บทเรียนที่ 1 เดือนสิงหาคม 1997
หัวข้อเรื่อง พระวจนาตย์ทรงรับเอากายจากพระนางพรหมจารี (สมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์)
จุดมุ่งหมาย เพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญของแม่พระในฐานะผู้ให้กำเนิดธรรมชาติมนุษย์ ที่สมควรที่เรายกย่องสรรเสริญพร้อมกับประพฤติตามแบบฉบับของพระนาง
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
ระดมพลังสมอง คำว่า “แม่”
แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละประมาณ 4-5 คน
ให้แต่ละกลุ่มระดมพลังสมองหาคำ สำนวน สุภาษิต คำพังเพย ในภาษไทยที่มีคำว่า “แม่”
ทั้งในทางบวกและทางลบให้มากที่สุด เช่น
แม่น้ำ แม่เหล็ก แม่สื่อ แม่ยก แม่เล้า
ดูลูกให้ดูแม่ ชักแม่น้ำทั้งห้า แม่ปูกับลูกปู
ด่าพ่อล่อแม่ พ่อแม่ไม่สั่งสอน พ่อแม่ไม่อยู่จับหนูในกระบอก
แม่ไม้มวยไทย แม่บังเกิดเกล้า แม่ใครมาน้ำตาใครไหล
แม่ใครไปน้ำตาใครแห้ง ฯลฯ
เสร็จแล้วให้รายงานหน้าชั้น
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
1.คำว่า “แม่” แปลว่าผู้ให้กำเนิด อาจจะให้กำเนิดในทางดี เช่น แม่น้ำ แม่บังเกิดเกล่า ก็เป็นที่ยกย่องสรรเสริญ หรืออาจจะให้กำเนิดในทางไม่ดี เช่น แม่เล้า แม่ปูกับลูกปู
2.แม่ที่ดี เป็นศรีแก่ลูกๆ และสังคม เราจึงยกย่อง “แม่ดีเด่น” หรือ “แม่ตัวอย่าง” ดังที่ปฏิบัติกันในวันแม่แห่งชาติ(12 สิงหาคม) ของทุกปี และมีการน้อมรำลึกถึงพระคุณแม่กันอย่างมากมายและประทับใจ โดยเฉพาะความรัก ความเสียสละความยากลำบากที่แม่มีต่อลูก
สรุป การจะเป็นแม่ที่ดีเรียกร้องความรักและความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ แม้กระทั่งชีวิตแม่ก็มอบให้ได้
ขั้นที่ 3 คำสอน
1.แม่คนแรกของมนุษยชาติเก่าคือ “เอวา” ได้กระทำผิดพลาด คือไม่เชื่อฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้า ส่งผลมาถึงลูกหลาน คือมนุษยชาติเก่า ต้องตกอยู่ในอำนาจของบาป และต้องรับผลกรรมจากบาปคือความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ที่ตามมาและในที่สุดก็ต้องตายกลายเป็นดิน พระเป็นเจ้าทรงมีแผนการฟื้นฟูมนุษยชาติใหม่ จึงได้ทรงเลือกแม่คนใหม่ชื่อว่า “อาเว” มาให้เป็นแม่ของมนุษยชาติใหม่ แม่คนนี้ได้เชื่อฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้าโดยตอบรับอย่างฉับพลันว่า “ขอให้เป็นไปตามวาจาของท่านเถิด” ทันใดนั้นมนุษยชาติใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้นในครรภ์ของพระนางคือพระวจนาตย์ (พระบุตร) ทรงรับเอากาย หรือธรรมชาติมนุษย์ที่สมบูรณ์จากเลือดเนื้อเชื้อไขของพระนางเอง พระบุตรนี้คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงไถ่กู้มนุษย์ด้วยบุญญาบารมีแห่งการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนม์ของพระองค์และทรงสถาปนามนุษยชาติใหม่ตามแบบธรรมชาติมนุษย์อันสมบูรณ์ที่พระองค์ทรงรับมาจาก “อาเว” (มารีอา) แม่คนใหม่
2.การเป็นแม่ที่ดีตามธรรมชาติเรียกร้องความรัก ความเสียสละใหญ่หลวงฉันใด การเป็นแม่ที่ดีเหนือธรรมชาติ ยิ่งเรียกร้องความรัก ความเสียสละที่ยิ่งใหญ่กว่าอีกและแม่ผู้นั้นคือ “อาเว” หรือแม่พระที่เราคิดถึงและพูดถึงในวันนี้เอง การตอบรับพระวาจาของพระเป็นเจ้าเป็นจุดเริ่มต้นของความรักและความเสียสละแบบถวายหัว เริ่มแรกทีเดียวนักบุญยอแซฟ ซึ่งเป็นสามีผู้ถือพรหมจรรย์ พระนางจะทำความเข้าใจกับท่านถึงการทรงครรภ์ของพระนางว่าอย่างไรจะบอกว่าทรงครรภ์ด้วยเดชะพระจิต ท่านจะเชื่อหรือไม่ และกับประชาชนชาวยิวที่ถือกฎหมายเคร่งครัดว่า หญิงมีครรภ์โดยไม่มีสามีคือหญิงคนบาป มีความผิดมหันต์ ต้องโทษถึงประหารชีวิต โดยเอาก้อนหินทุ่ม แล้วพระนางซึ่งทรงครรภ์โดยไม่มีสามีจะรับหน้าชาวยิวเหล่านั้นอย่างไรกัน นั่นคือความทุกข์ใจใหญ่หลวงที่พระนางต้องเก็บไว้ใคร่ครวญแต่เพียงผู้เดียว