บทเรียนที่     1 เดือนเดือนมิถุนายน 1997

หัวข้อเรื่อง    เตรียมสู่ปียูบีลี (ปี 2000)

จุดมุ่งหมาย  กระตุ้นผู้เรียนให้ตื่นตัว เรียนรู้ความหมายของปียูบีลี  และเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อต้นรับปีดังกล่าวด้วยความพรักพร้อม

ขั้นที่ 1 กิจกรรม
 แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 4-5 คน
 ให้แต่ละกลุ่มปรึกษาจัดงานเตรียมฉลองต่อไปนี้มากลุ่มละ 1 งาน
 เช่น งานฉลองวัด ฉลองโรงเรียน ฉลองคริสต์มาส ฉลองปัสกา ฉลองวันเกิด ฯลฯ
 (อาจเพิ่มเติมงานฉลองประจำท้องถิ่นเข้าไปตามความสะดวก เช่น งานทำบุญข้าว
 งานทำบุญบ้องไฟ งานชักพระ งานไหลเรือไฟ งานสงกรานต์ งานลอยกระทง ฯลฯ)
 ให้เวลาประมาณ 10 นาที เสร็จแล้วรายงานหน้าชั้น

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
 ครูแนะผู้เรียนให้สังเกตดูรายงานของแต่ละกลุ่มว่า
- ครบถ้วนหรือไม่
- เหมาะสมหรือไม่
- สิ่งใดจำเป็น ขาดไม่ได้
- สิ่งไม่จำเป็น แต่มีก็ดี
- สิ่งไม่จำเป็น ไม่ควรมี
แยกประเภทเตรียมงานใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ
- งานภายนอก มีอะไรบ้าง?
- งานภายใน มีอะไรบ้าง?
- ระหว่างงานภายนอกกับงานภายใน อะไรสำคัญกว่ากัน?

สรุป งานฉลองใดๆ ต้องมีการเตรียม ยิ่งงานใหญ่ก็ยิ่งต้องเตรียมมาก
       ทั้งภายนอกและภายใน แต่ภายในสำคัญกว่า

ขั้นที่ 3 คำสอน
 1.เรากำลังมีงานใหญ่รออยู่ข้างหน้า ใหญ่กว่าทุกๆ งานที่ผ่านมา เพราะ 2000 ปีจะมีสักครั้งหนึ่ง นั่นก็คืองานฉลองปี ยูบีลี (หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่ายูบีเลว) ปี ยูบีลี คืออะไร? คงจะต้องย้อนไปดูในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเก่าซึ่งเป็นที่มาของการฉลองปี ยูบีลี นี้ชาวอิสราแอลมีวันฉลองสำคัญอยู่ 3 วัน คือ
 1. วันสะบาโต ฉลองวันพระเจ้าทุกวันที่ 7 ของสัปดาห์ ตรงกับวันเสาร์
 2. ปีสะบาโต  ฉลองทุกปีที่ 7 นับแต่ชาวอิสราแอลเข้าแผ่นดินพระสัญญา
 3. ปี ยูบีลี ฉลองปีสะบาโต 7 รอบ ตรงกับปีที่ 50

คำว่า ยูบีลี มีรากศัพท์มาจากภาษาฮีบรูว่า โยเบล แปลว่า เขาสัตว์ ปียูบีลี จึงแปลว่า ปีเขาสัตว์ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ตลอดปี ยูบีลี นี้จะมีการเฉลิมฉลองและเป่าเขาสัตว์กันอย่างเอิกเกริก ไปที่ไหนก็จะได้ยินเสียงเป่าเขาสัตว์กันเซ็งแซ่ (เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องดนตรีเป่าชนิดอื่น นอกจากเขาสัตว์ซึ่งเอามาดัดแปลง คงจะคล้ายๆ กับการเป่าสังข์ของพราหมณ์ซึ่งทำมาจากเปลือกหอยสังข์นั่นเอง)ต่อมาคำว่า โยเบล ก็ค่อยๆ เพียงเสียง กลายเป็น ยูบีเลอุม (แปลว่า ชื่นชมยินดี ) ในภาษละติน และเป็น ยูบีลี ในภาษอังกฤษปี ยูบีลี จึงแปลว่า ปีแห่งความชื่นชมยินดี ซึ่ง 50 ปีจึงจะมีสักครั้งหนึ่ง
 
