ้นในชั้นเรียน
 -เชิญชวนผู้เรียนให้กระทำกิจพลีกรรม (ฝืนค่านิยมของสังคม) เล็กๆ น้อยๆ ทุกวัน เช่น อดขนม ตั้งใจเรียน ถือระเบียบวินัยของโรงเรียนอย่างดี สละเวลามาวัด อดทนความลำบาก นบนอบเชื่อฟังพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ช่วยเหลือการงานทางบ้านและโรงเรียน ฯลฯ
 -บริจาคเงินค่าขนม หรือที่อดออมไว้ ใส่ในกระป๋องมหาพรตตามกำลังความสามารถ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ยากจนขัดสน
ค.พิธีปิดภาคเรียนปลายปี
วจนพิธีกรรมเรื่อง “บุญลาภ 8 ประการ”
จัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ที่ต้องใช้ เช่น พระแท่น ไม้กางเขน เทียน ดอกไม้ พระคัมภีร์ ผู้อ่าน ภาวนาของมวลชน ฯลฯ
 -เพลงเริ่มพิธี
 -ครูกล่าวนำถึงวัตถุประสงค์สั้นๆ
 -อ่านพระวาจา มธ 5:1-22 (เรื่องบุญลาภ 8 ประการ)
 -ครูอธิบายสั้นๆ (บุญลาภของพระเยซูคริสต์ ตรงข้ามกับบุญลาภของโลก)
 -ภาวนาของมวลชน ปิดท้ายด้วย “ข้าแต่พระบิดา”
 -การอำลาแสดงความเป็นมิตรต่อกัน
 -เพลงปิดพิธี