จะไปเอ่ยปากปรึกษาใครก็ไม่ได้ นอกจากฝากไว้กับพระปํนเจ้าให้ทรงจัดการตามแต่จะทรงเห็นสมควร หลังจากนั้น ความทุกข็ก็ยังโถมทับเข้ามาเมื่อพระนางต้องไปประสูติพระกุมารในถ้ำเลี้ยงสัตว์ ถูกตามล้างตามผลาญจากษัตริย์เฮร็อดจนต้องร่อนเร่ลี้ภัยไปไกลถึงประเทศอียิปต์ ออกตามหาพระกุมารถึงสามวันพบแล้วแทนที่จะชื่นใจกลับได้คำตอบจากพระกุมารว่า “มาตามหาลูกทำไม? ไม่รู้หรือว่าลูกจะต้องถือตามพระประสงค์ของพระบิดา? พระนางงงจังงัง ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ได้แต่เก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้ใคร่ครวญในใจอย่างเงียบ ๆ แต่พระนางได้ซื่อสัตย์ยึดมั่นต่อคำสัญญาที่ได้ให้ไว้กับพระเป็นเจ้า “ขอให้เป็นไปตามวาจาของท่าน” จนถึงที่สุด พระเป็นเจ้าจึงทรงยกย่องพระนางให้เป็นยอดวีรสตรีและทรงยกพระนางขึ้นสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณเป็นคนแรกในบรรดามนุษย์ทั้งหลาย เพื่อให้เป็นแบบฉบับสำหรับเดินตาม และเป็นผู้เสนอคำวิงวอนสำหรับมนุษยชาติใหม่ที่พระนางมีส่วนเป็นผู้ให้กำเนิดเลี้ยงดู อบรมมาตั้งแต่แรกจนกระทั่งบัดนี้
3.พระศาสนจักรยกย่องเทิดทูนเกียรติของพระนางมารีอามาตั้งแต่แรก ได้ประกาศสัจธรรมเกี่ยวกับพระนางให้ชาวโลกได้รับรู้และรับเชื่อ ได้แก่ พระนางเป็นพระชนนีของพระเป็นเจ้า (สังคายนาเมือเอเฟซัส ปี ค.ศ. 431) พระนางปฏิสนธินิรมล (พระสันตะปาปา ปีโอที่ 9 ปี ค.ศ. 1854) พระนางรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ(พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ปี ค.ศ. 1950) พระศาสนจักรยังสนับสนุนส่งเสริมพิธีเคารพต่างๆ ต่อพระนางมารีอาที่มีมาแต่ดั้งเดิมบ้าง ที่ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมบ้าง รวมทั้งการสร้างสักการสถานมากมายเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระนาง และใหม่ล่าสุด สังคายนาวาติกันที่ 2 (1962-1965) ในสังฆธรรมนูญเรื่อง “พระศาสนจักร” ได้ผนวกเอาคำสอนเรื่องพระนางมารีอาไว้ในบทที่ 8 ภายใต้หัวข้อ “พระนางพรหมจารีมารีอา พระชนนีของพระป็นเจ้า ในรหัสธรรมของพระคริสต์
และพระศาสนจักร” โดยเน้นบทบาทของพระนางในแผนการไถ่กู้ของพระเป็นเจ้า และความศรัทธาเคารพที่สมควรและถูกต้องของประชาสัตบุรุษต่อพระนางในแผนงานความรอด ทำให้พระนางปรากฏเด่นชัดเป็นผู้ร่วงานไถ่กู้กับพระเยซูคริสต์ และสมควรได้รับเกียรติร่วมกับพระเยซูคริสต์อย่างแท้จริง
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก.ข้อควรจำ
1.ดูลูกให้ดูแม่ ดูแม่พระแล้วจะทำให้เราเข้าใจว่า พระเยซูคริสต์ทรงรับความอ่อแอทุกข์ร้อน
ก็เพราะธรรมชาติมนุษย์ที่ได้รับมาจากแม่พระนั่นเอง
2.เอวานำหายนะมาสู่ลูกหลายเพราะความไม่เชื่อฟัง ส่วนอาเวนำความรอดมาให้ลูกหลายเพราะเชื่อฟัง
3.พระนางมารีอาเก็บเรื่องราวต่างๆ ไว้ใคร่ครวญในใจอย่างเงียบๆ
4.“ต่อไปนี้มนุษย์ทุกสมัยจะเรียกข้าพเจ้าว่าเป็นผู้มีบุญ” (ลก 1:48)
ข.กิจกรรม
เกม “ลูกใครหว่า?”
แบ่งนักเรียนออกเป็น 5 กลุ่ม
ครูชี้ไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บอกการกระทำอย่างหนึ่ง ถ้าดีให้ทุกคนในกลุ่มตอบพร้อมๆ กันว่า “อาเว”
ถ้าไม่ดีให้ทุกคนในกลุ่มตอบพร้อมๆ กันว่า “เอวา” พร้อมกับยืนขึ้น
ตอบผิด ช้า ไม่พร้อมกัน ยืน-นั่ง ไม่พร้อมกัน ปรับแพ้
ตัวอย่างการกระทำ
สวัสดีคุณแม่ ขโมยขนม นินทาเพื่อน สวดเช้าค่ำ
ไปวัด ลอกการบ้าน เลี้ยงน้อง แกล้งเพื่อน
วิ่งราว จูงคนแก่ แซงคิว หนีเรียน
สวดภาวนา อดเนื้อ มือไว ฯลฯ
สวด “ภาวนาสู่ปี 2000” (ดู “สารคำสอนฉบับเดือนมิถุนายน 1997)
ค.การบ้าน
เป็นลูกที่ดีของแม่พระที่บ้าน โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างดี แสดงความเคารพรูปแม่พระเมื่อเดินผ่าน
และสวดภาวนาสั้นๆ เช่น “พระแม่ช่วยลูกด้วย”