 2.พระศาสนจักรก็นำเอาธรรมเนียมของชาวอิสราแอลในพันธสัญญาเก่ามาปฏิบัติสำหรับชาวอิสราแอลในพันธสัญญาใหม่ คือ ชาวคริสต์ทั้งหลาย โดยเริ่มนับปีตั้งแต่เริ่มการไถ่กู้โลก คือปีที่พระเยซูคริสต์ประสูติ ฉะนั้น ถ้านับถึงปี 2000 การฉลองปี ยูบีลี ครั้งนี้น่าจะเป็นการฉลองครั้งที่ 40 แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การฉลองปี ยูบีลี จริงๆ ในพระศาสนจักรเพิ่งจะมาเริ่มในปี ค.ศ. 1300 ในสมัยพระสันตะปาปา บอนีฟัสที่ 7 และทรงกำหนดให้ฉลอง 100 ปีครั้งหนึ่ง แต่พระสันตะปาปา เคลเมนต์ที่ 6 ทรงเปลี่ยนเป็น 50 ปีครั้งหนึ่ง สุดท้ายพระสันตะปาปา ปอลที่ 2 ทรงเปลี่ยนเป็น 25 ปีครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ได้ยึดถือปฏิบัติเช่นนี้มาจนทุกวันนี้ แต่ปรากฏว่า ครั้งล่าสุด คือ เมื่อพระสันตะปาปา ปีโอที่ 12 ได้ทรงประกาศปี ยูบีลี เมื่อปี ค.ศ. 1950 แล้ว ก็มิได้มีการประกาศปี ยูบีลี ในปี ค.ศ. 1975 คือ ครบรอบ 25 ปีแต่อย่างใด แม้ว่าในระหว่างนั้นจะมีการประกาศปี ศักดิ์สิทธิ์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ ที่สำคัญหลายครั้งก็ตาม มาจนถึงปี ค.ศ. 2000 ซึ่งก็ครบ 50 ปีตามธรรมเนียมชาวอิสราแอลอีก


 3.จุดมุ่งหมายและสิ่งที่ควรปฏิบัติระหว่างปี ยูบีลี มีบอกไว้อย่างชัดเจนในหนังสือเลวีนิติของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเก่า บทที่ 25 คือพระเป็นเจ้าทรงหยุดพักในวันที่ 7 จากงานสร้างของพระองค์ มนุษย์จึงพึงหยุดพักในวันที่ 7 ด้วยคือวันสะบาโต ความคิดนี้ได้ขยายออกไปถึงปีที่ 7 ให้เป็นปีหยุดพักด้วย เรียกว่าปีสะบาโต และเลยขยายไปถึงปีที่ 7 เจ็ดรอบ คือ ปี ยูบีลี ในที่สุด จุดมุ่งหมายใหญ่ก็คือ การหยุดพัก
 
คำว่า หยุดพัก กินความหมายกว้างออกไปดังนี้คือ
          ก.ให้มนุษย์หยุดพักจากการเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สัตว์ พืช ที่ดิน ไร่นา
          ข.ให้ปลดปล่อยทาสเป็นอิสระ
          ค.ให้ยกหนี้สินของกันและกัน
          ง.ให้ผู้ถูกเนรเทศ ร่อนเร่ หรืออาศัยอยู่ต่างถิ่น กลับสู่ภูมิลำเนาของตน
          จ.ให้ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สิน บ้านเรือน ไร่นา กลับมาครอบครองกรรมสิทธิ์เดิม

            สำหรับเราคริสตชน ปี ยูบีลี ก็หมายถึง ช่วงของการหยุดพิจารณาชีวิตที่ผ่านไปเพื่อดูว่าสิ่งใดดีที่ควรกระทำ สิ่งใดไม่ดีที่ควรหยุดกระทำ เป็นช่วงของการกลับใจ เปลี่ยนชีวิตเก่าให้เป็นชีวิตใหม่นั่นเองพระศาสนจักรจะเปิดคลังสมบัติฝ่ายจิตออกแจกจ่ายอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยหนุนกำลังของคริสตชนให้สามารถผ่านเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ยุคใหม่ด้วยชีวิตใหม่คลังสมบัติฝ่ายจิตนั้นได้แก่ พระคัมภีร์ หรือบริการด้านพระวาจาก็ดี ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะ ศีลที่เกี่ยวข้องกับชีวิต คือ ศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิทก็ดี รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยเสริมสันติภาพ ความร่วมมือร่วมใจกัน เอกภาพ ทั้งในครอบครัว ในประเทศชาติ และในโลก งานฉลองครั้งนี้ใหญ่ยิ่งนัก และเรียกร้องเราทุกคนให้เตรียมตัวเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก.ข้อควรจำ
 1.ปียูบีลี ระลึกถึงการไถ่กู้ครบ 2000 ปี เป็นปีแห่งความชื่นชมยินดี
 2.จุดมุ่งหมายของปียูบีลี คือ หยุดพักจากความวุ่นวายทางโลก มาพิจารณาตริตรองชีวิตของเราเพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ ศตวรรษใหม่
 3.เราควรมุ่งความสนใจของเราไปสู่พระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นศูนย์กลางของแผนการไถ่กู้มนุษยชาติของพระเป็นเจ้า หันมาศึกษาและใกล้ชิดกับพระองค์เป็นพิเศษ
ข.กิจกรรม 
ให้ผู้เรียนช่วยกันเตรียมฉลองปี ยูบีลี โดยเสนอสิ่งที่ควรกระทำเป็นการเตรียมตัว เลือกเฟ้นข้อที่ดีและปฏิบัติได้ เขียนลงในกระดาษโปสเตอร์แล้วติดไว้หน้าชั้น
ค.การบ้าน
ให้ผู้เรียนเลือกเอาข้อเสนอไปปฏิบัตคนละ 1 ข้อ
ร้องเพลง “ยูบีลี” (The Jubilee Song) พร้อมทำท่าทางประกอบ ตามแบบที่แนบมาด้วยนี้